จับตาเทรนด์ SEO ปี 2020 ในวันที่การทำ SEO ไม่ใช่แค่การใส่ “คีย์เวิร์ด” ให้เกิดการค้นหาอีกต่อไป

  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

คำว่า SEO ย่อมาจาก Search Engine Optimization หมายถึงการปรับแต่งโครงสร้างของเว็บไซต์ ความเร็วในการเข้าเว็บไซต์ เนื้อหาของบทความ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของ Search Engine ต่างๆ อย่างในประเทศไทยเอง คุ้นเคยกับการใช้ Search Engine คือ Google ในฐานะยูสเซอร์ เวลาที่อยากรู้อะไร อยากหาอะไร สิ่งแรกที่หลายคนทำ คือ การถามอากู๋ หรือ Search Google เพื่อให้ได้คำตอบ คลายข้อสงสัย ในขณะเดียวกัน ในฐานะผู้ให้บริการอย่างแบรนด์ที่มีสินค้า, Publisher ที่มีคอนเท้นท์ของตัวเอง ต่างก็ต้องการทำ SEO เพื่อให้เวลาที่ยูสเซอร์ทำการค้นหาใน Search Engine จะได้เจอสินค้าของแบรนด์ หรือ ได้เจอคอนเท้นท์ที่นำเสนอ ซึ่งอย่างที่หลายคนเคยได้ยินกันมาบ่อยๆ หนึ่งในวิธีการทำ SEO ให้กับคอนเท้นท์ คือ การใส่ “คีย์เวิร์ด” ลงไป ยิ่งในเนื้อหามีคีย์เวิร์ดที่คนชอบค้นหามากเท่าไหร่ ย่อมมีโอกาสที่จะทำให้บทความนั้นปรากฎบน Search Engine

แต่ในวันนี้ ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว…

ในอดีต คำว่า SEO อาจย่อมาจากคำว่า Search Engine Optimization
แต่ในปี 2020 คำว่า SEO อาจหมายถึง Search Experience Optimization

การใส่คีย์เวิร์ดจำนวนมากลงในบทความ เพื่อทำ SEO ให้ Search Engine ต่างๆ สามารถ “ช่วยในการทำ SEO ได้จริง แต่จะไม่ใช่ทั้งหมดอีกต่อไป”

4 เทรนด์ SEO ในปี 2020 ที่กำลังมา

ภายในงาน iCreator Conference Thailand 2019 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา คุณพรเทพ เขตร์รัมย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท GAT Consutancy และเจ้าของเว็บไซต์ Google Analytics Thailand ได้เล่าถึงเทรนด์ SEO ที่กำลังมาในปี 2020 นี้ว่า มี 4 เทรนด์ที่น่าจับตามอง ว่าแต่จะมีประเด็นใดบ้าง Marketing Oops! ได้สรุปมาฝากผู้อ่านเรียบร้อยแล้ว มาดูกันค่ะ

1. Featured Snippets

Featured Snippets ฟังแต่ชื่อ หลายคนอาจไม่คุ้น แต่ที่จริงแล้ว Featured Snippets เป็นฟีเจอร์ของ SEO ที่มีมาสักพักแล้ว Featured Snippets มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า Answer Box หรือ Position Zero นั่นเอง

แล้วสรุป Featured Snippets คืออะไรกันล่ะ?

•Featured Snippets คือ ข้อมูลที่ปรากฎบน Search Engine ของ Google ในตำแหน่งด้านบนสุด เมื่อเวลาที่เราทำการ Search Google ไปด้วยประโยคที่เป็นคำถาม หรือ วิธีทำ (พวกประโยค What is, Why, How to ต่างๆ) จะมีคำตอบปรากฏขึ้นด้านบนสุด เพื่อตอบคำถามนั้นเบื้องต้น และอยู่ก่อนตำแหน่งของลิ้งค์เว็บไซต์ที่ติดอันดับ 1-10 ของ Google นั่นแหละ เรียกว่า Featured Snippets

ด้วยความที่ Featured Snippets จะได้อยู่ด้านบนสุดของการ Search Google จึงทำให้ใครๆ ก็อยากให้เว็บไซต์ หรือ บทความของตนเองมาอยู่ในตำแหน่งนี้ เพื่อที่จะได้ทำให้คนรู้จักเว็บไซต์ของตนเองก่อนใคร

สถิติที่เกิดขึ้นจาก Featured Snippets

จากการศึกษาของ Ahrefs ในปี 2017 พบว่าสถิติเวลา Search Google จะเจอ Featured Snippets อยู่ที่ 12.3% หรือประมาณ 14 ล้านครั้งจากทั้งหมด 112 ล้านครั้งของการ Search Google

ซึ่งจากการศึกษาของ authorityhacker พบว่าสถิติของปี 2019 จะเห็นได้ว่าการ Featured Snippets นั้นมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีการแสดงผลถึง 20% (ทั้งที่ยังไม่หมดปี 2019)

หากมองในแง่ของ CTR หรือ Click to rate ของ Featured Snippets พบว่า หากไม่มี Featured Snippets จะมีการคลิกเว็บไซต์ที่อยู่ในอันดับ 1 ที่ประมาณ 26% แต่หากมี Featured Snippets ปรากฏ ยูสเซอร์คลิกที่เว็บไซต์อันดับ 1 ลดลงเป็น 19.6% และเลือกที่จะคลิกที่ Featured Snippets มากขึ้นเป็น 8.6%

นอกจากนี้ยังพบว่า อัตราโดยรวมของการคลิกเข้าไปยังเว็บไซต์นั้นจะลดลง หากทำการ Search Google แล้วพบ Featured Snippets จะทำให้มีอัตราการคลิกเข้าเว็บไซต์อยู่ที่ 70.2% แต่ขณะเดียวกันหาก Search แล้วไม่พบ Featured Snippets จะมีอัตราการคลิกเข้าเว็บไซต์อยู่ที่ 74.2% มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะเห็นว่าได้ไปอยู่ในตำแหน่งของ Featured Snippets นั้น มีทั้งข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน

Featured Snippets มีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร

ข้อดี : หากเว็บไซต์ของคุณปรากฎอยู่ในตำแหน่งของ Featured Snippets ก็จะทำให้คนรู้จักเว็บไซต์ของคุณได้มากขึ้น แม้ว่าเว็บไซต์คุณ อาจไม่ได้ติดอันดับ 1 ของ Google แต่หากสามารถตอบคำถามเบื้องต้นได้ และ Google รู้สึกว่าเนื้อหาของคุณตอบโจทย์ให้กับยูสเซอร์ได้ เว็บไซต์ของคุณก็อาจจะมาปรากฎบนตำแหน่งของ Featured Snippets ได้ หรืออันดับ 0 (Position Zero) ของ Google ได้นั่นเอง

ข้อเสีย : เมื่อข้อดี คือ การทำ Featured Snippets จะแสดงคำตอบเบื้องต้นที่ยูสเซอร์อยากรู้ออกมา จึงทำให้เกิดข้อเสียด้วยเช่นกัน นั่นก็คือ อาจทำให้ทราฟฟิกในการเข้าชมเว็บไซต์ของคุณลดลงได้ เนื่องจากยูสเซอร์จะได้รับคำตอบที่ช่วยไขข้อสงสัยที่อยากรู้ไปแล้ว

ต้องทำอย่างไร เว็บไซต์จะสามารถแสดงผลตรง Featured Snippets ได้

แม้ว่าการทำ SEO จะมีเคล็ดลับและแนวทางที่ทำให้สามารถ Optimize ได้ แต่น่าเสียดายที่ในส่วนของ Featured Snippets นั้นยังไม่สามารถ Optimize ได้ เนื่องจาก Google จะคัดเลือกหาคำตอบที่ดีที่สุด เพื่อมาตอบคำถามให้กับยูสเซอร์เอง แต่อย่างไรก็ตาม มีการคาดเดาจากหลายๆ แหล่งว่า Featured Snippets นั้นจะค้นหาคำตอบมาจากเว็บไซต์อันดับ 1-5 ของ Google เพื่อมาแสดงผลตรงตำแหน่งนี้ แต่ก็ยังไม่ได้มีการการันตีจากที่ใด

การจะทำให้เว็บไซต์ไปอยู่ในตำแหน่งของ Featured Snippets อาจไม่สามารถ Optimize ได้ แต่ยังมี 3 แนวทางที่เว็บไซต์ต่างประเทศแนะนำว่า สามารถช่วยเพิ่มโอกาสให้บทความนั้นถูกนำไปแสดงผลที่ Featured Snippets ได้เช่นกัน

แนวทางในการทำให้บทความติด Featured Snippets

  • พยายามเขียนบทความให้ตอบคำถามจบในย่อหน้าแรก ย่อหน้าเดียว
  • จัดการกับหน้าเว็บไซต์ให้ดี กล่าวคือ จัดการกับโครงสร้างของเว็บไซต์ Headline ให้มีโครงสร้างที่ดี มีการเรียงลำดับโครงสร้าง เพื่อให้ Google ทำการค้นหาได้ง่ายและเข้าไปดึงข้อมูลจากเว็บไซต์เรานำมาแสดงผลได้ถูกต้อง
  • เขียนบทความให้ตอบโจทย์ คำถามต่างๆ ในส่วนที่ Google มักแสดงออกมาเวลาที่ค้นหาข้อมูล ตรง People also ask… เพราะนั่นแสดงว่า ยูสเซอร์มักถามคำถามเหล่านี้ หากบทความสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ก็มีโอกาสที่ Google จะคัดเลือกคำตอบมาไว้ในตำแหน่ง Featured Snippets

2. WebP Image

WebP Image คือ ไฟล์สกุลภาพแบบหนึ่ง ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาโดย Google โดย WebP จะกลายเป็นไฟล์สกุลภาพที่กลายเป็นเทรนด์ในปี 2020 เนื่องจากข้อดีของไฟล์สกุลภาพ ที่คุณภาพเทียบเท่ากับ JPEG และ PNG นอกจากนี้ยังสามารถทำเป็นภาพเคลื่อนไหว GIF ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม WebP ยังเป็นไฟล์สกุลภาพที่มีข้อเสียอยู่บ้าง นั่นคือ โปรแกรมออกแบบ อาทิ Photoshop ยังไม่รองรับไฟล์สกุลนี้ แต่หากใครต้องการใช้งานไฟล์สกุลนี้ ก็สามารถดาวน์โหลด Plug-in ของ Google หรือ โปรแกรม Convert ต่างๆ สำหรับใช้งาน WebP ในโปรแกรมออกแบบต่างๆ ได้

ขณะเดียวกันบราวเซอร์ต่างๆ เริ่มรองรับไฟล์สกุล WebP มากขึ้น ยกเว้นเพียงแต่ Safari ที่ตอนนี้ยังไม่สามารถใช้งาน ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการให้ฝั่งโปรแกรมเมอร์ทำให้เว็บไซต์ Detect ไฟล์สกุลภาพ หากเข้าจาก Safari สกุลภาพก็จะเปลี่ยนไปเป็นสกุลเดิม เพื่อให้สามารถโหลดภาพได้ปกติ

3. Voice Search

อีกหนึ่งเทรนด์ SEO ในปี 2020 คือ การค้นหาข้อมูลด้วยเสียง เมื่อก่อนนั้น หากใช้ Voice Search อาจพบปัญหาว่า พูดไปแล้ว เครื่องมือไม่เข้าใจ ไม่สามารถทำการค้นหาในสิ่งที่อยากรู้ได้ เพราะภาษาที่พูดออกไป กับ ภาษาที่โปรแกรมรับรู้ต่างกัน แต่ทุกวันนี้ Voice Search สามารถค้นหาด้วยภาษาพูดของมนุษย์ได้มากขึ้นแล้ว สามารถพูดแบบสบายๆ และโปรแกรมสามารถค้นหาตามภาษาพูดของยูสเซอร์ได้มากขึ้น ทำให้การใช้งาน Voice Search จะเพิ่มมากขึ้น

Voice Search จะเริ่มมีลักษณะเป็นคำถามที่ถามยาวมากขึ้น และเมื่อทำการค้นหาข้อมูลโดยการตั้งคำถามด้วยเสียง ก็จะทำให้พบกับ Featured Snippets ซึ่งความพิเศษคือ เมื่อถามด้วยเสียง Google ก็จะตอบกลับด้วยเสียงเช่นกัน โดย Featured Snippets ที่รองรับเสียง ก็จะตอบกลับเป็นเสียง หรือ อ่านข้อความบน Featured Snippets ให้นั่นเอง

สถิติพบว่า Voice Search จะมีการค้นหาด้วยคำถามหรือข้อความที่ยาวกว่าการใช้ Text ค้นหา นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Voice Search นำไปสู่การซื้อของได้ เช่น ใช้ Voice Search โดยค้นหาว่า มามีโปะโกะราคาเท่าไหร่ Google จะแสดงผลเว็บไซต์มีขายออกมาแสดงผล , มามีโปะโกะราคาถูกที่สุด Google จะแสดงผลร้านค้าที่มีขายมาให้เลือกทันที หรือหากถามว่า มามีโปะโกะที่ไหนราคาถูกที่สุด Google จะแสดงแผนที่มาให้เลือกด้วยเลย

4. AI

แม้ว่า AI อาจไม่ใช่สิ่งที่ใหม่ แต่ AI จะกลายเป็นสิ่งที่อยู่กับเราต่อไปในอนาคต Google ได้ประกาศตัวว่าเป็น AI First Company tools ดังนั้นทุกไอเท็มของ Google จึงมีการนำ AI เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตลอด

มีคำกล่าวหนึ่งที่ว่า AI จะรักเรา ก็ต่อเมื่อคนอื่นรักเราก่อน
AI Only loves you when everyone else loves you first

ซึ่งนั่นหมายความว่า ต่อไป สิ่งที่ควรทำคือ บทความที่ทำให้ยูสเซอร์ได้ประโยชน์ เมื่อยูสเซอร์รู้สึกดีกับบทความของเรา AI ก็จะรู้สึกว่าบทความเรานั้นมีประโยชน์ด้วยเช่นกัน

AI คือสิ่งที่ Google นำมาใช้ในการประมวลผลเพื่อหาความตั้งใจของยูสเซอร์ ดูว่ายูสเซอร์อยากทราบอะไรจริงๆ โดยที่เราจะไม่สามารถ Optimize ต่อไปได้แล้ว

มุมมองของการใช้ AI จะไม่สามารถ Optimize ได้แล้ว เนื่องจาก AI จะคัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับยูสเซอร์ ทำให้การทำ SEO ไม่ใช่เพียงแค่การใส่คีย์เวิร์ดย้ำในบทความเพียงอย่างเดียว แต่การ Optimize ที่ดีที่สุด คือ การเขียนเนื้อหาให้ออกมาธรรมชาติที่สุดและมีประโยชน์ที่สุด เพื่อให้ AI คัดเลือกเนื้อหานั้นออกมาแสดงผล

ในเมื่อการทำ SEO ยุคนี้ไม่ใช่เพียงการให้ความสำคัญกับ “คีย์เวิร์ด” แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นที่ต้องคำนึงถึงอย่างรอบด้าน แล้วคุณ…พร้อมรับมือกับเทรนด์ที่เปลี่ยนไป แล้วหรือยัง

 

 


  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •