ขึ้นทะเบียนสื่อ จำเป็นหรือไม่? เปิดความเห็นจัดเต็ม ทั้งสื่อออฟไลน์ ออนไลน์ และบล็อกเกอร์

  • 179
  •  
  •  
  •  
  •  

media

เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ กรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะขึ้นทะเบียนสื่อมวลชนซึ่งรวมไปถึงสื่อออนไลน์ บล็อกเกอร์ และเพจดังๆ ในสื่อสังคมโซเชียลด้วย ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม สปท.มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.คุมสื่อฯ พร้อมด้วยการเดินหน้าคัดค้านอย่างเต็มที่ของกลุ่มสื่อที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว

ดังนั้นในช่วงที่มีการถกเถียงถึงกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งจะครอบคลุมทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรอง โดยเฉพาะเพจดัง สื่อออนไลน์ และบล็อกเกอร์ โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนสื่อมวลชนที่ครอบคลุมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ดังนั้น MarketingOops! ได้สัมภาษณ์บุคคลที่ติดตามข่าวนี้อย่างต่อเนื่องได้แสดงทัศนะความคิดเห็นที่เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว เพื่อเป็นอีกหนึ่งเวทีในถกเถียงกันต่อสาธารณะ

ความคิดเห็นจาก สื่อออฟไลน์

knhong
ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

นายชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า เป็นแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูปสื่อ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างที่ต้องการปฏิรูปประเทศ แล้วก็ให้ สปท. ที่รับผิดชอบการสื่อสารเป็นคนจัดทำข้อเสนอนี้ขึ้นมา โดยมองถึงการควบคุมสื่อมวลชนและรวมไปถึงโซเชียลมีเดียทั้งหมด ตั้งประเด็นว่าสื่อเป็นปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ การที่สามารถควบคุมดูแลสื่อมวลชนได้นั้นก็จะทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้อย่างสิงคโปร์ และก็มีการอ้างว่าการที่มีกฎหมายตัวนี้เพื่อมาแก้ปัญหาจริยธรรมของสื่อมวลชนว่ามีปัญหาเรื่องการกำกับกันเองไม่ได้ และอีกอย่างคือจะได้มาดูแลสวัสดิภาพของสื่อมวลชนด้วย

“แต่ปรากฏว่าเนื้อหาที่ทำออกมานั้นเป็นการควบคุมสื่อ เป็นการกวาดต้อนสื่อทุกประเภทให้มีใบอนุญาต ไม่ใช่เฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวี วิทยุเท่านั้น แต่รวมไปถึงนิตยสาร การ์ตูน สื่อดิจิทัลต่างๆ สื่อออนไลน์ บล็อกเกอร์ โดยมีคำนิยามของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อว่า ผู้ที่ผลิตสาร เนื้อหา ไม่เฉพาะข่าว ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และพบว่ามีรายได้ทางตรงหรืออ้อมจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งตรงนี้จะรวมไปถึงบล็อกเกอร์นั้นมีรายได้ ที่พิสูจน์ได้ว่ามีรายได้ทางตรงหรือทางอ้อมก็ต้องไปขึ้นทะเบียน ตรงนี้เฟซบุ๊กเพจดังๆ โดนหมดเพราะว่าบางเพจที่มีคนตาม 2-3 ล้าน และมีรายได้ทั้งตรงหรืออ้อมจากการทำโฆษณาหรือทำเฟซบุ๊กโดนหมด”

ชัยฤทธิ์ กล่าวต่อว่า คาดกันว่าถ้ากฎหมายนี้ออกมามันจะเกิดความโกลาหลในเรื่องของการตีทะเบียนขึ้นทะเบียนสื่อมวลชนเพราะไม่รู้ว่าใครเป็นสื่อ มันไม่ใช่แค่นักข่าวอย่างเดียวแล้ว เพราะบอกว่าเป็นผู้ผลิตสื่อ ผู้ส่งสาร ทุกประเภท ซึ่งในยุคปัจจุบันโลกโซเชียลไปไกลมาก ผู้ส่งสารทั่วประเทศมันหมายถึงสื่อชาวบ้าน สื่อพลเมือง สื่อชาวบ้าน ซึ่งตรงนี้มันเข้าข่ายหมดเลย ส่วนชาวบ้านที่ใช้สื่อโซเชียลฯ แล้วเขียนสเตตัสอะไรต่างๆ ก็อาจจะไม่โดน แต่ถ้าเป็นพวกเพจดังๆ ค้าขายของสินค้าจะถูกตีความหมดเลยว่า จุดสำคัญคือว่า กฎหมายระบุไว้ว่าถ้าคุณไม่ไปขึ้นทะเบียน คุณจะต้องจำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท บางทีเราไม่รู้ เราไปรายงานข่าวแบบนี้ เราไปรับจ๊อบมารายงานข่าวเป็นสื่อพลเมือง ทีนี้เราอาจไม่ได้ไปขึ้นทะเบียน แล้ววันหนึ่งเราไปรายงานข่าวที่กระทบกับรัฐบาลขึ้นมา หรือรายงานในพื้นที่ไปกระทบกับทุนแล้วทุนนั้นไปอยู่กับรัฐบาลอาจจะมีสายสัมพันธ์โยงใยบางอย่าง เราก็อาจจะโดนสอดส่องว่าคุณไม่มีใบประกอบวิชาชีพสื่อเลย ไปๆ มาๆ คุณติดคุก หรือการที่คุณแสดงความคิดเห็นอะไรต่างๆ ทั่วไป คุณอาจจะต้องติดคุกเหมือนกันเพราะว่าคุณไม่มีใบประกอบวิชาชีพ

“ร่างกฎหมายนี้มันล้าหลัง เพราะว่าโลกในโซเชียลมีเดียมันไปไกลมาก เกินกว่าที่คุณจะไปกวาดต้อนทุกคนมาขึ้นทะเบียน มีใครบ้างเป็นแสนๆ หรือเป็นล้านๆ เพจ เพราะมันไม่ใช่แค่สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อทีวี สื่อกระแสหลัก แต่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีก็มีความคิดชัดเจนว่าอย่างไรเสียก็ จะต้องมีร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อปฏิรูปสื่อ โดยการมีสภาวิชาชีพสื่อ แต่รูปแบบนั้นจะเป็นแบบไหนอย่างไรก็ไม่ได้บอกไว้ แต่เป็นการที่จะต้องให้มีรัฐเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ก็ดี หรือการให้กำหนดโทษถึงขั้นจำคุก กับใครก็ไม่รู้ที่เรานิยามไปว่าเป็นสื่อหมดเลยนั้น ที่สำคัญคือกรอบนิยามมันกว้างและไปไกลมาก มีความครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีในอนาคตด้วย เพราะมีการเขียนเลยว่า ‘การสื่อสารนอกเหนือจากดิจิทัลออนไลน์แล้วยังหมายถึงเทคโนโลยีที่จะพัฒนาขึ้นในอนาคตด้วย’ อย่างเช่นต่อไปอาจจะยิงเลเซอร์และเป็นข่าวสารคุณอาจจะต้องขึ้นทะเบียนเหมือนกัน มีการดักทางไว้หมดแล้ว”

อุปนายกสมาคมนักข่าวกล่าวต่อว่า ทีนี้ถามว่าสื่อปัจจุบันไม่ได้ถูกตรวจสอบไม่ได้ถูกกำกับกันเองหรือ ไม่จริง เพราะปัจจุบันสื่อต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว และกฎหมายรัฐธรรมนูญก็รองรับสิทธิการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการประกอบวิชาชีพสื่อโดยมีหลักจรรยาบรรณทางวิชาชีพ และสื่อเองก็อยู่ภายใต้กฎหมายแพ่งอาญา ในแต่ละปีก็มีนักการเมืองมาฟ้องสื่อ ทุนต่างๆ มาฟ้องสื่อ หรือสื่อทำอะไรไม่ดีก็มีการฟ้องสื่อ โดยที่ไม่เป็นข่าวก็มีมากมาย สื่อไปละเมิดเด็กก็มีความผิด สื่อไปละเมิดสิทธิผู้ป่วยก็มีความผิด หรือแม้กระทั่งสื่อออนไลน์ก็อยู่ภายใต้กฎหมายคอมพิวเตอร์ ซึ่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ออกมาก็มีโทษรุนแรง การฟอร์เวิร์ดหรือการแพร่ภาพที่มันเป็นหมิ่นประมาทก็ต้องถูกจำคุกดำเนินคดีมีความผิดทางอาญา และก็มีการฟ้องร้องเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งสื่อทุกวันนี้ไม่ได้รายงานข่าวโดยอิสระ คือเราอยู่ภายใต้กฎหมายเหล่านี้เยอะแยะเต็มไปหมด ยิ่งในยุคของ คสช.เองก็มีประกาศที่สามารถใช้ควบคุมสื่อ ได้แก่ ประกาศที่ 97 กับ 103 มี 2 ฉบับ หลักๆ ก็คือว่า ห้ามสื่อรายงานหรือวิพากษ์วิจารณ์ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง”

“ดังนั้น การสร้างกฎหมายชิ้นนี้ขึ้นมาควบคุมสื่ออีกชั้นหนึ่ง มันเป็นจึงเป็นเรื่องที่ ทำให้สื่อขาดอิสระในการทำงานและก็ต้องการควบคุมความคิด กวาดต้อนสื่อทั้งสื่อพลเมืองและสื่อโซเชียลมีเดีย และผู้ผลิตสื่อทั่วประเทศให้อยู่ในระบบของการตีทะเบียนเพื่อให้รัฐจะได้สอดส่องว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ถ้ามันออกมาอย่างนี้ มันทำให้สื่อไม่กล้าที่จะรายงานหรือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เรื่องอะไรที่มีผลกระทบต่อรัฐบาลเราก็กลัว ก็จะไม่กล้ารายงานข่าวเลย ผลของมันจะทำให้เกิดความหวาดกลัวในการนำเสนอข่าวสารให้กับประชาชน สังคมในยุคข้างหน้าภายใต้กฎหมายนี้ก็จะเป็นสังคมที่พูดแต่เรื่องของหมูหมากาไก่ มันจะเกิดการโกลาหล เอาผิดสื่อกัน จนต้องมีการตั้งคำถามว่าอาจจะไม่มีใครอยากจะเป็นนักข่าวแล้ว ไม่มีใครอยากจะรายงานความจริงเพื่อสังคมแล้ว ผลกระทบมันกว้างไม่ใช่เฉพาะสื่อ แต่มันหมายถึงโซเชียลมีเดียทุกประเภท ชั้นขายของชั้นก็ต้องไปถูกขึ้นทะเบียนแล้วรัฐก็ต้องมาดูชั้น หรือว่าการแสดงความเห็นใดๆ ที่กระทบกับรัฐเราก็กลัวแล้ว เราก็เซ็นเซอร์ตัวเองว่าเราจะโดนคดีรึเปล่า”

สำหรับในการดำเนินการคัดค้านของทางสมาคมนักข่าวฯ นายชัยฤทธิ์ กล่าวว่าเราก็ดำเนินการคัดค้านถึงที่สุด และเราเชื่อว่ายังมีทางออกอยู่ในระยะยาวเพราะกฎหมายนี้ ยังอาจจะต้องใช้เวลาอยู่ เพียงแค่ว่ารัฐบาลก็ปักธงว่าจะต้องมีกฎหมายลักษณะนี้ นอกจากนี้ เราก็จะเน้นทำความเข้าใจกับประชาชนถึงผลกระทบว่า มันไม่ใช่แค่เรื่องของสื่อมวลชนนะ แต่ว่าผู้คนที่เป็นสื่ออิสระเป็นบล็อกเกอร์ ในโซเชียลมีเดีย แค่ว่าคุณเข้าไปคอมเมนต์อะไร หรือมีรายได้อะไรโดนหมด

ความคิดเห็นจาก กรรมการร่าง รธน. และอดีต คนข่าว

kmong
ภัทระ คำพิทักษ์

นายภัทระ คำพิทักษ์ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีตบรรณาธิการบริหารโพสต์ทูเดย์ แสดงความเห็นว่าย้อนกลับไปเมื่อช่วงที่มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสิ่งต่างๆ ในช่วงของ กปปส. สื่อก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ถูกเรียกร้องให้มีการปฏิรูป จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารขึ้น จนเกิดสภาปฏิรูปขึ้นมา รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการปฏิรูปสื่อ ซึ่งมีรายงานฉบับหนึ่งแต่ไม่ถูกพูดถึงมากนัก รายงานนี้กล่าวถึงปัญหาจริยธรรมในสื่อไทย โดยระบุว่าปัญหาที่พบในสื่อมากที่สุดคือ เรื่องของการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย การขายสินค้าไม่มีข้อมูลความจริงหรือเกินความจริง เนื้อหาหรือภาพข่าวที่ล่อแหลมมีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชน ความเป็นกลางในการนำเสนอข่าว มีเนื้อหายั่วยุทำให้เกิดความเกลียดชังและเกิดความแตกแยกในสังคมโดยเฉพาะเรื่องการเมือง โดยการกำกับกันเองไม่สามารถทำได้หรือทำได้แต่ยังไม่ครบถ้วน และจากรายงานดังกล่าวนี้จึงนำมาสู่ความคิดที่จะปฏิรูปสื่อด้วยการขึ้นทะเบียน โดยระบุว่าเพื่อเป็นการประกันเสรีภาพบนความรับผิดชอบ นั่นคือข้อเสนอของกรรมาธิการชุดนั้น

ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดีมีด้วยกัน 3 ประเด็น

1.การโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ขายสินค้าที่ไม่มีมูลความจริง หรือเกินความจริง แก้ได้ด้วยการออกกฏหมายคุมสื่อตรงนี้คงต้องถามว่าถูกจุดหรือไม่ เพราะทุกวันนี้กลไกในเรื่องนี้ของรัฐก็มีอยู่ เช่น สคอ. ก็มีอยู่ และการขึ้นทะเบียนสื่อได้แก้ตรงจุดสื่อไหนที่รับการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ขายสินค้าที่ไม่มีมูลความจริง หรือเกินความจริงอันที่จริงก็มีกฎหมายเฉพาะรองรับอยู่

2.ปัญหาความไม่เป็นกลางทางการเมือง ต้องถามกลับว่าแล้วอะไรคือความเป็นกลางทางการเมืองของสื่อ ใครจะเป็นคนวัด วัดด้วยมาตรฐานอะไร จุดนี้ตนคิดว่าถ้าจะพูดเรื่องนี้แล้วอาจจะพูดได้ยาก แต่หากเราพูดถึงความถูกต้องและเป็นธรรมจะจับต้องได้มากกว่า นั่นคือการเน้นไปที่ความถูกต้อง รอบด้าน ความเป็นธรรมมีอยู่ในจริยธรรมสื่อ มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน อะไรที่ไม่ชัดก็มีแนวปฏิบัติออกมาเป็นระยะๆ พบได้จากการรายงานข่าวภัยพิบัติ การรายงานข่าวเด็ก การรายงานข่าวฆ่าตัวตาย ฯลฯ เรื่องเหล่านี้มีแนวปฏิบัติ มีกฏเกณฑ์ มีกระบวนการการทำให้เกิดความชัดเจนอยู่แล้ว

3.การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชน สื่อใดทำเรื่องนี้ถ้าผิดกฎหมายต้องรับผิดชอบทางกฏหมายซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ทั้งกฏหมายแพ่ง อาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฏหมายครอบครัวเรื่องเด็กและผู้หญิง ฯลฯ นอกจากนี้ ส่วนที่ไม่ถึงขั้นผิดกฏหมาย องค์กรวิชาชีพก็มีการตรวจสอบกันเอง ในหลายรูปแบบมีการตั้งทีมร่วมวิชาชีพวิชาการหรือกลุ่มผู้บริโภคมาตรวจสอบ จัดการให้รวดเร็ว ฯลฯ แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังเร็วสู้สังคมไม่ได้ เพราะการควบคุมทางสังคมในปัจจุบันนั้นได้ก้าวหน้าไปมาก สังคมสามารถแซงก์ชั่นสื่อที่ทำตัวไม่ถูกต้องได้รวดเร็วทันที ซึ่งตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก็มีให้เราเห็น และน่าจะได้ผลดีมากกว่าการออกกฏหมายด้วยซ้ำ

“ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ต้องออกแบบกฎหมายให้เหมาะสมกับปัญหาและแก้ปัญหาได้จริงต่างหากถึงจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ที่ผ่านมา เรามีกฏหมายอยู่มากมาย แต่บังคับใช้ได้จริงน้อยและเลือกบังคับเอาตามอำเภอใจผู้มีอำนาจ มิได้บังคับโดยเสมอหน้าและเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ประเด็นสื่อควบคุมกันเองไม่ได้นั้น ผมคิดว่าถ้าเราสรุปแบบนั้นก็ออกจะง่ายและหยาบเกินไป”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสื่อมวลชนจะเผชิญกับกฏหมายตัวนี้หรือไม่สื่อมวลชนก็ต้องปฏิรูปอยู่แล้ว ทั้งนี้ สิ่งที่บังคับให้สื่อเปลี่ยนมากที่สุดในเวลานี้เกิดจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

1.ภูมิศาสตร์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไป สื่อต้องปรับตัวขนานใหญ่ถ้าทำเอาง่ายสุกเอาเผากิน ลอกกัน เหมือนกันหมด รับรองจบเห่ ถ้ายังเอาแต่เกาะเพจดัง เอาเรื่องโซเชียลมีเดียมาลงโดยมิยอมลงแรงทำอะไรให้มากกว่านั้นก็จบเห่ หรือถ้าเอาไว ไม่เอาความถูกต้องไม่สนความรับผิดชอบเลย เอาแต่เรทติ้งไม่สนความรับผิดชอบเลยก็จะได้วูบวาบแล้วก็จบเห่อีกเหมือนกัน

2.สังคมและปัจเจกบุคคลมีพลังอำนาจในการตรวจสอบสื่อได้และท้าทายสื่อได้ ถ้าสื่อทำไม่ถูก ถ้าละเมิดจริยธรรม รายงานไม่ถูกต้อง ไม่ได้คุณภาพ สื่อเจอแน่และไม่ได้รับความปราณี

3.สื่อต้องต่อสู้เพื่อเอาตัวให้รอดทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ชม ผู้ฟัง ผู้อ่านไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นมหาสึนามิที่ใหญ่กว่ากฏหมายเยอะและต้องอาศัยการจัดการที่ทันท่วงที มีวิธีการที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมและโปร่งใส

การออกกฏหมายมาคุมสื่อโดยลากเอาทุกอย่าง ทุกคน ทุกประเภทเข้ามาอยู่ในการควบคุมในกฏหมายนี้หมดโดยมีเงื่อนไขง่ายๆ ว่า ใครเป็นสื่อแล้วได้รับประโยชน์ตอบแทนนั้นเป็นเรื่องสวนทางโดยสิ้นเชิงกับแนวความคิดประเทศไทย 4.0 แต่ถ้าแก้ปัญหาให้ถูกจุด โดยออกแบบวิธีการที่เหมาะสมกับปัญหาและแนวโน้มปัญหาจะดีกว่าหรือไม่

“เรื่องที่ควรคิดอีกประการหนึ่งคือ ที่บอกต้องมีกฎหมายเพื่อคุมสื่อนั้นคุมอะไร โดยอะไร ตอนนี้เราเห็นตรงกันว่า การตีทะเบียนสื่อ มิใช่เรื่องควรทำเพราะในสังคมที่ความอดทนต่ำต่อความเห็นต่างนั้น มันง่ายมากที่จะไม่ออกใบอนุญาตให้ใคร สำหรับผมแล้ว รัฐจะมีตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการหรือไม่นั้นมันน่ากังขาเช่นกัน แต่บอกตรงๆ ว่าแม้แต่คนในวิชาชีพเดียวกันผมก็ไม่ไว้ใจ เพราะเดี๋ยวนี้มันเป็นนอมินีกันง่ายและมีคนพร้อมจะเป็นเยอะ”

และอีกจุดหนึ่งที่น่าตั้งคำถามคือ ตามกฏหมายนี้จะมีได้อย่างมากที่สุดคือ โทษทางปกครองคือการสั่งปรับ ในขณะที่โทษทางกฏหมายอื่นที่คุมสื่ออยู่แล้วเช่นอาญานั้น สามารถสั่งให้สื่อติดคุกได้ ฉะนั้น การเพิ่มกฏหมายใหม่นี้เข้ามาจะทำให้สื่อมีจริยธรรมมากขึ้นจริงหรือ และเราต้องการควบคุมสื่อเพราะอะไร จะคุมอะไรของสื่อกันแน่ คุมความเห็น คุมการนำเสนอ คุมความประพฤติ สื่อที่ว่านั้นคือ สื่ออะไรประเภทไหน สื่อประเภทไหนเป็นปัญหา สื่อการเมืองหรืออะไร มีสื่อประเภทไหนที่ไม่มีกฏหมายคุม แล้วพวกที่ก่อความรุนแรงเหมือนกับสื่อที่เป็นปัญหาพวกที่ใช้วาทกรรมแห่งการเกลียดชังอื่นล่ะจะคุมหรือไม่ ดังนั้น อยากให้ถามตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วค้นหาข้อเท็จจริง มาแลกเปลี่ยนกันเราอาจจะได้ทางออกที่ดี อย่างน้อยก็ประเทืองปัญญาและอย่างน้อยก็ได้ใช้สติปัญญา เว้นแต่ว่าจะชงกันมาเพราะอยากคุมสื่อโดยมีเป้าอื่น

ความคิดเห็นจาก บล็อกเกอร์

kkhair
ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง

นายณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง หรือ คุณแก่ ซึ่งจะมาให้ความคิดเห็นกับเราในฐานะ บล็อกเกอร์ด้านการตลาดดิจิทัลชื่อดัง กล่าวถึงการนิยมว่าบล็อกเกอร์ควรจะเป็นสื่อด้วยหรือไม่ว่า ไม่ต้องอ้อมเลย แต่บล็อกเกอร์คือสื่อแน่นอน เพราะสิ่งที่บล็อกเกอร์ทำมันคือสิ่งที่สื่อทำอย่างแน่นอน แต่อาจจะไม่ใช่สื่ออาชีพ แต่อาจจะเป็นลักษณะสื่ออิสระ

“ผมคิดว่าตอนนี้สิ่งที่ถกเถียงกันโฟกัสกันแต่สิทธิของสื่อ แต่เราลืมที่จะพูดกันถึงผลกระทบของสังคมที่สื่อได้ทำหน้าที่อยู่ ไม่ว่าคุณจะรับหรือไม่รับเงินจะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม แต่คุณได้ใช้เครื่องมือในการสื่อสารเพื่อเข้าถึงคนจำนวนมาก ดังนั้นในการสื่อสารจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย”

นอกจากนี้ ควรตั้งคำถามเรื่องของรายได้ด้วย เพราะอะไร เพราะว่ามันจะบอกได้ว่าข้อมูลข่าวสารที่คุณส่งออกไปนั้นมีนัยยะสำคัญหรือมีผลประโยชน์อื่นอันใดแอบแฝงหรือไม่ ซึ่งมันมีผลต่อคนรับสารแน่นอนว่าเขาได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้อมูลที่ผู้ส่งสารต้องการส่งออกไปเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่ควรจะพูด ดังนั้น การพูดถึงเรื่องรายได้จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการที่จะต้องให้ขึ้นทะเบียนสื่อออนไลน์ เพราะสิ่งสำคัญมันคือการปกป้องผู้อ่านให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงอาจะเรียกได้ว่าเป็นกลไกหนึ่งในการดูแลสื่อที่มีประโยชน์ต่อประชาชน อย่างในต่างประเทศเขามีการสกีนกันที่เข้มข้นกว่านี้ ยกตัวอย่างอาชีพนักแสดง ต่างประเทศนั้นถ้าคุณไม่มีใบประกอบอาชีพนักแสดงคุณก็ไม่สามารถมาเป็นนักแสดงได้ เพราะผลกระทบที่สื่อให้ข้อมูลมันมีผลกระทบในวงกว้างกว่าที่เราคิดมากนัก

สิ่งที่อยากจะบอกคือเมื่อคุณได้สิทธิ ที่จะเผยแพร่ข้อมูลอะไรก็ได้ต่อสาธารณะ ดังนั้น ก็ต้องตามมาด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

“สิทธิจะต้องมาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบ ถ้าไม่มีความรับผิดชอบก็ไม่ควรได้รับสิทธิ”

เพราะคนเป็นสื่อจะต้องทำตัวเป็นไม้บรรทัด เป็นบรรทัดฐานที่ดีต่อสังคม ดังนั้น เราก็อาจจะจำเป็นต้องคัดกรองสื่อให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นมาตรฐานอันดี ดังนั้น คนที่จะมาเป็นสื่อก็จะต้องยอมรับกติกาตรงนี้ด้วย แต่ถ้าจะให้พูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อตรงนี้ตนว่าพูดกันเท่าไหร่ก็ไม่จบ เพราะว่าพูดกันคนละมุม คือคนนึงก็พูดเรื่องประชาธิปไตยเสรีภาพ คนหนึ่งก็พูเรื่องความมั่นคง อีกคนหนึ่งก็พูดเรื่องสิทธิของผู้อ่าน แต่เรากลับไม่มีการพูดถึงมุมที่ว่าการล่วงละเมิดสิทธิของเด็กหรือดาราที่ถูกละเมิดทั้งจากภาพข่าวและพาดหัวข่าว ตรงนี้ก็สำคัญมากไม่แพ้กัน ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันว่ามันควรจะต้องเกิดขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“ดังนั้น ผมเห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนสื่อ ทั้งสื่อออนไลน์ บล็อกเกอร์ หรือในอนาคตอะไรก็ตามที่ต้องเป็นคนนำเสนอข้อมูลอะไรสู่ประชาชนจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเพื่อให้สามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนได้ เป็นสื่อสีขาว ไม่ใช่สื่อสีเทาๆ ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ถ้าคุณทำงานด้วยความโปร่งใสตนก็ไม่เห็นประโยชน์อะไรที่จะคัดค้าน”

เมื่อถามว่าฝ่ายที่คัดค้านกฎหมายอาจมองว่าจะกลายเป็นเครื่องมือในการคุกคามสื่อได้ นายณัฐพัชญ์  กล่าวว่า มันก็ต้องทั้งสองฝ่าย คือสื่อเองถ้าการทำหน้าที่ถูกต้อง มีจริยธรรม มีจรรยาบรรณเพียงพอเรื่องนี้ก็ไม่ต้องให้ใครมาควบคุม ในขณะเดียวกันทางฝากรัฐเองก็ต้องแสดงเจตจำนงค์อย่างชัดเจนว่า กฎหมายดังกล่าวทำมาเพื่อกำกับดูแล เป็นเจตนาที่ดีไม่ใช่ทำมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมสื่อหรือไม่ให้มีการตรวจสอบภาครัฐ ถ้าทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างนี้แต่ต้น ประชาชนก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อ แต่ตอนนี้เหมือนทุกฝ่ายเอาประชาชนเป็นตัวประกันหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคำว่าประชาชนจะครอบคลุมทุกคนหมด

เหมือนกับว่าบริษัทบริษัทหนึ่ง ถ้าพนักงานทำหน้าที่ได้ดี หัวหน้าก็ไม่ต้องลงมาควบคุม แต่เพราะคุณทำหน้าที่ไม่ดีอยู่รึเปล่า หัวหน้าถึงต้องลงมาดูแล ตรงนี้ทั้งสื่อและรัฐะก็ต้องหันกลับมาดูตัวเองด้วยว่าได้ทำหน้าที่ได้ถูกต้องครบถ้วนให้แก่ประชาชนหรือยัง

นอกจากนี้ ในส่วนของแบรนด์หรือภาคเอกชน ตนก็มองว่าเป็นเรื่องดีด้วยในการที่มีการขึ้นทะเบียนสื่อออนไลน์หรือบล็อกเกอร์หรือเพจดัง เพื่อให้เวลาที่คุณจ้างงานคนกลุ่มนี้ที่มีกฎหมายรับรองอยู่นั้นก็จะได้งานทีดีมีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ และถูกต้องตามกฎหมาย ที่สำคัญคือเป็นธรรมต่อผู้อ่านหรือผู้บริโภคด้วย เพราะว่าเนื้อหาที่ได้เสนอไปผู้อ่านจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเกิดความเป็นธรรมว่าคอนเทนต์นี้มีรายได้ก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ต้องมาเลี่ยงภาษีกัน ปัญหาซีดดิ้งต่างๆ ก็จะหมดไป ไม่ต้องไปไล่จับม้ากันในพันทิป ซึ่งตนมองว่ามันแฟร์และเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากกว่าด้วย ซึ่งตรงนี้เองทางแบรนด์หรือภาคเอกชนก็ต้องมาร่วมมือกันสร้างสื่อสีขาวที่สะอาด และทำเพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ความคิดเห็นจาก สื่อออนไลน์

kporamed
ปรเมศวร์ มินศิริ

นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บ kapook.com อีกหนึ่งเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูง แสดงความคิดเห็นว่า หลังจากที่ทาง สปช.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยมีการปรับปรุงแก้ไขไปบางส่วนแล้วตามที่ได้รับฟังจากเสียงสะท้อนของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องไปผ่านท่านรองนายกฯฝ่ายกฎหมาย, กฤษฎีกา และทางสนช. ซึ่งจะมีผลต่อการแก้ไขร่างฉบับนี้ได้ ในความเห็นส่วนตัวของผมที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคนอื่นในกิจการมีความเห็นว่าให้พิจารณาให้รอบคอบในประเด็นสำคัญๆ ได้แก่ นิยามของสื่อมวลชน ซึ่งหากนิยามกว้างเกินไปจะมีผลกระทบในสองด้าน คือ ผู้ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนแต่ถูกนิยามให้เข้าข่ายไปด้วยก็จะมีภาระเพิ่มขึ้น และในแง่ที่อาจมีผู้ไปตั้งเพจขึ้นมาแล้วหาคนกดไลค์ให้ได้ตามจำนวน เพื่อจะใช้สิทธิในการเลือกตั้งสภาวิชาชีพกำหนดตัวบุคคลที่ต้องการจะให้แทรกแซงเข้ามาแทนผู้ประกอบวิชาชีพที่แท้จริงได้ และการให้นิยามที่กว้างมากอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ทำวิชาชีพสื่อแต่จำเป็นจะต้องเป็นสื่อพลเมืองเพื่อรายงานความเดือดร้อนของชุมชน ซึ่งในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้ให้การรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารกันไว้ด้วย

“สื่อออนไลน์นั้นมีกฎหมายที่ต้องปฎิบัติตามหลายฉบับ ไม่สามารถจะละเมิดคนอื่นได้เพราะมีประมวลกฎหมายอาญาและแพ่ง เช่น หมิ่นประมาท ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ไปจนถึงกฎหมายโดยตรงเช่น พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี 2550 และได้ปรับปรุงใหม่จะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่นานนี้ ให้มีความเข้มข้นขึ้นมาก การรายงานข่าวเท็จหรือผิดไปจากข้อเท็จจริงมีบทลงโทษรุนแรงขึ้น กฎหมายที่มีอยู่แล้วนี้มีผลมากอยู่แล้ว แต่กฎหมายใหม่ที่จะออกมานี้ต้องการควบคุมในกรณีที่สื่อไม่ได้ทำผิดกฎหมายฉบับอื่น แต่จะคุมไม่ให้ผิดจริยธรรม ซึ่งโดยหลักการสากลการควบคุมทางจริยธรรมเป็นสิ่งที่ตัวแทนวิชาชีพจะมีองค์กรมากำกับดูแลกันเอง หากจะมีกฎหมายมาสนับสนุนก็น่าจะเป็นไปได้ เช่น วิชาชีพ พยาบาล,แพทย์,ทนายความ แต่ไม่ควรมีเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาชีพมากำกับดูแล ยกเว้นหากเป็นตำแหน่งวิชาชีพโดยตรง เช่น โฆษกรัฐบาล, อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ น่าจะเข้ามามีตำแหน่งกำกับดูแลจริยธรรมวิชาชีพได้ และเจ้าหน้าที่สื่อของรัฐก็ควรจะต้องเคารพในจริยธรรมวิชาชีพนี้ด้วย”

ในส่วนของสื่อออนไลน์ขนาดใหญ่มักจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากทุกค่ายต้องทำตามกฎหมายเดิมอยู่แล้ว และสื่อใหญ่มักจะได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากสังคม การปฎิบัติงานจึงต้องทำด้วยความระมัดระวังสูง แต่การายงาน่ขาวเป็นงานที่ต้องแข่งกับเวลาจึงมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ ซึ่งหากมีอะไรผิดพลาดไปทางสื่อก็จะต้องรีบแก้ไขทันทีโดยไม่รอช้า

ความคิดเห็นจาก บล็อกเกอร์

kaafak

ด้าน คุณกาฝาก บล็อกเกอร์สาย IT ชื่อดัง แสดงความคิดเห็นว่า ตนมองว่ากฎหมายหากจะออกมาก็ต้องเพื่อเจตนารมณ์บางอย่าง แต่ถ้าให้มองก็คิดว่านอกจากวิธีการบังคับให้ขึ้นทะเบียนแล้วยังมีวิธีการอื่นอีกไหม และการขึ้นทะเบียนเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดแล้วหรือยัง

หากมองเรื่องจริยธรรมหรือเรื่องการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนไม่ถูกต้อง การขึ้นทะเบียนสื่อจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดหรือยัง ยังสามารถมีวิธีการอื่นอีกหรือไม่ในการควบคุมเรื่องของจริยธรรม อย่างไรก็ตาม ก็เห็นด้วยที่สื่อมีการควบคุมกันเองโดยสภาวิชาชีพเช่นเดียวกับที่หมอมีแพทยสภา แต่ที่ผ่านมาเราอาจพบว่าการดูแลกันเองของสื่ออาจจะยังทำไม่ได้เข้มข้นเพียงพอ ตนยังเห็นภาพของการตักเตือน ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับความเข้มข้นของแพทยสภาที่ถ้าทำผิดจรรยาบรรณก็จะต้องถอดใบประกอบโรคฯ

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการบังคับใช้ให้มีการขึ้นทะเบียนทุกคนตนก็เห็นว่าอาจจะไม่ต้องถึงขั้นนั้น เพียงแค่ว่าถ้าคนที่เป็นสื่ออาชีพก็จำเป็นจะต้องมีการขึ้นทะเบียนกับทางรัฐ แต่กรณีที่คนที่ไม่ใช่สื่ออาชีพ อาจจะเรียกเป็นว่า ‘สื่อสมัครเล่น’ คือผู้ที่ไม่ได้มีอาชีพโดยตรงและไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก็ยังนับเป็นสื่อได้ ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่คุณว่าคุณต้องการความเป็นมืออาชีพหรือไม่ ถ้าคุณต้องการความน่าเชื่อแน่นอนว่าการขึ้นทะเบียน การมีใบอนุญาตย่อมสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคุณมากกว่า

“พูดง่ายๆ ว่าการบังคับใช้กฎหมายตัวนี้อาจจะไม่ต้องถึงขั้นว่าให้ทุกคนต้องไปขึ้นทะเบียนหมด แต่ถ้าใครต้องการสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับตัวเองการขึ้นทะเบียนก็จะดีกับตัวคุณมากกว่า เป็นผลดีกับคุณมากกว่า ทำให้ไม่ต้องมีการบังคับว่าทุกคนต้องทำ และก็ลดแรงขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลด้วย” 

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวคิดว่ากฎหมายดังกล่าวมีเพื่อบังคับกับกลุ่มสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ ที่เป็นพวกสื่อกระแสหลักที่รายงานเกี่ยวกับภาครัฐมากกว่าที่จะมุ่งไปที่สื่อโซเชียล หรือพวกเพจต่างๆ ที่สำคัญถ้าพิจารณาแล้วจะเห็นว่านิยามคำว่าสื่อก็ยังกว้างมากเกินไป ดังนั้น การนิยมให้ตรงและสอดคล้องกับสิ่งที่ต้องการน่าจะดีกว่า

และไม่ว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าจะต้องมีผลกระทบต่อทุกฝ่ายในวงกว้าง ซึ่งเราคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป.

Copyright © MarketingOops.com


  • 179
  •  
  •  
  •  
  •