สัญญาณ ‘ธุรกิจสายการบิน’ เจ็บหนักยาว หลังมหาเศรษฐี ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ถอดใจขายหุ้นทั้งหมด 4 สายการบินรายใหญ่สหรัฐฯ

  • 399
  •  
  •  
  •  
  •  

Credit Photo : www.news.sky.com

อีกนานแค่ไหนที่โลกของเราจะฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้เหมือนเดิม? ยังคงเป็นคำถามที่ค้างคาอยู่ในความคิดของทุกคน ทุกประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตนี้

ถึงแม้ว่าหลายๆ ธุรกิจเริ่มที่จะนับหนึ่งหายใจอีกครั้ง โดยบางประเทศเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์บางอย่างด้วยความระมัดระวัง อย่างประเทศไทยที่เมื่อวานนี้ (3 พ.ค.63) รัฐบาลอนุญาตให้เริ่มขายแอลกอฮอล์ได้ สามารถเปิดร้านตัดผม รวมไปถึง เปิดร้านค้า, ตลาดนัดได้ภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีหลายธุรกิจที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วๆ นี้ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘ธุรกิจสายการบิน’

นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมการบินเคยพูดเอาไว้ว่า อุตสาหกรรมการบิน อาจจะเป็นธุรกิจรั้งท้ายที่ฟื้นตัวช้ากว่าธุรกิจอื่น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่อาจจะเปลี่ยนไปมาก หลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 ส่งสัญญาณดีขึ้น

โดยคำทำนายเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดขึ้นไปอีก จากคำแถลงของ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ มหาเศรษฐีนักลงทุนวัย 89 ปี และซีอีโอบริษัท เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ที่ตัดสินใจประกาศขายหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ใน 4 สายการบินรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ในระหว่างการประชุมประจำปีของบริษัท

“โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว สำหรับอุตสาหกรรมการบินเพราะการแพร่ระบาดของ COVID-19” มหาเศรษฐีรายนี้พูดด้วยว่า “ผมได้ตัดสินใจผิดพลาดอย่างมหันต์ในการเข้าไปลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในธุรกิจสายการบิน”

ตามข้อมูลสิ้นสุด ณ ปี 2019 บริษัทเบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์ มีหุ้นอยู่ใน 4 สายการบิน ดังนี้

Delta Air Lines ถือหุ้น 11%
Southwest Airlines ถือหุ้น 10%
American Airlines ถือหุ้น 10%
United Airlines ถือหุ้น 9%

โดยบริษัทถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทั้ง 4 สายการบินนี้ด้วย ทั้งนี้ ความผิดพลาดดังกล่าวในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ‘เบิร์กเชียร์ ฮาธาเวย์’ ขาดทุนเกือบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 1/2020

เนื่องจากช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่มีการระบาด แม้ว่าสายการบินได้ลดการเดินทางหลายแสนเที่ยวบิน และจอดเครื่องบินทิ้งไว้เฉยๆ เพราะดีมานด์ในการเดินทางในสหรัฐฯ ลดลงถึง 95% แต่ในแต่ละสายการบินยังคงมีค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ อยู่เช่นเดิม เช่น เงินเดือนพนักงาน, การบำรุงรักษาเครื่องบินในระหว่างที่จอดแช่ หรือ ภาษีสนามบินก็ตาม

Credit Photo : www.news.sky.com

อย่างไรก็ตาม วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้กล่าวย้ำว่า “สถานการณ์แบบนี้ไม่มีใครที่ผิด สายการบินก็ไม่ได้ผิด เพียงแต่การลงทุนของบริษัทจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ผมเชื่อว่าสหรัฐฯ จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ในที่สุด เพียงแต่อนาคตของธุรกิจสายการบินเรายังไม่รู้ว่าจะกลับมารุ่งเรืองได้เมื่อไหร่”

สถานการณ์แบบนี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคหลังจากนี้ต้องเปลี่ยนไปหลายๆ อย่างแน่ รวมถึงดีมานด์การเดินทางข้ามโลกที่ไม่รู้เลยว่าดีมานด์จะกลับมาแข็งแกร่งอีกเมื่อไหร่ คงต้องมาให้กำลังใจและภาวนาให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบระยะยาวนี้ ใช้ทักษะและประสบการณ์ทั้งหมดที่มีพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้ทีเถอะ

Credit Photo : Drop of Light/Shutterstock

 

 

ที่มา : news.sky


  • 399
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม