ในยุค 4.0 นี้ มักจะได้ยินบ่อยๆว่า “การเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเติบโตแบบก้าวกระโดด ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล เพราะด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ใครๆก็เป็นเจ้าของธุรกิจได้ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนเพราะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและรวดเร็ว”
ทำให้ 1-2 ปีมานี้ พบว่าประเทศไทยเกิดพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ขึ้นมากมาย ที่เติบโตขึ้นตามอัตราการเข้าถึงสมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ต ทำให้ตอนนี้ตลาดขายสินค้าออนไลน์ในไทยกลายเป็น Red Ocean มีการแข่งขันกันสูงมาก ทุกคนต่างทำเพจขายสินค้ากันแข่งขันกันหายอดไลค์ยอดแชร์ ด้วยวิธีการเหมือน ๆ กันหมด คือการทำคอนเทนต์คุณภาพดี ๆ ไม่ก็อัดงบซื้อโฆษณาออนไลน์เยอะๆ เพราะคิดว่าหากช่องทางสื่อสารที่มีสามารถเข้าถึงลูกค้าได้จำนวนมาก ๆ จะเป็นทางรอดของธุรกิจ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องการทำธุรกิจในยุค 4.0 ที่ภาครัฐพยายามจะผลักดันนั้น ยังคงมีหนทางอีกยาวไกล เพราะคำว่าธุรกิจในยุค 4.0 ที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจเป็นเพียงเรื่องของการใช้แพลตฟอร์มเป็นเครื่องมือ เป็น Market Place เพื่อขายของและเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แนวคิดสำหรับธุรกิจในอนาคตจริงๆ ยังมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนมากนัก
หากจะให้เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดให้เห็นถึงแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจในยุค 4.0 จะต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่มีรูปแบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำหรับโลกอนาคตที่เป็นดิจิทัลและมีความเป็น Globalization ได้ไปพร้อม ๆ กัน อาทิ จีนมี Alibaba ที่โดดเด่นในเรื่องช่องทางค้าปลีกออนไลน์ ที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กในประเทศสามารถมาใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งระบบเศรษฐกิจในประเทศและทั่วโลก ญี่ปุ่นมี Bitcoin ที่เป็นหน่วยสกุลเงินในโลกดิจิทัล อยู่ภายใต้การดูแลของระบบเน็ตเวิร์คคอมพิวเตอร์ ไม่มีการควบคุมด้วยแบงค์ชาติหรือธนาคาร ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกที่ยอมรับหน่วยสกุลเงินนี้สามารถใช้สกุลเงินเดียวกันเพื่อทำการค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อจำกัดทางธุรกรรมที่ยุ่งยาก
หรือแม้กระทั่งอินเดียที่สามารถผลิตบุคลากรอัจฉริยะทางด้านไอทีกระจายตัวทำงานอยู่ใน “ซิลิคอน วัลเลย์” แหล่งร่วมบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกมากที่สุดในโลก โดยบริษัทอินเดีย 7 แห่งถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 15 บริษัทรับจ้างทางเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ทำให้มีการประมาณว่าอินเดียจะมีรายได้จากธุรกิจไอทีได้สูงถึง 2.25 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐในปี 2020 ในขณะที่ประเทศไทยในสายตานักธุรกิจต่างชาติ คือกลุ่มลูกค้าที่เป็นขุมทรัพย์ มีกำลังซื้อ และเข้าถึงง่ายผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะช่องทาง Facebook ที่ไทยติดอันดับ 8 ประเทศที่ใช้งาน Facebook สูงสุด หรือจำนวน 47 ล้านคน และทุกคนรู้จัก คุ้นเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์จนทำให้ในปีที่ผ่านมาเม็ดเงินในตลาดค้าปลีกออนไลน์สูงถึงหนึ่งแสนล้านบาทหรือเติบโตขึ้น 15 – 20% เมื่อเทียบกับปี 2015 แต่ตัวเลขการเติบโตดังกล่าวไม่ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของไทยดีขึ้นเท่าไรนัก เพราะรัฐบาลไม่สามารถจัดเก็บภาษีเข้าประเทศได้เต็มที่ และไม่สามารถตรวจสอบอัตราการไหลของเงินในระบบออนไลน์ได้เหมือนระบบดั้งเดิม
ฉะนั้น สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับประเทศไทยตอนนี้ คือ การสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ เป็นของตัวเอง และต้องตอบโจทย์ความต้องการ สามารถแก้ไขปัญหาใกล้ตัวที่ถูกมองข้ามออกมาให้ได้ แล้วนำเสนอออกมาในรูปของโซลูชั่นในแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งแนวทางดังกล่าวแตกต่างจากความท้าทายของการทำธุรกิจในอดีต ที่ธุรกิจจำเป็นต้องมี Product ต้องสร้าง Brand สร้าง Story ให้สินค้าเกิดความแตกต่าง มีคุณค่า เพื่อสร้างรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการนั้นๆ ซึ่งหากประเทศไทยต้องการที่จะนำพาประเทศไปแข่งขันได้ในระดับนานาชาตินั้น จำเป็นต้องอาศัยภาครัฐที่เป็น Digital Government เพื่อสนับสนุนรูปแบบการทำธุรกิจในอนาคต ทั้งในเรื่องกฎหมาย ภาษี ระเบียบขั้นตอนต่าง ๆ ต้องถูกสร้างมาโดยความเข้าใจถึงดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยเริ่มจากการสร้างบิ้กดาต้าที่เป็นระบบ ให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ ทั้งระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล ภาครัฐกับธุรกิจ และธุรกิจกับธุรกิจ และนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการให้เกิดขึ้นได้
“อย่างไรก็ดี หากภาครัฐ และผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถหลุดจากแนวคิดเดิมได้ ก็เป็นเหมือนการนับถอยหลังรอวันถูกเทคโนโลยี Disruption ตามหลายธุรกิจที่ถูกทำลายลง การที่องค์กรมีขนาดใหญ่ ทำธุรกิจมานานหลายสิบปีไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความมั่นคงและความยั่งยืนของธุรกิจอีกต่อไป หัวใจสำคัญของความสำเร็จของธุรกิจในอนาคต คือต้องง่ายและแก้ไขปัญหาที่เป็น Pain Point ของลูกค้าได้จริง ผู้ประกอบการต้องพยายามเรียนรู้และปรับแนวคิดให้มีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น มองทุกอย่างเป็น Globalization เรียนรู้ผู้บริโภคระดับโลก (Global Consumer) ศึกษาธุรกิจนานาชาติ จากบริษัทชั้นนำในระดับโลก เพื่อหาแนวคิด มองเห็นถึงอุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบเจาะลึก จึงจะสามารถสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จ และตอบโจทย์ความต้องการในโลกอนาคตได้”
ขอบคุณข้อมูลจาก GEMBA