เมื่อเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องจัดทัพสู้ ที่มาของ ‘Singha Venture’ ที่ ‘สิงห์’ วางเป็นหมากสำคัญเพื่อฝ่าพายุการ Disrupt

  • 586
  •  
  •  
  •  
  •  

Singha_Venture_1

‘ภูริต ภิรมย์ภักดี’ ทายาทรุ่นที่ 4 ของ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น และซีอีโอ บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง ได้ย้ำเสมอว่า ในปัจจุบันโลกธุรกิจได้มีหลายปัจจัยเข้ามาท้าทายและถูก Disrupt ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ที่ทุกองค์กรไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ทางออกที่ดี คือ ต้องตั้งการ์ดรับและปล่อยหมัดสู้ให้ทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสำหรับสิงห์การฝ่าวงล้อมกระแสโลกที่เกิดขึ้น เมื่อประมาณกลางปี 2560 ได้มีการจัดตั้ง ‘Singha Ventures’ สำหรับลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลก เพื่อนำมาสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มสปีดการเติบโตให้กับองค์กรที่มีอายุยาวนาน 85 ปีแห่งนี้

“การทำแบบเดิม เราจะโตได้ไม่มาก และการที่เราเป็นองค์กรใหญ่ที่อยู่มานาน 85 ปีขยับแต่ละทีต้องระวัง บางครั้งอาจช้า ขณะที่การมีสตาร์ทอัพมาเสริมจะทำให้เราปรับตัวได้ง่ายและเร็วขึ้น ครั้งนี้ถึงเป็นอีกก้าวสำคัญของสิงห์ และผมจะเข้าไปดูเอง ในฐานะประธานกรรมการ”

Singha_Venture_2

การเข้าไปลงทุนในสตาร์อัพของ Singha Ventures จะเป็นลักษณะของการร่วมทุน โดยจะเข้าไปถือหุ้นในสตาร์ทอัพเริ่มต้นที่ 25% แต่จะไม่เกิน 50% เพื่อให้สตาร์ทอัพมีพลังเดินต่อได้เอง และจะเลือกลงทุนในกลุ่มSeries A หรือสตาร์ทอัพที่มีโมเดลธุรกิจชัดเจน มีตลาดและรับรู้รายได้แล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน ขณะที่ระยะ Seed หรือสตาร์ทอัพที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น หากมีความน่าสนใจก็พร้อมจะเข้าไปพูดคุย

โดยสตาร์อัพที่ Singha Ventures ให้ความสนใจเข้าไปลงทุน เบื้องต้นจะอยู่ใน 3 กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของสิงห์ ได้แก่

1.สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer products) ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม , ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ , เครื่องปรุงรส รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ

2.เทคโนโลยี Supply chainด้านการขนส่งและการจำหน่ายสินค้า เช่น การขนส่งถึงลูกค้าปลายทางโดยตรง(last mile) การขนส่งระหว่างภาคธุรกิจ(business to business solution : B2B) และการส่งสินค้าและบริการด้าน e-commerce

3. ลงทุนในระบบหรือโปรแกรมต่างๆ เพื่อช่วยในการทำงานขององค์กร (Enterprise solutions) เช่น Software as a service (SaaS) Cloud computing ระบบการจ่ายเงิน และระบบการให้สินเชื่อแก่คู่ค้า

นอกจากนี้ ยังสนใจเข้าไปลงทุนสตาร์อัพที่สามารถตอบโจทย์เทรนด์ในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเฮลทธ์แคร์  , พลังงานทดแทน , การศึกษา , Property technology และ Internet of Things (IoT) ฯลฯ

วาง 3 สเต็ปลงทุนสตาร์อัพ

สำหรับปีแรกทาง Singha Ventures ได้วางเงินลงทุนไว้ที่ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินลงทุนที่ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการบริษัท หรือบอร์ดบริษัท เหมือนเงินลงทุนอื่น ๆ

Singha_Venture_3

“การที่ต้องรอการอนุมัติจากบอร์ดบางทีมันช้าไป บางครั้งเทคโนโลยีหรือเทรนด์มันไปแล้ว กว่าบอร์ดจะอนุมัติ เราถึงต้องเปลี่ยนวิธี เพื่อไม่ให้ตกกระแส”

ขณะที่สเต็ปการลงทุนนั้น วางไว้ 3 สเต็ป เริ่มต้นจากการเข้าไปลงทุน Fund of Funds 2 กองทุน คือ Kejora Ventures กองทุนในอินโดนีเซีย ที่เน้นการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินหรือฟินเทค (Financial Technology) การขนส่ง และระบบงานเพื่อองค์กร

อีกกองทุน ได้แก่ Vertex Ventures กองทุนในเครือของ Temasek จากสิงคโปร์ ที่เน้นการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ทั้งเทคโนโลยีที่ใช้ผ่านมือถือหรืออินเตอร์เน็ต , อุปกรณ์หรือระบบที่ช่วยให้เทคโนโลยีทำงานได้ดีขึ้น รวมไปถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย ซึ่ง Vertex Ventures มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกทั้งใน Silicon Valley , จีน และอิสราเอล

สเต็ปที่ 2 การเข้าไปลงทุนในกองทุนของไทย ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับ 500 Tuk Tuks fund ส่วนสเต็ปที่ 3 จะเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพไทยโดยตรง และมีแผนจะจัดตั้งกองทุนของตนเองขึ้นมา คาดว่า การตั้งกองทุนดังกล่าว จะเห็นภายใน 2 ปีต่อจากนี้

ฝันดันไทยเป็น Hub สร้างยูนิคอร์น

“การลงทุนในสตาร์อัพ เราไม่ได้มองเรื่องกำไร แต่เป็นการเรียนรู้และเตรียมพร้อมรับมือการ Disrupt ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเราไม่ได้มองว่าทำช้าไป แต่มองว่า สิ่งที่ทำเป็นอนาคตของบริษัททั้งสร้างการเติบโตและเปิดโอกาสใหม่ ๆ”

นอกจากสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มสปีดการโตให้กับสิงห์แล้ว ฝันที่ ภูริต อยากให้ Singha Ventures ไปให้ถึง คือ การเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ยูนิคอร์นเกิดในไทยให้ได้ และเป้าหมายใหญ่กว่านั้น คือ ผลักดันให้ไทยเป็น Hub สร้างยูนิคอร์น เหมือนจีนและอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ฝันดังกล่าว ทางภูริต เองก็ยอมรับว่า ยาก เพราะหลังจากเข้าไปคลุกคลีในแวดวงสตาร์ทอัพก็ได้พบจุดอ่อนของสตาร์ทอัพไทยหลายจุด โดยเฉพาะวิธีคิดและมุมมองในการปั้นธุรกิจของผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ

นั่นคือ สตาร์อัพไทย ผู้ก่อตั้งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน ทำให้การวางโมเดลหรือวิสัยทัศน์ทางธุรกิจไม่แข็งแรงเพียงพอ ขณะที่ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์ด้านธุรกิจมาแทบทั้งสิ้น

Synergy เพื่อเสริมให้สตาร์ทอัพไทยแข็งแกร่ง

ดังนั้น เพื่อช่วยเติมความแข็งแกร่งและให้สตาร์ทอัพมีโอกาสในการขยายสเกลให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทาง Singha Ventures จึงจะให้การสนับสนุนผ่าน 3  แนวทาง นั่นคือ

Collaboration การให้สตาร์ทอัพสามารถใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี , การวิจัยและพัฒนา , ทรัพยากรบุคคล ตลอดจนหน่วยงานสนับสนุนด้านการตลาดและการขาย

Connect การนำสตาร์ทอัพเข้าไปเชื่อมโยงกับเครือข่ายธุรกิจของสิงห์ที่มีอยู่ ซึ่งนับเป็นจุดแข็งสำคัญในการสร้างทางลัดให้สตาร์ทอัพขยายสเกลธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว อาทิ ดิสทริบิวชั่น , คู่ค้า และพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่มีอยู่ใน 50 ประเทศทั่วโลก ตลอดจนร้านค้าปลีกในไทยที่สิงห์มีเครือข่ายอยู่กว่า 4 แสนร้านค้าทั่วประเทศ

Singha_Venture_4

สุดท้าย Invest Support การสนับสนุนด้านการเงินลงทุน

“เราต้องการเติบโตไปด้วยกันกับสตาร์ทอัพ และเป็นพาร์ทเนอร์ในระยะยาว ส่วนจะประสบความสำเร็จปั้นยูนิคอร์นในไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตอบยาก แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องทำ เพื่อให้สิงห์แข็งแกร่งและโตได้ ไม่ว่าจะมีอะไรมาDisrupt ”


  • 586
  •  
  •  
  •  
  •