Netflix และ IMDA สนับสนุนกลุ่มคนมีฝีมือ ในการถ่ายทอดศิลปะและสร้างสรรค์ผลงานซีรีส์ในภูมิภาค

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มั่งคั่งเฟื่องฟู โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ขยายตัวเติบโตและมีผลงานที่น่าทึ่งมากมาย และเรายังเริ่มสังเกตเห็นความสนใจและการทดลองใหม่ๆ ในแวดวงผลงานซีรีส์ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตที่มีเพิ่มมากขึ้นในวงการ และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสร้างฟอรั่มการเรียนรู้สำหรับผู้เขียนบทที่มีฝีมือในภูมิภาคที่มีความหลากหลายอย่างยิ่งแห่งนี้

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ Netflix ร่วมมือกับ Infocomm Media Development Authority (IMDA) จากสิงคโปร์ ในการจัดเวิร์กช็อปการเขียนบทซีรีส์ให้กับผู้สร้างผลงานจำนวน 23 คนจากสิงคโปร์  ไทย และอินโดนีเซีย เวิร์กช็อปนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ถึง 25 กุมภาพันธ์ โดยเป็นโปรแกรมพิเศษที่จัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้เขียนบทฝึกฝนทักษะความสามารถด้านการเขียนบทซีรีส์โดยเฉพาะ โดยมีผู้เชี่ยวชาญและผู้เขียนบทภาพยนตร์ชั้นนำในวงการมาเป็นผู้ให้ความรู้และพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้เข้าฝึกอบรม

 

 

ผู้เข้าร่วมมากกว่า 20 คนจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และไทย เข้าร่วมเวิร์กช็อปการเขียนบทซีรีส์ที่จัดแบบออนไลน์เป็นเวลา 5 วัน

“ความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดเรื่องราวทำให้ Netflix เป็นพาร์ทเนอร์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ IMDA ที่ต้องการพัฒนาผู้เขียนบทที่เป็นที่ต้องการของตลาดและสามารถสร้างเนื้อหาได้ครอบคลุมหลากหลายแนว รวมทั้งเนื้อหาคุณภาพสูงสำหรับบริการสตรีมมิ่งความบันเทิง” โจคิม อึง ผู้อำนวยการของ Media Industry Development (IMDA) กล่าว

หลังเปิดตัวผลงานล่าสุดจากฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ “มหานครเมืองลวง” (Bangkok Breaking), “เด็กใหม่” (Girl From Nowhere), “ปริศนารูหลอน” (The Whole Truth), “อาลีกับราชินีแห่งควีนส์” (Ali & Ratu-Ratu Queens) และ “เงื่อนงำหลังเครื่องถ่ายเอกสาร” (Photocopier)Netflix ได้ก้าวมาเป็นผู้นำในการรังสรรค์ผลงานภาพยนตร์และซีรีส์เรื่องเยี่ยมจากภูมิภาคมาสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก

“เราต้องการจุดประกายความสนใจให้กับผู้สร้างผลงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำเรื่องราวเผยแพร่ออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก โดยใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญและการประสานงานร่วมมือในพื้นที่ โดยเราหวังว่าจะสามารถสร้างฟอรั่มแบบนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้สร้างผลงานได้รับข้อมูลความรู้เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในวงการซึ่งสามารถช่วยแบ่งปันความรู้และให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมได้” มาโลบิกา บาเนอร์จี ผู้อำนวยการฝ่ายเนื้อหา (ภาคพื้น SEA) Netflix กล่าว

 

 

เจาะลึกขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงานซีรีส์

เวิร์กช็อปอบรมศิลปะและทักษะการเขียนซีรีส์ นำโดยโจ เพรัคคิโอ ผู้เขียนบทและผู้สร้าง (The Flash)ที่มาให้ความรู้นั้น ประกอบด้วยแบบฝึกหัดในการสร้างฉากเหตุการณ์และการวิเคราะห์เจาะลึกซีรีส์เรื่องต่างๆ อาทิ “สเตรนเจอร์ ธิงส์” (Stranger Things) และ “สควิดเกม เล่นลุ้นตาย” (Squid Game)

เลอร์ จี่หยวน (Invisible Stories) ผู้สร้างภาพยนตร์ชาวสิงคโปร์ กล่าวว่า “เวิร์กช็อปครั้งนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกระดับสูงสุดในการสร้างซีรีส์โดยเฉพาะ เราได้เรียนรู้จากโจอย่างละเอียดว่าห้องนักเขียนในฮอลลีวูดนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งถือเป็นความรู้ที่หาที่ไหนไม่ได้จริงๆ”

ผู้นำการฝึกสอน โจ เพรัคคิโอ อธิบายหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างของซีรีส์ดราม่า

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้วิธีพัฒนาเรื่องราวของตัวละคร และการสร้างความตื่นเต้นลุ้นระทึกในการสนทนาร่วมกับ คิมอึนฮี นักเขียน “ผีดิบคลั่ง บัลลังก์เดือด” (Kingdom) และ พัคอึนกโย จาก “ทะเลสงัด” (The Silent Sea) ซึ่งทั้งคู่คือผู้อยู่เบื้องหลังผลงานซีรีส์เกาหลียอดนิยมจาก Netflix ผู้เชี่ยวชาญในวงการหลายๆท่านพบว่า ฟอรั่มนี้ถือเป็นเครื่องเตือนใจในเวลาที่เหมาะสมต่อการให้ความสำคัญและใส่ใจกับการสร้างสรรค์ตัวละคร

ทศพล ทิพย์ทินกร ผู้เขียนสคริปต์ซึ่งอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ยอดนิยมเรื่อง “อ้าย..คนหล่อลวง” (The Con-Heartist) กล่าวว่า “ในฐานะผู้เขียนบท เราเป็นผู้รับฟังเรื่องราวที่ตัวละครเป็นคนถ่ายทอด แล้วจึงนำเรื่องราวเหล่านั้นมารวมเข้าด้วยกันเป็นสคริปต์ ถ้าเราสามารถสร้างตัวละครที่มีชีวิตชีวาน่าสนใจ ก็จะทำให้ดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้สำเร็จ”

ลัคกี้ คุสวันดี (Ali & Ratu Ratu Queens) ผู้กำกับชาวอินโดนีเซีย อธิบายว่า “นั่นคือวิธีที่จะทำให้เรื่องราวในท้องถิ่นสามารถดึงดูดผู้ชมจากทั่วโลกได้ เวิร์กช็อปนี้ไม่เพียงช่วยให้เราสร้างผลงานที่ดีขึ้น แต่ยังส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับผู้สร้างภาพยนตร์รุ่นใหม่ที่หลากหลายในอินโดนีเซียด้วย โดยมอบความรู้ที่สำคัญให้พวกเขาในการถ่ายทอดเรื่องราวของชาวอินโดนีเซียที่ถูกมองข้ามให้โลกได้รับรู้”

โจ เพรัคคิโอ อธิบายว่า เวิร์กช็อปที่จัดขึ้นห้าวันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างผู้เขียนบทจากหลากวัฒนธรรม “ผู้สร้างสรรค์ผลงานต้องได้รับการสนับสนุน มีแรงบันดาลใจ มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งที่จะทำให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ ฟอรั่มที่เราจัดในสัปดาห์นี้ครอบคลุมทุกด้านที่กล่าวมา และหวังว่าจะได้ส่งมอบความรู้ใหม่ๆ และสร้างพลังใจให้ผู้เขียนบทของเราในการเผชิญหน้าความท้าทาย เพื่อให้เราสร้างผลงานเรื่องเยี่ยมรูปแบบใหม่ที่ลึกซึ้งและทำให้ผู้ชมประทับใจได้ต่อไปเรื่อยๆ”

 

 


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •