10 Talk of the Town 2018 กระฉ่อนโลก-กระหึ่มไทย

  • 2.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

talkofthetown2018

ช่วงปลายปีแบบนี้ ไม่มีอะไรเหมาะไปกว่าการชวนคุณมาย้อนดูเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2018 ไม่ว่าจะประเด็นดราม่าหรือเหตุการณ์สำคัญทั้งในไทยและต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าหลากหลายเรื่องราว ทั้งที่กระทบกับภาพลักษณ์แบรนด์ พาดพิงการทำธุรกิจ หรือแม้แต่อยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลกก็ตาม เราคัดสรรและจัดมาแล้ว 10 เรื่องราวสุดฮอตของปีนี้! เชิญคุณกระโดดขึ้นไทม์แมชชีน ส่องโลกย้อนความทรงจำไปด้วยกัน…

ปีชง! Facebook นานามรสุม “ข้อมูลรั่ว-ความปลอดภัยหาย”

credit : Frederic Legrand - COMEO  Shutterstock.com
credit : Frederic Legrand – COMEO Shutterstock.com

หลายแบรนด์ หลากธุรกิจ อาจมองว่าปี 2018 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Digital Transformation หรือแม้แต่เป็นปีทองของการดำเนินธุรกิจ แต่คงไม่ใช่สำหรับ Facebook เพราะตลอดปีนี้ โซเชียลมีเดียยอดนิยมของผู้คนทั่วโลกนี้กลับเต็มไปด้วยเรื่องฉาว โดยเฉพาะประเด็นข้อมูลและภาพถ่ายผู้ใช้งานรั่วไหล เกิดช่องโหว่ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผ่านบัญชีผู้ใช้ Facebook

ประเด็นฉาวดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีที โดยเริ่มจาก…ศาลเบลเยียมสั่งให้ Facebook ลบข้อมูลผู้ใช้ที่ไม่ได้ยินยอมให้ติดตาม ซึ่งต่อมาไม่นาน คลื่นลูกใหญ่ก็ถาโถมใส่ Facebook อีกระลอกโดย “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ต้องเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และวุฒิสภาสหรัฐฯ กรณีที่ปล่อยให้ข้อมูลผู้ใช้ Facebook ถูกแทรกแซงและนำไปใช้เกี่ยวพันกับประเด็นทางการเมืองในสหรัฐฯ กลายเป็นประเด็นใหญ่ช็อกโลกไปทีเดียว เมื่อ CEO Facebook ได้กล่าวคำขอโทษพร้อมบอกว่าจะหาทางให้เครื่องมือของ Facebook ทำงานเข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะความปลอดภัยข้อมูล

แต่เหตุการณ์หลังจากนั้น ก็ใช่ว่าภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้ Facebook จะดีขึ้น เพราะกระทั่งตอนนี้ ยังคงปรากฎข่าวว่าข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ Facebook รั่วไหลและถูกเข้าถึงโดยแอป Third Party อย่างต่อเนื่อง นับนิ้วแล้วก็ลากยาวมาจนถึงช่วงสิ้นปีทีเดียว เรื่องออกมาเป็นแบบนี้…ก็ไม่รู้ว่าประเด็นความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้ Facebook ทั่วโลกจะเป็นอย่างไรต่อเนื่อง น่าเหนื่อยใจจริง ๆ นะพี่มาร์ก

“Huawei” โชว์ท็อปฟอร์ม ผงาดขึ้นเบอร์ 2 มือถือโลก

credit : nitpicker Shutterstock.com
credit : nitpicker Shutterstock.com

เรียกว่าตรงข้ามกับ Facebook อย่างสิ้นเชิง เพราะปีนี้ต้องยกให้เป็นปีทองของ Huawei จริง ๆ จากกระแสตอบรับผลิตภัณฑ์กลุ่มสมาร์ทโฟนอย่างล้นหลามทั่วโลก จนทำให้ยอดขายของแบรนด์สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เขี่ยแชมป์เบอร์เก่าอย่าง Apple ตกบัลลังก์ไปตั้งแต่ไตรมาสที่สอง พร้อมลากยาวมาถึงไตรมาสที่สามของปีนี้ ซึ่งทาง Huawei เปิดเผยว่าความสำเร็จนี้เป็นผลพวงต่อเนื่องจากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนเรือธงอย่าง Huawei P20 Series

แต่ใช่ว่าจะมีแต่แง่มุมดีงาม เพราะปีนี้ Huawei ก็มีประเด็นดราม่าเหมือนกัน! ไม่ว่าจะเรื่องที่ “เมิ่ง หว่านโจว” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Huawei ซึ่งเป็นทั้งผู้บริหารระดับสูงและยังเป็นลูกสาวของผู้ก่อตั้งบริษัท! ได้ถูกจับกุมในข้อหาฉ้อโกง โดยอ้างว่าเธอได้ตั้งบริษัทขึ้นมาบังหน้าเพื่อลักลอบทำธุรกิจกับอิหร่าน โดยเรื่องนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงแบรนด์อีกด้วย! เพราะหลังจากเหตุดังกล่าวก็เกิดเรื่องกระทบกระทั่งกันระหว่าง Huawei และ Apple มาโดยตลอด แต่คราวนี้เป็นเกมนอกจากการตลาดที่ทั้ง 2 แบรนด์เปิดศึกกันมาเรื่อย ๆ อยู่แล้ว ด้วยการกดดันให้พนักงานของแต่ละบริษัทหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ของตนเอง ห้ามใช้แบรนด์คู่แข่ง แถมประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ด้วยนะ เพราะเขาเล่นกดดันระดับประเทศ มีการออกมาตราการสนับสนุนเงินซื้อสินค้าใหม่เพื่อจูงใจพนักงานเลิกให้ใช้แบรนด์คู่แข่ง แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสงครามระหว่างแบรนด์เลยทีเดียว

“ทีมหมูป่า” หนึ่งปรากฏการณ์…สะท้านโซเชียลระดับโลก

ทีมหมูป่า

ถ้าพูดถึง Talk of the Town แล้ว ไม่พูดถึงประเด็นนี้ไม่ได้ กับภารกิจกู้ภัยทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี” ทั้ง 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งถือเป็นหนึ่งปรากฏการณ์ระดับโลก ที่ทั้งคนไทยและคนทั่วโลกต่างให้ความสนใจและเอาใจช่วย โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ ที่เรียกว่า กระหึ่มโซเชียล มีเดียเลยทีเดียว

กระแสของเรื่องนี้ เห็นได้จากแฮชแท็กที่ติดเทรนด์โลกหลาย ๆ แฮชแท๊ก อาทิ #ถ้ำหลวง , #ทีมหมูป่า , #พาทีมหมูป่ากลับบ้าน , # ThaiCaveRescue , #thamluang ฯลฯ และไม่ได้เกิดในกลุ่มคนทั่วไปเท่านั้น ยังรวมไปถึงเหล่าคนดังและผู้นำจากหลายประเทศ อาทิ โดนัลด์ ทรัมป์, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก, อีลอน มัสก์, เดวิด เบคแคม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังแจ้งเกิดและดันยอด Follow ของสื่อที่เกาะติดสถานการณ์หลายต่อหลายสำนักพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะ MThai และเรตติ้งของทีวีดิจิทัล ซึ่งภารกิจกู้ภัยทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ได้มีทีมผู้สร้างจากฮอลีวู้ด นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อีกด้วย คาดว่าจะได้รับชมเร็ว ๆ นี้

Nissan ค่ายรถยนต์ที่อื้อฉาวที่สุดในโลกจนกลายเป็นปีที่คน Nissan ไม่อยากจำ

Nissan

มากันที่เรื่องอื้อฉาวของวงการรถยนต์หากยังจำกันได้ Volkswagen เป็นค่ายแรกที่ถูกตรวจสอบแล้วพบว่ามีการโกงตัวเลขค่ามลพิษที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์ซึ่งค่ามลพิษเหล่านี้สามารถถูกนำไปใช้ลดภาษี และนั่นจึงเป็นที่มาให้เกิดการตรวจสอบค่ามลพิษในค่ายรถยนต์ต่าง ๆทั่วโลกแล้วก็เป็นจริงดังคาดเมื่อพบว่าบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างน้อย 3 ค่ายมีการโกงตัวเลขค่ามลพิษที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์

หนึ่งในนั้นคือค่ายรถยนต์ Nissan ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์ที่เกือบสิ้นชื่อมาแล้วครั้งหนึ่งจนกระทั่ง “คาร์ลอส กอส์น (Carlos Ghosn)” เข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารและด้วยความสามารถในการบริหารดำเนินธุรกิจของเขาส่งผลให้นิสสันก้าวข้ามจุดขาดทุนสะสมนานนับปีมาได้ภายใต้สโลแกน SHIFT ที่ให้ความสนใจกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการเป็นหลักรวมไปถึงการเจาะตลาดใหม่ที่ Nissan ไม่เคยเข้าไปรายการสร้างภาพลักษณ์ให้รถยนต์Nissan เข้าถึงทุกคนทั่วโลกจนนำไปสู่ผลกำไรที่เติบโตขึ้นถึงเกือบ 10%

แม้ว่า Nissan จะถูกตรวจสอบพบว่ามีการโกงตัวเลขการปล่อยมลพิษออกจากรถยนต์แต่นั่นก็ยังไม่ส่งผลกระทบใดๆแต่ Talk Of The Town ของ Nissan เรียกได้ว่าทำให้คนอึ้งไปทั่วโลกคือการที่คาร์ลอสกอส์นถูกจับกุมด้วยข้อหาโกงเงินค่ายรถยนต์ Nissan พร้อมถูกคณะกรรมการบริหารปลดออกจากตำแหน่งสายฟ้าแลบด้วยข้อหา“ประพฤติมิชอบในตำแหน่งหน้าที่อย่างร้ายแรง” โดยเฉพาะการแจ้งเงินรายได้ส่วนตัวต่ำกว่าความเป็นจริง

โดยสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ามีการแจ้งเบาะแสถึงการประพฤติมิชอบของนายคาร์ลอสกอส์นให้ทางคณะกรรมการบริหารทราบ โดยคณะกรรมการฯได้ดำเนินการสอบสวนโดยเฉพาะการใช้ทรัพย์สินของบริษัทเพื่อการส่วนตัวนอกจากนี้ยังมีการได้รับแจ้งว่าเกร็กเคลลีผู้อำนวยการฝ่ายตัวแทนและยังเป็นคนสนิทของนายคาร์ลอสมีส่วนรู้เห็นและร่วมลงมือทำด้วย

ซึ่งการสอบสวนได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหลายเดือนโดยผลจากการสอบสวนพบว่านายคาร์ลอสและพวกมีการนำทรัพย์สินของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวจริงจึงได้เสนอให้คณะกรรมการบริหารบทนายคาร์ลอสและพวกพ้นจากตำแหน่ง

โดยก่อนหน้าที่คาร์ลอสจะเข้ามาบริหารค่ายรถยนต์ Nissan เขาประสบความสำเร็จในการกอบกู้ธุรกิจค่ายรถยนต์ฝรั่งเศสอย่างRenault จนกลับมามีรายได้ในสถานะกำไรรวมไปถึงการเข้าไปช่วยบริหารงานที่ค่ายรถยนต์ Mitsubishi จนสามารถกลับมาฟื้นตัวได้สำเร็จและเป็นที่มาของการร่วมมือของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ 3 ค่ายอย่าง Nissan, Renault และMitsubishi

พลัง “Jack Ma” ดัน “ทุเรียนไทย” โกอินเตอร์

Jack Ma

เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ “Jack Ma” ผู้ก่อตั้ง Alibaba Group เดินทางเยือนไทย เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย กับ Alibaba Group เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไทย และการลงทุนในพื้นที่ EEC พร้อมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดเล็ก และสินค้าการเกษตรไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

หลังจากเซ็น MOU และภาครัฐได้ ได้จับมือ Alibaba Group จัดแคมเปญส่งเสริมการขายทุเรียนจากไทย ผลปรากฏว่าบนแพลตฟอร์ม “Tmall” อีคอมเมิร์ซในเครือ Alibaba Group มียอดสั่งซื้อ “ทุเรียนหมอนทอง” จากผู้บริโภคชาวจีนถล่มทลาย โดยสามารถทำยอดขาย 80,000 ลูก ภายในเวลา 60 วินาที และหลังจบแคมเปญนี้ มียอดจองซื้อทุเรียนจากไทย 130,000 ลูก หรือราว 350 ตัน คิดเป็นเงิน 70 ล้านบาท!!

นอกจากนี้ Alibaba Group ยังได้ทำข้อตกลงส่งเสริมการขายทุเรียนกับไทย ตั้งเป้ายอดขาย 3,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี

“Tmall” เผยว่าปัจจุบันมีทุเรียนมากกว่า 2 ล้านลูกขายอยู่บนแพลตฟอร์ม Tmall โดยราคาขายทุเรียนหมอนทอง สำหรับน้ำหนักประมาณ 4.5 – 5 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 199 หยวน หรือประมาณ 32 เหรียญสหรัฐฯ เป็นราคารวมค่าจัดส่ง และภาษีแล้ว

ปัจจุบันเป็นโลกยุค Globalization อย่างแท้จริงที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทย เช่น ผลผลิตทางการเกษตรของไทยในการขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น และเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง เหมือนเช่นกรณีการจำหน่าย “ทุเรียน” บนออนไลน์ ด้วยความที่เป็นหนึ่งในผลไม้ที่คนจีนชื่นชอบ และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลูก – ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ จึงทำให้ในรอบปีนี้ มี Demand เพิ่มสูงขึ้น ไม่เฉพาะตลาดในไทยเท่านั้น ยังมาจากตลาดต่างประเทศ

South China Morning Post ธุรกิจสื่อในเครือ Alibaba Group ยกคำพูดของ Jack Ma ที่ฉายภาพศักยภาพของตลาดจีนว่า “ประเทศจีน กำลังกลายเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของโลก ซึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยประชากรที่มีรายได้มากขึ้น และกลุ่มชนชั้นกลางที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านคน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีช่วงเวลาไหนดีไปกว่าช่วงเวลานี้อีกแล้วสำหรับประเทศที่มุ่งเน้นการค้าระหว่างประเทศ ในการคว้าโอกาสนี้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน และเป็นประตูเปิดกว้างไปสู่การค้าระดับโลกมากขึ้น”

เมื่อเทคโนโลยีการเงินเข้าถึงทุกคนง่าย ๆ ธนาคารคงหมดความหมายถ้าไม่ปิดตัวก็ต้องปรับเปลี่ยน

SCB-EXPRESS

สำหรับในปี 2018 นี้ หากไม่พูดถึงเรื่องของ FinTech ก็คงตกเทรนด์อย่างไม่น่าให้อภัยเพราะปีนี้ถือเป็นปีของธุรกิจธนาคารโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการถอนโอนเติมจ่ายจะเรียกได้ว่าแทบจะสามารถทำธุรกรรมทางการเงินทุกอย่างบนสมาร์ทโฟนแบบที่ไม่ต้องออกไปไหน จนเกิดคำถามขึ้นว่าแล้วจะมีสาขาธนาคารไว้เพื่ออะไร? นั่นจึงทำให้เกิดการปิดสาขาธนาคารกันอย่างมากมายรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนสาขาธนาคารรูปแบบใหม่

หนึ่งในเรื่องที่ทำให้กลายเป็น Talk of the Town คือการที่ธนาคารหันไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้นจนทำให้การเข้ามาใช้บริการในสาขาธนาคารลดน้อยลง และนั่นหมายถึงการสิ้นเปลืองต้นทุนในสาขาธนาคารที่มีผู้มาใช้บริการลดลงซึ่งนั่นย่อมหมายถึงพนักงานธนาคารที่จะต้องได้รับผลกระทบจากการปิดสาขาธนาคารลงนอกจากนั้นธนาคารบางสาขายังถูกปรับเปลี่ยนใหม่ให้แตกต่างไปจากธนาคารรูปแบบเดิม

โดยจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าธนาคารที่มีการปิดสาขามากที่สุดคือธนาคารไทยพาณิชย์หรือ SCB โดยมีการปิดสาขาลงถึง 54 แห่ง ในขณะที่ธนาคารกสิกรไทยหรือ Kbank มีการปิดสาขาธนาคารถึง 42 แห่งส่วนธนาคาร TMB มีการปิดสาขาธนาคารถึง 16 แห่งและธนาคารธนชาตปิดสาขาธนาคารลง 9 แห่งทำให้เบ็ดเสร็จแล้วในปี 2018 ธนาคารพาณิชย์มีการปิดสาขาธนาคารลงอย่างน้อย 121 แห่ง

นั่นจึงทำให้พนักงานในสาขาธนาคารที่ปิดตัวลงไปสามารถเลือกได้ว่าจะได้รับเงินชดเชยหรือจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองเนื่องจากสาขาธนาคารที่เหลืออยู่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการโดยสาขาธนาคารจะให้บริการในรูปแบบการให้คำปรึกษาการลงทุนรวมไปถึงการทำธุรกิจเพื่อให้การลงทุนเกิดประสิทธิภาพโดยรูปแบบของการบริการด้านฝากถอนโอนจ่ายยังคงมีอยู่แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของตู้คีออส (Kiosk)

นอกจากนี้จากเดิมที่สาขาธนาคารจะต้องมีพนักงานหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝากถอนเงินเจ้าหน้าที่ด้านสินเชื่อเจ้าหน้าที่การให้คำปรึกษาเจ้าหน้าที่ต้อนรับเป็นต้นโดยยังไม่นับรวมพนักงานรปภ.และแม่บ้านแต่สาขาธนาคารรูปแบบใหม่จะใช้เจ้าหน้าที่อย่างน้อยเพียง 2-3 คนเท่านั้นโดยรูปแบบสาขาใหม่ของธนาคารจะเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีในการให้บริการเป็นหลัก

ที่สำคัญแนวโน้มในการปิดสาขาธนาคารยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2019 โดยมีการคาดการณ์ว่าสาขาธนาคารในปีหน้าจะเป็นรูปแบบของ Business Center มากขึ้นโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจรวมไปถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้คำปรึกษาทางการเงินและการให้คำปรึกษาทางธุรกิจซึ่งนั่นย่อมหมายความว่าพนักงานธนาคารต้องเตรียมตัวรับสภาพการปิดสาขาธนาคารลงเพิ่มเติม

และนั่นเป็นสัญญาณเตือนให้รับรู้ว่าพนักงานสาขาธนาคารต้องเตรียมตัวปรับเปลี่ยนแนวคิดรวมไปถึงความรู้และศักยภาพในการให้คำปรึกษากลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการมากขึ้น

“ICONSIAM” อภิมหาโครงการเมือง 54,000 ล้าน ปั้นให้เป็น Global Destination

ICONSIAM

ในรอบปี 2561 โปรเจคยักษ์ที่เปิดตัวในไทย และสร้างกระแส Talk of the town ไปทั่ว หนึ่งในนั้นต้องยกให้กับ “ICONSIAM” อภิมหาโครงการเมืองในรูปแบบ Mixed-use Development บนที่ดิน 55 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ที่เกิดจากการจับมือกันระหว่าง “สยามพิวรรธน์ – แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ (MQDC) – เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)” มูลค่าการลงทุน 54,000 ล้านบาท ที่ได้ลงนามสัญญาร่วมกันเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และได้ฤกษ์เปิดตัวเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ความน่าสนใจของโครงการ ICONSIAM คือ การพยายามสร้างโครงการนี้ให้เป็นอีกหนึ่ง Landmark สำคัญของไทย เพราะฉะนั้นโครงการนี้จึงมาพร้อมกับคำว่า “อลังการดาวล้านดวง” นับตั้งแต่การดึงแม่เหล็กใหญ่ที่เป็นแบรนด์ระดับโลกเข้ามาเปิดสาขาแรกในเมืองไทยที่โครงการนี้ เช่น Apple Store, Siam Takashimaya, @cosme store, JD Sports, Jumbo Seafood พร้อมทั้งชู “7 สิ่งมหัศจรรย์” ได้แก่ River Park – Community Space / ระบำสายน้ำ ICONIC Multimedia Water Features / สุขสยาม Co-Creation Space ผนึกกำลังชุมชนท้องถิ่น 77 จังหวัดทั่วประเทศ / ศูนย์ประชุมนวัตกรรมทรูไอคอนฮอลล์ / รถไฟฟ้าสายสีทอง / พิพิธภัณฑ์ River Museum Bangkok / รวมผลงานศิลปินไทย – ศิลปินระดับโลกทุกแขนงกว่า 100 คน ร่วมสร้างสรรค์ผลงานเพื่อ ICONSIAM โดยเฉพาะ

เท่านั้นยังไม่พอ…กลยุทธ์การเปิดตัวโครงการ หรือสินค้า-บริการใดก็ตาม จังหวะ Take off ต้องดันให้สุด!! เพื่อแจ้งเกิดให้ได้ นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไม “ICONSIAM” ถึงใช้งบกว่า 1,000 ล้านบาทในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ในการสื่อสาร และจัดอีเว้นท์ใหญ่ที่จะสร้างกระแส Talk of the World โดยเฉพาะในวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เช่น การนำบุคคลมีชื่อเสียง ทั้งในระดับเอเชีย – ระดับโลกมาร่วมงาน และนำโดรนกว่า 1,500 ลำขึ้นบินทำการแสดง พร้อมทั้งใช้ Social Media โหมกระแสให้กระหึ่มมากขึ้น และยิ่งช่วงส่งท้ายปีเก่า – ต้อนรับปีใหม่ ก็ไม่พลาดที่จะจัดงานเคาน์ดาวน์ใหญ่ เพื่อปลุกปั้นให้สถานที่แห่งนี้ เป็น Global Destination ให้ได้!!

Apple Flagship Store แห่งแรกในไทย

Apple Store

หลังจากรอคอยมานาน ในที่สุด Apple ก็ได้เปิดตัว Apple Flagship Store แห่งแรกในไทยที่ไอคอนสยามไปเป็นที่เรียบร้อยเมื่อต้นเดือน พ.ย. 2561 โดยก่อนเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้เรียกเสียงฮือฮาจากเหล่าสาวก ด้วยการให้เห็นโลโก้ อ.อ่าง ที่ถูกออกแบบคล้ายรูปลูกแอปเปิ้ล ตรงบริเวณที่ตั้งของสโตร์แห่งแรก ซึ่งภาพดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ไปบนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว

Apple Flagship Store ที่ไทย เป็นสโตร์แห่งที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ ใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท เนรมิตพื้นที่ใกล้ฝังแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลายเป็น experience store สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติ

สำหรับในปีหน้า Apple Store แห่งที่ 2 จะเปิดให้บริการ ณ บริเวณหน้าลานเซ็นทรัลเวิล์ด ส่วนจะเป็นเมื่อไรนั้น ต้องติดตามต่อไป

ธุรกิจสื่อ ยังเผชิญความท้าทายต่อเนื่อง

shutterstock_348650459

ปี 2561 ยังเป็นอีกปีที่ธุรกิจสื่อในบ้านเราต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งจากสภาพเศรษฐกิจ และ Digital Disruption แม้ทางสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ได้ประเมินเม็ดเงินโฆษณาในปีนี้ว่า จะอยู่ 116,273 ล้านบาท เติบโต 4% ตามจีดีพีของประเทศ

แต่ข่าวที่เราได้เห็นและได้ยินมาตลอดปีนี้ ก็คือ การประกาศปรับโครงสร้างองค์กรและเลย์ออฟของสื่อหลักทั้งทีวีดิจิทัล และสิ่งพิมพ์ รวมถึงการทยอยปิดตัวของสื่อนิตยสารหลายต่อหลายเล่ม

เหตุผลก็เพราะว่า ต้นทุนที่สูง และรายได้โฆษณาไม่เป็นไปตามเป้า จากการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนดูที่หันไปท่องโลกออนไลน์ ซึ่งสื่อต่าง ๆ เอง ก็พยายามปรับตัว หันมานำคอนเทนท์ของตนส่งต่อไปยังออนไลน์ต่าง ๆ ทั้ง Line TV , netflix ฯลฯ เพื่อเพิ่ม value และหารายได้เพิ่มเติม ซึ่งภาพนี้จะเห็นมากขึ้นในอนาคต

ส่วนปี 2562 ทาง สมาคมมีเดียเอเยนซี่ฯ คาดว่า จะเป็นปีที่ดีขึ้นของอุตสาหกรรม มีเม็ดเงินอยู่ที่ 121,286 ล้านบาท โต 4% ตาม GDP ของประเทศ และจากปัจจัยที่คาดว่า จะบวก) หลาย ๆ ด้าน อาทิ สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และการเลือกตั้งที่จะส่งผลดีต่อสื่อกลางแจ้ง และสื่อเคลื่อนที่

บุพเพสันนิวาส – เลือดข้นคนจาง คอนเทนต์ปัง ก็ต่อยอดได้อีกเพียบ

บุพเพส้นนิวาส

“บุพเพสันนิวาส” คือละครที่มาแรงที่สุดของปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งในแง่ของเรตติ้ง รายได้จากการขายโฆษณา กระแสออเจ้าที่เป็น Talk of the town ไปทั่วประเทศ และความดังของนักแสดงทุกคน งานนี้ช่อง 3 สามารถดึงความนิยมจากแฟนละครให้กลับมาดูละครแบบเรียลไทม์ได้อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ยากในยุคที่คนส่วนใหญ่มักดูย้อนหลังเป็นหลัก โดยบุพเพสันนิวาสทำเรตติ้งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกตอนที่ออกอากาศ ตอนจบเรตติ้งทั่วประเทศอยู่ที่ 18.6 และกรุงเทพฯ 24.4 นอกจากนี้ ยังทำรายได้จากการขายโฆษณาได้สูงถึง 480,000 บาทต่อนาที ถือเป็นราคาสูงสุดของช่องในช่วงละครหลังข่าว

หลังละครจบช่อง 3 ก็ไม่รอช้ารีบตีเหล็กตอนร้อนด้วยการจัดงานบุพเพสันนิวาสแฟนมีตติ้งต่อทันที และนำกลับมาฉายรีรันอีกครั้งหลังละครจบภายใน 1 เดือน ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ชุบชีวิตทีวีช่องหลักได้เท่านั้น ในแพลตฟอร์มออนไลน์ของช่อง 3 อย่างเว็บไซต์ Mello.me มีผู้เข้าใช้งานเกือบ 4 แสนรายต่อวัน จากปกติ 50,000 คนต่อวัน

ด้วยความแปลกใหม่ของคอนเทนต์ เป็นละครพีเรียดแนวสนุกสนาน แฝงด้วยความรู้ทางประวัติศาสตร์ ทำให้ละครเรื่องนี้ครองใจผู้ชมได้ไม่ยาก

เลือดข้นคนจาง

มาถึงละครอีกเรื่องที่กระแสแรงในปีนี้ ต้องยกให้ “เลือดข้นคนจาง” จากช่อง ONE31 ซีรีส์แนวดราม่า-สืบสวนสอบสวน ที่นำเสนอเรื่องราวครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งในช่วงอีพีแรกๆ ที่ออกอากาศเรตติ้งไม่ถึงหนึ่ง จนเกิดข่าวว่าละครอาจถูกถอด ในขณะที่ใน LINE TV มีการชมย้อนหลังรวมยอดวิวกว่า 170 ล้านวิว และทุกครั้งที่ออกอากาศ แฮชแท็ก #เลือดข้นคนจาง ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ทุกครั้ง จนเกิดการวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา เพื่อหาว่า #ใครฆ่าประเสริฐ

และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ทีมนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง นพพล โกมารชุน, ภัทราวดี มีชูธน, กบ ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณ, แท่ง ศักดิสิทธิ์ แท่งทอง, ลิฟต์ สุพจน์ จันทร์เจริญ, แหม่ม คัทลียา แมคอินทอช ฯลฯ ทีมนักแสดงรุ่นหลานที่มาจากโปรเจค 9×9 ของนาดาว และ 4NOLOGUE ที่เข้ามาเสริมให้ละครเป็นที่รู้จักมากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการสร้างฐานแฟนคลับของนักแสดงแต่ละคนอีกด้วย ไม่ว่าจะไปงานอีเวนท์ที่ไหนก็สร้างปรากฎการณ์ห้างแตกได้ทุกครั้ง รวมถึงการจัดงานโชว์เคสครั้งแรกที่ขายบัตรได้อย่างรวดเร็ว

หากให้สรุปความปังของเลือดข้นคนจาง คงต้องบอกว่ามาจากคอนเทนต์ที่ดีนั่นเอง

 


  • 2.6K
  •  
  •  
  •  
  •