4 กลยุทธ์แบรนด์ได้ไปต่อ แม้ตลาดไม่โต! พร้อมกรณีศึกษา “นันยาง” ยึดจุดแข็ง ไม่วิ่งตามกระแส

  • 1.7K
  •  
  •  
  •  
  •  

Growth Strategies

สถานการณ์ตลาดรวม “เติบโตถดถอย” หรืออยู่ในสภาวะ “คงที่” หรือแย่ไปกว่านั้น กำลัง “ติดลบ” เป็นสิ่งที่เจ้าของแบรนด์ – นักการตลาด – นักสื่อสาร แทบไม่อยากเจอ! เพราะเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องนำพาแบรนด์ ฝ่าออกจากสภาพการณ์ดังกล่าว เพื่อผลักดันแบรนด์ให้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกแบรนด์ที่สามารถยืดหยัดต่อสู้ และแข่งขันได้สำเร็จมาถึงวันนี้ ล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญกับห้วงเวลาแห่งความท้าทายดังกล่าวมาแล้วแทบทั้งสิ้น !!

แต่อะไรคือ กลยุทธ์ขับเคลื่อนให้แบรนด์สามารถไปต่อได้อย่างสวยงาม มาค้นคำตอบกัน ?!?

 

ตลาดไม่โต แบรนด์อย่าเพิ่งถอดใจ งัด 4 กลยุทธ์ฮึดสู้!

 

1. “Core Competency” ยืนบนจุดแข็งที่ตัวเองถนัด

ทุกยุคสมัย ย่อมมี “Sunrise Market” เกิดขึ้นเสมอ ที่เย้ายวนใจให้ใครๆ อยากเข้าไปแย่งชิงเค้กนั้นๆ จนในที่สุดกลายเป็นสมรภูมิเลือด แข่งขันกันรุนแรง แน่นอนว่าย่อมทั้งทั้งผู้รอด และแบรนด์ที่ล้มหายไปอีกจำนวนมาก !!

อย่างไรก็ตามก่อนที่แบรนด์หนึ่งๆ จะลงมือทำอะไรก็แล้วแต่ ควรพิจารณาถึง “ความสามารถ” หรือ “จุดแข็ง” ของแบรนด์เป็นหลัก ที่เรียกว่า “Core Competency”

เพราะการตระหนักว่า อะไรคือสิ่งที่แบรนด์ชำนาญ อะไรคือสิ่งที่เป็นประสบการณ์สั่งสมมายาวนาน และเป็นจุดแข็งที่อยู่ในการรับรู้ของผู้บริโภค ย่อมเป็น “แต้มต่อ” ที่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และตอกย้ำความแข็งแกร่งของแบรนด์

หากแบรนด์ กระโดดเข้าไปในตลาดที่ตนเองไม่ถนัด หรือไม่เชี่ยวชาญ อีกทั้งยังต้องเจอกับคู่แข่งที่อยู่มาก่อน และมีสรรพกำลังมากกว่า ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะโดนเขี้ยพ้นสนามการแข่งขันนั้นๆ

Core Competency

 

2. “Segmentation” มองหาโอกาสใหม่ ด้วยการเจาะผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม และต่อยอดไปสู่ “Community”

การตลาดยุคนี้ มองทุกอย่างเป็น Mass ไม่ได้แล้ว แต่ต้องมองเป็น “Segmentation” เนื่องจากผู้บริโภคยุคดิจิทัล มีความแตกต่าง และหลากหลาย เพราะฉะนั้นผู้บริโภคต้องการสินค้าที่เป็น Brand for me ดังนั้น การทำตลาดให้ได้ผล และมีประสิทธิภาพที่ดี ควรเน้นเจาะ Segmentation มากกว่าหว่าน Mass ไปทั่ว

ที่สำคัญการตลาดแบบ Segmentation ยังสร้าง “โอกาสใหม่” ให้กับแบรนด์ เพราะทำให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพ

จะพบว่าหลายแบรนด์ ที่ใช้กลยุทธ์ Segmentation และพัฒนาสินค้าใหม่ ภายใต้ sub-brand หรือสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมา ผลปรากฏว่าสินค้าใหม่ และ sub-brand หรือแบรนด์ใหม่นั้น กลายเป็น Rising Star ที่ช่วยสร้างการเติบโตด้านรายได้ และเสริมทัพแบรนด์หลักได้เป็นอย่างดี

แม้กลยุทธ์ “Segmentation” มีมานานแล้ว แต่ยังคงมีความสำคัญ นอกจากนี้แบรนด์ยังสามารถต่อยอดจากการเจาะ Segmentation มาสู่การสร้าง “Community” หรือการเข้าไปอยู่ใน “Community” ที่ลูกค้าเป็นผู้สร้างขึ้น หากแบรนด์ขยับมาในขั้นนี้ได้ สิ่งที่ตามมาคือ แบรนด์จะได้ฐานแฟนคลับ หรือสาวกที่เหนียวแน่น

แฟนคลับ หรือสาวก พร้อมที่จะเป็น Brand Advocacy คือ การเป็นผู้ส่งเสริม หรือสนับสนุนแบรนด์อย่างเต็มใจ ซึ่งในยุคดิจิทัล ผู้บริโภค “เชื่อ” เพื่อน คนใกล้ตัว รวมไปถึงรีวิวบนออนไลน์ มากกว่าเชื่อแบรนด์ ดังนั้นผู้บริโภคด้วยกันเอง มีพลังในการกำหนดทิศทาง และสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์

ในหนังสือ “Marketing 4.0” เขียนโดยปรมาจารย์ด้านการตลาดสมัยใหม่ “Philip Kotler” ส่วนหนึ่งของหนังสือ (โดยสรุป) ได้เขียนถึงการตลาดในปัจจุบันอยู่ในยุค Digital Economy เป็นยุคของการเชื่อมต่อ (Connectivity) ทำให้เกิด “Community” ที่มาจากการรวมตัวกันของลูกค้าเป็นผู้สร้างขึ้น

ส่งผลให้ภูมิทัศน์การตลาดเปลี่ยนไป จากในอดีตแบรนด์เป็นผู้กำหนด เช่น กลยุทธ์ สินค้า ตลอดจนการสื่อสาร แต่ในยุคดิจิทัล แบรนด์ต้องสามารถเอาตัวเองไปอยู่ใน Community และปรับตัวเข้าหาลูกค้าอย่างเป็นธรรมชาติ คือ เป็นทั้งเพื่อน มีความห่วงใยลูกค้าอย่างจริงใจ และเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าจำเป็นต้องมี/ต้องใช้ (Need) และอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ (Want)

Segmentation

 

3. “Collaboration” ผนึกกำลังพันธมิตรเพิ่มคุณค่าแบรนด์

การตลาดยุคใหม่ เดินคนเดียว อาจไปถึงเป้าหมายได้ช้า แต่ถ้ามีพันธมิตรร่วมด้วยช่วยกัน ย่อมทำให้แบรนด์เติบโตได้มากขึ้น และไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้เร็วขึ้น

นี่จึงทำให้คำว่า “Collaboration” เป็นกลยุทธ์สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำตลาดยุคนี้ เพราะการรวมพลังของทั้งสองแบรนด์ หรือมากกว่านั้น จะสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ทั้งด้าน Branding ยิ่งถ้าโปรเจคใด ครีเอทสุดๆ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ก็จะยิ่งทำให้โปรเจคความร่วมมือนั้น และแบรนด์ของทั้งคู่ เกิดกระแส Talk of the town โดยเฉพาะในปัจจุบันเป็นยุค Social Media ทำให้เกิด Conversation ระหว่างผู้บริโภค กับผู้บริโภคที่ขยายไปได้เร็วกว่าที่แบรนด์เป็นฝ่ายสื่อสารเอง

ขณะเดียวกันต่างฝ่ายต่างขยายฐานลูกค้าของกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์ที่มีฐานสาวก หรือแฟนคลับเหนียวแน่นอยู่แล้ว จะทำให้อีกแบรนด์ได้กลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น

ผลที่ตามมาคือ แบรนด์ของทั้งคู่ ได้รับการ Remind หรือเป็นที่พูดถึง นำไปสู่การเติบโตด้าน “ยอดขาย”

ไม่เพียงแต่สร้างความร่วมมือกับแบรนด์ด้วยกันเองเท่านั้น ขณะเดียวกัน การตลาดในปัจจุบันต้องเปิดให้ผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดค้น หรือสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน (Co-creation) ดังที่ “Philip Kotler” เขียนถึงการตลาด 4.0 เปลี่ยนจาก 4Ps ได้แก่ Product, Price, Place, Promotion เป็น “4Cs” ประกอบด้วย Co-creation, Currency, Communal Activation และ Conversation

Collaboration

 

4. “Quality First” คุณภาพ คือ จิตวิญญาณของแบรนด์

ไม่ว่าตลาดจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะซบเซา หรือทรงตัว หรือเจอกับการแข่งขันด้านราคารุนแรง จนทำให้ Margin สินค้าลดลง แต่หัวใจสำคัญที่ทำให้ที่จะทำให้แบรนด์หนึ่งๆ ดำรงอยู่ได้ คือ การรักษา “คุณภาพสินค้า” เปรียบได้กับเป็นรากฐานความแข็งแกร่งของแบรนด์ ทั้งความน่าเชื่อถือในแบรนด์ ที่ทำให้ผู้บริโภคมอบความไว้วางใจ และยังรวมถึง Brand Reputation หรือชื่อเสียงของแบรนด์ที่ถูกสั่งสมมา

 

กรณีศึกษา “นันยาง” โฟกัสจุดแข็ง ไม่วิ่งไล่ตามกระแส 

ถ้าพูดถึงรองเท้าผ้าใบนักเรียน ทั้งหญิง และชาย เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ต้องนึกถึง “นันยาง” (Nanyang) ทำตลาดยาวนานมา 66 ปีแล้ว

แต่โจทย์ใหญ่ที่เป็นความท้าทายสำหรับรองเท้าผ้าใบ สัญชาติไทยแบรนด์นี้ คือ จะทำอย่างไรให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดรวมรองเท้านักเรียน มูลค่า 5,000 ล้านบาท (แบ่งเป็นรองเท้าผ้าใบ 60% – รองเท้านักเรียนหญิง 35% – รองเท้าอื่นๆ 5%) เติบโตคงที่ อยู่ในระดับ 0 – 1% และฐานลูกค้าหลัก เป็นกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยมีปัจจัยหลักมาจาก

1. อัตราการเกิดของประชากรไทย มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้จำนวน “นักเรียน” ในประเทศไทยอยู่ในสภาวะ “คงที่” ด้วยจำนวน 10 ล้านคน มาเป็นระยะเวลา 10 ปีแล้ว !!

2. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยยังทรงตัว มีผลต่ออารมรณ์การจับจ่ายของผู้บริโภค และกำลังซื้อซบเซา ทำให้ผู้ปกครองต้องประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น

3. โดยเฉลี่ยนักเรียนไทย มีรองเท้าผ้าใบ 1.3 คู่ต่อคน และช่วงหน้าขายของรองเท้านักเรียน เป็นช่วงใกล้เปิดเทอม นั่นหมายความว่า การแข่งขันของตลาดนี้ ในแต่ละปีแบรนด์ฟาดฟันกัน เพื่อคว้า “ชัยชนะ” มาให้ได้ ไม่มีแต้มเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าปีนั้นๆ แพ้ หรือพลาดให้แก่แบรนด์อื่นๆ เท่ากับว่าต้องไปแข่งขันกันใหม่ในปีหน้า !!

Thai Students
Photo Credit :
wararat_photos / Shutterstock.com

เมื่อเป็นเช่นนี้ แบรนด์ “นันยาง” จะก้าวไปต่อได้ จึงต้องปรับกลยุทธ์สร้างการเติบโตใหม่ ได้แก่

1. ยังคงอยู่บน Core Competency ที่สั่งสมมายาวนาน คือ การเป็น “Functional Shoes” เน้นคุณภาพสินค้าทนทาน พร้อมทั้งตอกย้ำความเป็น “Heritage Brand”

“แม้ตลาดรวมไม่โต ไม่เป็นไร เพราะเราพัฒนาสินค้ามากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคได้หลากหลาย โดยทำในสิ่งที่เราถนัด คือ เราถนัดผลิตรองเท้าคุณภาพ เน้นการใช้งาน (Functional Shoes) และความทนทาน ใส่ได้เรื่อยๆ ในราคาไม่แพง

ส่วนเหตุผลที่เราไม่ทำรองเท้าแฟชั่น เพราะเราไม่ถนัด และเป็นตลาด Red Ocean ในขณะที่ “นันยาง” ไม่ได้ทำธุรกิจแบบ Aggressive ที่เน้นโตมากๆ

แน่นอนว่าธุรกิจต้องเติบโต แต่เราจะโตในจุดที่เราถนัด และที่เราเป็นผู้นำตลาด” คุณจักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เล่าเหตุผลที่ยังยืนอยู่บนจุดแข็งการเป็น Functional Shoes

ควบคู่กับการตอกย้ำการเป็น “ตำนานรองเท้าผ้าใบนักเรียน” ที่นักเรียนใส่กันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้แบรนด์สามารถรักษาความน่าเชื่อถือที่ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจ

เมื่อรู้ว่าความแข็งแกร่งของแบรนด์อยู่ตรงไหน ทำให้สามารถโฟกัส “Core Competency” ของแบรนด์ และกำหนดทิศทางการเติบโต ที่ไม่ว่าจะพัฒนาสินค้า – แบรนด์ใหม่มากเท่าไร ยังคงอยู่บนจุดยืนของการเป็น “Functional Shoes”

 

2. สร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ด้วยการขยายไปยัง Segment ใหม่ที่แบรนด์ยังไม่เคยเข้าไปทำตลาด

จากเดิมนันยางเน้นรุ่น “205-s” หรือนันยางพื้นเขียว ที่นักเรียนมัธยมต้น – มัธยมปลายนิยมใส่กัน เป็นสินค้าเรือธงหลัก และถือเป็นรองเท้าผ้าใบในตำนาน เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2500 ถึงวันนี้จำหน่ายไปแล้วมากกว่า 50 ล้านคู่

แต่ด้วยความที่จำนวนนักเรียนในประเทศไทย ไม่เติบโตไปมากกว่านี้ ในขณะที่โอกาสการขายหลักๆ เป็นช่วงใกล้เปิดเทอม

ดังนั้น จึงต้องขยายฐานลูกค้าไปยัง Segment ใหม่ที่แบรนด์ยังไม่เคยเข้าไปทำตลาด โดยสร้าง sub-brand และพัฒนาสินค้า เพื่อตอบโจทย์ Segment นั้นๆ เช่น

“Nanyang Have Fun” เป็นรุ่นที่ออกมาในปี 2554 เพื่อขยายฐานไปยังเซ็กเมนต์ “เด็กอายุ 6 – 9 ปี” เทียบเท่านักเรียนชั้นประถมศึกษา

“Nanyang Sugar” เริ่มจำหน่ายในปี 2559 สำหรับขยายฐานเจาะกลุ่มผู้หญิง ระดับมัธยมศึกษา – อุดมศึกษา ไปจนถึงวัยทำงาน

โดยต้องการให้รุ่นนี้ เป็นทั้งรองเท้าใส่เรียน และใส่ไปไหนก็ได้ ซึ่งเป็นการขยาย “โอกาสสวมใส่” ไปยังวันที่ 6 – 7 ของสัปดาห์ เป็นการแก้โจทย์ของรองเท้านักเรียน ที่ปกติถูกจำกัดโอกาสการสวมใส่เฉพาะใน 5 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น ดังนั้น หากสามารถขยายโอกาสการสวมใส่ได้ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสการขาย และผลักดันให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้มากขึ้น

Nanyang Sugar

ปั้นแบรนด์ใหม่ “Super Star” วางตำแหน่งเป็นรองเท้าผ้าใบราคาประหยัด เพื่อเจาะตลาด Economy เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค เนื่องจากพบ Market Insight ว่าแม้ตลาดนี้มีการแข่งขันสูง แต่ยังไม่มีแบรนด์ไหนเป็นผู้นำตลาดที่โดดเด่น จึงต้องการเข้าไปปักธงในเซ็กเมนต์นี้ โดยจำหน่ายในราคาเริ่มต้น 249 บาท มีช่องว่างราคาห่างจากนันยาง “205-s” อยู่ที่ 20%

ส่วนเหตุผลที่สามารถทำราคาลงมาได้ เป็นเพราะกรรมวิธีการผลิต ใช้หลักการ “Zero-Waste” คือ การนำยางพารา 100% ที่เหลือจากกระบวนการผลิตรองเท้านันยาง นำมา Reprocess ทำให้ได้วัตถุดิบ (ส่วนพื้น) มีคุณภาพ และลดการสร้างขยะในกระบวนการผลิต โดยตั้งเป้าการผลิตอยู่ที่ 50,000 คู่ต่อปี

Superstar brand

 

3. ใช้การตลาด – การขาย เร่งเครื่องยอดขายสินค้าเบอร์รอง

รองเท้าผ้าใบนักเรียน ประกอบด้วย 3 สี คือ สีดำ, สีขาว, สีน้ำตาล แต่ที่ผ่านมา “รองเท้าผ้าใบสีน้ำตาล” ถูกมองเป็น “พระรอง” มาโดยตลอด ในขณะที่ “สีดำ คือ พระเอก” และ “สีขาว คือ นางเอก”

แต่นันยางพบ Insight ว่าโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสำนักงานคณะการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มี 30,000 โรงเรียน ในจำนวนนี้มีมากถึง 15,000 โรงเรียน ใสรองเท้าสีน้ำตาลสำหรับผู้ชาย เป็น Market Size ใหญ่ไม่น้อยไปกว่าโรงเรียนที่ใส่รองเท้าผ้าใบสีดำ

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อปีที่แล้ว “นันยาง” จึงบุกตลาด และการขายไปยัง “หัวเมืองรอง” มากขึ้น เพื่อเร่งเครื่องตลาดรองเท้าสีน้ำตาล หรือ Nanyang Brown ให้กลายมาเป็น “พระเอก” สร้างยอดขายไม่แพ้สีดำ และสีขาว

ขณะเดียวกันรุกตลาด “นันยาง ซาฟารี” (Nanyang Zafari) ซึ่งเป็นรองเท้าผ้าใบดีไซน์ Retro ยุค 60’s สำหรับผู้ชายระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไปจนถึงระดับอุดมศึกษา และคนทั่วไป โดยตอกย้ำความเป็นรองเท้าประกอบมือ หรืองานคราฟต์ 95% เหตุผลที่ชูจุดขายดังกล่าว เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอย่างไร คนยังถวิลหา Nostalgia และ Craft Product ที่ชิ้นงานไม่ได้เนี้ยบมากเหมือนกับผลิตจากเครื่องจักร

Nanyan Zafari

 

4. ขยายแพลตฟอร์มการสื่อสาร

ด้วยความที่ “นันยาง” เจาะตลาดตาม Segmentation ดังนั้นแพลตฟอร์มสื่อสารการตลาด จึงเน้นการสื่อสารที่หลากหลาย แต่เฉพาะกลุ่ม เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรง และมากที่สุด

ปีนี้ ภาพรวมของนันยางต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มนักเรียน “เด็กกลางห้อง” ที่ไม่มีอะไรโดดเด่น และยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ผ่านแคมเปญ “คนกลางๆ อย่างฉัน” และเป็นครั้งแรกที่ทำตลาดใน Twitter เพิ่มเติมจาก Facebook, Instagram และ YouTube เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่ใน Twitter เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสำหรับแบรนด์ ที่ต้องการเข้าไปพูดคุยด้วย

เหตุผลที่สื่อสารกับคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ เพราะพบ Insight ว่าในห้องเรียน จะคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนธรรมดา ไม่ได้เป็นคนเด่น-คนเก่งของห้อง หรือของรุ่น แต่เมื่ออยู่ในออนไลน์ กลับแสดงตัวตนชัดเจน เช่น ใน Twitter หรือ Social Media อื่นๆ จึงต้องการสื่อสารถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ และใช้พลังจาก Social Media ของเขาเอง มาช่วยสื่อสารแบรนด์นันยาง

httpv://www.youtube.com/watch?v=PZ_i_MLDNCY

 

5. ปูพรมสินค้าทุกช่องทางขายทั่วไทย

เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องกระจายสินค้าให้ครอบคลุมช่องทางการขายทุกประเภท ทั้ง Traditional Trade เป็นช่องทางจำหน่ายที่ “นันยาง” โฟกัสมากสุด สัดส่วนการขายจากช่องทางนี้มากถึง 75% ตามมาด้วย Modern Trade 20% และช่องทาง Online 5%

แม้ปัจจุบันช่องทาง Modern Trade จะมีบทบาทต่อการซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้นก็ตาม แต่สำหรับตลาดรองเท้านักเรียน “ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก” ยังคงเป็นช่องทางหลักสำหรับแบรนด์รองเท้า

เนื่องจากร้านรองเท้าดั้งเดิม ขยายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ตามย่านชุมชน จึงสามารถกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้มากกว่า และ Stock สินค้ารองเท้าหลายเบอร์ หลายรุ่นได้มากกว่า Modern Trade

Nanyang Traditional Shop
Credit : YouTube nanyanglegend

 

6. สร้าง Brand Talk และ Remind Brand ด้วยโปรเจค Co-creation ผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษ

ในทุกปี “นันยาง” จะออกคอลเลคชั่นพิเศษ ที่จับมือกับพาร์ทเนอร์ในแวดวงต่างๆ ร่วมกันออกแบบรุ่น Limited Edition ผลิตในจำนวนจำกัด เช่น ปี 2558 จับมือกับ “ก้อย – นันทิรัตน์ สุวรรณเกต” ผู้ก่อตั้ง และดีไซเนอร์แบรนด์ “Koi Suwannagate” นำผ้าไหมยกดอกมาผสมผสานกับรองเท้านันยาง และใช้สีพาสเทล เพื่อทำให้รองเท้าดูละมุนขึ้น ผลิต 40 คู่ ราคาคู่ละ 3,800 บาท

ต่อมาออกรุ่น “Nanyang x Stamp Limited Edition 2016” พัฒนาและออกแบบร่วมกับ “แสตมป์ – อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข” เป็นรองเท้าผ้ายีนส์ ใช้เนื้อผ้ายีนส์ Pre-washed Denim พัฒนาจากรองเท้านันยางรุ่น 205-S ผลิตจำนวน 1,000 คู่เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับ “Kraftka” ศูนย์รวมนักออกแบบรองเท้าสนีกเกอร์จากทั่วโลก เปิดบริการใหม่ ที่ให้ผู้บริโภคสามารถออกแบบลวดลายที่ต้องการลงบนรองเท้าผ้าใบนันยางตำนาน (รุ่น 205-S) ได้ด้วยตัวเอง

ปี 2560 เปิดตัวคอลเลคชั่น “Nanyang x Hajime Sorayama x EchoOne ArtSpace” ได้รับเกียรติจากศิลปินระดับโลกชาวญี่ปุ่น “ฮาจิมะ โซรายามา” (Hajime Sorayama) อายุ 70 ปี ร่วมผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษ โดยมี Sexy Robot ซึ่งเป็นงานชิ้นสำคัญที่สุดของท่านบนรองเท้านันยาง ซึ่งปัจจุบันภาพจริง Original painted นี้ มูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาท ผลิตเพียง 150 คู่ ราคาคู่ละ 2,900 บาท

Nanyang x Hajime Sorayama x EchoOne ArtSpace

ส่วนปีที่แล้ว ออกรุ่น “พิทักษ์ ๖๑ ลิมิเต็ดอิดิชั่น” เนื่องในโอกาสวันป่าไม้โลก (21 มีนาคม) โดยรายได้จากการจำหน่ายไม่หักค่าใช้จ่าย มอบให้พนักงานพิทักษ์ป่า ผ่านกองทุนสวัสดิการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อนำไปใช้เป็นสวัสดิการพนักงานพิทักษ์ป่า ซื้ออาหารและรักษาพยาบาล

“สิ่งที่ “นันยาง” ทำคือ ทำในสิ่งที่ถนัดให้ยั่งยืน อาจไม่ได้เห็นว่าเราหวือหวา เราอยากให้แบรนด์ไปได้เรื่อยๆ ถ้าเปรียบเป็นปลา เราคือปลาที่ว่ายทวนน้ำ ไม่ใช่ปลาว่ายตามกระแส เพราะถ้าว่ายตามน้ำ เป็นการไหลไปตามกระแส จะไปเจอ Red Ocean ขณะที่เราว่ายไม่ต้องเร็ว ไม่ต้องกระโดด ไม่ต้องเป็นปลาใหญ่ ขอเพียงว่ายไปอย่าตาย

เพราะฉะนั้นสำหรับแบรนด์ใดก็ตาม ที่กำลังเจอสถานการณ์ตลาดรวมไม่โต ผมมองว่าแบรนด์ไม่ควรออกนอกความถนัดของตัวเอง ขณะเดียวกันสินค้า และบริการต้องดี มีคุณภาพ ตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งคุณภาพในทีนี้ หมายถึงคุณภาพในระดับ Positioning ที่แบรนด์อยู่ และอย่าลดคุณภาพ เพราะจะทำให้ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่น อย่างรองเท้านันยาง เรารักษาคุณภาพ ใส่เมื่อ 60 ปีที่แล้ว หรือใส่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว หรือใส่วันนี้ คุณภาพยังเหมือนเดิม ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในแบรนด์” คุณจักรพล สรุปทิ้งท้ายถึงทางออกให้กับแบรนด์ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ตลาดไม่โต

Nanyang
คุณจักรพล จันทวิมล ผู้บริหารนันยางมาร์เก็ตติ้ง

  • 1.7K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ