เปิดวิสัยทัศน์แรก ‘อริยะ พนมยงค์’ กับบทบาทแม่ทัพช่อง 3

  • 790
  •  
  •  
  •  
  •  

หลังเข้าไปนั่งในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ ‘อริยะ พนมยงค์’ ก็ได้แสดงวิสัยทัศน์อย่างเป็นทางการครั้งแรก ณ เวทีประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา โดยประเด็นที่น่าสนใจที่สุด หนีไม่พ้นคำถามจากผู้ถือหุ้นที่ต่างถามถึงอนาคตของช่อง 3 ภายใต้การนำทัพของ ‘อริยะ’ ว่า จะพลิกให้ช่อง 3 มีกำไรได้อย่างไร และจะเห็นเมื่อใด

ในวันนั้นคณะกรรมการบริหารคนสำคัญของทางช่อง 3 เรียกได้ว่า มากันครบทีม อาทิ สมชัย บุญนำศิริ ประธานกรรมการ , ประชุม มาลีนนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร , สมประสงค์ บุญยะชัย กรรมการบริหาร และพระเอกของงาน คือ ‘อริยะ พนมยงค์’

การประชุมผู้ถือหุ้น บีอีซี เวิล์ด

ช่วงเริ่มต้นทาง สมชัย บุญนำศิริ ประธานกรรมการ ได้กล่าวแนะนำตัวอริยะต่อผู้ถือหุ้น ก่อนจะเปิดเวทีให้กรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ได้แสดงวิสัยทัศน์ด้วยการทิ้งท้ายประโยคสำคัญ

“เราคาดหวังว่า การเข้ามาของคุณอริยะจะทำให้ช่อง 3 มีกำไรอีกครั้ง”

จากนั้นทางอริยะ จึงได้เริ่มเปิดวิสัยทัศน์อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่า เตรียมตัวมาดีทั้งข้อมูลและวิธีการนำเสนอ เริ่มต้นด้วยฉายภาพของอุตสาหกรรมโฆษณาและทีวีดิจิทัลว่าเป็นอย่างไร และมีปัญหาหรืออุปสรรคใดเกิดขึ้นบ้างในอุตสาหกรรมดังกล่าวที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของช่อง 3

อริยะ พนมยงค์ แถลงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น บีอีซี เวิล์ด

นอกจากนี้ยังได้พูดถึงธุรกิจที่เป็นโอกาสและแผนงานในอนาคต ที่จะสร้างรายได้ให้ช่อง 3 กลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย แผนระยะสั้น และแผนระยะยาว

– แผนระยะสั้น การเพิ่มรายได้ให้กับทีวี ด้วยการปรับแผนการโปรโมตละครใหม่ โดยจะเน้นการสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และจัดกิจกรรม on ground ทั้งก่อนและหลังออกอากาศ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างและกระตุ้นการรับชม พร้อมกับปรับแพ็กเกจขายโฆษณา และเน้น bundle package สื่อต่าง ๆ ที่ทางบีอีซี บริษัทแม่ของช่อง 3 มีอยู่ อาทิ ทีวี , ออนไลน์ และอีเวนท์ ฯลฯ

– แผนระยะยาว การเพิ่มทั้ง Value และรายได้ให้กับคอนเทนท์ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การบุกสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์ เร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม Mello และเร่งขยายฐานธุรกิจสู่ OTT (over-the-top) ซึ่ง อริยะ บอกว่า เป็นธุรกิจที่เป็นอนาคตของช่อง 3

รวมไปถึงพยายามเพิ่มรายได้จากการขายสิทธิ์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีน ที่ถือเป็นตลาดใหญ่ และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น “ลิขิตรักข้ามดวงดาว (My Love From Another Star)” ละครฟอร์มยักษ์ที่ ณเดชน์ คูกิมิยะ และ แมท ภีรนีย์ คงไทย รับหน้าที่นักแสดงนำ ทางช่อง 3 ก็ได้จับมือกับยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent  นำละครเรื่องนี้ไปฉายที่จีน โดยจะออกอากาศพร้อมกับไทย มีกำหนดการฉาย คือ ช่วงครึ่งหลังของปี 2562

นอกจากนี้ ยังพยายามจับมือกับพาร์ทเนอร์ในจีน นำอีก asset สำคัญ ก็คือ นักแสดงในสังกัดของช่อง 3 ไปแสดงหรือร่วมงานในจีน เพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้นด้วย

เมื่ออริยะพูดเสร็จ ก็มาถึงช่วงสำคัญในวันนั้น ก็คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นถามในประเด็นที่สงสัย

แน่นอน ประเด็นที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่พุ่งเป้า ก็คือ การพลิกให้ช่อง 3 กลับมากำไรได้อย่างไร และจะเห็นเมื่อไร

คำถามนี้ อริยะ ออกตัวว่า ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะเพิ่งเข้ามาทำงานไม่นาน คือ เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา จึงขอเวลาเพื่อศึกษาและเรียนรู้ก่อน

จากนั้น ก็มีหลายคำถามตามมา อาทิ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งที่กูเกิลและไลน์ เกิดจากฝีมือของอริยะหรือไม่ พร้อมกับให้เล่าถึงความสำเร็จจาก 2 องค์กร ที่เขาได้บริหารมา รวมถึงคำถามที่ว่า นอกจากตัวอริยะเข้ามาที่ช่อง 3 แล้ว จะมีทีมงานจากไลน์มาสมทบอีกหรือไม่

“คำตอบ ก็คือ มี” แต่ก็ไม่ได้มีการขยายความต่อว่า จะเป็นใคร และมารับตำแหน่งอะไร

การประชุมผู้ถือหุ้น บีอีซี เวิล์ด

นอกจากนี้ ยังมีกับคำถามถึงจะมีแผนคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่ปัจจุบันทางช่อง 3 ถืออยู่ 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 33 เอชดี ช่อง 28 เอสดี และช่อง 13 แฟมิลี่หรือไม่ หลังจากทางรัฐบาลใช้มาตรา 44 ปลดล็อกให้สามารถคืนช่องได้ โดยให้แจ้งความจำนงต่อกสทช. ภายในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ ซึ่งทาง สมชัย ขอรับหน้าที่เป็นผู้ตอบ โดยกล่าวสั้น ๆ ว่า ต้องรอรายละเอียดและเงื่อนไขที่ชัดเจนอีกครั้ง

ก่อนที่กรรมการผู้อำนวยการคนใหม่ จะสรุปทิ้งท้ายว่า ขอเวลาในการทำงาน ส่วนแผนทั้งหมดที่ได้เสนอต่อผู้ถือหุ้นนั้น จะเห็นชัดเจนในไตรมาส 2 ของปีนี้

การเข้ามารับหน้าที่ครั้งนี้ของ อริยะ ถือว่า มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะต้องแบกความคาดหวังทั้งจากคณะผู้บริหารและผู้ถือหุ้นที่มีต่อตัวเขาไม่น้อย เพื่อพลิกให้ช่อง 3 กลับมามีกำไรในภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไม่ค่อยเอื้ออำนวย หลังจากผลประกอบการปี 2561 บริษัทมีรายได้ 10,486.4 ล้านบาท ขาดทุนอยู่ 311 ล้านบาท และเป็นการขาดทุนในรอบ 48 ปี ตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา


  • 790
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE