กสทช. ยอมถอย เลื่อนเส้นตายลงทะเบียน OTT ออกไปก่อน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

จากกรณีร้อนที่  กสทช. สั่งให้ Facebook , Google , Netflix ต้องมาลงทะเบียน OTT ภายในวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 หากไม่ลงจะมีความผิดทางกฎหมายนั้นล่าสุด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม กสทช.มีการประชุมเรื่องการกำกับการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต (OTT) โดยได้ข้อสรุปจะทำการเลื่อนกำหนดเส้นตายที่ให้ลงทะเบียน OTT ออกไปก่อน

โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า จะทำการเลื่อนกำหนดวันลงทะเบียน OTT ออกไปก่อน จากที่เคยกำหนดไว้เป็นวันที่ 22 ก.ค. รวมทั้งยังมีข้อสังเกตว่า การลงทะเบียนอาจจะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2533

ott1

อย่างไรก็ตาม นายฐากร กล่าวว่า มติที่ประชุม กสทช. ยังเห็นควรจะเดินหน้าการกำกับกิจการ OTT เนื่องจากเป็นการให้บริการในประเทศไทย จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย  แต่เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในการกำกับดูแลที่จะไม่มีข้อโต้แย้งในอนาคต จึงมีมติให้คณะอนุกรรมการ OTT ยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับกิจการ OTT ให้เสร็จภายใน 30 วัน เพื่อเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณา ก่อนนำออกประชาพิจารณ์รับความฟังความเห็นสาธารณะ ก่อนที่จะปรับปรุงและเสนอให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีกรอบเวลาดำเนินงานทั้งหมด 90 วัน

ขณะที่ทางด้าน Google ประเทศไทย โฆษกของ Google  เผยว่า ระบุว่ายังไม่สามารถบอกอะไรชัดเจนเรื่องความเคลื่อนไหวก่อนวันที่ 22 ก.ค. เนื่องจากยังต้องการข้อกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร หากลงทะเบียน OTT แล้ว กระบวนการต่อไปคืออะไร การดำเนินงานจะเป็นไปในรูปแบบไหนต่อ อย่างไรก็ตาม ทาง Google กำลังศึกษาเรื่องกฎหมายเพิ่มเติมอย่างเต็มที่

และทางด้าน น.ส. สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. ได้โพสต์ขึ้น twitter ส่วนตัว โดยสาระสำคัญใน twitter เผยว่า กสทช. ยื่นคำขาดกับ Google  และ Facebook ว่า ถ้าไม่มายื่นขอประกอบกิจการ จะขัด พ.ร.บ.โทรทัศน์ แต่ พ.ร.บ.โทรทัศน์ ห้ามบริษัทต่างชาติมาขอทำทีวี  โดย พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรทัศน์ ระบุชัดเจนว่า ห้ามต่างชาติถือหุ้นกิจการทีวีเกินร้อยละ 25 ดังนั้น กฎหมายห้าม Facebook และ Google มาทำทีวีในไทยอยู่แล้ว ประเด็นข้อกฎหมายคือ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรทัศน์มีกฎสำคัญห้ามต่างชาติถือหุ้นในกิจการทีวีเกินร้อยละ 25 ดังนั้น ถ้าตีความสื่อออนไลน์ OTT เป็นทีวีจะยุ่ง Facebook และ Google และ OTT เข้าข่ายเป็นทีวีแบบไม่ใช้คลื่นฯ ตาม พ.ร.บ.โทรทัศน์ ซึ่งต้องห้ามไม่ให้ต่างชาติมาขอ แล้วเขาจะมาขอได้อย่างไร


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!