เปิดความสำเร็จ ‘เต็ดตรา แพ้ค’ กับการคว้า 2 รางวัลบนเวทีระดับเอเชีย Asia Corporate Excellence & Sustainability Awards 2019

  • 360
  •  
  •  
  •  
  •  

 Tetra Pak

‘เต็ดตรา แพ้ค’ เป็นหนึ่งในองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านความยั่งยืน โดยขับเคลื่อนภายใต้พันธกิจ ‘Protects What’s Good – ปกป้องทุกคุณค่า’ ที่โฟกัสใน 3 เรื่องหลัก นั่นคือ Protect Food, Protect People และ Protect Futures ซึ่งได้นำเสนอผ่านหลากหลายโครงการที่มีความโดดเด่น จนได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนจากเวทีระดับสากลมาเป็นตัวการันตีความสำเร็จ

อย่างล่าสุด ‘โครงการการรณรงค์และเสริมสร้างให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ถึงฉลาก FSC™ บนกล่องเครื่องดื่ม’ และ ‘โครงการหลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก’ สองโครงการหลักที่ทำให้สามารถคว้า 2 รางวัลจากเวที Asia Corporate Excellence & Sustainability Awards หรือ ACES ประจำปี 2019 ได้แก่ ‘Top Community Care Companies in Asia’ รางวัลสุดยอดบริษัทที่มีความใส่ใจต่อชุมชน และ ‘Top Green Companies in Asia’ รางวัลสุดยอดบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ACES Awards รางวัลด้านความยั่งยืนระดับสากลที่ทั่วโลกยอมรับ

 Tetra Pak

ACES Awards ถูกจัดขึ้นโดย MORS Group องค์กรขนาดใหญ่ในเอเชียที่ช่วยส่งเสริม และช่วยเหลือองค์กรต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งรางวัลดังกล่าวได้ดำเนินการมาเกือบ 5 ปีแล้ว โดยมอบให้กับบุคคลที่ประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำ และองค์กรต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในด้านการรับผิดชอบต่อสังคมทั่วเอเชีย ทั้งองค์กรระดับประเทศ ไปจนถึงระดับสากล ที่มีส่วนร่วมต่อชุมชนและโลก

สำหรับหลักเกณฑ์ในการมอบรางวัลนั้น จะพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความยั่งยืนของในหลาย ๆ ด้าน โดยรางวัล Top Green Companies in Asia จะมอบให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคมแบบน้อยที่สุด รวมไปถึงเป็นองค์กรที่ได้รับรางวัลด้านดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกแง่มุม ตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงกระบวนการดำเนินการต่าง ๆ แต่ยังคงรักษาผลกำไรไว้ได้ ฯลฯ

ขณะที่ Top Community Care Companies in Asia จะมอบให้กับบริษัทที่เสริมสร้างชุมชนจากการริเริ่มโครงการต่าง ๆ โดยทีมงานหรือคณะกรรมการพิเศษที่ทุ่มเทของบริษัท อีกทั้งยังเป็นองค์กรที่เป็นได้รับรางวัลหรือเป็นตัวอย่างชัดเจนในการมีภารกิจและค่านิยมขององค์กรในการใส่ใจชุมชนและแสดงให้เห็นถึงความพลเมืองที่กระตือรือร้นในการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมในวงกว้าง

2 รางวัลการันตีความสำเร็จพันธกิจด้านความยั่งยืน

การได้รับรางวัลจากเวที ACES Awards ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับ เต็ดตรา แพ้ค เนื่องจากในปี 2014 เคยได้รับรางวัลจากเวทีดังกล่าวมาแล้วกับรางวัล Top Green Companies in Asia จากโครงการหลังคาเขียว

 Tetra Pak

ส่วนสองรางวัลที่ได้รับในปีนี้ ได้แก่ Top Green Companies in Asia และ Top Community Care Companies in Asia คุณฐาปนี จันทร์หอม ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เต็ดตรา แพ้ค ประเทศไทย  จำกัด บอกว่า รางวัลดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของนโยบายด้านความยั่งยืนที่ทางเต็ดตรา แพ้ค ได้ดำเนินการมาทั้งหมดว่า มาถูกทาง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลถึงประโยชน์ของโครงการที่มีต่อสังคมและชุมชน

 Tetra Pak

ทั้งสองรางวัลเป็นผลมาจากหลายโครงการและกิจกรรมด้านความยั่งยืนที่ เต็ดตรา แพ้ค ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำหน้าด้วยสองโครงการหลัก นั่นคือ โครงการหลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2010 เป็นความร่วมมือกับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, รายการทีวี 360 องศา, โรงงานรีไซเคิลไฟเบอร์พัฒน์ , กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการรับบริจาคกล่องเครื่องดื่มเพื่อนำมารีไซเคิลเป็นแผ่นหลังคา เพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อนหรือผู้ประสบภัยต่าง ๆ

 Tetra Pak

อีกโครงการ ได้แก่ โครงการสร้างการรับรู้เรื่อง FSC™ ที่เริ่มทำเมื่อปี 2016 เป็นการรณรงค์และเสริมสร้างให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ถึงฉลาก FSC™ บนกล่องเครื่องดื่มว่า คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งการที่กล่องเครื่องดื่มจะได้รับฉลากดังกล่าวนั้น จะต้องยืนยันว่าผลิตจากกระดาษที่มาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่มีการจัดการอย่างรับผิดชอบเท่านั้น โดยต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองจากองค์การจัดการด้านป่าไม้ หรือ FSC (Forest Stewardship Council™) ที่กำหนดนโยบายด้านจัดการป่าไม้ให้มีความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสูงสุดระดับสากลในการจัดการป่าไม้

ดังนั้น หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลาก FSC นั่นหมายความว่า ได้มีส่วนในการช่วยสิ่งแวดล้อมและรักษ์โลกด้วย

 Tetra Pak

“ทั้งสองโครงการสอดคล้องกับนโยบายด้านความยั่งยืนของเต็ดตรา แพ้ค ที่มองใน 3 ส่วน คือ 1.การจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ โดยกล่องเครื่องดื่มของเราผลิตจากกระดาษที่มาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ตามมาตรฐานของ FSC มีการบริหารจัดการเป็นรูปธรรม ถูกต้องชัดเจน และใส่ใจสิ่งแวดล้อม

2 . สนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่ทดแทนได้เป็นหลัก ซึ่งเป้าหมายของเรา คือ ทำอย่างไรให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของเต็ดตรา แพ้ค ทำมาจากทรัพยากรทดแทนที่มาจากธรรมชาติทั้งหมด และ 3. การรีไซเคิล โดยนำกล่องเครื่องดื่มกลับมารีไซเคิล เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้”

เดินหน้าสานต่อพันธกิจ Protects What’s Good

 Tetra Pak

แม้จะมีรางวัลจากเวทีด้านความยั่งยืนระดับสากลเป็นตัวการันตีความสำเร็จของโครงการที่ได้ดำเนินการไป แต่การขับเคลื่อนนโยบายด้านนี้ของเต็ดตรา แพ้ค จะยังเดินหน้าไม่หยุด ภายใต้พันธกิจ Protects What’s Good ที่ให้ความสำคัญกับ 3 เรื่องหลัก คือ Protect Food -ปกป้องอาหาร, Protect People -ปกป้องผู้คน และ Protect Futures -ปกป้องอนาคต

 Tetra Pak

สำหรับ Protect Food ในปีที่ผ่านมาทาง เต็ดตรา แพ้ค ได้ดำเนินโครงการใหม่ในพม่า ด้วยการรณรงค์และให้ความรู้กับชาวพม่าให้เข้าใจกระบวนการผลิตและบรรจุในระบบ UHT ที่บรรจุนมและเครื่องดื่มในกล่องปลอดเชื้อ สามารถจัดเก็บได้นาน โดยไม่ต้องแช่เย็น ไม่ต้องใช้วัตถุกันเสีย และมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากชาวพม่ายังคงมีพฤติกรรมดื่มนมสดบรรจุถุงพลาสติกที่ซื้อจากข้างทาง ซึ่งอาจมีการปนเปื้อน และไม่สะอาด เมื่อนำมาต้มดื่มก็ทำห้สูญเสียคุณค่าทางสารอาหารไป ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายในที่สุด

ขณะที่ Protect People และ Protect Futures จะเน้นโครงการที่มีประโยชน์ต่อผู้คนในสังคมและทำงานร่วมกับชุมชน แน่นอนโครงการที่จะนำมาขับเคลื่อนทั้งสองด้านนี้ หนีไม่พ้นโครงการเด่นที่เพิ่งได้รับรางวัลจากเวที ACES Awards 2019 ก็คือ โครงการเกี่ยวกับ FSC และหลังคาเขียว ที่จะมีการสานต่อและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เริ่มจากโครงการ FSC ที่จะเดินหน้ารณรงค์ในการสร้างการรับรู้ และให้ผู้คนตระหนึกถึงความสำคัญของฉลาก FSC มากขึ้น ผ่านช่องทางโซเชียล มีเดียของทาง เต็ดตรา แพ้ค ทั้งเวบไซด์ และเฟสบุ๊ค รวมไปถึงการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ในหมู่ผู้บริโภค

 Tetra Pak

เช่นเดียวกับโครงการหลังคาเขียว โดยเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 เพิ่งมีการเซ็นบันทึกข้อตกลงร่วมกับพันธมิตรโครงการว่า จะดำเนินการโครงการนี้ต่อไปอีก 3 ปี พร้อมกับตั้งเป้าหมายชัดเจนว่า จำนวนกล่องที่รับบริจาคต้องเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น ปีนี้ ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีการเก็บกล่องเครื่องดื่มกลับมาให้ได้ 30 ล้านกล่อง เพื่อนำมาผลิตเป็นหลังคาให้ได้อย่างน้อย 4,000 แผ่น

ส่วนปี 2563 ซึ่งครบรอบ 10 ปีของโครงการ จะมีการจัดกิจกรรมพิเศษ เพื่อให้สามารถนำกล่องเครื่องดื่มกลับมารีไซเคิลได้มากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงมีแผนขยายเครือข่าย ‘อาสาหลังคาเขียว’  ให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากตอนนี้มีอยู่กว่า 2,500 ราย/องค์กร

ทุกอย่างต้องอาศัยเวลาและทำอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าไม่ต่อเนื่อง ก็ไม่บรรลุเป้าหมายในเรื่องความยั่งยืนได้ และเราไม่ได้ต้องการสร้างแค่การรับรู้ แต่ต้องเกิดการลงมือทำและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพราะความยั่งยืน เป็นเรื่องของ ความรับผิดชอบร่วมกันที่แต่ละคน แต่ละหน่วยงานมองบทบาทหลักของตนเองว่า สามารถทำอะไรได้และควรทำอะไร ที่สำคัญ ต้องทำอย่างจริงจัง”  

สำหรับเต็ดตรา แพ้ค ในฐานะผู้นำในกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มชั้นนำของโลก เป้าหมายใหญ่ คือ การผลักดันเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบคาร์บอนต่ำ มองวงจรการผลิตทั้งระบบจนถึงการบริหารจัดการกล่องเครื่องดื่มอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ จะเน้นการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์อื่น ๆ ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน รวมถึงลูกค้าของเต็ดตรา แพ็ค ที่มีอยู่กว่า 45 รายในไทย เพื่อสานต่อให้ทุกโครงการมีพลัง และสามารถขยายสู่วงกว้างได้มากขึ้นนั่นเอง

รายละเอียดโครงการเพิ่มเติม www.tetrapak.com/th/about/cases-articles/thailand-sustainability


  • 360
  •  
  •  
  •  
  •