“SCG” กำไรลด แต่ไม่หวั่น! ทุ่มงบ 6 หมื่นล้าน ฝ่าความท้าทายสงครามการค้า-ลงทุนสตาร์ทอัพ

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

scg

ปัจจุบันเป็นยุค Globalization ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศหนึ่ง หรือในทวีปหนึ่ง อาจลุกลามไปยังประเทศใกล้เคียง และภูมิภาคอื่นๆ ในเวลาอันรวดเร็ว ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีแผนตั้งมือรับ

“SCG” เป็นหนึ่งในองค์กรเจอกับความท้าทายจากปัจจัย “เหนือการควบคุม” กระทบต่อผลประกอบการปี 2561 รายได้จากการขาย 478,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน โดยมีกำไร 44,748 ล้านบาท ลงลง 19% จากปีก่อน

ปัจจัยหลักมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวน และเงินบาทแข็งค่า ส่งผลต่อภาพรวมผลประกอบการ SCG

ขณะที่ยอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) อยู่ที่ 184,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 39% ของยอดขายรวม โดยใช้งบลงทุนด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 4,674 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 1% ของยอดขายรวม

เมื่อปัจจัยความท้าทายที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งควบคุมไม่ได้…ดังนั้น “SCG” ต้องหา “ทางออก” ด้วยการมองหาตลาดใหม่ ทั้งในอาเซียน จีน อินเดีย ขณะเดียวกันเน้นขายสินค้าและบริการที่มีนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่ม High Value Added Product & Service – HVA)

 

ลงทุน 60,000 ล้าน พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วย 2 กลยุทธ์

 

ในขณะที่ผลกำไรปี 2561 ลดลง และความผันผวนของปัจจัยภายนอกยังต่อเนื่องมาถึงปีนี้ แต่สำหรับปี 2562 “SCG” ยังคงเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเพิ่มงบลงทุนจาก 46,000 ล้านบาทปีที่แล้ว เป็น 60,000 ล้านบาทปีนี้ ในจำนวนนี้เป็นงบลงทุนด้านนวัตกรรม ที่รวมทั้งงบ R&D, Industry 4.0 และการลงทุนในสตาร์ทอัพ ประมาณ 5,000 ล้านบาท

โดยปีนี้ตั้งเป้าใช้งบลงทุนในสตาร์ทอัพเพิ่มขึ้น จาก 10% ของงบด้านนวัตกรรมเมื่อปีที่แล้ว เป็น 15% ของงบนวัตกรรมปี 2562

ขณะที่กลยุทธ์ของปี 2562 “คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี” เล่าถึงกลยุทธ์หลักปีนี้ เน้น 2 เรื่องสำคัญ คือ

1. สร้างเสถียรภาพทางการเงิน (Stability) ที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง และทันท่วงที เพื่อรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของ SCG โดยรวมในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 9 ถือว่าแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับผลประกอบการของอุตสาหกรรมในภาพรวม

2. การบริหารจัดการความเติบโตของธุรกิจในระยะยาว (Long-term Growth) นอกจากให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังเน้น “การส่งมอบ Solution” ในทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้แบบครบวงจรยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจเคมีคอลส์ / ธุรกิจแพคเกจจิ้ง / ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

SCG_01

“SCG มุ่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ทันความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสำหรับการขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ โดยจะมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า, Blockchain ระบบดิจิทัลที่เชื่อมโยงสถาบันการเงินและคู่ค้าโดยอัตโนมัติ ให้สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงการพัฒนา Robotic Process Automation (RPA) และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) ที่ช่วยแก้ปัญหาซับซ้อนของระบบการผลิต ให้สินค้าอกมาอย่างมีคุณภาพ และทันความต้องการของตลาด และการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตตลอด Value Chain ให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนได้มากขึ้น และพัฒนาศักยภาพพนักงาน ด้วยโมเดล Agile Organization

นอกจากนี้ยังมุ่งสร้างความร่วมมือกับภายนอก (Open Collaboration) ทั้งการลงทุนในสตาร์อัพชั้นนำในหลายภูมิภาค ผ่าน “AddVentures” ทั้งการลงทุนโดยตรงในสตาร์ทอัพ 10 ราย เช่น แพลตฟอร์มช่วยค้นหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีเพื่อมาต่อยอดธุรกิจด้านดิจิทัล หรือบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนการลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพต่างๆ รวมถึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนา (R&D) ทั่วโลก” 


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ