มารู้จักกับ Ajaib แอปพลิเคชั่นเทรดหุ้นออนไลน์ ยูนิคอร์นตัวล่าสุดในอินโดนีเซีย

  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ความน่าสนใจของประเทศอินโดนีเซีย ไม่ใช่แค่จำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หรือภูมิประเทศที่เป็นเกาะเล็กใหญ่มากที่สุดในโลก ถึง 13,000 เกาะด้วยกัน แต่หากเทียบในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ผลิต ‘ยูนิคอร์น’ หรือ ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากที่สุดในอาเซียนด้วย

โดยปัจจุบันในอินโดนีเซียมียูนิคอร์นมากถึง 7 ตัวด้วยกัน (Gojek, Tokopedia, Bukalapak, Traveloka, OVO, JD.id และ Ajaib) ซึ่งรวมทั้งยูนิคอร์นตัวล่าสุดที่เพิ่งเข้ามาในกลุ่มหมาดๆ อย่างแอปพลเคชั่น Ajaib แพลตฟอร์มสำหรับการเทรดหุ้นออนไลน์น้องใหม่ที่มาแรงมาก

 

www.timedoor.net

 

ความน่าสนใจของแพลตฟอร์ม Ajaib ซึ่งเป็นยูนิคอร์นที่เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นออนไลน์ตัวแรกของอินโดนีเซีย ลองมาดูกันว่าทำไมถึงได้ขึ้นเป็นยูนิคอร์นภายในเกือบ 3 ปีหลังจากที่ก่อตั้งบริษัทในปี 2019

 

 

จากเพื่อนร่วมชั้น กลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Ajaib

ย้อนไปที่ประวัติสั้นๆ เกี่ยวกับที่มาที่ไปของแพลตฟอร์ม Ajaib ที่ก่อตั้งโดย Anderson Sumarli  วัย 27 และ Yada Piyajomkwan วัย 28 ปี เพื่อนร่วมชั้นกันที่ Stanford MBA โดยพวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Ajaib Group ที่กรุงจาการ์ตาขึ้นมา ในครั้งแรกของการขอทุน series A ผู้สนับสนุนการลงทุนหลัก คือ DST Global และใน series B บริษัทที่ร่วมลงทุนเพิ่มเข้ามา ได้แก่ Alpha JWC Ventures, Ribbit Capital, Horizons Ventures, Insignia Ventures และ SoftBank Ventures Asia

หากดูจากผู้ร่วมทุนหลายๆ ธุรกิจจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมผู้ก่อตั้ง Ajaib จึงกลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่อายุน้อยที่สุดและประสบความสำเร็จในอินโดนีเซีย

 

 

เป้าหมายหลัก Ajaib คือ เทรดเดอร์ชาวมิลเลนเนียส์

มุมมองของผู้ก่อตั้งทั้ง 2 ของ Ajaib น่าสนใจตรงที่ พวกเขาตามติดความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่มานาน และสังเกตเห็นว่าคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียส์ให้ความสนใจเกี่ยวกับการเทรดหุ้นมากขึ้น ดูได้จากที่บริษัท PT Bukalapak ประกาศเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO)

อย่างที่ Anderson Sumarli ได้พูดว่า “การเสนอขายหุ้น IPO ของ Bukalapak บริษัทเทคโนโลยีด้านอีคอมเมิร์ซ เห็นได้ชัดว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจมาก รวมไปถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีรายอื่นด้วย อย่าง GoTo และยูนิคอร์นตัวอื่นๆ”

เห็นได้ชัดว่ากระแสความสนใจของกลุ่มมิลเลนเนียส์ โฟกัสไปที่การลงทุนมากขึ้น ขณะที่ในอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ความได้เปรียบทั้งความชอบที่หลากหลาย และจำนวนประชากรคนรุ่นใหม่ ทำให้บริษัทหลายรายแสดงความสนใจ และเสนอตัวให้ทุนพัฒนาในแอปฯ Ajaib

ข้อมูลจาก C-Best แพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ด้านการลงทุนหุ้น เปิดเผยว่า 59% ของนักลงทุนรายย่อยซื้อขายหุ้นออนไลน์มีอายุต่ำกว่า 30 ปี และมีแนวโน้มว่าการลงทุนในหุ้นทางออนไลน์กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในอินโดนีเซีย

Chandra Tjan หุ้นส่วนทั่วไปของ Alpha JWC Ventures หนึ่งในบริษัทให้ทุนใน Ajaib ได้พูดว่า “ความสำเร็จของ Ajaib ไม่ได้สะท้อนถึงความนิยมของชาวมิลเลนเนียลส์ในอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ทำให้เห็นว่า นับวันกลุ่มคนอายุน้อยกำลังกลายเป็นนักลงทุน เป็นเจ้าของกิจการกันมากขึ้น นักลงทุนสำหรับพวกเขากลายเป็นอาชีพหลัก ซึ่งต่างจากค่านิยมแบบเดิมของคน gen ก่อน”

 

 

ทั้งนี้ ความง่ายและดึงดูดของแพลตฟอร์ม Ajaib ก็คือ ต้องสะดวกในการซื้อขายหุ้น, ไม่มีโบรกเกอร์, ไม่มีสาขาออฟไลน์ ซึ่งพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากบริษัท Robinhood ในสหรัฐอเมริกา หรือ XP Investimentos ในบราซิล ที่ส่วนใหญ่โมเดลธุรกิจจะเน้นที่ออนไลน์เท่านั้น และต้องไม่มีเงื่อนที่น่าหงุดหงิดใจ เช่น การลงทุนครั้งแรกมีขั้นต่ำพร้อมเปิดบัญชี หรือ การเพิ่มเงินลงทุนเป็น 3 เท่าภายในเดือนที่ 2 หลังจากเปิดใช้งาน ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ไม่ make sense สำหรับกลุ่มคนอายุน้อยที่ยังมีทุนต่ำ

ที่หยิบเรื่องราวของยูนิคอร์นตัวล่าสุดของอินโดนีเซียขึ้นมาแชร์ เพราะอยากให้ทำความเข้าใจว่าพวกเขาเห็นอะไร หรือมีแนวคิดแบบไหนถึงพัฒนาแนวคิดนั้น จนกลายมาเป็นความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อยที่ประสบความสำเร็จ คงคล้ายๆ กับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจด้านการลงทุน หรือการทำธุรกิจมากขึ้น ซึ่งไอเดียธุรกิจของ Ajaib อาจจะเป็นอีกหนึ่ง case study ที่ดีของบางคนได้

 

 

 

ที่มา: techinasia, bloomberg, techcrunch


  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม