สตาร์ทอัพน้องใหม่ต้องฟัง Buzzebees แชร์ประสบการ์ณกว่าจะสำเร็จได้ ต้องมีมากกว่าไอเดีย คือ ความอดทน และอยู่บนโลกแห่งความจริง

  • 75
  •  
  •  
  •  
  •  

แม้ในบ้านเรา กระแสของ‘สตาร์ทอัพ’จะได้รับความสนใจและถูกพูดถึงเป็นอย่างมากว่า เป็นธุรกิจดาวรุ่ง และเป็นธุรกิจแห่งอนาคต จนมีหลายต่อหลายคนกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้กันมากมาย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และผู้ที่อยากเป็นนายตัวเอง แต่ใช่ว่า จะประสบความสำเร็จได้ทั้งหมด

“สตาร์ทอัพในบ้านเรายังอยู่ในช่วงตั้งไข่  ลองผิดลองถูกอยู่ อย่างในสหรัฐอเมริกา ตอนนี้มีสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จยังมีแค่ 10% บ้านเราก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร” หนึ่งในสตาร์ทอัพรุ่นพี่ที่ประความสำเร็จอย่าง ณัฐธิดา สงวนสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท Buzzebees จำกัดผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นCRM Privilege ให้กับลูกค้าต่างๆ กว่า 100 แพลตฟอร์ม อาทิ Galaxy Gift ของซัมซุง,เทสโก้ โลตัส,พริวิเลจ ของเอไอเอส และบริการธนาคารต่างๆ โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่นของ Buzzebees จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมกว่า 40 ล้านคน สะท้อนถึงตลาดสตาร์ทอัพในไทยให้ฟัง

IMG_0971

ความเร็วความอดทน คือความสำเร็จ

ณัฐธิดา บอกว่า คนที่เข้ามาในแวดวงสตาร์ทอัพ ทุกคนมีไอเดียที่ดี แต่การจะทำให้ไอเดียนั้นเกิด และประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น ความอดทน จึงเป็นสิ่งสำคัญ

อย่าง Buzzebees กว่าจะประสบความสำเร็จได้ ต้องล้มลุกคลุกคลานมาหลาย ๆ ต่อหลายครั้ง เช่น ในช่วงเริ่มต้นของบริษัทคิดจะทำแอพพลิเคชั่นหนึ่งออกมา ซึ่งส่วนตัวมองว่า เจ๋งมาก แต่หลายคนบอกว่าใช้ยาก เราก็เชื่อตัวเองแล้วทำออกมา ผลที่ได้ คือ มียอดดาวน์โหลดอยู่ในหลักสิบ ทำให้เรียนรู้ว่า ‘แม้ของเราจะเจ๋งแค่ไหน แต่ถ้าใช้ยาก คนก็ไม่สน’ และการทำ คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ ซับซ้อนไม่ได้

“พอเราเห็นว่าไม่เวิร์ค ต้องเปลี่ยนเริ่มทดลองใหม่ เพราะการกล้าลองทำผิด เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม เรื่องพวกนี้ต้องใช้ความอดทน กว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ไม่ใช่ดันทุรัง”

นอกจากนี้ ถ้าไอเดียไม่เวิร์ค ต้องเปลี่ยนหรือแก้ไขทันที เพราะในโลกของดิจิทัล ความเร็วเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนระยะเวลาตัดสินใจว่าเรื่องไหนควรใช้เวลาอย่างไร เป็นเรื่องของมุมมองของแต่ละคน เพราะแต่ละเรื่องมีความต่างกัน เราต้องเรียนรู้ให้มาก

คิดให้ใหญ่ ไปให้ถึง

นอกจากนี้ ความอดทน แล้ว  การคิดให้ใหญ่ และลงมือจริงจัง เป็นเคล็ดลับความสำเร็จที่จะทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ

“ถ้าเราเริ่มเล็ก คิดแบบเล็ก ๆ กว่าจะสำเร็จมันยาก เราต้องคิดให้ใหญ่ แต่ต้องทำได้จริง  และค่อย ๆ ทำไปกว่าจะสำเร็จ เพราะถ้ามูลค่าตลาดไม่เยอะ มีมาร์เก็ตแชร์ไม่ใหญ่พอ เราเป็นยูนิคอร์นไม่ได้ และการมีเป้าหมายที่ใหญ่จะทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจด้วย”

อย่างเป้าหมายตั้งแต่เริ่มต้นของ Buzzebees ที่วางไว้ คือ ต้องการเปลี่ยนโฉมตลาดดิจิทัลในไทยให้ได้ 30% และต้องการเปลี่ยนการให้พริวิเลจ จากการแจกบัตรเป็นดิจิทัลทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าการเติบโต 2-3 เท่าต่อปี ปีแรกรายได้อยู่ที่ 50 ล้านบาท ปีที่สอง เป็น 150 ล้านบาท ปีที่สาม 370 ล้านบาท มาถึงปีนี้ 650 ล้านบาท ปีหน้าตั้งเป้า 1,000 ล้านบาท และจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2563

 shoppartner

อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ป้องกันการล้มเหลว

อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่เริ่มต้นว่า คนเข้ามาในแวดวงสตาร์ทอัพทุกคน มีไอเดีย แต่ขั้นแรกต้องดู Business Model มีความเป็นไปได้หรือไม่ มีกลุ่มเป้าหมายที่ทำเงินให้เพียงพอหรือไม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการทำมาร์เก็ตติ้งทั่วไป

ที่สำคัญ ทั้งหมดต้องอยู่บนโลกของความจริง มองความเป็นได้ทางธุรกิจ เพราะไม่ว่าธุรกิจใดก็ตาม รายได้เป็นสิ่งสำคัญ อย่าฝันหวานหรือเชื่อตัวเองเกินไป จะนำความล้มเหลวมาให้

และหากสิ่งที่คิดพัฒนาออกมาไม่เวิร์ค ต้องเปลี่ยน ส่วนจะเปลี่ยนเมื่อไร เปลี่ยนอย่างไร ขึ้นอยู่กับมุมมอง เช่น เปิดตัวมาร์เก็ตติ้ง แคมเปญ 1 แถม 1 วันเดียวก็สามารถรู้ผลแล้วว่าเวิร์คหรือไม่ แต่หากเป็นฟีเจอร์ใหม่ ต้องใช้เวลาอาทิตย์หรือสองอาทิตย์

“เราไม่ได้ห้ามให้ฝัน แต่ทุกอย่างต้องมีความเป็นไปได้ ที่สำคัญ เมื่อมีฝัน ต้องลงมือทำ อย่ามัวแต่คิดและพูดอย่างเดียว งานก็ไม่เกิด ผลเราก็จะไม่เห็น”

ด้าน เอกลักษณ์ โกวิริยะวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ของ Wongnai ก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่า การที่สตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จได้ อย่าคิดเอง เออเอง หรือเชื่อตัวเองจนเกินไป ต้องฟังลูกค้าเป็นหลักว่า สิ่งที่ทำไปลูกค้าต้องการหรือเปล่า เพราะคนที่เราต้องการให้ตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการและสินค้า คือ ลูกค้า ไม่ใช่เรา

นอกจากนี้ การคิดโมเดลธุรกิจออกมา ต้องมองหาช่องว่างของตลาดโดยพิจารณาจากความจริง อาทิ ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ มีพื้นที่ให้แทรกเข้าไปได้หรือไม่ เป็นต้น ไม่ใช่เพียงคิดและวาดฝัน อย่างเช่นต้องการเข้าไปในโซเชียลมีเดีย ที่มีเฟสบุ๊คเป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว หรือทำอีคอมเมิร์ซ ที่มีสองยักษ์ใหญ่จากจีนกวาดมาร์เก็ตแชร์ไปเกือบหมดแล้ว ซึ่งแบบนี้ จะทำให้แทรกตัวไปในตลาดได้ยาก

 

เงินทุนCommitment สำคัญต่อการเติบโต

เรื่องเงินทุน เป็นอีกเรื่องที่ทาง เอกลักษณ์ ให้ความสำคัญ เพราะเป็นสายป่านที่ต้องมีเพื่อความอยู่รอด อย่างช่วงเริ่มต้นของ Wongnai ต้องการขายโฆษณา แต่เมื่อจำนวนคนชมไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้โฆษณาไม่เข้า จึงต้องทำธุรกิจโมเดลอื่นมาเสริมเพื่อให้อยู่รอดได้ก่อน และการที่มีหลายองค์กรให้เงินสนับสนุนเงินทุนกับสตาร์ทอัพในปัจจุบัน ก็จะช่วยให้สตาร์ทอัพในไทยเกิดขึ้นและเติบโตได้มากกว่าเดิม

นอกจากนี้ผู้ต้องการเป็นสตาร์ทอัพ ต้องคอยถามตัวเองว่า สิ่งที่จะทำมีความเป็นไปได้และถูกต้องหรือไม่ โดยอาจนำไปทดลองกับลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ก่อน เพื่อให้สามารถขยายตลาดได้อย่างถูกทาง และที่สำคัญ เมื่อมีนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย การมี Commitment ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเป็นตัวกดดันให้เดินได้ตามเป้าหมาย สร้างผลประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย

สุดท้าย สองรุ่นใหญ่ในวงการสตาร์ทอัพ ทั้งBuzzebees และ Wongnai เห็นตรงกันว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยนั้น ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และไม่ได้สวยหรูอย่างที่ใครหลายคนคิด ดังนั้นการจะประสบความสำเร็จ เป็นยูนิคอร์นในวงการนี้ได้ นอกจากไอเดียแล้ว ต้องทำงานให้หนัก มีความอดทน และมองโลกบนพื้นฐานของความเป็นจริง โดยเฉพาะความเป็นไปได้ทางธุรกิจ

 

Copyright © MarketingOops.com


  • 75
  •  
  •  
  •  
  •