“Bumrungrad Health Network” กลยุทธ์ใหม่ของบำรุงราษฎร์ กับการขยายตลาดสู่ลูกค้าระดับกลาง

  • 4.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่ออีกฝ่ายมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ขณะที่อีกฝ่ายก็มีฐานลูกค้าที่ต้องการบริการรักษาที่ได้มาตรฐานสากลที่รออยู่ไม่น้อย และแล้วดีลนี้จึงลงตัว!

น่าจะพูดได้ว่าการเดินเกมรุกครั้งนี้ เป็นอีกก้าวที่น่าจับตาทีเดียว สำหรับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หลังตัดสินใจร่วมมือทางธุรกิจในรูปแบบใหม่กับกลุ่มโรงพยาบาลพันมิตร พร้อมการประกาศเจาะฐานลูกค้าเซกเม้นต์ใหม่ๆ

หากมองเหตุผลที่ทำให้บำรุงราษฎร์ตัดสินใจปรับกลยุทธ์ธุรกิจในครั้งนี้ เภสัชกรหญิง อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เฉลยว่า เป็นผลจากการได้เรียนรู้ประสบการณ์ความร่วมมือกับโรงพยาบาลพันธมิตรในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา

เป็นที่รู้กันว่าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้นำร่องการสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลพันธมิตร ภายใต้โมเดลที่เรียกว่า  “บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก” มาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) จำนวน 58 แห่ง ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลภาคเอกชน ภาครัฐ และโรงเรียนแพทย์ และได้พบว่า โรงพยาบาลพันธมิตรต้องการการสนับสนุนจากแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดของตัวเองมากขึ้น

โดยที่ผ่านมา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลพันธมิตรได้มีการแบ่งปันและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการแพทย์ซึ่งกันและกัน รวมถึงการเป็นผู้ฝึกอบรมทีมแพทย์ให้กับโรงพยาบาลพันธมิตร อาทิ ในด้านการเพิ่มทักษะการผ่าตัดเฉพาะด้านในระดับที่สูงขึ้น ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพันธมิตรที่ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐานของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงมีความชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าการผ่าตัดทั่วไป

ขณะที่บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก เองเมื่อพิจารณาจากโอกาสทางธุรกิจจะพบว่าปัจจุบันอัตราการขยายตัวของคนระดับกลางมีมากขึ้น ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีแนวโน้มความเป็นเมืองขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงการที่สังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Aging Society) ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งย่อมมีความต้องการบริการทางการแพทย์ที่สูงขึ้น

โดยโมเดลธุรกิจใหม่ที่ “บำรุงราษฎร์ เฮลท์  เน็ตเวิร์ก” นำเสนอนั้น เป็นการต่อยอดแบรนด์ หลังจากเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ โดยเน้นไปที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ คือ กลุ่มคนระดับกลางทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด ตลอดจนกลุ่มผู้ซื้อประกันสุขภาพ

ด้านนพ. สุธร ชุตินิยมการ ผู้อำนวยการด้านบริหาร บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก เอ่ยถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์นำจุดแข็งในความเป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิที่มีความชำนาญการในการรักษาโรคในระดับสูงมาสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจและเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการในการรักษาพยาบาลที่ได้คุณภาพมาตรฐานของผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับกลางทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดไปพร้อมๆ กัน

โดยทางบำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์กจะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) ณ โรงพยาบาลพันธมิตร การดำเนินงานจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในลักษณะ Joint Operation รวมถึงด้านเงินทุน ค่าใช้จ่าย ทรัพยากรและรายได้ มีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้และความชำนาญทางการแพทย์ให้กับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพันธมิตร เพื่อให้มีขีดความสามารถในการรักษาตามมาตรฐานของโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ และมีแนวทางการรักษาผู้ป่วยบนมาตรฐานใกล้เคียงกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กลุ่มผู้ป่วยของโรงพยาบาลพันธมิตรได้เข้าถึงการรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้านอีกทางหนึ่งด้วย

เบื้องต้นจะเน้นการให้บริการใน 4 กลุ่มโรคหลักคือ 1.โรคกระดูกสันหลัง 2. โรคข้อ 3. ผู้ป่วยวิกฤต และ 4. โรคตา ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์นั้น จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของโรงพยาบาลพันธมิตรว่าต้องการให้เข้าไปช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในด้านใด

สำหรับเฟสแรก บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์กได้เตรียมเปิด “ศูนย์กระดูกสันหลังและศูนย์ข้อ” ร่วมกับกลุ่มโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ซึ่งจะเป็นต้นแบบแห่งแรกในการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตรภายใต้โมเดลธุรกิจใหม่ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน       

“แนวคิดหลักคือเราต้องการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่และเปิดตลาดในกลุ่มเป้าหมายใหม่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ที่สำคัญคือเราต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแรงกับโรงพยาบาลพันธมิตร ซึ่งแต่เดิมอาจเป็นการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการรักษาเพียงอย่างเดียว แต่หลังจากนี้จะเริ่มทำงานร่วมกันเข้มข้นมากขึ้น มีการลงทุนร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ทำให้ความสัมพันธ์ลึกขึ้นกว่าเดิม เมื่อพันธมิตรแข็งแรง เราก็แข็งแรงขึ้นตามไปด้วย” นพ.สุธร กล่าว

นพ. สุธร ยังมองว่ารูปแบบความร่วมมือกันในลักษณะนี้ยังส่งผลดีต่อระบบสุขภาพโดยรวมของสังคมไทย เพราะถือเป็นทางเลือกที่ช่วยแบ่งเบาภาระแก่โรงพยาบาลภาครัฐ ในขณะเดียวกันยังทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดีกว่าเดิม

อย่างไรก็ดี ทิศทางของบำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์กนับจากนี้เป็นต้นไปจะเพิ่มความร่วมมือกับโรงพยาบาลเครือข่ายอย่างเข้มข้นมากขึ้น เพื่อเสริมพลัง (Empower) สร้างศักยภาพการแข่งขันแก่โรงพยาบาลพันธมิตรและสร้างการเติบโตทางธุรกิจไปด้วยกัน

ด้าน จอห์น ลี โกะชุน ประธานคณะกรรมการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงพยาบาลในการดูแลจำนวน 8 แห่งและกำลังจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่งภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี มองว่าในบางเรื่องโรงพยาบาลไม่จำเป็นต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด เพราะมีคนที่ทำได้ดีกว่าอยู่แล้ว การจับมือกันน่าจะดีกว่า นี่จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันในครั้งนี้

“เราอาจจะขยายความร่วมมือไปในโรงพยาบาลทั้งหมด 20 แห่งซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือคนไข้ของเรา โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆจะได้รับบริการที่ดีจากโรงพยาบาลพริ้นซ์ฯ และโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นี่คือภาพที่เราต้องการ” เขากล่าว


  • 4.5K
  •  
  •  
  •  
  •