P.E.S.T Factor องค์กร-พนักงาน ปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอดได้ในปี 2021 และอนาคต

  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

ปี 2020 ว่าเป็นปีที่ยากลำบากแล้ว ว่ากันว่าปี 2021 น่าจะโหดกว่า ดังนั้น ทั้งการพัฒนาองค์กรและพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งของงาน CTC2021 (Creative Talk Conference) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2021 ที่จัดแบบ Virtual Conference ในหัวข้อTrends 2021 People & Culture ได้ 2 สปีกเกอร์ชื่อดังในวงการเทคและการบริหารงานบุคคล ได้แก่  อภิชาต ขันธวิธิ Managing Director at QGEN และ HR The Next Gen และ กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Creator of “แปดบรรทัดครึ่ง” และ Head of SCB10X ทั้งสองคนได้ให้คำแนะนำเรื่องการปรับตัวในองค์กรสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้การทำงาน และการพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิต โดยเราได้สรุปสิ่งที่น่าสนใจเอาไว้ ดังนี้

อภิชาต ขันธวิธิ จาก HR The Next Gen นำเสนอ P E S T Factor ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กรและบุคคล ดังนี้

P = Political คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับโกลบอล และระดับภูมิภาค ซึ่งจะเห็นได้ชัดในเหตุการณ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญของต่างประเทศ ซึ่งส่งผลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อองค์กรในไทย และแน่นอนว่าเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย ซึ่งส่งผลต่อภาคธุรกิจไทยอย่างแน่นอน

E = Economic Factor ถ้าเศรษฐกิจดีย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีความผันผวนสูงมาก ซึ่งงานวิจัยชี้ว่าในปีที่ผ่านมา คนทำงานตระหนักใน 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้ 1) Job Security คนเริ่มกังวลเรื่องความมั่นคงในการทำงานว่าจะสูญเสียงานหรือไม่ 2) Income Security  คนเริ่มกังวลเรื่องรายได้ ไม่มั่นใจว่าบริษัทจะลดเงินเดือนหรือไม่ในขณะที่รายจ่ายเท่าเดิม 3) Physical & Mental Health Security คนให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทั้งสามข้อนี้ นำมาสู่การที่คนคิดเยอะมากขึ้นในการใช้จ่ายแต่ละครั้ง และเริ่มหาอาชีพเสริมมากขึ้น รวมถึงมีการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์มาใช้ที่บ้านมากขึ้น หรือเทรนด์เรื่อง Telemedicine การรักษาแบบทางไกลก็เริ่มมีให้เห็นมากในช่วงนี้

S = Social-Cultural คือการที่องค์กรอย่างน้อยมีคน 2-4 Gen ในองค์กรเดียว ซึ่งส่งผลต่อกระทบต่อการทำงาน ทั้งในแง่แนวคิด วิธีการทำงาน หรือภาษาที่ใช้ในการพูดคุยแตกต่างกันหลายอย่าง ดังนั้น องค์กรจะต้องหาวิธีการทำงานร่วมกันให้ดีที่สุด ในขณะที่มุมการใช้ชีวิตจะส่งผลเรื่องการหารายได้ในระดับครัวเรือน เมื่อสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น จะกระทบกับการหารายได้เข้าบ้าน เมื่อจำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้นและจะต้องได้รับการดูแล แต่คนที่หารายได้กลับมีน้อยลง ดังนั้น จะต้องเตรียมหาวิธีรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในจุดนี้ให้ได้

T = Technology เทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลกให้รุดหน้า เช่น 5G  Automation  AI ฯลฯ ส่งผลให้การทำงานต้องเปลี่ยนไป ที่สำคัญคือ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดการทำงาน ทัศนคติ มายด์เซ็ต  Market Trend และ Skill ฯลน ที่จะเป็นผู้กำหนดว่าต่อไปองค์กรต้องการคนทำงานแบบไหนความสามารถแบบไหน ซึ่งถ้าเราไม่ปรับตัวหรือพัฒนาตัวเองก็จะกระทบกับทั้งความมั่นคงในอาชีพและรายได้อย่างแน่นอน

อภิชาต ขันธวิธิ Managing Director at QGEN และ HR The Next Gen

นอกจากนี้ ในปีนี้พูดกันมาก เรื่อง Burn out แต่วันนี้อยากให้คิดว่าเรื่องของ Burn out เป็นส่วนนหนึ่งของชีวิต แต่จะทำอย่างไรที่จะหาวิธีจูงใจหรือผลักดันให้ตัวเองกลับมามีพลังในการทำงานได้อีกครั้ง ไม่เช่นนั้นคุณจะวิ่งตามคนอื่นไม่ทัน

ดังนั้น สิ่งที่คนทำงานและองค์กรจะต้องทำเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้รับกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ก็คือต้องหางานที่ตัวเองมีจุดแข็ง ตัวเองมีจุดเก่งเรื่องอะไรก็นำมาใช้ นอกจากนี้ ก็ควรมองหาโอกาสในการสร้างรายได้เสริมและโอกาสในการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และสุดท้ายคือ สร้างความมั่นคงในกับสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น การซื้อประกันและการสร้างสวัสดิการเพิ่มให้พนักงาน เพื่อรักษาคนเก่งในองค์กรเอาไว้

 

ด้าน กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Creator of “แปดบรรทัดครึ่ง” ให้คำแนะนำโดยล้อไปกับปัจจัย 4 ความต้องการของมนุษย์ ดังนี้อาหาร” แน่นอนว่าคนยังต้องทานอาหาร อาหารเป็นสิ่งจำเป็นแต่ในยุคที่ออกไปไหนลำบาก เราก็มีการปรับตัวโดยการใช้แอปฯ มาเพื่อในการสั่งอาหาร “ยารักษาโรค” เทรนด์ของการดูแลตัวเองมากขึ้น ทั้งเทเลเมดิซีน และการดูแลตัวเองง่ายๆ ที่บ้านได้ “เครื่องนุ่งห่ม” ซึ่งก็คือเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เช่นเดียวกันคือปรับตัวมาสู่การสั่งสินค้าออนไลน์ นำมาสู่การเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการใช้สมาร์ทโนมากขึ้น สุดท้ายคือ “ที่อยู่อาศัย” จะเปรียบเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งยุคนี้คนจะคิดเยอะมากขึ้นในการใช้จ่ายเงิน ไม่มีการลงเงินก้อนใหญ่ โดยรวมนี่คือมุมของการใช้เงิน

กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Creator of “แปดบรรทัดครึ่ง” และ Head of SCB10X

ในขณะที่มุมของการหาเงิน สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ เริ่มมีเทรนด์ของการทำงานออนไลน์และหารายได้เสริม พนักงานประจำอาจจะไม่มีอยู่แล้ว รวมไปถึงเทรนด์ของ Work from Home ซึ่งจุดนี้แน่นอนว่าพนักงานจะต้องปรับตัวเองเพิ่มทักษะต่างๆ ในขณะที่องค์กรก็ต้องมีเครื่องมือต่างๆ เพื่อรองรับกับเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนไปโดยเฉพาะการทำงานแบบออนไลน์ ซึ่งถ้าเป็นองค์กรใหญ่ก็ไม่ค่อยมีผลกระทบ แต่ถ้าเป็นองค์กรขนาดกลางหรือขนาดเล็ก ถ้ายังไม่มีการเตรียมพร้อมรองรับ ก็อาจจะส่งผลให้พนักงานทำงานได้ไม่เต็มที่ หรือหนักถึงขั้นกดดันให้พนักงานรู้สึกอยากลาออกและคุณก็จะสูญเสียพนักงานที่มีค่าในองค์กรไป ดังนั้น เรื่องของอีโคซิสเทมในการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในขณะที่คนทำงาก็ต้องพัฒนาตัวเอง หยิบทุกโอกาสมาสร้างตัวเองใช้ความสามารถโดดเด่นช่วยองค์กรในภาวะยากลำบาก จุดนี้ก็จะทำให้องค์กรเห็นความสำคัญของคุณ ในขณะเดียวกันก็ควรพัฒนาตัวเองทดลองทำสิ่งใหม่ บางทีก็อาจจะค้นพบความสามารถใหม่ของตัวเองที่ไม่รู้มาก่อนก็ได้

สุดท้ายคือ สิ่งที่คุณได้เปลี่ยนแปลงในวันนี้จะกลายเป็นสิ่งปกติในอนาคต เป็นลองเทิร์มที่จะถาวรต่อไป ดังนั้น ถ้าไม่เริ่มปรับตัวแต่วันนี้ในอนาคตสิ่งที่อดีตเคยทำได้มันจะไม่กลับมาอีกแล้ว ดังนั้น เราไม่ควรยึดติดกับรูปแบบเดิมหรือทักษะเดิมๆ อีกต่อไป

บทสรุป

ทั้งองค์กรและบุคคลจะต้องโอบรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ได้ แต่มากไปกว่าการเปิดใจยอมรับก็คือการเพิ่มและพัฒนาทักษะของตนเองในองค์กรของตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อปรับตัวให้ได้กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว


  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!
CLOSE
CLOSE