แกะรอย​ก้าวกระต่าย​ rabbit today สู่ ​e-payment ใต้ร่มธง VGI

  • 47
  •  
  •  
  •  
  •  

Image_c2320ff

การเปิดตัวนิตยสาร Free Copy ตามสถานนีรถไฟฟ้า BTS รวมทั้ง 5 สถานีหลักของรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT อย่าง “rabbit today” ในช่วงที่ผลการดำเนินงานของธุรกิจสื่อ โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ยังคงติดลบต่อเนื่อง

ดูจะสร้างความแปลกใจ สวนกระแสสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสาร กระทั่งทีวีดิจิทัล ยังได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา Disrupt

rabbit today เป็นรายวัน Free Copy แจกเฉพาะวันทำงาน ที่มองหาคนถือหนังสือได้ยาก ส่วนใหญ่ก็จะติดสมาร์ทโฟนอยู่ในมือกันทุกคน

ข้อดีของ Free Copy เมื่อเทียบกับการอ่านคอนเทนท์ในสมาร์ทโฟน ก็คือ ได้จับต้อง ดูภาพ อ่านง่าย ยิ่งเมื่อแจกอยู่บนรถไฟฟ้าก็ต้องก้มดู อารมณ์ประมาณเหมือนต้องดูโฆษณาที่อยู่ในรายการแข่งขันกีฬา หรือดูละครทั่วไป

แต่ข้อสำคัญทุกคนต่างก็ชอบของฟรี

ผู้คนที่รวมตัวหนาแน่น ต่อเนื่องตลอดเวลาบนสถานีรถไฟฟ้า กลุ่มเป้าหมายที่รับแจกหนังสือ หมายถึงการสร้างทราฟฟิก สะท้อนจำนวนยอดพิมพ์ ฯลฯ เพื่อส่งต่อแบรนด์เอเจนซี เป็นข้อมูลประกอบการทำกิจกรรมทางการตลาด

นอกจากแจกอยู่บนสถานี BTS และลงไปแจกในใต้ดิน MRT ได้แล้ว

ตามป้าย LED ในสถานี BTS และตามป้ายโฆษณาของ VGI ยังมีหนังสือ rabbit today ปรากฏเข้ามาแทนที่ ที่เคยเป็นที่โฆษณาของ Free Magazine บางเล่ม rabbit today เกิดขึ้นเพื่ออะไร ในวันที่ธุรกิจสื่อจะเดินต่ออย่างไร ในยุคสื่อสังคมออนไลน์ ที่ “คว่ามเชื่อมโยง” สำคัญกว่าเนื้อหา

ความเชื่อมโยงภายใต้ชื่อแบรนด์ rabbit ทั้ง rabbit Card และ rabbit today ไปจนถึง rabbit LINE Pay คืออะไร ภายใต้ความเชื่อมโยงกับ BTS ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสัมปทานสำคัญของไทย

VGI ในธุรกิจสื่อ

การเปิดตัววันแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาของนิตยสาร rabbit today ภายใต้บริษัท One World Media ใครก็บอกว่าเป็นสื่อในเครือเนชั่น

เพราะวันเปิดตัวหนังสือ rabbit today มีผู้บริหารจากค่ายเนชั่นมาร่วมในงานกันอย่างคับคั่ง ทั้งประธานกรรมการ เนชั่น กรุ๊ป คุณมารุต อรรถไกวัลวที ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนชั่น กรุ๊ป คุณสมชาย มีเสน ผู้บริหารรวมทั้งศิลปิน ดารา นักแสดงจำนวนมาก

ในวันเปิดตัวมีการเปิดเผยกันว่า One World Media เป็นบริษัทลูกของบริษัท เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือ เนชั่นกรุ๊ป

วางตำแหน่งบริษัทเป็นเอเจนซี ผลิตสื่อ สร้างสรรค์คอนเทนท์ และคัดเลือกสื่อที่เหมาะสม นำเสนอผ่านมัลติแพลตฟอร์มไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ

Image_975bca8

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2560 บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ เรื่องแต่งตั้งกรรมการบริษัทใหม่ 3 ราย แทนที่กรรมการซึ่งลาออกไปเมื่อต้นปี 2560

ผู้ที่นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ เนชั่น กรุ๊ป ก็คือ คุณมารุต อรรถไกวัลวที ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริษัท วีจีไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ที่มีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

จากเดือนกันยายน 2560 จนถึงเดือนมิถุนายน 2561 สื่อใหม่ในรูปของ Free Copy ภายใต้ความร่วมมือ VGI และเนชั่น ผลผลิตของบริษัท One World Media ที่ชื่อ rabbit today ก็ปรากฏตัว เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ของกลุ่ม BTS ที่เติมลงไปในพอร์ตลงทุน

ถือหุ้นในเนชั่น

กลุ่มเซ็นทรัลโดยคุณสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ที่ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทโพสต์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ เคยได้ออกมาปฏิเสธ ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือถือหุ้นในบริษัท Chit Lom Limited ที่ได้เข้าซื้อหุ้นเนชั่น จากบริษัท Digital Sky Holdings Limited ในสัดส่วน 9.6359%

เพราะบริษัท Chit Lom Limited ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในไทย แต่จดทะเบียนอยู่ที่ฮ่องกง

แต่เป็นบริษัท Chit Lom Limited ที่เข้าซื้อหุ้นเนชั่น หรือ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ซึ่งจำนวนหลักทรัพย์ที่ได้มา คิดเป็น 9.6359% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ

ส่วนผู้ที่ขายหุ้นเนชั่นออกทั้งหมดที่ถืออยู่ในครั้งนั้น ก็คือ บริษัท Digital Sky Holdings Limited ที่ว่ากันว่า เป็นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกง ที่มีคุณคีรี กาญจนพาสน์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ BTS Group Holdings เจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้า BTS เป็นเจ้าของ

ปัจจุบันกลุ่ม BTS ถือหุ้นในเนชั่น ผ่าน 2 บริษัทคือ Digital Sky Holdings Limited ในสัดส่วน 9.6359% และบริษัท ยูซิตี้ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 8.15%

รวมแล้วกลุ่ม BTS ถือหุ้นในเนชั่นในสัดส่วนกว่า 17% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว

มีการวิเคราะห์กันว่า Chit Lom Limited ที่เข้ามารับซื้อหุ้นเนชั่น ต่อจากกลุ่ม BTS น่าจะเป็นการจัดพอร์ตหุ้นของกลุ่มเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้า BTS เอง

ถึงวันนี้เจ้าของสัมปทาน BTS มีสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มฉาย บุนนาค ในฐานะที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกันในกลุ่มเนชั่น

6 เดือนก่อนหน้า คุณฉาย บุนนาค เจ้าของฉายา “พ่อมดน้อย” ทางการเงิน ประธานกรรมการบริหารกลุ่มสปริงนิวส์ ให้สัมภาษณ์ หนังสือวันนักข่าว ประจำปี 2561 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย ในประเด็น “ฉาย บุนนาค คนทำสื่อหรือนักลงทุน” สรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถือหุ้นกลุ่มเนชั่นว่า

จากการเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อมาคุมองค์กรทำธุรกิจสื่อ ทั้งทีวีดิจิทัล หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ข่าว เขาจะนำองค์กรสื่อในเครือกลุ่มนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ ไปในทิศทางใด

เขาเป็นประธานบริษัทลูกของนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ คือ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท สปริงนิวส์ ช่วงนั้นกลุ่มบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (NEWS) ที่มีเขาเป็นแกนหลัก กำลังเริ่มเข้าไปมีบทบาทใน บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป

นิวส์ เน็ตเวิร์คฯ เป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นสปริงนิวส์ เข้าถือหุ้นในเนชั่นฯ 9% มีอดีตผู้บริหารฐานเศรษฐกิจ ลาออกไปเป็นกรรมการในกลุ่มเนชั่น และถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการของเนชั่น คือคุณสมชาย มีเสน สะท้อนว่าเป็นเรื่องของบริษัทแม่ ที่เข้าไปซื้อหุ้นของเนชั่น แต่สปริงนิวส์ไม่เคยซื้อหุ้นเนชั่น ฯลฯ

และเป็นการสะท้อนว่ากลุ่มฉาย บุนนาค ไม่ได้อยู่เบื้องหลังการเทคโอเวอร์เครือเนชั่น

ขณะที่ BTS ในฐานะผู้ถือหุ้นเนชั่น 17% กลุ่มฉาย บุนนาค ถือหุ้นในเนชั่น 9% การเปิดตัว rabbit today ในสถานะสื่อในเครือเนชั่น ที่อยู่ภายใต้ VGI จึงน่าจะไม่ถูกจับตาในฐานะทุนใหญ่มีสื่ออยู่ในมือ

ซึ่งช่วงหลังๆ ที่ทุนใหญ่เข้าไปถือหุ้นในกลุ่มสื่อ จะถูกให้ความสนใจเป็นพิเศษ เหมือนกรณีความพยายามของแกรมมี่ ในการเข้าไปซื้อหุ้นมติชน

rabbit today ภายใต้เครือเนชั่น จึงคล่องตัวกว่า ทำอะไรได้มากกว่า ผลักดันกลยุทธ์อะไรออกไปได้สะดวกกว่า ไม่เป็นจุดสนใจ และยังได้รับเครดิตจากสื่อใหญ่ที่มีชื่อเสียงของประเทศ ส่วนการผลิตคอนเทนท์จะเป็นหน้าที่ของใคร (จากคอนเทนท์ภายในเล่ม ดูแล้วน่าจะเป็นทีมงานที่ถนัดเรื่องไลฟ์สไตล์ & แฟชั่น ไม่ใช่สไตล์จากเนชั่น) ขึ้นอยู่กับนโยบายผู้บริหาร Basic RGB

สู่อาณาจักร ​e-payment 

อาณาจักรธุรกิจ VGI ที่ได้สิทธิ์เจ้าเดียว ในการบริหารพื้นที่โฆษณารถไฟฟ้า ทั้งบนขบวนรถ ตัวสถานี บนชานชาลา รวมทั้งจุดต่างๆ บน BTS

ถือเป็นจุดเริ่มต้น VGI Global Media บริษัทในเครือ BTS Group Holdings ก่อนรุกไปสู่บริการสื่อนอกบ้าน (Out of Home Media) ครบวงจร

ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนา ​e-payment Platform หรือระบบชำระเงินออฟไลน์ rabbit Card สำหรับผู้ที่ใช้บริการ BTS

ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บัตรมากกว่า 8.9 ล้านใบ รวมทั้งระบบใช้จ่าย rabbit LINE Pay แบบ e-wallet ร่วมกับ LINE กับ AIS ที่ถือว่าเป็นระบบชำระเงินออนไลน์ ที่มีการลงทะเบียนใช้กว่า 2.9 ล้านคน

รวมทั้งดีลวงการธุรกิจไทยครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อ VGI ถือหุ้นใน Kerry Express ประเทศไทย เพื่อขยายเข้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์ รองรับการขยายตัวของการค้าออนไลน์

ที่สำคัญจิ๊กซอว์ตัวนี้ทำให้ VGI ใช้ระบบเครือข่าย จัดส่งสินค้าเข้าถึงทุกครัวเรือนไทยทั่วประเทศ ก้าวข้ามสื่อโฆษณานอกบ้าน ไปสู่เป็นผู้ให้บริการ O2O Solutions

จากความได้เปรียบของฐาน Big Data อย่าง rabbit Card-rabbit LINE Pay และธุรกิจเครือข่ายโลจิสติกส์ Kerry Express ผสานโลกออฟไลน์กับออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ

BTS จึงมีสินค้าที่มีความสำคัญ สร้างอัตราต่อรองในมือกับโลกธุรกิจยุคใหม่ ที่ใช้ Big Data เป็นตัว Drive ได้ค่อนข้างมาก

การสร้างคอนเทนท์ที่แข็งแกร่ง ขณะที่มือยื่นออกไปรับหนังสือ rabbit today อย่างต่อเนื่อง (ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนก็ยังชอบอ่านหนังสือ ชอบดูภาพกับกระดาษ และยังชอบของฟรี) มองในแง่ของสื่อ การสปริงบอร์ดไปสู่การสร้างรายได้ ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

อีกแง่หนึ่งเป้าหมายหลัก การใช้ rabbit today สร้างความแข็งแกร่งให้กับข้อมูลเชิงประชาสัมพันธ์ ในลักษณะของ CRM ผสานโปรโมชั่น จากพาร์ทเนอร์ธุรกิจต่างๆ ที่เข้าร่วมกับบัตร rabbit Card และ rabbit LINE Pay ผนึกเป็น Eco System ที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน rabbit card มีความร่วมมือกับร้านค้ามากมาย ทำให้ผู้ถือบัตร rabbit card ได้รับประโยชน์โดยเฉพาะส่วนลดจากการซื้อสินค้ามากขึ้น อาทิ แมคโดนัลด์ อานตี้แอนท์ คอฟฟี่เวิลด์

Image_570786d

การสะสมคะแนนจากการใช้บัตรเติมเงิน และการเดินทางผ่านบัตร rabbit card ที่มากขึ้น เป็นการจูงใจให้ผู้โดยสารรถไฟฟ้า BTS นิยมใช้บัตรมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน rabbit Line Pay ซึ่งนับวันได้ขยายจำนวนผู้ใช้มากขึ้น จากฐานผู้ใช้งานโมบายแอปพลิเคชั่น LINE เป็นหลัก ซึ่งมีอยู่มากกว่า 40 ล้านรายในประเทศไทย

การใช้ rabbit today สร้างปฏิสัมพันธ์ กับผู้มีบัตรโดยสารที่ยังไม่ได้ถือ rabbit card เป็นการกระตุ้นความต้องการถือบัตร เพื่อจะได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มี และรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น รวมทั้งปฏิสัมพันธ์กับผู้โดยสารที่ใช้ rabbit Line Pay

ถือเป็นการเติมจิ๊กซอว์อาณาจักร e-payment ให้สมบูรณ์ลงตัวมากขึ้น

จุดสังเกต 1 ตัวเล่มของ rabbit today ได้มีการออกแบบ QR Code ตำแหน่งหน้าแต่ละคอนเทนท์ เพื่อให้ลูกค้าที่ Co กับบัตรด้วยวิธี Interactive ผ่านสแกน QR Code ในสมาร์ทโฟน สามารถลิงก์เข้าสู่เว็บไซต์ของ rabbit เพื่อเข้าถึงโปรโมชั่น ในแง่ของการทำสื่อก็คือ การเก็บข้อมูล Active User เทิร์นกลับมาเป็น Big Data เพื่อไปสร้างยอดรายได้

2 ดึงดูดพันธมิตรเข้าร่วมกับ rabbit Card และ rabbit Line Pay มากขึ้น rabbit today จะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่แบรนด์จะใช้เชื่อมเข้าหาลูกค้า โดยมอบโปรโมชั่นโดนใจ ทั้งส่วนลดค่าอาหาร บัตรชมภาพยนต์ ฯลฯ

3. เป็นโอกาสที่จะขยายฐานคนกรุงที่มีมากกว่า 10 ล้านคน รวมทั้งผู้โดยสารอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ถือบัตร rabbit Card และยังไม่ได้เป็นสมาชิก rabbit Line Pay

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ประชากรที่ Active บัตรกับ rabbit Card อย่างจริงจัง เป็นกลุ่มที่ต้องใช้บริการรถไฟฟ้าเป็นประจำ การเติมเงินในบัตร rabbit Card ประมาณคนละ 200 บาทต่อเดือน ระบบฐานบัญชีของ BTS ก็จะมีตัวเลขหมุนเวียนนับพันล้านบาท

e-wallet จากกลุ่ม BTS จากสถานะผู้ให้บริการขนส่งมวลชน เปลี่ยนบทบาทไปเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน หรืออาจจะสร้าง สกุลเงินใหม่ (Crypto Currency) ก็เป็นแนวทางที่เลือกทำได้ รวมทั้งยังมีองค์ประกอบที่เพียงพอ จากการเป็นผู้ให้บริการ ที่มี Cash สกุลเงินหมุนเวียน สามารถสร้างความเชื่อมั่นเกิดเป็น Cashless System สร้างความสะดวกทางการเงินให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้

ร้านค้าสะดวกซื้อ บริการตู้เติมเงิน โอปอเรเตอร์ต่างๆ กระทั่งผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภค (BTS) ที่แตกต่างไปแต่ละอุตสาหกรรม สามารถทำให้เกิดธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นเหตุผลว่า ทำไมสถาบันการเงินตัวจริง อย่างธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่

เดินหน้าสู่แพลตฟอร์มใหม่

การเข้าไปถือหุ้นใน Traditional Media สะท้อนภาพธุรกิจสื่อที่ประสบภาวะยากลำบากในปัจจุบัน ในการหาพันธมิตรเพิ่มทุนเข้ามาประคองธุรกิจ

ส่วนมุมมองของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจหรือบริการ สร้างพอร์ตลงทุนใหม่ๆ ให้กับกิจการในเครือ โอกาสในการสร้างคอนเทนท์ใหม่ๆ ตรงใจผู้บริโภค รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มในแพลตฟอร์มอื่นๆ ยังเปิดกว้างในอนาคต ข้อสำคัญยังใช้งบประมาณไม่มากในการลงทุน

การเข้าลงทุนในเครืออมรินทร์และ GMM TV ของกลุ่มไทยเบฟ หรือกรณีบริษัท Chit Lom Limited เข้าซื้อหุ้นกลุ่มเนชั่น รวมทั้งการปั้น rabbit today โดยใช้โครงสร้างบริษัทย่อยเข้าดำเนินการนั้น เป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อหนุนธุรกิจเดิม _TS_5373

BTS ใหม่ขบวนแรกถึงไทยแล้ว

โครงการ rabbit today กำลังเดินหน้าไปพร้อมๆ กับแผนนำเข้ารถไฟฟ้า BTS ล็อตใหม่ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชน กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาซื้อรถไฟฟ้าจากบริษัท ซีเมนส์ จำกัด

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2561 รถไฟฟ้า BTS ขบวนแรก จากกรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี ได้เดินทางถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งในวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา คุณกิติศักดิ์ อร่ามเรือง ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และคุณสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด ( มหาชน ) ก็ได้นำสื่อมวลชนตรวจรับขบวนรถไฟฟ้า BTS ใหม่ที่ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ซี 0 จ.ชลบุรี

_TSC4464

คุณกิติศักดิ์กล่าวว่า รถไฟฟ้าขบวนแรกนี้ เป็นขบวนรถไฟในจำนวนทั้งหมด 22 ขบวน ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาจัดซื้อจากบริษัทซีเมนส์ จำกัดเพื่อนำมารองรับปริมาณผู้โดยสาร ในเส้นทางเดินรถไฟฟ้า BTS ในปัจจุบัน

รวมทั้งส่วนต่อขยาย สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กิโลเมตร ซึ่งมีกำหนดจะเปิดให้บริการประชาชนในช่วงเดือนธันวาคม 2561 นี้ รวมทั้งหมด 9 สถานี

โดยเมื่อปี 2560 ได้เปิดให้บริการ 1 สถานี คือ สถานีสำโรง และอีก 8 สถานีที่จะเปิดให้บริการปลายปีนี้ ประกอบด้วย สถานีปู่เจ้า สถานีช้างเอราวัณ สถานีโรงเรียนนายเรือ สถานีปากน้ำ สถานีศรีนครินทร์ สถานีแพรกษา สถานีสายลวด และสถานีสุดท้าย คือ สถานีเคหะฯ

และเมื่อส่วนต่อขยาย สายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เสร็จเรียบร้อย รวมทั้งเส้นทางของรถไฟฟ้าในปัจจุบัน

จะทำให้ให้รถไฟฟ้าสายสีเขียว มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 68.25 กิโลเมตร ทำให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชน จากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมือง ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดเวลา ภาพข่าวประชาสัมพันธ์_TSC4893

ด้านคุณสุรพงษ์กล่าวว่า ขบวนรถไฟฟ้าใหม่ จากบริษัทซีเมนส์นี้ จะทำการออกแบบโดยผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในเยอรมนี และออสเตรีย เป็นส่วนใหญ่ และนำมาประกอบที่โรงงานของบริษัท Bozankaya ในประเทศตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรทางการค้ากับบริษัทซีเมนส์ และเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการผลิตชิ้นส่วน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยรถไฟฟ้าขบวนใหม่นี้ จะมีการปรับรูปโฉมให้ดูโฉบเฉี่ยว ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกภายในขบวนรถ ที่ช่วยประหยัดพลังงาน และมีพื้นที่จุคนได้มากขึ้นในขบวนรถ เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพ ของบริษัทซีเมนส์ทุกประการ และจะใช้สเปคเดียวกัน หรือดีกว่าขบวนรถไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม เพื่อให้เข้ากันได้กับระบบต่างๆ ที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์

แต่จะเลือกใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยที่สุด จากผู้ผลิตชั้นนำของโลก เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และลดความหนาแน่นของผู้โดยสาร ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

BKK_Interior-3


  • 47
  •  
  •  
  •  
  •