ซิมเพนกวิน ค่ายมือถือน้องใหม่ กับแนวคิด Disrupted Mobile Operator

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

WS (12)

The White Space คือผู้ให้บริการมือถือรายใหม่ในลักษณะ MVNO หรือ Mobile Virtual Network Operator แปลว่า เช่าใช้เสาสัญญาณมาให้บริการต่อ ดังนั้นเมื่อเจ้าของโครงข่ายมีสัญญาณที่ดี ครอบคลุมพื้นที่ ผู้ให้บริการ MVNO ก็ให้บริการได้ดีไปด้วย แต่จุดที่แตกต่างคือ สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแบบ “รายย่อย” ได้ดีกว่า

ที่ผ่านมาในตลาดบริการมือถือของไทยมี MVNO หลายรายเกิดขึ้น มีทั้งที่ยังให้บริการอยู่ เช่น Samart i-mobile, 168 และ Data CDMA และบางรายที่หายไปจากตลาดแล้ว จนมีคำถามว่า ผู้ให้บริการแบบ MVNO จะอยู่รอดในธุรกิจที่แข่งขันกันหนักหน่วง จาก 3 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ AIS, dtac และ True ได้จริงหรือไม่ จะเติบโตได้อย่างไร

ชัยยศ จิรบวรกุล CEO ของ The White Space นำทีมผู้บริหารจาก dtac เดิมผสมผสานกับผู้บริหารใหม่ เปิดตัวซิม “เพนกวิน” กลายเป็นผู้ให้บริการ MVNO รายใหม่ล่าสุด ดีเดย์เริ่มปล่อยของ วันที่ 1 มีนาคม 2559 มีทีมงานที่คุ้นเคยในอุตสาหกรรมโทรคมอยู่แล้ว เช่น ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ที่ดูแลสิ่งที่ถนัดที่สุดคือ การตลาด วัชรพงษ์ ศิริพากย์ ดูแลเรื่องแบรนด์ และ ภาณุพันธ์ สงวนพรรค ดูแลเรื่องระบบไอที เป็นต้น

แม้อัตราผู้ใช้มือถือในไทยต่อจำนวนประชากรของไทยจะแตะ 145% (เฉลี่ย 1 คนถือมือถือเกือบ 1.5 เครื่อง) แต่ เพนกวิน มองว่ายังมีโอกาส ถ้าในตลาดน้ำดำ เป๊ปซี่-โค้ก ยังมี บิ๊กโคล่าแทรกมาได้ การบินไทย แอร์เอเชีย นกแอร์ ยังแข่งขันกันได้ ทำไมค่ายมือถือแบบใหม่ จะเกิดขึ้นบ้างไม่ได้

WS (3)

เปิดตัว เพนกวิน eco-Operator

3-4 ปีที่แล้ว MVNO ไม่เกิดเพราะโครงข่ายยังไม่พร้อม แต่วันนี้โครงข่ายครอบคลุมแทบทุกจุดที่มีการใช้งาน The White Space จึงจับมือกับ CAT Telecom นำคลื่น 850MHz ที่มีเสาสัญญาณกว่า 15,000 แห่งทั่วประเทศมาให้บริการ และมีจุดขายชัดเจนคือ “ราคาถูก” และมีผู้ใช้บริการที่จ่ายเงิน 100-200 บาทต่อเดือนเป็น “พระเอก” หรือลูกค้าหลัก ซึ่งได้แก่ กลุ่มคนระดับแรงงาน วินมอเตอร์ไซค์ เด็กแว๊น หรือสาวโรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้งานน้อยจนผู้ให้บริการรายหลัก อาจจะเผลอมองข้ามไป

หัวใจสำคัญของความสำเร็จของบริการ MVNO คือ ต้องมีการทำตลาด และช่องทางการขาย นั่นคือ ทำตลาดให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักให้ได้ และมีบริการรอพร้อมอยู่ในช่องทางการขาย วัชรพงษ์ บอกว่า การสร้างแบรนด์ “เพนกวิน” เพราะต้องการเป็นแบรนด์ที่เน้นเรื่องความรู้สึก และมีชีวิต โดยมีความน่ารัก สนุกสนาน เข้าถึงและใช้งานง่าย ปิดท้ายด้วยความรู้สึกเป็นเพื่อน ตรงกับลักษณะนิสัยของเพนกวิน จึงกลายเป็น ซิมเพนกวิน ค่ายมือถือ eco ตัวเล็ก ใจใหญ่

WS (22)

ด้วยแนวคิดง่ายๆ กลายมาเป็นค่าบริการ

ปกรณ์ บอกว่า ด้วยความน่ารัก สนุก เข้าถึงง่าย จึงได้พัฒนาเป็นค่าบริการที่มีโปรโมชั่นเดียว คิดค่าโทร 1 วินาที 1 สตางค์ ทุกค่ายทุกเวลา และค่าอินเทอร์เน็ต 1 เมกะไบต์ 25 สตางค์ (4 เมกะไบต์ 1 บาท) และกำหนดค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 20 บาทต่อวัน ถ้าถึง 20 บาทแล้ว จะไม่คิดค่าอินเทอร์เน็ตอีก โดยให้ความเร็วคงที่ 512 Kbps ไม่ลดลงตลอดการใช้งาน ซึ่งเป็นค่าบริการที่ศึกษาและสำรวจมาแล้วว่า ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

“กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ Power User ที่ต้องการความเร็วสูง ดังนั้นการใช้งานหลักคือ Chat ส่งรูปภาพ ดู Youtube บ้าง ความเร็ว 512 Kbps เพียงพอแต่ขอให้ความเร็วไม่ลดลง และเน้นความง่าย ไม่ต้องคิดมาก แต่ช่วงแรกจะให้ความเร็วที่ 1 Mbps เพื่อเป็นการโปรโมท”

จากวันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป จะเริ่มหาซื้อซิมเพนกวินได้ จากร้านค้ามือถือทั่วไป 8,000 – 9,000 แห่งทั่วประเทศ และในเดือน เม.ย. เป็นต้นไปจะเริ่มจำหน่ายที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น รวมถึงบริการเติมเงินสามารถเติมได้หลากหลายช่องทาง เช่น ตู้เติมเงินบุญเติม เติมผ่านแอพพลิเคชั่น Airpay และมีบุตรเติมเงิน 20, 50 และ 100 บาท ทุกการเติมเงินจะขยายวันใช้งานเพิ่ม 30 วัน ตั้งเป้าว่าภายในปีนี้ จะมีลูกค้าใช้งาน 300,000 – 500,000 ราย และเพิ่มเป็น 800,000-900,000 ใน 2-3 ปี

WS (14)

Disrupted Mobile Operator โอกาสของซิมเพนกวิน

เมื่อถามถึงโอกาสในการอยู่รอดและเติบโตของ ซิมเพนกวิน อันดับแรกการแข่งขันกับผู้ให้บริการ MVNO ด้วยกัน ซิมเพนกวินมีความแตกต่าง เพราะ Samart i-Mobile เป็นบริษัทขนาดใหญ่ทำธุรกิจหลากหลายในวงการโทรคมนาคม, 168 ยังไม่มีความชัดเจนในการทำตลาด ส่วน Data CDMA เน้นทำตลาดกับพันธมิตร ขณะที่ซิมเพนกวิน ให้บริการโดยทีมผู้บริหารที่คุ้นเคยกับธุรกิจให้บริการมือถือโดยตรงมายาวนาน

ด้วยประสบการณ์ที่ทำงานในวงการมานาน ทำให้รู้ข้อจำกัดของผู้ให้บริการรายใหญ่ เปรียบเสมือน FinTech กับ ธนาคาร นี่จึงเป็น MVNO กับ Operator มือถือ อาจกลายเป็นการ Disrupted Mobile Operator แต่ด้วยสเกลที่เล็กมาก ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ทั้ง 3 คงไม่รู้สึกว่าเสียส่วนแบ่งตลาด และอาจจะยอมให้ซิมเพนกวินทำตลาดต่อไปได้

ความพยายามกำหนดตลาดให้เล็กและเฉพาะ เพื่อเป็น Nich Market เป็นหนทางหนีการแข่งขันที่หนักหน่วงของตลาดบริการมือถือ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า มี MVNO รายอื่นๆ ทำตลาดหนักและเจ็บตัวมาแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่ใช่งานง่าย

ดังนั้น Key Success จึงอยู่ที่ลูกค้า 100,000 รายแรก ที่ ซิมเพนกวิน ต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ 

WS (26)

WS (21)

Copyright © MarketingOops.com


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •