อริยะ พนมยงค์ ประกาศลั่น “ปีนี้ช่อง 3 จะกลับมามีกำไร”

  • 526
  •  
  •  
  •  
  •  

หลังจากปี 2562 ได้มีการเขย่าองค์กรและจัดทัพครั้งใหญ่ ถึงตอนนี้ ‘อริยะ พนมยงค์’ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศอย่างมั่นใจว่า ปีนี้ ช่อง 3 จะกลับมามีกำไรอีกครั้ง

“ปีนี้เราปรับวิสัยทัศน์ใหม่ ลดการพึ่งพารายได้จากสื่อทีวี ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านคอนเทนท์และธุรกิจบันเทิงของไทย เป้าหมายระยะสั้น คือ ผลประกอบการของเราจะกลับมาเป็นบวกภายในปีนี้ ส่วนระยะยาว คือ สามารถสร้างรายได้และการเติบโตจากธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจต่างประเทศและธุรกิจดิจิทัล ภายในปี 2566” อริยะกล่าว

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจที่จะทำให้ตัวเลขรายได้ของช่อง 3 ที่ “ติดลบ” กลายเป็น “บวก” บีอีซี เวิลด์ จะให้ความสำคัญกับ 6 เรื่อง ได้แก่

1. New Media : การทรานส์ฟอร์มตัวเองจากธุรกิจทีวีสู่อุตสาหกรรมสื่อแบบ D2C (Direct to Consumer) ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ใกล้ชิดขึ้นผ่านธุรกิจออนไลน์ประเภทต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจใหม่อย่างคอมเมิร์ซและโฮมช้อปปิ้ง เป็นต้น เพื่อเปลี่ยนสื่อทีวีซึ่งเป็นสื่อดั้งเดิมให้มีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มยอดขายหรือแชร์ทราฟิกร่วมกับแบรนด์ได้ ซึ่งเตรียมจะเปิดตัวช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นครั้งแรก

2. Go Inter : การขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับ Tencent ขายลิขสิทธิ์ละครให้เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม และต่อจากนี้จะเน้นขยายคอนเทนต์จีนและกลุ่มอินโดไชน่า พร้อมตั้งเป้ารายได้เติบโตไว้ที่ 2 เท่าตัว

3. 3+ : เป็นการเร่งเครื่องธุรกิจดิจิทัล ทั้งที่ดำเนินการเองและร่วมกับพาร์ทเนอร์ เช่น ผู้ให้บริการ OTT ซึ่งจะร่วมมือกับทุกราย โดยช่วงเริ่มต้นจะเริ่มจากการเปิดตัวแอปพลิเคชัน “3+” เปลี่ยนชื่อจากแอปเดิม “Mello” ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อทำให้ผู้คนจำได้ง่ายกว่าเดิมและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัท พร้อมจับมือกับผู้ให้บริการ OTT ทุกราย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด “เพราะผู้บริโภคอยู่ตรงไหนเราก็ต้องอยู่ตรงนั้น” และ 70-80% ของคอนเทนต์ที่คนไทยรับชมก็ยังเป็นคอนเทนต์ภาษาไทยนั่นเอง โดยปัจจุบันกลุ่มผู้ชมหลัก คือ วัย 35-40 ปีขึ้นปี ขณะที่กลุ่ม 30-35 ปี มีพฤติกรรมรับชมทั้งทีวีและออนไลน์สลับกัน ส่วนกลุ่มเด็กจะหันไปรับชมจากออนไลน์เป็นหลัก

4. New Content : การปรับโฉมคอนเทนต์ให้เป็นรูปแบบใหม่ เน้นความกระชับ อย่างปีที่ผ่านมาได้ปรับในส่วนของรายการข่าว ส่วนต้นปี 2563 ได้ปรับคอนเทนต์ในส่วนของรายการวาไรตี้และละคร รวมถึงให้ความสำคัญกับช่วงไพร์มไทม์ 18.00-22.30 น. เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ชมมากขึ้น เนื่องจากช่วง 18.00 น. ที่เป็นช่วงเวลาที่มีการรับชมสูง ส่วน 19.00 น. ถือเป็นช่วงพีคทั้งในเมืองและต่างจังหวัด เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวจะใช้เวลาร่วมกันเพื่อรับชมทีวี โดยคอนเทนต์ที่บริษัทจะเน้นในช่วงเวลาดังกล่าว คือ ละคร ขณะที่ 20.00 น. จะเริ่มเป็นช่วงเวลาของคนเมืองที่ยังชื่นชอบละครอยู่ แต่จะมีการปรับรูปแบบให้น่าสนใจยิ่งขึ้นและกระชับมากขึ้น และมีสีสันจากคอนเทนต์ LGBTQ ซึ่งในอดีตช่อง 3 ไม่ค่อยได้ทำละครประเภทนี้ แต่วันนี้มีการปรับเปลี่ยนคอนเทนต์เริ่มต้นจากเรื่อง “ซ่อนเงารัก” ซึ่งได้กระแสตอบรับเป็นอย่างดี แต่หลังจาก 22.30 น. ยอดการรับชมก็จะลดลง

5. Artists : การต่อยอดศิลปินในสังกัดที่มีกว่า 200 คน ให้สามารถสร้างมูลค่าและใกล้ชิดผู้ชมได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดเฉพาะผลงานละครเท่านั้น อาทิ รายการต่าง ๆ หรือการนำเสนอความสามารถอื่นนอกเหนือจากการแสดง อาทิ คอนเสิร์ต , อีเวนท์ พร้อมทั้งพาศิลปินในสังกัดขยายไปยังประเทศจีนด้วย

6. Data : การจัดเก็บข้อมูลจากพฤติกรรมการรับชมของผู้บริโภคผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ เพื่อนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่หรือการให้บริการร่วมกับพาร์ทเนอร์ เป็นต้น

“ตลอด 9 เดือนที่อยู่ในตำแหน่ง ได้เห็นกระแส Disruption ที่เกิดขึ้นทั้งประเด็นเม็ดเงินสื่อโฆษณา และการที่ผู้บริโภคหันไปใช้เวลาบนออนไลน์มากขึ้น ดังนั้น ความท้าทายหลักก็คือการแย่งเวลาของผู้ชมให้กลับมาโฟกัสกับเรา เพราะเวลาเป็นสิ่งเดียวที่เทคโนโลยีสร้างให้ไม่ได้”

TV

ถามว่า คนไทยใช้เวลาอยู่กับโลกออนไลน์มากแค่ไหน ?

เรื่องนี้น่าจะสะท้อนได้จากพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้ง Facebook ที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้งานสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ส่วน LINE คนไทยก็ใช้งานมากเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นต้น

ท่ามกลางสถานการณ์ “มรสุม” ที่ “อุตสาหกรรมสื่อ” กำลังเผชิญอยู่นี้ ไม่ใช่แค่การสร้างโอกาสและการเติบโตจากธุรกิจในประเทศ แต่จำเป็นต้องมองหาและขยายโอกาสจากต่างประเทศด้วย โดยในปีที่ผ่านมา ช่อง 3 ได้ขยายไปยังตลาดต่างประเทศหลายแห่งด้วยกัน อาทิ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย เป็นต้น

“ที่เราขยายตลาดไปต่างประเทศ ไม่ได้ทำให้บริษัทมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ละครเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกด้วย เพราะแม้ผู้คนในต่างประเทศจะรับชมคอนเทนต์ของไทย แต่เขาไม่ได้รู้จักบริษัทด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้พวกเขารู้จักเรามากขึ้น และบทบาทของเราจากเดิมที่เคยเป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาแต่วันนี้ก็มีคนวิ่งเข้าหาเราเยอะขึ้น”

หลังจากประกาศวิสัยทัศน์นำพาช่อง 3 ขึ้นเป็น “ผู้นำด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย” ไปเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา คุณอริยะ ยังคงยืนยันเรื่องดังกล่าว พร้อมกับย้ำว่า… “วันนี้เราไม่ได้มองตัวเองเป็นธุรกิจทีวีเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่หัวใจของเรา คือ ธุรกิจคอนเทนต์ และคอนเทนต์คือสิ่งที่ช่วงชิงเวลาของผู้บริโภคได้ดีที่สุดในตอนนี้ ขณะเดียวกันคอนเทนต์ก็ดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาหาเราได้ด้วย”

old-media

เปิดพันธกิจระยะยาว เขย่าองค์กรให้ “ลีน” ยิ่งขึ้น!

พันธกิจระยะยาวของบีอีซี เวิลด์ จากนี้จนถึงปี 2566 จะเป็นการปรับเปลี่ยนบริษัทให้เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวและมีความคิดไปข้างหน้า โดยยกระดับดีเอ็นเอความคิดสร้างสรรค์ของช่อง 3 เพื่อส่งมอบความสดใหม่ด้วยคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงกับผู้ชมในปัจจุบัน และใช้เทคโนโลยีกับการนำเสนอนวัตกรรใหม่ ๆ เพื่อเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพผ่านทุกช่องทางหน้าจอ ทั้งไทยและต่างประเทศ

“คำว่าลีนของเรา คือ การปรับเปลี่ยนองค์กรให้เคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว และสามารถตอบจริตของผู้บริโภคให้ได้ จากเดิมที่ทีวีคือหน้าจอเดียวและรับชมด้วยกัน แต่วันนี้แต่ละกลุ่มผู้ชมล้วนต้องการคอนเทนต์ที่แตกต่าง ทำให้เราต้องทรานส์ฟอร์มความเป็นสื่อด้วย ไม่ใช่แค่การทำคอนเทนต์ให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่เรื่องสร้างแบรนด์ สร้างอะแวร์เนส หรือการขาย ทุกอย่างต้องเกิดผลที่จับต้องได้ด้วย เพราะธุรกิจสื่อวันนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรทติ้งอีกแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับผลของการใช้สื่อ”

โต 10% ทุกปี! มั่นใจ “ดิจิทัล – ต่างประเทศ” เพิ่มโอกาส

ตามที่บอกไปแล้วว่า บีอีซี เวิลด์ มีเป้าหมายจะกลับมามีกำไรอีกครั้งภายในปีนี้ พร้อมด้วยเป้าหมายที่จะเติบโตทุกปี ๆ ละ 10% พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนรายได้จากเดิม 83% มาจากสื่อทีวี และ 17% รายได้จากธุรกิจอื่น โดยคาดว่าในปี 2566 สัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนเป็น 65% จากสื่อทีวี และ 35% จากธุรกิจอื่น ซึ่งความมุ่งหวังในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ มาจาก “ธุรกิจใหม่” ซึ่งบริษัทเชื่อว่าจะสามารถสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับองค์กรได้ ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงจากภาวะอุตสาหกรรมสื่อที่อยู่ในภาวะทรงตัวและหดตัวในปัจจุบัน

สำหรับผลประกอบการของ ช่อง 3 พบว่า…

ปี 2560 มีรายได้ 11,226.06 ล้านบาท กำไร 61.01 ล้านบาท

ปี 2561 มีรายได้ 10,504.09 ล้านบาท ขาดทุน 330.18 ล้านบาท

ไตรมาส 3 ปี 2562 มีรายได้ 6,721.14 ล้านบาท ขาดทุน 138.06 ล้านบาท

“แนวโน้มตอนนี้ ธุรกิจดิจิทัลและธุรกิจต่างประเทศ อยู่ในแนวโน้มที่ดีแล้ว แต่เราก็ยังมีความหวังกับธุรกิจใหม่ ๆ ที่เรายังไม่ได้เริ่ม เนื่องจากธุรกิจใหม่จะอยู่บนพื้นฐานอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต สวนทางกับอุตสาหกรรมสื่อที่วันนี้อยู่บนความเสี่ยงและไม่เติบโต”

คน “อนาล็อก” เตรียมเตะฝุ่น

อย่างไรก็ตาม คุณอริยะ ยอมรับว่าหลังจากเที่ยงคืนของวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งช่อง 3 จะต้องยุติการส่งสัญญาณระบบอนาล็อกหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับ อสมท อาจส่งผลกระทบต่อการ “ลดคน” ของพนักงานที่ปฏิบัติเกี่ยวข้องกับงานโครงข่ายบ้าง จากปัจจุบันที่บริษัทมีพนักงานทั้งสิ้น 1,400 – 1,500 คน


  • 526
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน