จาก ‘สิทธิ์ซื้อหุ้นโรงงานไฟฟ้า’ สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนของ ‘สิงห์ เอสเตท’ กับเป้าหมาย 3 ปี 20,000 ล้านบาท

  • 6.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

แม้การ Diversify จะช่วยกระจายความเสี่ยงให้ธุรกิจ และดูจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับยุค แต่สำหรับแบรนด์ขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งทางธุรกิจอยู่แล้ว การมองหาโอกาสใหม่ ๆ และเลือกลงทุนในหลากหลายธุรกิจ อาจเรียกว่าเป็นการต่อยอดความแข็งแกร่งมากกว่า เช่นเดียวกับที่ สิงห์ เอสเตท (Singha Estate) ก้าวสู่ธุรกิจโรงงานผลิตไฟฟ้า

 

ถอดรหัสจากเป้าหมาย 3 ปี กับรายได้ 20,000 ล้านบาท

หากมองจากเป้าหมายตามที่ สิงห์ เอสเตท ปักธงไว้ กับการทำรายได้ 20,000 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น 3 เท่าตัว สู่การเป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผลิตกระแสไฟฟ้า และให้บริการด้านวิศวกรรมอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้คือแต้มต่อทางธุรกิจอย่างแท้จริง

ประเด็นนี้มาจากการที่ สิงห์ เอสเตท ได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการเข้าซื้อหุ้นสามัญ 30% ในโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (Co-generation power plant) ขนาดใหญ่ถึง 3 แห่ง ทั้งยังสามารถขายไฟฟ้าล่วงหน้าแล้วเกือบ 70% ของกำลังผลิต ซึ่งจะกลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของบริษัทในการก้าวสู่เป้าหมายตามที่คาดหวัง และสามารถสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงด้วยผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท

ปักธง ‘เติบโต – ยั่งยืน’ กลยุทธ์ที่แตกต่างของสิงห์ เอสเตท

ไม่ใช่แค่โอกาสและการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง แต่เป้าหมายสำคัญของ สิงห์ เอสเตท คือ การใช้ประโยชน์จากทุกกลุ่มธุรกิจมาสนับสนุนให้เกิดผลตอบแทนที่แน่นอน ขณะเดียวกัน ก็ช่วยสนับสนุนความได้เปรียบทางการแข่งขันให้โดดเด่นและยั่งยืน จากสิทธิ์ที่บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นตามที่กล่าวมา โดยเป็นสิทธิ์ซื้อที่ราคาพาร์ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท

โดยโรงงานผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม ทั้ง 3 แห่ง มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกัน 400 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ส่วนที่ 1 จากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วม ของบริษัท อ่างทอง เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ จังหวัดอ่างทอง โดยดำเนินการผลิตอยู่แล้วด้วยกำลังการผลิตอยู่ที่ 123 เมกะวัตต์ ส่วนแห่งที่ 2 และ 3 จากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าแห่งใหม่ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง มีบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด เป็นเจ้าของใบอนุญาต ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ มีกำหนดเปิดดำเนินการในปี 2566 โดยจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่โรงงานละ 140 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการเข้าซื้อหุ้นดังที่กล่าวมานี้ ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของบมจ. สิงห์ เอสเตท เสียก่อน โดยกำหนดการประชุมสามัญประจำปีจะจัดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน 2564 ซึ่งทางบริษัทได้ประกาศว่าปี 2564 ถือเป็นปีที่สำคัญของการก้าวเข้าสู่ เฟสต่อไปในการพัฒนาธุรกิจของสิงห์ เอสเตท เพิ่มเติมจากแกนหลักของธุรกิจเดิมอย่าง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย และ ธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม

นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท

ซื้อหุ้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า สำคัญอย่างไร ?

หลายคนอาจข้องใจกับประเด็นนี้… หากอธิบายให้ง่ายต่อความเข้าใจก็คือ ผลตอบแทนเนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จะสามารถทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 7,500 ล้านบาท เท่ากับว่า จะสร้างผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจอย่างมากให้กับสิงห์ เอสเตท โดยมีรากฐานที่มั่นคงอยู่ในธุรกิจทันทีและไม่ต้องเริ่มต้นเองจากศูนย์ ทั้งยังส่งเสริมและสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจทั้งหมดของบริษัท ซึ่งแน่นอนว่า…ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับสิทธิ์

ในแง่ของการลงทุนนั้น ทางสิงห์ เอสเตท วางแผนจะกู้เงินจากธนาคารเพื่อลงทุนในช่วงแรก และลงทุนเองในภายหลัง โดยปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ต่ำ อยู่ที่ 0.96 เท่า และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีก 25,000 ล้านบาท

ส่วนประเด็นความคุ้มค่านั้น หากพิจารณาถึงการที่อ่างทอง เพาเวอร์ เป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำกำไรได้โดยไม่จำเป็นต้องขายไฟให้กับผู้ใช้ทั่วไป และกระแสไฟฟ้าจำนวน 75% ของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด ยังถูกทำสัญญาซื้อต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 25 ปี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็ยิ่งเหมือนเป็นการการันตีอนาคตระยะยาวว่าคุ้มค่าและน่าลงทุนเพียงใด


  • 6.3K
  •  
  •  
  •  
  •