ฟังเสียงเรียกร้องของ “สมุนไพร” ความต้องการพัฒนาสู่การเป็นยาส่งออกระดับโลก

  • 89
  •  
  •  
  •  
  •  

Herbal-Medicine

“ยารักษาโรค” หนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญสำหรับชีวิต แม้ยารักษาโรคจะเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ต้องการอยากมีไว้ในครอบครอง แตกต่างจากบ้าน เสื้อผ้า อาหาร และบางครั้งรวมไปถึงรถยนต์และสมาร์ทโฟน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนมีโอกาสเจ็บป่วยและยารักษาโรคก็จะกลายเป็นสิ่งที่ต้องการมากที่สุดในช่วงเวลานั้น ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบให้เลือก ทั้งแบบยาเม็ด (Tablet & Capsule) ยาน้ำ (Potion) และยาฉีด (Injection)

ทว่ายาหลายรูปแบบเหล่านั้น ส่วนใหญ่ผลิตหรือสกัดขึ้นมาจากสารเคมีและหลายครั้งที่มีอาการแพ้ยา หรือถ้ามีการใช้งานเป็นเวลาก็จะเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ อย่างน้อยก็จะเกิดเรื่องของอาการดื้อยา นั่นจึงทำให้หลายคนระแวดระวังการใช้ยามากขึ้น การออกกำลังกายจึงถือเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดในการดูแลตัวเอง แต่อย่างที่ทราบโรคภัยไม่สามารถคาดการณ์ได้ เมื่อเป็นแล้วก็ต้องใช้ยารักษาโรคในการช่วยเหลือให้ร่างกายกลับมาปกติอีกครั้ง

thai-herbal-medicine

“สมุรไพร” ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างดีที่สุดทางหนึ่ง โดยเฉพาะสมุนไพรไทยที่มีอยู่อย่างมากมาย ยิ่งเมื่อรวมกับภูมิปัญญาที่สั่งสมมาช้านานก็ก่อให้เกิดเป็นยาสมุนไพรไทย แม้ปัจจุบันยาสมุนไพรไทยได้รับการรับรองจดทะเบียนยาแล้วบางส่วน แต่ก็ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่มีคุณสมบัติทางยาและรอการขึ้นทะเบียนรับรองยาในอนาคต

Rungpetch
คุณรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อํานวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มาร์ มาร์เก็ต ประเทศไทย

คุณรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อํานวยการกลุ่มโครงการภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มาร์ มาร์เก็ต ประเทศไทย ชี้ว่า สำหรับตลาดยารักษาโรคของไทยสามารถแบ่งได้ออกป็น 2 กลุ่ม ทั้งกลุ่มยาที่มีสิทธิบัตร ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้ และกลุ่มยาสามัญ (Generic Medicine) ที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้ โดยอุตสาหกรรมยาของไทยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 6.2% ต่อปี โดยในปี 2562 ที่ผ่านมาตลาดยาในไทยมีมูลค่ารวม 1.8 แสนล้านบาท

Thai Herb -01

โดยตลาดยาในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากปัจจัยการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) รวมไปถึงนโยบายของรัฐในเรื่องของหลักประกันสุขภาพ และการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ซึ่งปัจจัยทั้งหลายนี้จะช่วยให้เกิดการใช้ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยยังส่งออกยาในกลุ่มยาสามัญไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV โดยมีมูลค่าส่งออกยารักษาโรคอยู่ที่ 428 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.2 หมื่นล้านบาท

Thai Herb -02

Thai Herb -03

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การส่งออกยารักษาโรคของไทยยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถผลิตยาใหม่ๆ ขึ้นมาเองได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการกำหนดสูตรที่เป็นมาตรฐานสากลมีความซับซ้อน ดังนั้นประเทศไทยจึงสามารถผลิตได้แต่ยาสามัญหรือยาที่หมดอายุการจดสิทธิบัตรแล้วเท่านั้น ทำให้ตลาดยารักษาโรคของไทยหันมาให้ความสำคัญกับการแพทย์ทางเลือกอย่าง “สมุนไพรไทย”

คุณรุ้งเพชรชี้ว่า ในปัจจุบันสมุนไพรถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมยาในสัดส่วนที่น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่สมุนไพรถูกนำไปใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางค์ ส่งผลมูลค่าตลาดรวมของสมุนไพรในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยแยกออกมาต่างหากจากตลาดยารักษาโรคและมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปแตะที่ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 นี้

Thai Herb -04

Thai Herb -05

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทรนด์การดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมานิยมใช้สมุนไพรกันในการดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมไปถึงนโยบายภาครัฐ เช่น การเสนอแผนแม่บทการพัฒนาสมุนไพรปี 2560-2564 รวมถึงการเพิ่มสมุนไพรเอาไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ การสนับสนุนให้สถานพยาบาลต่างๆ ใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ซึ่งในอนาคตตลาดสมุนไพรบางส่วนจะค่อยๆ ถูกรวมเข้าไปอยู่ในตลาดยารักษาโรค

แม้ในปัจจุบัน “กัญชง-กัญชา” กำลังเป็นสมุนไพรที่อยู่ในกระแสหลัก แต่ในความเป็นจริงสมุนไพรไทยมีจำนวนมากมาย โดยมี 4 สมุนไพรหลักที่มีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมยา ซึ่งประกอบไปด้วย ไพล, ใบบัวบก, กระชายดำ และขมิ้นชัน โดยเฉพาะขมิ้นชันที่เรียกได้ว่า มีศักยภาพมากที่สุดในการนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ จากข้อมูลพบว่าขมิ้นชันได้ขึ้นทะเบียนบัญชียาหลักแห่งชาติและผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา (อย.) และมีการนำไปใช้มากที่สุดในบรรดาสมุนไพรที่นำไปผลิตยารักษาโรค

Thai Herb -06

หากแต่สมุนไพรในปัจจุบันประเทศไทยส่งออกไปในรูปแบบของสารสกัดที่ไม่ใช่ยา โดยประเทศที่นำเข้าจะนำสมุนไพรเหล่านั้นไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตยารักษาโรค แล้วส่งกลับมาขายที่ประเทศไทย ซึ่งหากประเทศไทยสามารถผลิตยารักษาโรคได้เอง น่าจะช่วยสร้างมูลค่าให้กับสมุนไพรได้อย่างมาก อีกทั้งปัจจุบันมีเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญของตลาดสมุนไพร

โดยในช่วงวันที่ 4-6 มีนาคม 2563 ประเทศไทยจะมีการจัดงาน CPhI South East Asia 2020 หรืองานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและการประชุมด้านอุตสาหกรรมการผลิตยาครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ชาเลนเจอร์ ฮอลล์1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยในงานนี้จะเป็นงานที่ผู้ซื้อพบปะผู้ขาย โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากนานาชาติและผู้ผลิตชาวไทยเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก


  • 89
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา