การศึกษาไทยต้องทรานส์ฟอร์ม! ถอดกรณีศึกษา “ธรรมศาสตร์” ปฏิวัติการเรียน-การสอบยุคดิจิทัล

  • 214
  •  
  •  
  •  
  •  

Thammasat-University

ในยุค Digital Disruption แทบจะไม่มีใครไม่เจอการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่รุนแรง และรวดเร็ว แม้แต่ “ภาคการศึกษา” ทั่วโลกต่างปรับตัว โดยนำ “เทคโนโลยีดิจิทัล” เข้ามาผสานกับการเรียนการสอน และการสอบ

สำหรับภาคการศึกษาในประเทศไทย หนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เริ่มลงมือทำ “Digital Transformation” อย่างจริงจัง คือ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เร่งปรับตัว รองรับบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนไป ทั้งในวันนี้ และอนาคต

 

ตั้งเป้าเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต” เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา

กำหนดนโยบายต้องการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต” (Thammasat Transformation : Defining the Future มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต) โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และการบริหารงานภายในมหาวิทยาลัยให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

เฟสแรกของการทำ Digital Transformation “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ได้เปิดการเรียนการสอนในรูปแบบ “ตลาดวิชา” ภายใต้โครงการ “Thammasat Gen Next Academy” ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปไม่จำกัดวุฒิ ไม่จำกัดอายุ เรียนวิชาต่างๆ ในธรรมศาสตร์ได้ไม่จำกัดจำนวนวิชาตามความสนใจได้ รวมถึงการเรียนวิชาโทข้ามศาสตร์ (Transdisciplinary) เพื่อสร้างสมรรถนะใหม่ การเรียนการสอนแบบออนไลน์ และความร่วมมือกับองค์กรภายนอก

ขณะที่เฟสต่อมาจับมือกับ “SkillLane” ซึ่งเป็นบริษัท Online Learning Platform และ Digital Training Platform ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์ “TUXSA” มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้คนไทยได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่อง “เวลา – สถานที่” โดยนำร่อง 3 หลักสูตร ได้แก่

  • ปริญญาโทบริหารธุรกิจ สาขา Business Innovation (M.B.A. Business Innovation)

  • ปริญญาโท Data Science for Digital Business Transformation (M.S. Digital Business Transformation)

  • ปริญญาโท Applied AI

Thammasat University TUXSA

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล็งขยายปริญญาโทออนไลน์ ไปยังคณะต่างๆ และกำลังร่างหลักสูตร “ปริญญาตรีออนไลน์”

อ่านเพิ่มเติม ตามดูเรียนอย่างไร?! “ธรรมศาสตร์” เปิด ป.โทออนไลน์ 3 หลักสูตร – เล็งเปิด ป.ตรีออนไลน์ ปี ’63

“ธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่คู่กับคนไทยและสังคมไทยมายาวนาน และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ เราเห็นว่าการเรียนการสอนยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องปรับให้เป็น “Active Learning”

ด้วยการใช้หลักการ “Learner First” ทำความเข้าใจว่ากลุ่มผู้เรียนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้อะไรในการทำงาน และอะไรคือทักษะแห่งอนาคต แล้วจึงออกแบบเนื้อหา และสรรหาอาจารย์ที่เหมาะสมมาร่วมสร้างหลักสูตร เพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนออย่างแท้จริง” รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี พร้อมด้วย รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ร่วมกันถึงการยกระดับระบบการเรียนการสอนเข้าสู่ยุคดิจิทัล

Thammasat University รศ. เกศินี วิฑูรชาติ
รศ. เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Thammasat University รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์
รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

สถาบันภาษา มธ. เปิดทดสอบ TU-GET ผ่านคอมพิวเตอร์ ตั้งเป้าแทนการสอบบนกระดาษใน 3 – 5 ปี

เพื่อให้นโยบาย “มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต” บรรลุเป้าหมาย ดังนั้นภาคส่วนต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงต้องปรับแนวทางการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายใหญ่ของมหาวิทยาลัย

ล่าสุด “สถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เป็นมหาวิทยาลับแห่งแรกที่เปิดทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษทั้ง 4 ด้านคือ การอ่าน การฟัง การพูด และการเขียนผ่านทาง “คอมพิวเตอร์” หรือ “ทียู-เก็ต (ซีบีที)” TU- GET (CBT) ให้กับบุคคลทั่วไป และนักศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก

Thammasat University-TU GET

“การทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษผ่านทางคอมพิวเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายของสถาบันภาษาที่วางไว้ว่า จะเป็นสถาบันภาษาชั้นนำที่มีชื่อเสียงทางด้านวิชาการและการสอนภาษาอังกฤษ อาทิ การผลิตผลงานวิชาการ การผลิตบุคลากรด้านภาษาอังกฤษ และการสนับสนุนการผลิตผลงานวิจัย

การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตบุคลากรด้านภาษาอังกฤษ และเป็นการลดการใช้กระดาษ โดยคาดว่าจะสามารถทดสอบภาษาอังกฤษให้กับบุคคลทั่วไป นักศึกษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้นจากเดิม

จากที่ผ่านมามีบุคคลทั่วไป และนักศึกษาเข้ามาทดสอบภาษาอังกฤษบนกระดาษจำนวน 20,000 คนต่อปี ทางสถาบันภาษา ตั้งเป้าว่าจะมีจำนวนบุคคลทั่วไป และนักศึกษา สมัครการทดสอบความรู้ภาษาอังกฤษผ่านทางคอมพิวเตอร์ประมาณ 3,000 คนต่อปี และคาดว่าจะมาทดแทนการทดสอบบนกระดาษภายใน 3 – 5 ปี” รองศาสตราจารย์ ดร. สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน ผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทดสอบทักษะภาษา

Thammasat University รศ.ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน
รศ.ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน ผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระบบการศึกษาในยุคดิจิทัลต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และยึด “ผู้เรียน” เป็นหลัก พร้อมทั้งเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เพราะต่อไปคนที่จะอยู่รอดได้ท่ามกลาง Digital Disruption คือ คนที่มี 3 สิ่ง นั่นคือ “Learn – Unlearn – Relearn” 

เพื่อทำให้ตัวเองเป็นคนที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ดังนั้น การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาผสานกับการเรียนการสอน – การสอบ จึงเป็นการปลดล็อคระบบการศึกษาแบบเก่าๆ ได้เปิดกว้างให้ทุกคนเข้าถึงได้


  • 214
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ