รับชำระค่าตั๋วรถไฟด้วย QR Code เมื่อรฟท. X กสิกรไทย ร่วมพาคนไทย ใช้จ่ายด้วยระบบดิจิทัล

  • 99
  •  
  •  
  •  
  •  

กสิกรไทย+รฟท1

หลังจากระบบการชำระเงินแบบ QR Code เริ่มกลืนเข้าสู่พฤติกรรมคนไทย ตั้งแต่ชำระค่าวินมอเตอร์เตอร์ไซค์ ไปจนถึงใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ถือเป็นการเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในประเทศไทยในอีก 1-2 ปีนับจากนี้ และจะค่อยๆ ก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสด เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นแทบทั้งโลก โดยเฉพาะจีนที่ถือเป็นเจ้าวงการในการใช้ QR Code ในชีวิตประจำวันมากที่สุดในโลก โดยมี e-Wallet 2 รายใหญ่ คือ Alipay และ WeChat Pay เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มหลัก

การจ่ายเงินด้วยระบบดิจิทัลดังกล่าวนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย และธนาคารกสิกรไทย ก็ได้มีการร่วมแถลงข่าวเปิดให้บริการชำระเงินค่าตั๋วโดยสารด้วยระบบ QR Code เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องโถงสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) การรถไฟแห่งประเทศไทย

การเปิดตัวการรับชำระเงินค่าตั๋วรถไฟด้วย QR Code ผ่านทางเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ ภายใต้ธีมร่วมสร้าง “สังคมรถไฟยุคใหม่ ไม่ใช้เงินสด” เพื่อเพิ่มทางเลือกผู้ใช้บริการในยุค 4.0 โดยมีคุณวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟฯ และ คุณพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมเป็นประธาน

การนำระบบดังกล่าวมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับชำระค่าตั๋วรถไฟ อำนวยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นทางเลือกใหม่ ซึ่งธนาคารกสิกรไทย จะติดตั้งเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ รองรับการชำระค่าตั๋วด้วยบัตรวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด

โดยสแกนผ่าน Mobile Banking บนสมาร์ทโฟนทุกธนาคาร พร้อมใช้งานใน 56 สถานีหลัก จำนวน 140 เครื่อง เช่น สถานีกรุงเทพ เชียงใหม่ อุบลราชธานี หนองคาย ชุมทางหาดใหญ่ ชุมพร เป็นต้น

โดยสถานีกรุงเทพมีการติดตั้งมากที่สุด 14 เครื่อง ซึ่งอนาคตจะทยอยติดตั้งเพิ่ม ให้ครอบคลุมและทั่วถึง

คุณพัชรกล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้พัฒนาการใช้ QR Code เพื่อชำระค่าตั๋ว ให้กับระบบขนส่งมวลชนมาแล้วหลายรูปแบบ เช่น เครื่องบิน เรือ และรถสาธารณะ ซึ่งการรถไฟเป็นระบบขนส่งมวลชน อยู่คู่คนไทยมานาน มีเอกลักษณ์สร้างประสบการณ์ในการเดินทางที่ไม่เหมือนใคร จึงมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

ทั้งคนไทยที่ใช้รถไฟในชีวิตประจำวันและเพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์การเดินทางด้วยรถไฟ

“ความร่วมมือในวันนี้ เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วยให้ผู้โดยสารรถไฟได้รับความสะดวกรวดเร็ว และสนับสนุนการสร้างประสบการณ์สังคมไร้เงินสดให้กับประชาชน ด้วยระบบนี้สามารถช่วยลดต้นทุนบริหารจัดการให้กับการรถไฟ และช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ด้วย” คุณพัชรกล่าว

จำนวนผู้โดยสารรถไฟทั่วประเทศ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ปัจจุบันมีราว 2.4ล้านคนต่อเดือน หรือ 80,000 คนต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของการท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะหลังการก่อสร้างระบบขนส่งทางราง ที่จะแล้วเสร็จในอนาคต ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ที่มีความทันสมัยมากขึ้น

ปัจจุบันยังนิยมชำระค่าตั๋วเป็นเงินสดกว่าร้อยละ 92  มีเพียง ร้อยละ 6 ที่ชำระด้วยบัตรเครดิต ดังนั้น รูปแบบของรถไฟที่ทันสมัยและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มคุ้นชินกับการชำระเงินด้วย QR Code จึงมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะเป็นบริการที่ตอบรับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค

ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้มีการอบรม แนะนำวิธีการใช้ระบบชำระเงินดังกล่าว ผ่านเครื่องรับบัตรอัตโนมัติ ให้กับเจ้าหน้าประจำสถานีเรียบร้อยแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกที่ช่องจำหน่ายตั๋วของสถานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่ง หรือศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง, www.railway.co.th หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

 


  • 99
  •  
  •  
  •  
  •