เปิดกลยุทธ์ ‘โอทีวี’ ออนไลน์ วีดีโอ น้องใหม่สัญชาติไทยที่ขอสู้กับ‘ยูทูป’

  • 401
  •  
  •  
  •  
  •  

 

OT1

วีดีโอ สตรีมมิ่ง เป็นอีกสมรภูมิที่มีการแข่งขันร้อนแรง หลังมีผู้เล่นหลายรายกระโดดลงไปเล่นในสนามนี้ รวมไปถึง ‘โอทีวี’สตาร์อัพสัญชาติไทย ที่ขอใช้ความเล็ก เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าไทย และ Local Marketing สู้กับ‘ยูทูป’ พี่ใหญ่ของตลาด

จากสถิติพบว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบันมากกว่า 50% เลือกทำกิจกรรมผ่านทางออนไลน์ โดยเฉพาะการรับชมภาพยนตร์ ,ชมโทรทัศน์ และฟังเพลง ส่วนกลุ่มคนที่ท่องโลกออนไลน์มากที่สุด คือ คนอายุ 18-44 ปี คิดเป็น 82.7%ของกลุ่มคนทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่า 57% จะดูวีดีโอผ่านมือถือ อีก 43% ชมผ่านคอมพิวเตอร์

 

ภาพดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตที่น่าสนใจของตลาดสตรีมมิ่ง โดยเฉพาะในส่วนVDO Content และเป็นเหตุผลที่ บริษัท โอทีวี จำกัด สตาร์ทอัพสัญชาติไทยผู้ให้บริการVDO Content Network กล้ากระโดดลงมาในสนามนี้

แม้จะมีพี่ใหญ่อย่าง ‘ยูทูป’ยึดพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ และยังไม่รวมการแข่งขันจากผู้เล่นอื่นอีกหลายราย

otv2

“เราทำธุรกิจนี้ในรูปแบบบีทูบีมา 4 ปีทำให้เห็นโอกาสและช่องทางถึงมาทำแบบบีทูซี ซึ่งทุกแพลตฟอร์มมีข้อดีของมัน เหมือนห้าง รายใหญ่อาจเป็นเซ็นทรัล อีกรายเป็นเดอะมอลล์ เราเองจะเป็นเหมือนเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านเล็กแต่มีเครือข่ายทั่วประเทศมาเติมเต็ม ทำหน้าที่ Distributor Network นำคอนเทนท์และผู้บริโภคเข้าถึงกันแบบง่าย ๆ และตรงจุด”ณัฐพงศ์ ตังเดชะหิรัญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท โอทีวี จำกัด กล่าว

ปัจจุบัน โอทีวี ให้บริการ VDO Content Network ผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ ทาง www.otv.co.th ซึ่งรูปแบบของคอนเทนท์จะมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ เพลง ข่าวสาร วาไรตี้ ฯลฯ และ แอพพลิเคชั่น OMU โดยคอนเทนท์จะเป็นมิวสิควีดีโอ จากค่ายเพลงดังกว่า 20 ราย หนึ่งในนั้น คือ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ พาร์ทเนอร์รายล่าสุด

ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้มาใช้บริการ ได้แก่ กลุ่ม Content Provider ผู้ผลิตคอนเทนท์,กลุ่ม Publisher เจ้าของเวบไซต์และแอพพลิเคชั่น ที่ปัจจุบันเป็นพาร์ทเนอร์กับทางโอทีวีกว่า 200 ราย,กลุ่มเอเยนซี่โฆษณาและเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ  สุดท้ายกลุ่ม Audience หรือผู้ใช้บริการ

“รายได้การให้บริการ จะมาจากการขายโฆษณาที่จะถูกนำไปคั่นระหว่างการรับชมคอนเทนท์ ซึ่งจะถูกแบ่งตามยอดวิวที่เกิดขึ้นจริง ให้กับทางโอทีวี , Content Provider และ Publisher ที่พาร์ทเนอร์ของทางโอทีวี ส่วนสัดส่วนเท่าไรเราบอกไม่ได้”

 23476779_10154866593316960_656923286_n

ชู Local Marketing ยึดพื้นที่ตลาด

สำหรับกลยุทธ์การบุกตลาดวีดีโอ สตรีมมิ่ง ของน้องใหม่อย่างโอทีวี จะใช้ความเป็นผู้ประกอบการสัญชาติไทยมาสร้างความได้เปรียบ ตามคำกล่าวที่ว่า ‘คนไทย ย่อมเข้าใจคนไทย’ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับ Local Marketing

ณัฐพงศ์ เล่าว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการวีดีโอ สตรีมมิ่ง ของโอทีวีมากกว่า 17 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งได้มีการเก็บข้อมูลในเรื่องพฤติกรรมของผู้ชม เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ส่งคอนเทนท์ไปให้ตรงกับความสนใจ เช่น ที่ผ่านมาเคยทำให้กับลูกค้ารายนึง คือ เมื่อเปิดโฆษณาดูในภาคเหนือ เสียงพากษ์ของโฆษณาจะเป็นภาษาเหนือ หากเปิดโฆษณาดูที่ภาคใต้ เสียงพากษ์ของโฆษณาก็จะเป็นภาษาใต้

สเต็ปต่อไป จะนำ Big Data ที่มีมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคแบบเจาะลึก ดูจากการตอบสนองและความสนใจในโฆษณาที่ใส่เข้าไปคั่นระหว่างการชมคอนเทนท์ ผลที่ได้จะนำมาต่อยอดสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดหรือกิจกรรมอื่น ๆ ให้กับลูกค้าที่เป็นเอเยนซี่และแบรนด์ต่าง ๆ มากกว่าแค่ทำโฆษณาเพียงอย่างเดียว

“เจ้าของแบรนด์ได้ประโยชน์เพราะคอนเทนท์เข้าถึงลูกค้าเป้าหมาย ได้ใช้เงินอย่างประสิทธิภาพ ในอนาคตเราจะเจาะลึกต่อไป เช่น ถ้าในคอนเทนท์นั้นมีโฆษณารถยนต์แล้วผู้บริโภคชมจนจบ สะท้อนให้เห็นว่า มีความสนใจหรือความต้องการซื้อรถยนต์ เราก็อาจมีกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าคนนั้นโดยเฉพาะ”

ขณะที่ในมุมของผู้บริโภค นอกจากได้รับชมคอนเทนท์หลากหลายแบบไม่เสียค่าบริการแล้ว กลยุทธ์ Local Marketing ได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ดีไซน์ฟังก์ชั่นการใช้งาน

อย่างแอพพลิเคชั่น OMU จะมีฟีเจอร์เพิ่มเนื้อเพลงให้สามารถร้องตามได้ สามารถสร้างเพลย์ลิสในสไตล์ที่ชอบ และสามารถแชร์ให้กับเพื่อนได้ด้วย

ทั้งหมดล้วนแล้วมาจาก Insight ของผู้บริโภคไทยทั้งสิ้น

 

สะสมแต้ม หมัดเด็ดดึงลูกค้า

ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ การหยิบกลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ CRM(Customer Relationship Management) มาใช้เป็นอีกหมัดเด็ดในการต่อสู้ในสมรภูมินี้ ส่วนรูปแบบที่นำมาใช้ ก็คือ การสะสมแต้ม ลุ้นรับรางวัล อาทิ ตั๋วหนัง,ตั๋วเครื่องบิน ,Gadget ต่าง ๆ ฯลฯ ภายใต้คอนเซปต์ “ยิ่งดูมาก…ยิ่งได้มาก”

โดยผู้ใช้บริการ จะได้แต้มสะสมตั้งแต่การลงทะเบียนเข้าใช้บริการ,การเข้ารับชม,การนำคอนเทนท์ไปแชร์บนโลกโซเชียล คาดว่า จะเริ่มใช้ประมาณต้นเดือนธันวาคมนี้

“ทุกสื่อทุกคอนเทนท์ ตอนนี้คือต้องการแย่งชิงเวลาของผู้บริโภค คือ ทำอย่างไรให้อยู่กับเราได้มากที่สุดและนานที่สุด ที่สำคัญการนำสะสมแต้มมาใช้ จะทำให้ผู้บริโภคยอมกรอกรายละเอียดของตัวเอง ทำให้เรามีข้อมูลที่จะมาต่อยอดวิเคราะห์ได้ในอนาคต ส่วนเป้าหมายของแอพฯOMU สิ้นปีนี้คาดจะมีคนมาดาวน์โหลด 3-5 แสนคน”

otv5

สำหรับแผนธุรกิจในอนาคต ทางโอทีวี เตรียมจะมีการลงทุนซื้อคอนเทนท์จากต่างประเทศเข้ามาเสริมทัพ เพราะในธุรกิจวีดีโอ สตรีมมิ่ง คอนเทนท์ ถือเป็นหัวใจ โดยคอนเทนท์ที่เลือกมาเพิ่มความแข็งแรงในเรื่องนี้จะมีทั้งจากเกาหลี จีน และอินเดีย

รวมถึงเตรียมสร้าง Excusive Content ที่ดึงยอดวิวและยอดผู้ใช้บริการ ซึ่งเบื้องต้นอาจเป็นในรูปแบบของมินิ คอนเสิร์ต หรือ กิจกรรม Meet and greet กับศิลปิน ที่ทั้งหมดจะถูกนำมาไว้ในแพลตฟอร์มทางออนไลน์ คาดว่า  ปีหน้าจะทยอยออกมาให้เห็น

นอกจากนี้เตรียมขยายอาณาจักรไปลงทุนในต่างประเทศ ประเดิมเข้าไปปักธงแล้วที่ประเทศกัมพูชา จากนั้นในปีหน้าจะขยายไปที่เมียนมาร์ ตามด้วยอินโดนีเซีย และมาเลเซีย

“องค์กรเราเล็กขยับเร็ว เข้าใจผู้บริโภค ขณะที่ยูทูปเหมือนมหาสมุทร โยนอะไรลงไปอาจจมหาย เราหวังว่า วันหนึ่งรายได้จะตามยูทูปทัน ซึ่งเราก็หวังว่าจะใช้เวลาไม่นาน”


  • 401
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE