ด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลก บวกกับการเข้ามาดิสรัปของโควิด-19 ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนั้นได้รับอานิสงส์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะ ‘สตาร์ทอัพดิจิทัล’ ที่มีความจำเป็นและเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกๆ ธุรกิจ ดังนั้นเพื่อไม่อยากให้ตกเทรนด์และพลาดโอกาสทางธุรกิจ เราจึงควรต้องรู้และทำความเข้าใจกับเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังมาแรงหมุนไปในทิศทางใด
ในปี 2564 มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นปีที่ร้อนแรงมากขึ้นไปอีกสำหรับวงการสตาร์ทอัพ (startup)ในประเทศไทย สังเกตได้จากพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ที่เปิดใจรับเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งทาง กรุงศรี ฟินโนเวต ได้ออกมาวิเคราะห์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยที่จะโตสวนกระแสและครองใจผู้บริโภคในปีนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
6 เทรนด์สตาร์ทอัพที่มาแรง ปี 2564
1. Robo-Advisory Wealth Management
แพลตฟอร์มขายกองทุนผ่านออนไลน์กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถซื้อขายได้ทุกกองทุนในประเทศ แล้วยังให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เปิดบัญชีก็ทำได้ง่าย และมีระบบแนะนำการลงทุนให้เหมาะสมกับลูกค้าเป็นรายบุคคล ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีขายกองทุนผ่านออนไลน์นั้นได้รับความสนใจมานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ก็มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับและใช้อย่างแพร่หลายเป็นพิเศษในปีนี้อย่างแน่นอน
2. Peer to Peer Lending (P2P lending)
การกู้ยืมเงินผ่านแพลตฟอร์มให้บริการทั้งกู้เงินส่วนบุคคลและ SME โดยไม่ผ่านธนาคาร เป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกยิ่งขึ้น ในต้นทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้กู้ และเพิ่มทางเลือกในการลงทุนของผู้ให้กู้ โดยในปีนี้จะมีสตาร์ทอัพหลายรายจากทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่าง SME ผู้กู้ และผู้ให้กู้รายย่อย ซึ่งต้องยอมรับว่าแพลตฟอร์มนี้มาในจังหวะที่ดีที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย เพราะ SME ที่มีศักยภาพหลายรายที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่สามารถขอกู้ธนาคารหรือได้รับอนุมัติยากมากนั่นเอง ในทางตรงกันข้ามสตาร์ทอัพอาจพบอุปสรรคในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน เลยทำให้ผู้ปล่อยกู้ไม่มั่นใจไปด้วย
3. Data Management Platform
จะเป็นเทคโนโลยีที่ทั้งธุรกิจ SME และบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate) กำลังพุ่งความสนใจมาที่แพลตฟอร์มนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากทุกบริษัทต่างก็มีข้อมูลมากมายที่ยังไม่สามารถจัดเรียงข้อมูลเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี หรือไม่สามารถวิเคราะห์และเอามาต่อยอดได้ รวมทั้งถ้าจะเลือกใช้บริการเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Salesforce ก็มีราคาสูงเกินไป จึงเป็นโอกาสสดใสของสตาร์ทอัพไทยขนาดกลางและเล็กที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพเข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยมากกว่า
4. e-Logistic
เป็นเทคโนโลยีที่กำลังแข่งขันอย่างดุเดือดจากทั้ง startup ไทย และจีน เพื่อแย่งชิงตลาดการซื้อขายออนไลน์หรือ E-Commerce ที่เติบโตอย่างมหาศาล ซึ่งเราจะเห็นได้จากราคาขนส่งที่จะลดลงเรื่อย ๆ จากที่เคยมีผู้เล่นในตลาดน้อยจึงทำให้ราคาสูงถึง 50 บาทต่อชิ้นเมื่อ 2 ปีก่อน ในขณะที่ตอนนี้ผู้เล่นกลุ่ม e-Logistic มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ค่าส่งเหลือต่ำกว่า 20 บาท ผ่านการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด
5. InsurTech
เทคโนโลยีด้านประกันที่มาแรงตั้งแต่ปีก่อน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระตุ้นให้เรื่องของสุขภาพและการใส่ใจในเรื่องของคุณภาพชีวิตที่ดีกลายเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลก เติบโตพร้อมๆ กับการขายประกันโควิด-19 ในรูปแบบออนไลน์ และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความคุ้มครองหรือประกันง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นสตาร์ทอัพหลายรายเข้ามาร่วมมือกับ บริษัทประกันแบบดั้งเดิม ด้วยการเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ในสัดส่วนที่มากขึ้น หรือนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการขายไม่ว่าจะผ่านสาขา หรือ ตัวแทนภายใต้รูปแบบดิจิทัล
6. Cryptocurrency Exchange
ตั้งแต่ ก.ล.ต. ออกใบอนุญาตให้สตาร์ทอัพทำกระดานขาย digital currency ก็มีผู้เล่นเข้ามาหลากหลายจากทั้งในและต่างประเทศ โดยมีจุดขายที่การนำเสนอแบบไม่มีค่าธรรมเนียมในการเทรด และมีผลิตภัณฑ์ที่ฝากเหรียญแล้วให้ดอกเบี้ยสูงถึง 16% ต่อปี สังเกตได้จากความคึกคักในปีนี้ก็มาจากราคาของ Bitcoin ที่ทะยานสูงเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อเหรียญไปแล้ว
เมื่อทราบถึงเทรนด์ของเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมใหม่ให้ธุรกิจแล้ว น่าจะช่วยบรรดาผู้ประกอบการและองค์กรต่าง ๆ ปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงได้ทันกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อวางแผนกลยุทธ์และการลงทุนต่าง ๆ สำหรับสร้างความแข็งแกร่งและต่อยอดธุรกิจของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น