เปิดแผนพัฒนา “ที่ดินจุฬาฯ” จากสยามสแควร์ ถึงสามย่าน 385 ไร่ สร้างเมืองนวัตกรรม-การเรียนรู้

  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

ที่ดินจุฬา
Photo Credit : charnsitr / Shutterstock.com

บนที่ดินขนาด 1,153 ไร่ของ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในเขตปทุมวัน ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทิศตะวันออก จรดถนนอังรีดูนังต์ / ทิศตะวันตก จรดริมคลองติดถนนบรรทัดทอง / ทิศเหนือ จรดถนนพระราม 1 / ทิศใต้ จรดถนนพระราม 4 ได้ชื่อว่าเป็นทำเลทองฝังเพชร ที่มีความเพียบพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ

ที่ดินกว่าพันไร่นี้ แบ่งการใช้ประโยชน์ออกเป็น “พื้นที่การศึกษา” 637 ไร่ (สัดส่วน 55.25%) / “เขตพาณิชย์” 385 ไร่ (33.39%) / “พื้นที่ส่วนราชการ” ในรูปแบบยืม และเช่าใช้ จำนวน 131 ไร่ (11.36%)

“สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) กำหนดพันธกิจการพัฒนาที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเขตปทุมวัน ภายใต้แนวคิด “Co-Creating Shared Values” ที่ต้องการพัฒนาที่ดินแห่งนี้ บนหลัก “3L” คือ “Learning Style” เมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์ – การเรียนรู้ครบวงจร / “Living Style” จัดสรรพื้นที่ให้เกิดการอยู่อาศัย และใช้ชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี / “Lifestyle” แหล่งรวมไลฟ์สไตล์รูปแบบต่างๆ

 

เร่งพัฒนา “พื้นที่เชิงพาณิชย์” 385 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ในอดีตที่ผ่านมา “พื้นที่เชิงพาณิชย์” 385 ไร่ ล้อมรอบด้วยถนนพระราม 4 – ถนนพระราม 1 – ถนนบรรทัดทอง – ถนนอังรีดูนังต์ ได้แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่หลัก คือ “เขตพื้นที่สยามสแควร์” (Siam District) และ “เขตพื้นที่สามย่าน” (Samyan District) ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ใช้โมเดลปล่อยให้เอกชน และผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาเช่า – เซ้ง เช่น อาคารพาณิชย์ในย่านสยามสแควร์ และสามย่านเปิดร้านค้า รวมไปถึงให้เอกชนพัฒนาโครงการขึ้นเอง

เมื่อวันเวลาผ่านไป บางโครงการสามารถดำเนินธุรกิจได้สำเร็จ บางโครงการไม่อาจต้านทานกระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ต้องประสบภาวะขาดทุน ดังเช่น โรงภาพยนตร์ลิโด ที่ต้องปิดฉากลงเมื่อ 31 พฤษภาคม 2561 ส่งผลให้ที่ดินไม่ถูกนำมาสร้างประโยชน์สูงสุด ทั้งในเชิง “คุณค่าเพิ่ม” และ “มูลค่าเพิ่ม” ซึ่งล่าสุดได้กลุ่ม LOVEis มาเป็นพันธมิตรพลิกโฉมโรงภาพยนตร์ในตำนานแห่งนี้ ให้กลายเป็นพื้นที่ “Multi-function” ด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ทุกแขนง

ด้วยเหตุนี้เองในช่วง 2 ปีนี้ “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) จึงได้เข้ามาศึกษาสภาพพื้นที่ในย่านสยามสแควร์ เพื่อดูว่าอะไรคือ จิ๊กซอว์ที่ย่านสยามสแควร์ยังขาดอยู่ และสิ่งนั้นต้องตอบโจทย์แนวคิด “3L”

Resize Siam Square_02
Photo Credit : Chanawat Phadwichit / Shutterstock.com

นี่จึงทำให้ “PMCU” ต้องทำการบ้านหนักขึ้น ในการกำหนดกรอบการพัฒนาแต่ละโซนของทั้งย่านสยามสแควร์ และพื้นที่สามย่านให้มีคาแรกเตอร์ชัดเจน เพื่อในที่สุดแล้วเมื่อประกอบรวมกันจะต่อจิ๊กซอว์ให้เป็นย่านแห่งไลฟ์สไตล์ – ย่านนวัตกรรม – การเรียนรู้ – ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการพัฒนาแต่ละโครงการ มีทั้งโมเดลจุฬาฯ ลงทุนพัฒนาเอง, โมเดลเอกชนร่วมลงทุน รวมถึงเอกชนลงทุนเอง

“เราไม่อยากสร้างโครงการขึ้นมาก่อน แล้วปล่อยเช่าทีหลัง หรือแม้แต่ปล่อยให้เอกชนคิดเองทั้งหมด จากที่ผ่านมาเราทำเช่นนั้นมาตลอด แต่ทุกวันนี้เรามองว่าการสร้างแต่ละโครงการในย่านสยามสแควร์ และสามย่าน ต้องมีคาแรกเตอร์ หรือตัวตนชัดเจน และตอบโจทย์การสร้าง “คุณค่าเพิ่ม” ให้สังคม เพราะพื้นที่จุฬาฯ ไม่ใช่เป็นการมองที่การสร้างรายได้อย่างเดียว แต่ต้องมองว่าธุรกิจนั้น เป็นสิ่งที่สังคมต้องการหรือเปล่า และช่วยสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสังคมใน 3 ด้าน หรือไม่ นั่นคือ

1. สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ คนที่มาอยู่ในพื้นที่นี้ ต้องได้ความรู้เพิ่มเติม ไม่ว่าจากกิจกรรม Workshop ได้ประสบการณ์

2. ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น อย่างที่เราสร้างอุทยาท 100 ปี เป็นทั้งสถานที่พักผ่อน และออกกำลังกาย อีกทั้งงรถที่วิ่งในพื้นที่ของจุฬาฯ เป็นรถไฟฟ้า เพื่อให้เมืองน่าอยู่

3. เมื่อมาใช้ชีวิตในเมืองนี้แล้ว ต้องไม่น่าเบื่อ มีการผสมผสานระหว่างคนหลายรุ่น หลายวัย ทั้งผู้ปกครอง เด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย เพื่อตอบโจทย์ความหลากหลายของไลฟ์สไตล์ทุกกลุ่ม

เพราะฉะนั้นเมื่อเราคิดก่อนว่าสังคมต้องการพื้นที่อะไรบ้าง แล้วได้กรอบแนวคิด แล้วไปคุยกับนักลงทุนว่าเห็นตรงกันไหม ถ้าเขามีศักยภาพ และเห็นพ้องกัน จะเลือกมาเป็นพันธมิตร ส่วนสัญญากับเอกชน เป็นระยะสั้น หรือยาวนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดโครงการ และงบลงทุน ถ้าสร้างขึ้นใหม่บนพื้นที่เปล่า จะเป็นสัญญาระยะยาว แต่ถ้าเป็นโครงการบูรณะปรับปรุง ใช้เงินไม่มาก ระยะสัญญาจะไม่ยาวมาก เพื่อดูว่าหลังจากปรับปรุง และเปิดดำเนินการแล้ว เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ไหม” รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้าการจัดการทรัพย์สิน และนวัตกรรม สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) เล่าถึงแผนยุทธศาสตร์พัฒนาที่ดินจุฬาฯ

คราวนี้มาดูพัฒนาการ และโครงการต่างๆ ในปัจจุบัน และอนาคตที่กำลังจะสร้างมีอะไรกันบ้าง เพื่อต่อจิ๊กซอว์ให้ที่ดินแห่งนี้เป็นเมืองนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ?!?

Resize Siam Square_04
Photo Credit : azcrilez / Shutterstock.com

 

“ย่านสยามสแควร์” Destination ของวัยรุ่นทุกยุคสมัย

 

เป็นเวลากว่า 5 ทศวรรษแล้ว ที่ “สยามสแควร์” เป็นแหล่งใช้ชีวิตของวัยรุ่นมาตลอดทุกยุคสมัย และแม้ทุกวันนี้จะเกิดย่านการค้า หรือย่านช้อปปิ้งแห่งใหม่ แต่ถึงอย่างไร “สยามสแควร์” ยังคงคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ทั้งคนไทย และคนต่างชาติมาเยือนพื้นที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะมาติว มาช้อปปิ้ง มาอัพเดทไลฟ์สไตล์ใหม่ มารับประทานอาหาร การร่วมกิจกรรม ทำให้ “สยามสแควร์” เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวาอยู่เสมอ

จุดกำเนิดของ “ย่านสยามสแควร์” เริ่มต้นในปี 2505 ก่อสร้างโดยบริษัท South East Asia เป็นผู้พัฒนาที่ดินจากสี่แยกปทุมวัน ริมถนนพระราม 4 และถนนพญาไท ให้เป็น “ศูนย์การค้าแนวราบแบบ” โดยมีการวางผังอาคาร ถนน ที่จอดรถ และระบบสาธารณูปโภคครบวงจร ทำให้ธุรกิจร้านค้าที่เคยเปิดในย่านวังบูรพา สุรวงศ์ สีลม เข้ามาเปิดร้านในสยามสแควร์

ปัจจุบันนอกจาก “ร้านค้าอาคารพาณิชย์” ในย่านสยามสแควร์แล้ว พื้นที่แห่งนี้ถูกต่อจิ๊กซอว์ทำให้เกิดเป็น “ย่านช้อปปิ้ง” ใหญ่ ยังเกิดโครงการศูนย์การค้า – อาคารรวบรวมโรงเรียนกวดวิชา – โรงแรม

“Siam Square One : SQ-1” เดิมทีเป็น “โรงภาพยนตร์สยาม” ที่ประสบเหตการณ์ไฟไหม้จากเหตุการ่ณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2553 ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ได้พัฒนาเป็น “Urban Shopping Street” บนพื้นที่ 8 ไร่ ให้เป็นทั้งศูนย์การค้า พื้นที่ส่วนกลางทางเดิน ลานกิจกรรม และโรงละคร

Resize Siam Square_03
Photo Credit : Pumidol / Shutterstock.com

“สยามกิตติ์” เป็นอาคารรวบรวมโรงเรียนกวดวิชา ร้านอาหาร และร้านค้า แบ่งการดำเนินโครงการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 อาคารส่วนฐาน “PMCU” เป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง ตั้งแต่ชั้น G และ ชั้น 1 – 10 เพื่อเป็นพื้นที่เช่าสำหรับโรงเรียนกวดวิชา ร้านค้า ร้านอาหาร และพื้นที่จอดรถ

ระยะที่ 2 วางแผนสร้างเป็นอาคารสูง สำหรับสร้างเป็นโรงแรมเชนระดับโลกขนาด 400 ห้องระดับ 3 ดาว โดยเอกชนไทยเป็นผู้ลงทุน ด้วยการสิทธิมาบริหาร ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นเรื่องเสนอเข้าไปให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างพิจารณา เนื่องจากการดำเนินการสร้างโครงการที่ “PMCU” ร่วมทุนกับเอกชน ต้องยื่นเรื่องขออนุมัติตาม พ.ร.บ. ร่วมลงทุน

“Center Point of Siam Square” เป็นโครงการเอกชนลงทุน โดย “บริษัท ทิพย์พัฒนอาเขต จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทีซีซีของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี พัฒนาเป็นโครงการไลฟ์สไตล์ มอลล์ ชูจุดเด่นการเป็นศูนย์การค้าด้านแฟชั่น และความงาม

Resize Siam Square_05
Photo Credit : charnsitr / Shutterstock.com

“MBK Center” เป็นโครงการเอกชนลงทุน โดย “บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)” ที่ประกอบด้วยศูนย์การค้า ในรูปแบบตลาดนัดติดแอร์ ที่มีร้านค้ารายย่อย และแบรนด์ ช้อป เป็นจุดขายที่ทำให้ MBK แตกต่างจากศูนย์การค้าในย่านสยามสแควร์ และทำให้ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเดิน ขณะเดียวกันในพื้นที่เดียวกัน มีอาคารสำนักงาน และโรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส

“โนโวเทล กรุงเทพฯ สยามสแควร์” โรงแรมระดับ 4 ดาวที่อยู่คู่กับย่านสยามสแควร์มายาวนาน โดยเป็นของเอกชนลงทุน

“SIAM SCAPE (BLOCK H)” ในปี 2562 “สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” (PMCU) วางแผนลงทุน 1,800 ล้านบาท (เป็นงบลงทุนระยะเวลา 2 ปี แบ่งใช้ปีละ 900 ล้านบาท) ในการพัฒนาอาคารโบนันซ่าเดิม ให้เป็นโครงการรูปแบบ Mixed-use ประกอบไปด้วย ศูนย์รวมการเรียนรู้ (Learning Space) จะดึงสถาบันติวมาอยู่ที่นี่ และมีศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learning) , อาคารสำนักงานสมัยใหม่, พื้นที่รีเทล ภายใต้คอนเซ็ปต์ “LIFE & LEARNING EXPERIENCES”

นอกจากนี้โครงการนี้ ถูกออกแบบให้เป็น “Parking Node” ของสยามสแควร์ด้วยอาคารที่จอดรถติดถนนพญาไท ที่สามารถรองรับรถได้กว่า 700 คัน เพื่อสอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาสยามสแควร์ให้เป็น “ถนนคนเดิน” หรือ Walking & Shopping Street อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง SIAM SCAPE มีแผนในการเปิดให้ใช้บริการในปีพ.ศ. 2563

“ที่จอดรถ เป็นหนึ่งในแผนแม่บทของการพัฒนาย่านสยามสแควร์ ปัจจุบันเรามีอาคารสยามกิตติ์ เป็นที่จอดรถสำหรับโซนอังรีดูนังต์ แต่ฝั่งโซนพญาไทยังไม่มีที่จอดรถ เพราะฉะนั้นโครงการ SIAM SCAPE จะถูกออกแบบให้เป็นที่จอดรถสำหรับรถที่มาจากฝั่งพญาไท เมื่อที่ที่จอดรถเพียงพอ จะทำให้ในช่วงเย็นๆ เราสามารถปิดถนนสยามสแควร์ ให้กลายเป็น ถนนคนเดิน” นอกจากนี้ในโครงการมีธุรกิจกลุ่ม Life long learning ซึ่งเป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่ทำให้วัยผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต จะทำให้คนที่อยู่ในย่านสยามสแควร์มีความหลากหลาย ทั้งกลุ่มอายุ และไลฟ์สไตล์”

siam-scape_01
Siam Scape Project / Photo Credit : สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ปรับภูมิทัศน์ย่านสยามสแควร์” นำสายสื่อสาร – สายไฟลงดินทั้งหมดภายในปี 2562 พร้อมทั้งขอความร่วมมือร้านอาคารพาณิชย์ ปรับ-ตกแต่งหน้าร้านให้สวยงาม เพื่อให้ย่านสยามสแควร์น่าเดิน

เป้าหมายใหญ่ต้องการพัฒนาสยามสแควร์ เพื่อให้เป็น Shopping Street แถวหน้าของโลกอย่งเต็มรูปแบบ และเป็นย่านนวัตกรรม – แหล่งรวมความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เชื่อมโยงผู้คนที่หลากหลาย (People) สินค้าและบริการ (Products) และสถานที่ (Place) ภายใต้คอนเซ็ปต์ ”SIAM SQUARE CONNECT” จะทำให้ย่านสยามสแควร์สามารถสะท้อนตัวตนและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น

siam-scape_02
Siam Scape Project / Photo Credit : สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

พลิกฟื้น “สามย่าน” จากย่านชุมชน-ย่านการค้าเก่าแก่ สู่ “เมืองต้นแบบอัจฉริยะ – ปลอดมลภาวะ” 

 

“สวนหลวง – สามย่าน” เป็นชุมชน และย่านการค้าเก่าแก่ บนพื้นที่ 291 ไร่ จากถนนพระราม 1 – ถนนพระราม 4 ซึ่งในอดีต 40 ปีที่ผ่านมา ย่านนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นแหล่งค้าอะไหล่รถเก่า สินค้ากีฬา สำนักงาน ร้านอาหาร ร้านค้า แต่วันเวลาผ่านไป สภาพพื้นที่ และอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ใช้งานมานาน เริ่มทรุดโทรม

Suanluang-Samyan_01
Photo Credit : สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Suanluang-Samyan_03
Photo Credit : สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Resize Suanluang-Samyan_05
Photo Credit : สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในขณะที่ “สวนหลวง – สามย่าน” เป็นพื้นที่เมืองชั้นในที่มีศักยภาพ ทาง “สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ต้องการพัฒนาให้มีความหนาแน่นสูงที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยต้องการพัฒนาโซนนี้ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ 3 ด้านคือ 1. เป็นพื้นที่ต้นแบบของเมืองสุขภาวะ ปราศจากมลพิษ / 2. เป็นพื้นที่ต้นแบบทางธุรกิจ และสังคมเมืองใหม่ / 3. เป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ ดังนั้นภายในที่ดินโซนนี้ ประกอบด้วย

“อุทยาน 100 ปี” ตั้งอยู่บนพื้นที่ 29 ไร่ และมีถนน 100 ปีจุฬาฯ (จุฬาลงกรณ์ ๕ เดิม) เชื่อมกับถนนพระราม 1 และพระราม 4 สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สีเขียวในกลางเมือง พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ และพื้นที่เปิดสำหรับกิจกรรมเพื่อชุมชน และสังคม

cu-park_01
Photo Credit : สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
cu-park_02
Photo Credit : สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“สวนหลวงสแควร์” ย่านชุมชนชาวจีนที่ทำธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้า จนทำให้ย่านสวนหลวง – สามย่าน ขึ้นชื่อแหล่งรวมของอร่อยมายาวนาน ดังนั้นการปรับปรุงพื้นที่ จึงพัฒนาให้กลายเป็น “สวนหลวงสแควร์” ชุมชนต้นแบบแห่งการค้าขาย และอยู่อาศัยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“ตลาดสามย่าน” สร้างขึ้นเมื่อปี 2508 ปัจจุบันได้รับการพัฒนาให้เป็นตลาดสดทันสมัย

“CU TERRACE” เป็นอาคารที่พักอาศัย สำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัย และคนทั่วไป ตั้งอยู่ระหว่างถนนจุฬาฯ ซอย 7 – 9

“CU iHOUSE” อาคารที่พักอาศัยสำหรับนิสิตนานาชาติ และบุคคลทั่วไป จำนวน 846 ยูนิต สูง 26 ชั้น ตั้งอยู่ระหว่างถนนจุฬา ซอย 7 – 9

Resize Samyan_01
Photo Credit : Panya7 / Shutterstock.com

“จามจุรีสแควร์” ตั้งอยู่ถนนพระราม 4 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีสามย่าน พัฒนาในรูปแบบ Mixed-use Project ที่ประกอบด้วย โซนศูนย์การค้า, อาคารสำนักงาน, อาคารที่พักอาศัยจามจุรี เรสซิเดนซ์

นอกจากนี้ในย่านนี้ ยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น สำนักงานเขตปทุมวัน, สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน, สถานีดับเพลิงบรรทัดทอง และยังมีโครงการที่เอกชนลงทุน เช่น

“สามย่านมิตรทาวน์” ตั้งอยู่ริมถนนพญาไท – พระราม 4 ของ “บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)” หรือ “Golden Land” บริษัทในเครือทีซีซี กรุ๊ป เป็นผู้ลงทุน พัฒนาเป็น Mixed-use Project ขนาด 13 ไร่ ประกอบด้วยศูนย์การค้า เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ในย่านสามย่าน สีลม และถนนพระราม 4, อาคารที่พักอาศัย, อาคารสำนักงาน

Resize-Samyan-Mitrtown_07
Photo Credit : สามย่านมิตรทาวน์
Resize-Samyan-Mitrtown_08
Photo Credit : สามย่านมิตรทาวน์

“STADIUM ONE” ขนาด 10 ไร่ ตั้งอยู่ใกล้สนามกีฬาแห่งชาติ ระหว่างถนนบรรทัดทอง กับจุฬาฯ ซอย 5 และระหว่างถนนพระราม 1 กับจุฬาฯ ซอย 6 โดย “บริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ จำกัด” เป็นผู้ได้รับสิทธิในการเช่า และดำเนินงานบริหารโครงการ พัฒนาเป็นศูนย์รวมร้านค้าปลีกด้านกีฬา และแอคทีฟไลฟ์สไตล์ ที่มีทั้งธุรกิจร้านค้าด้านกีฬา, ฟิตเนสเซ็นเตอร์ และลานจัดกิจกรรมด้านกีฬา

“I’m Park” เป็น Community Mall ขนาด 4 ไร่ ตั้งอยู่ติดกับอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ บนถนนจุฬา ซอย 22 ลงทุนและพัฒนาโดย “บริษัท แกรนด์ ยูนิแลนด์ จำกัด” ภายในมีร้านอาหาร ฟิตเนสเซ็นเตอร์ ร้านความงาม สถาบันกวดวิชา และ Co-Working Space เป็นต้น

Resize Stadium One
Photo Credit : Stadium One

 

“U-Center” หอพักนิสิต-นักศึกษา และร้านค้า ตั้งอยู่ถนนจุฬาฯ ซอย 42 บนพื้นที่ 8 ไร่ โดยมี “บริษัท ภานุรุจ จำกัด” เป็นผู้ลงทุนพัฒนา

“อาคารมั่นคงเคหะการ” เป็นอาคารสำนักงาน 10 ชั้น ตั้งอยู่ถนนบรรทัดทอง บนพื้นที่ 2 ไร่ โดย “บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด” เป็นผู้ลงทุนพัฒนา ซึ่ง PMCU มีแผนพัฒนาปรับปรุงอาคารให้มีความทันสมัยขึ้นในปี 2563

Resize I'm Park (Cr. Facebook I'm Park)
Photo Credit : I’m Park

ขณะเดียวกันสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลับได้วางแผนพัฒนาโครงการอนาคตคือ

“โครงการพัฒนา Block 33” เป็นรูปแบบ Mixed-use ภายใต้แนวคิด “Residential & Wellness” โดยเป็นโครงการที่อยู่อาศัยติดอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ต้องการให้เป็นศูนย์รวมการแพทย์ชั้นนำด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Centre & Medical Hub) โดยคาดว่าจะเป็นโมเดลร่วมทุนกับเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์

“โครงการพัฒนา Block 34” บนที่ดินขนาด 11 ไร่ ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต” หรือ “Futurium & Exhibition Center” ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาให้เป็นศูนย์รวมงานแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมชั้นดี (Innovation Experience) รวมถึงพื้นที่แสดงผลงานด้านนวัตกรรม จากบริษัทชั้นนำต่างๆ ทั้งของประเทศไทยและทั่วโลก มุ่งเน้นให้เป็น พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต แลนมาร์คใหม่ที่จะเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ต้องการให้ “สวนหลวง – สามย่าน” เป็น Smart City ต้นแบบ จึงวางกรอบการพัฒนา 5 แนวคิดที่นำเทคโนโลยี ระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ ระบบขนส่ง และการบริหารจัดการเมืองที่ลดการก่อมลภาวะ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ Smart Energy / Smart Mobility / Smart Community / Smart Security / Smart Environment

เมื่อพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์กว่า 300 ไร่เสร็จ “PMCU” คาดว่าตามศักยภาพของพื้นที่ จะมีประชากรในย่านนี้ไม่ต่ำกว่า 200,000 คนต่อวัน แต่ถ้าช่วงพีค เช่น ช่วงเทศกาลใหญ่ หรือมีอีเว้นท์ใหญ่ คาดว่าจะมีคนใช้ชีวิตในย่านนี้หลานแสนคน ไปจนถึงหลักล้านคนต่อวัน

“เราต้องการสื่อสารให้สังคมเข้าใจว่า “จุฬาฯ” ไม่ใช่ทุบไล่ที่ แต่วัตถุประสงค์ของเรา คือ พัฒนาพื้นที่ดีๆ ให้กับสังคม เพราะฉะนั้นบนที่ดิน 385 ไร่ มีทั้งโครงการที่ไม่มีรายได้ อย่างอุทยาน 100 ปี ไม่มีรายได้ มีแต่ค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันต้องมีโครงการที่สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสังคม และมีรายได้จากค่าเช่าด้วย แต่เราไม่ได้มุ่งที่การเก็บค่าเช่าสูงสุด หากแต่โฟกัสที่ธุรกิจ หรือโครงการบนทำเลแห่งนี้ ต้องตอบโจทย์สังคม ซึ่งมองว่าอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้า จะเห็นผลงานการพัฒนาเมืองนี้ชัดเจนขึ้น คุณค่าให้กับสังคม” รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ กล่าวทิ้งท้าย

Chamchuri Square_01
Photo Credit : สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ