ชวนวิเคราะห์ “แจ็คหม่า” ลงทุนในไทยกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ไทยได้หรือเสียมากกว่ากัน?

  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

jack

เป็นที่ทราบกันดีว่า มหาเศรษฐีชาวจีนอย่าง “แจ็คหม่า” ผู้มีหน้าตาละม้ายคล้ายอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยท่านหนึ่ง เตรียมขนเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้าน e-Comnerce ถึง 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC (Eastern Economic Corridor) อะไรที่ทำให้แจ็คหม่ามั่นใจถึงขนาดกล้านำเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาลงทุน แล้วประเทศไทยจะได้หรือเสียกับการเข้ามาลงทุนของแจ็คหม่า

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า แจ็คหม่าเขามองว่าในอนาคตธุรกิจ SME จะกลายเป็นธุรกิจหลักของโลก โดยประมาณว่าทั่วโลกจะมีสัดส่วนธุรกิจ SME ถึงกว่า 80% ขณะที่บริษัทในรูปแบบขนาดใหญ่จะลดลง ส่วนรูปแบบธุรกิจก็จะเปลี่ยนไปจากปัจจุบันที่เป็นแบบ B2B หรือ B2C ก็จะกลายเป็น C2C หรือ C2B นอกจากนี้ประเทศจีนยังมีแผนที่จะเปิดประเทศเต็มรูปแบบในอีก 5 ปีนับจากนี้ โดยมีการคาดการณ์กันว่า จีนจะต้องการนำเข้าสินค้ามูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Jack Yud

 

คงไม่จำเป็นต้องบอกว่า แจ็คหม่าเข้ามาลงทุนอะไรบ้าง เนื่องจากสื่อหลักมีการออกข่าวอย่างมากมาย โดยสรุปคือการสร้าง Smart Digital Hub เพื่อการส่งออกสินค้าของ Alibaba พร้อมอบรมผู้ประกอบการ SME ไทย เพื่อเสริมทักษะการใช้ e-Commerce รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างดาวเด่นให้กับธุรกิจ และความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยวของไทย พร้อมทั้งการเปิดร้านใน Tmall.com เพื่อขายสินค้าเกษตรของไทยในประเทศจีน ทั้งหมดดูเหมือนว่าจะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ยุค e-Commerce แต่มาช่วยกันวิเคราะห์ดีกว่าว่า นี่คือ “ความช่วยเหลือ” หรือการ “ปูทาง” ไปสู่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า

 

โลจิสติกส์คือหัวใจสำคัญ

ของธุรกิจ e-Conmerce

แจ็คหม่า ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อ e-Conmerce ระดับโลกและกล่าวได้ว่า Key Success ของ Alibaba ประกอบไปด้วย 2 ประการ อย่างแรกคือ ระบบ Financial ที่ช่วยให้การชำระเงินสะดวกสบายในการซื้อสินค้า และอีกประการคือ ระบบขนส่ง (Logistic) ที่ไม่ว่าจะไกลเพียงใดก็สามารถส่งสินค้าไปถึงในระยะเวลาที่กำหนด นั่นจึงทำให้ Alibaba ได้รับความนิยมอย่างสูงในประเทศจีน แต่นั่นคือในประเทศจีนเท่านั้น

เพราะการขนส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ ยังมีต้นทุนสูงอันเนื่องมาจากเส้นทางการเดินเรือที่ไกล โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังยุโรป นั่นจึงทำให้ แจ็คหม่า จำเป็นต้องหาจุดปล่อยสินค้าที่ช่วยลดต้นทุนการขนส่งจากประเทศจีนโดยตรง สอดรับกับนโยบายรัฐบาลไทยในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC – Eastern Economic Corridor) ที่สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาลงทุนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเพื่อการส่งออก ผ่านท่าเรือน้ำลึกอย่างโครงการ Eastern Seaboard รองรับการขนส่งสู่ทั่วโลก

Sea Port

 

แจ็คหม่า ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยมีจุดเด่นในเรื่องของโลเคชั่น ช่วยให้ประเทศไทยเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับมหาสมุทรถึง 2 แห่ง ทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย นอกจากนี้ แจ็คหม่า ยังชี้ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงถือเป็นโครงการที่สำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้สินค้าของไทยสามารถส่งไปจีนด้วยระยะเวลาอันสั้นและมีต้นทุนที่ถูกกว่า ในทางกลับกันจีนก็สามารถส่งสินค้าเข้ามาขายในไทยได้ ที่สำคัญยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเยือนประเทศไทยได้ง่ายขึ้น

 

โครงสร้างพื้นฐานเพียบพร้อม

พัฒนาความเร็วพิธีการศุลกากร

นอกจากเรื่องโลจิสติกส์แล้วแล้ว แจ็คหม่า ยังมองเห็นความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี (แม้แจ็คหม่าจะยอมรับว่าอินเตอร์เน็ตที่มาเลเซียดีกว่าไทยก็ตาม) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวของคนไทยให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ แจ็คหม่า ก็พบปัญหาในการส่งออก นั่นคือความล่าช้าของพิธีการศุลกากร จึงทำให้ แจ็คหม่า เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับกรมศุลกากร เพื่อลดพิธีการขั้นตอนการส่งออกและนำเข้าสินค้าในเขตโครงการ EEC

Jack Ma, Founder and Executive Chairman, Alibaba Groups, talks with American television host Charlie Rose during the inaugural Gateway 17 event at Cobo Center in Detroit

 

แจ็คหม่า ยังชี้ให้เห็นว่าการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยครั้งนี้ จะไม่ใช่การลงทุนแบบ Win Win แต่เป็นการลงทุนแบบ Win Win Win (WWW) ถึง 3 ด้านทั้งด้านผู้บริโภคในที่นี้หมายถึงทั้งฝ่ายไทยและจีน ด้านการเป็นพันธมิตรระหว่างไทยและจีน และด้านผู้ประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจ SME ของไทยกับ Platform e-Commerce ของจีนอย่าง Alibaba แจ็คหม่าเองก็ทำการบ้านมาดี โดยเขาย้ำตลอดว่า ตัวเขาเองไม่คิดที่จะเขามายึดครองตลาดประเทศไทย เพราะตลาดประเทศไทยเป็นของประเทศไทย เป็นของคนไทย ใครจะมาเอาไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เขาต้องการ คือ การพัฒนาศักยภาพของธุรกิจ SME ของไทยผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ธุรกิจของไทยสามารถเข้าไปสู่ประเทศจีน เมื่อถึงเวลาที่จีนเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

 

ไทย…จุดกระจายสินค้าโลก

การลงทุนเพื่ออนาคต

หากมองในแง่ดี นี่คือโอกาสในการพัฒนาศักยภาพธุรกิจ SME ของไทยรวมไปถึงการส่งออก เพราะปัญหาใหญ่ของ SME คือตลาดหรือแหล่งรวมคนซื้อสินค้า ซึ่งในยุคนี้ตลาดจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี ต้องยอมรับว่า SME ของไทยยังมีจุดอ่อน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาการส่งออกสินค้าไทย เนื่องจากระยะเวลาในการเดินเรื่องพิธีการทางศุลกากรถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งออก โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีอายุ เช่น อาหาร ขนม ดอกไม้สด เป็นต้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะสามารถลดระยะเวลาพิธีการทางศุลกากรลง จะช่วยเปิดโอกาสและสร้างศักยภาพให้กับการส่งออกของไทยและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ส่งออกและผู้ประกอบการ SME ของไทย

Speed Train

 

แต่อย่าลืมว่า แจ็คหม่า คือพ่อค้า คือนักลงทุน ปกติวิสัยของพ่อค้านักลงทุน คือการแสวงหาผลกำไรทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การใช้เทคโนโลยีช่วยลดพิธีการทางศุลกากรลง นอกจากจะช่วยให้ผู้ส่งออกสินค้าและผู้ประกอบการ SME ของไทยแล้ว สินค้าของจีนที่ถูกส่งออกผ่านเขต EEC ก็จะได้รับอานิสงส์นี้ด้วยเช่นกันและยังช่วยเสริมศักยภาพการส่งออกของจีนด้วยอีกทางหนึ่ง นั่นจึงทำให้ แจ็คหม่า มองว่าไทยคือศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปสู่ในภูมิภาค (CLMV) และยังเป็นประตูสู่โลกทั้งใบ

 

แจ็คหม่า ภาพลักษณ์ประเทศจีน

ทุกย่างก้าวคือรอยเท้ามังกร

สำหรับการเข้ามาลงทุนของแจ็คหม่าครั้งนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนั่นหมายถึงการประกาศอย่างชัดเจนถึงขอบเขตอิทธิพลของจีน ที่ในอดีตภูมิภาคนี้ที่เคยเป็นพื้นที่ในการดูแลของสหรัฐฯ ทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์และเชิงยุทธศาสตร์ ขณะที่จีนและสหรัฐฯ กำลังสู้รบในสงครามการค้าอยู่ แม้ว่าแจ็คหม่าจะประกาศอย่างชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนการทำสงครามการค้า ถึงจะเป็นสงครามที่ไม่มีการสูญเสียชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของโลก

US-CHINA-IT-INTERNET-ALIBABA-IPO

 

แน่นอนว่าการเข้ามาของแจ็คหม่า คือการเข้ามาลงทุนขนาดใหญ่ที่ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน รวมไปถึงการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในโครงการ EEC ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจได้ (แม้ว่าจะยังมีข้อกังวลจากคนในพื้นที่ถึงกรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน) มิหนำซ้ำประเทศไทยยังได้เทคโนโลยีและความรู้ (Know How) ด้าน e-Commerce ที่แจ็คหม่าชี้ว่า เป็นการเตรียมความพร้อมรับมือก่อนที่จีนจะเปิดประเทศ

 

Land Bridge ของเก่ามารื้อใหม่

ยุทธศาสตร์การส่งออก

แต่หากมองแบบนักลงทุน หว่านพืชย่อมต้องหวังผล” แบ่งออกเป็นประเด็นดังนี้ การที่จีนเปิดประเทศแน่นอนว่าสินค้าต้องไหลทะลักเข้าจีน แต่มีทางเข้าก็ต้องมีทางออก จีนอาจเห็นแล้วว่าท่าเรือของจีนอาจไม่สามารถรองรับปริมาณสินค้าเพื่อส่งออก ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนและไทยยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมต่อกับจีน ช่วยให้สามารถส่งสินค้าตรงเข้าสู่ท่าเรือน้ำลึกในโครงการ Eastern Seaboard

ยิ่งไปกว่านั้นในอดีตไทยเคยมีแนวคิดขุดคลองคอคอดกระ แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากปัญหาด้านความมั่นคง จึงเกิดโครงการขึ้นมาทดแทนในชื่อ “แลนด์บริดจ์ (Land Bridge)” ผ่านการขนส่งทางรถไฟจากภาคใต้ฝั่งอันดามัน (มหาสมุทรอินเดีย) สู่ท่าเรือน้ำลึกในภาคตะวันออกฝั่งทะเลอ่าวไทย (มหาสุมทรแปซิฟิค) ซึ่งรัฐบาลมีโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก Southern Seaboard โดยอยู่ในกระบวนการเจรจากับชาวบ้านในพื้นที่

jack-ma

 

ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ สินค้าต่างๆ ที่ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ในการอ้อมไปทางมะละกา ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้แลนด์บริดจ์ของไทยโดยใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 3 วัน (รวมพิธีการทางศุลกากร) การที่จีนลงทุนในประเทศไทย จึงเป็นการปูทางไปสู่การให้ไทยเป็นเมืองท่าที่สำคัญสำหรับจีน

 

แจ็คหม่าหิ้วของดีมาไทย

ในแง่ที่ดีอาจมีแง่ที่ร้าย

การมาของแจ็คหม่าครั้งนี้ เขาไม่ได้มาแบบตัวเปล่าเล่าเปลือย แต่แจ็คหม่ายังพกของสำคัญมาด้วยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Cainiao ซึ่งเป็นธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของ Alibaba ที่คาดว่าน่าจะเป็นตัวแทนการขนส่งจากจีนสู่ประเทศไทยและกระจายไปสู่ประเทศอี่นๆ ทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก นั่นหมายความว่าโลจิสติกส์ไทยไม่มีสิทธิ์ในการเข้าไปดูแลการจัดส่งแบบ Cross Border ให้กับ Alibaba แน่นอน และมีสิทธิ์ที่ Cainiao อาจจะลงมาแข่งขันกับระบบโลจิสติกส์ในไทย เนื่องจากมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่สั่งสินค้ากับ Alibaba

Alibaba-1024px

แจ็คหม่ายังพก Ant Financial บริษัทลูกของ Alibaba ที่ดูแลเรื่องการเงิน แม้ว่า Ant จะมาอยู่ในไทยบ้างแล้วก็ตาม แต่ด้วยกฎระเบียบบางประการทำให้ Ant เลือกที่จะใช้พันธมิตรอย่าง true money wallet ในการทำธุรกิจในไทย ซึ่งต้องจับตาต่อว่าหากจีนเปิดประเทศเต็มตัว กฏระเบียบบางอย่างจะถูกผ่อนปรนด้วยหรือไม่ ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นโอกาสที่ Alipay เริ่มย่างก้าวออกสู่อ้อมอกจีน ในด้านการท่องเที่ยวเอง แจ็คหม่าก็พกฟลิกกี้ (Fliggy) บริษัทด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำของจีนหรือในอดีตก็คือ Alitrip เข้ามาร่วมมือกับททท.นั่นหมายความว่า แจ็คหม่ากำลังจะหานักท่องเที่ยงจีนที่มีศักยภาพเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ทราบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย คือแหล่งรายได้ของประเทศ หากทำสำเร็จ Fliggy น่าจะทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรม OTA ของจีน และอาจจะสามารถต่อรองกับธุรกิจการท่องเที่ยวในไทยได้

นอกจากนี้แจ็คหม่ายังหนีบ Alibaba Business School (ABS) สถาบันเพื่อสอนทักษะการใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจ เรียกได้ว่าแจ็คหม่าปูพื้นฐานให้กับคนที่ไม่รู้วิธีและเทคนิคการใช้เทคโนโลยี นั่นหมายความว่าผู้ที่จบจากสถาบันนี้จะติดการใช้ Platform ของ Alibaba และหมายถึงความต้องการใช้ Platform ของ Alibaba ที่จะทยอยมากขึ้น และเป็นไปได้ที่ Platform e-Commerce สายพันธุ์ไทยอาจจะถูกกลืนหายไปโดยปริยาย

Alibaba Group and UNCTAD

 

สินค้าไทยไหลไปจีน

ความน่ากังวลของสินค้าและ Data

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญและอาจเป็นหมัดเด็ดที่สุด คือการนำสินค้าการเกษตรของไทยไปขายในจีนผ่านช่องทาง Tmall.com โดยตามแผนที่วางไว้จะส่งข้าวจากประเทศไทยไปขาย และล่าสุดมีข่าวว่า แจ็คหม่านำร่องขายทุเรียนไปแล้วกว่า 80,000 ลูก โดยขายหมดภายในเวลา 1 นาทีด้วยมูลค่าสูงกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ก็มีหลายคนยังคลางแคลงใจว่า นี่อาจจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับการขายสินค้าเกษตรผ่าน Tmall.com เนื่องจากดีลการขายระดับ 80,000 ลูกถือเป็นดีลส่งออกขนาดใหญ่ ซึ่งโครงการส่งสินค้าจากไทยไปจีนยังไม่มีการวางระบบ นั่นหมายความว่าไม่แจ็คหม่าก็รัฐบาลจีนอาจจะยอมควักเงินซื้อดีลนี้ไว้เอง เพราะทุเรียนเป็นผลไม้ไทยที่ตลาดจีนมีความต้องการสูงมาก นี่ยังไม่นับเรื่องปริมาณผลผลิตทุเรียนที่ปีนี้อาจมีแนวโน้มลดลงกว่าทุกปี เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน

Durian

 

แต่ดีลการขายทุเรียนตามที่ Tmall.com อ้างก็อาจเป็นไปได้จริง และนี่คือสิ่งที่หลายคนเป็นห่วงกังวล เนื่องจากจีนมีพื้นฐานชอบสินค้าเกษตรของไทยเป็นหลัก เมื่อความต้องการซื้อ (Demand) มีมากกว่าความต้องการขาย (Supply) ราคาขายจึงสูง ถือเป็นสิ่งดีเพราะจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น แต่หากการขายผ่านช่องทาง Tmall.com ได้ราคาดีกว่าการปล่อยให้ล้ง (นายหน้ารับซื้อผลไม้) เป็นไปได้ว่าล้งที่มีสินค้าอาจปรับราคาขายให้สูงขึ้นจากความยากในการหาสินค้า และนั่นอาจทำให้คนไทยในประเทศที่เคยมีผลไม้กินทั้งปีในราคาที่พร้อมจ่าย อาจจะต้องคิดแล้วคิดอีกกับราคาที่สูงขึ้นหรืออย่างมากที่สุดก็คือสินค้าขาดตลาด และอาจจำเป็นต้องไปซื้อผลไม้ไทยผ่านช่องทาง Tmall.com ในราคาสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ทั้งที่ต้นทางของสินค้ามาจากประเทศไทย

นอกจากนี้ในเรื่องของ Data ในหลายโครงการที่ แจ็คหม่า เตรียมนำมาใช้ในพื้นที่เขต EEC ซึ่งแจ็คหม่าเองก็มีระบบ Alibaba Cloud สำหรับการจัดเก็บข้อมูล Data และนั่นหมายความว่า หากโครงการต่างๆ พร้อมเปิดใช้งาน แจ็คหม่าก็จะถือครอง Data โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยไว้ในมือ ขนาดที่รัฐบาลก็ทราบว่าปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหา Data ของคนไทยอยู่ในต่างประเทศ

104225989-95A5053.1910x1000-768x402

ในตอนนี้อาจยังบอกไม่ได้เต็มปากว่า แจ็คหม่า กำลัง “รุกราน” หรือ “ช่วยเหลือ” แต่ที่แน่ๆ e-Commerce ไทยจำเป็นต้องขยับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมรับมือคลื่นธุรกิจในกลุ่ม Alibaba เข้ามาในประเทศไทยแน่นอน และเมื่อมีเจ้าแรกก็๋จะมีเจ้าที่ 2 และที่ 3 ต่อมา หากผู้ประกอบการทั้ง SME ไทย ผู้ประกอบการ Platform e-Commerce ของไทย ผู้ประกอบการ Logistic ไทย ยังไม่เตรียมการรับมือ ก็อาจจะถึงจุดที่เรียกว่า “กลับลำไม่ทัน” ตอนนี้ประเทศจีนยังไม่เปิดประเทศเต็มตัว เราจึงยังเห็นรูปแบบการเตรียมความพร้อมมากกว่าการเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจัง

แต่เราอาจจะเริ่มเห็นแจ็คหม่าเปิดหน้าไพ่เล่น คือช่วงหลังจากนี้อีก 5 ปีแน่นอน

ถึงเวลานั้นเราจะได้…รู้กัน!!!


  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา