จุฬาฯ เดินหน้าโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม จัดงาน SID Innodating “นักคิด คู่นักปฏิบัติ ร่วมพัฒนานวัตกรรมไทย” มหกรรมจับคู่ครั้งใหญ่ระหว่างนักคิด (Idea) กับนักปฏิบัติ (Ido) มาร่วมสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง โดยโฟกัสนวัตกรรม 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มไลฟ์สไตล์, กลุ่มพัฒนาเพื่อความยั่งยืน, กลุ่มดิจิทัลและหุ่นยนต์, กลุ่มเมืองอัจฉริยะ และกลุ่มนวัตกรรมการศึกษา พร้อมจัดเสวนา “การเพิ่มศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ” ตั้งเป้าช่วยผลักดันให้นวัตกรรมไทยเติบโตทันโลกสมัยใหม่และมีความยั่งยืนในระยะยาว
หลังจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ได้จัดตั้งโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District หรือ SID) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการสนับสนุนให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาเรื่องนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ
ล่าสุด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยจัดงาน SID Innodating “นักคิด คู่นักปฏิบัติ ร่วมพัฒนานวัตกรรมไทย” มหกรรมจับคู่ครั้งใหญ่ระหว่างนักคิดที่มี Idea กับนักปฏิบัติฉบับ Ido มาเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ตั้งแต่ 9.00-17.00 น. ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 20 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 (จามจุรี 10)
ทั้งนี้ Innodating มาจากการผสมผสานกันระหว่าง Innovation และ Dating เป็นแนวคิดของการนำนวัตกรรมมาเชื่อมโยงกับการออกเดท เพื่อปิดช่องว่างของอุปสรรคการพัฒนานวัตกรรมไทยที่เกิดจากการขาดความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญ
SID Innodating จะเป็นเหมือนสื่อกลางช่วยรวมตัวผู้สนใจในเรื่องนวัตกรรมทั้งฝั่งที่เป็นนักคิด เช่น นักวิจัยหรือนักคิดสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ ฯลฯ มาพบปะ พูดคุย ทำความรู้จัก กับฝั่งที่เป็นนักปฏิบัติ เช่น ผู้ผลิตนวัตกรรมหรือผู้ประกอบการธุรกิจในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายช่วยกันต่อยอดทางความคิด สร้างเครือข่ายระหว่างกัน ที่สำคัญ คือการนำไปสู่ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนานวัตกรรมไทยให้ก้าวหน้าและมีความยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับนักคิดกับนักปฏิบัติที่จะมาพบกันในงาน Innodating ครั้งนี้ จะเป็นผู้สนใจในนวัตกรรม 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มไลฟ์สไตล์ นวัตกรรมด้านสุขภาพ การแพทย์และสังคมผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น, กลุ่มการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน นวัตกรรมด้านพลังงาน อาหาร และน้ำ, กลุ่ม Inclusive Community & Smart City นวัตกรรมด้านเมืองอัจฉริยะ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของทุกคน
กลุ่ม Digital Economy & Robotics นวัตกรรมด้านดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเทคโนโลยีให้ก้าวล้ำ สุดท้าย คือ กลุ่ม Innovative Education นวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อสร้างการเรียนรู้ของเด็กไทยให้ตอบโจทย์โลกยุคใหม่
ภายในงาน นอกจากการจับคู่ให้นักคิดและนักปฏิบัติพบกันแล้ว ยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “การเพิ่มศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมในประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จ” โดยวิทยากรล้วนแล้วแต่เป็นนักคิดและนักปฏิบัติชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ได้แก่
ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นักธุรกิจผู้ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างความสำเร็จให้กับองค์กร
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ซึ่งนอกจากเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ยังเป็นหัวหน้าโครงการจัดทำแผนแม่บทพลังงานของประเทศ 20 ปีด้วย
รวมถึง สมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน กสิกร บิสิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป(KBTG) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสบการณ์ด้านทำงานกับองค์กรใหญ่มาอย่างหลากหลายทั้ง บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด และบริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น โดยมี รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้อำนวยการโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม เป็นผู้ดำเนินรายการ
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน SID Innodating “นักคิด คู่นักปฏิบัติ ร่วมพัฒนานวัตกรรมไทย” สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ทันที แต่เพื่อให้สามารถพบปะพูดคุยและต่อยอดความคิดกับคนที่สนใจตรงกัน แนะนำให้เข้าไปลงทะเบียนที่ www.sidinnodating.com เพียงคลิกเข้าไปแล้วเลือกว่า คุณเป็นนักคิด หรือ นักปฏิบัติ
จากนั้นก็กรอกรายละเอียดส่วนตัว พร้อมแนบภาพถ่าย และเลือกธุรกิจที่ต้องการนำเสนอ รวมถึงกรอกไอเดียและรายละเอียดธุรกิจ เมื่อครบถ้วน กดยืนยันเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และกดยืนยันอีกครั้ง ก็สามารถเข้าร่วมมหกรรมจับคู่ระหว่างนักคิดกับนักปฏิบัติครั้งใหญ่นี้ได้แล้ว
SID Innodating “นักคิด คู่นักปฏิบัติ ร่วมพัฒนานวัตกรรมไทย” เป็นหนึ่งในโครงการเมืองนวัตกรรมแห่งสยาม (Siam Innovation District หรือ SID) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลักดันให้นวัตกรรมรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนการเป็นโครงการต้นแบบในการนำนวัตกรรมไปต่อยอดการใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป้าหมายของกิจกรรมนี้ ต้องการส่งเสริมให้การพัฒนานวัตกรรมไทยดำเนินไปอย่างก้าวกระโดดทันโลกสมัยใหม่ และมีความยั่งยืนในระยะยาว