ภาวะเดือดของสงครามการค้าได้ถูกส่งสัญญาณจากสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปีที่แล้ว และเริ่มจะเห็นผลชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปีนี้เป็นต้นไป ด้วยมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในและการนำเข้าเพิ่ม จากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมีคำสั่งให้แก้ไขความเสียเปรียบทางการค้า อาศัยอำนาจประธานาธิบดีในการลด,จำกัดการนำเข้าสินค้าที่มีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น จนอาจก่อให้เกิดภัยคุกคามกระทบต่อความมั่นคงภายในของสหรัฐ (Nation Security) มาใช้ปกป้องการค้าและการตลาดของสหรัฐ
สินค้าที่สหรัฐมีการปกป้องอาทิ ตลาดเหล็ก อลูมิเนียม สินค้าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าทางการเกษตร ทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากคู่ค้าทุกประเทศ ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวสหรัฐจึงออกมาตรการค่อนข้างยืดหยุ่น ให้กับแคนาดารวมทั้งประเทศในอียู ซึ่งเป็นประเทศที่สหรัฐนำเข้าสินค้ามากถึง 50%
อย่างไรก็ตามล่าสุดมาตรการดังกล่าวได้พุ่งเป้าไปที่สินค้านำเข้าจากจีนที่มีมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยนอกจากยังมีความเสี่ยง จากการติดอยู่ในลิสต์ประเทศคู่ค้าของสหรัฐที่บิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulation) สินค้าส่งออกของไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเฉพาะหน้า เช่น อุปกรณ์ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเป็นสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีนที่ถูกกีดกัน
จับตาสินค้าจีน 60,000 ล.เดือด
นับเป็นครั้งแรกที่บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จัดการแถลงข่าวประเมินทิศทางเศรษฐกิจในปี 2561 โดยชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะออกมาตรการกีดกันสินค้าจากไทยโดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิดโดยสินค้าในห่วงโซ่การผลิตของจีน มีทั้งเครื่องซักผ้า แผงโซลาร์เซลส์ เหล็กและอลูมิเนียม ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรจึงประมาณการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ที่ 4.5%
“ในสินค้าก้อน 6 หมื่นล้านดอลลาร์นี้ คาดว่าจะเริ่มถูกใช้มาตรการในช่วงกลางเดือนพ.ค. 2561 เป็นต้นไป ส่วนในเรื่องที่เราอยู่ในห่วงโซ่ของจีน จะเริ่มมีผลกระทบในช่วงครึ่งหลังปี 2561 ขณะเดียวกันตอนนี้ไทยเรายังอยู่ในข่ายโดนกีดกันจากเงื่อนไข Currency Manipulation 2 ข้อไปแล้วนั่นคือ 1 เกินดุลการค้า และ 2 เกินดุลบัญชีเดินสะพัด กับสหรัฐ ส่วนเงื่อนไขที่ 3 ธนาคารกลางแทรกแซงตลาดซึ่งไทยเรายังไม่เข้าเงื่อนไข แต่แค่ 2 ข้อแรกก็ทำให้เราอยู่ในข่ายโดนจับตาและจะโดน Currency Manipulation ซึ่งต่อไปอาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น” ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรฯ กล่าว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแม้สหรัฐ จะประกาศใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่หลากหลายส่งผลกระทบต่อคู่ค้าและประเภทสินค้าต่างๆ กันออกไปแต่ด้วยขั้นตอนการปฏิบัติที่ค่อนข้างยืดหยุ่น จึงน่าจะส่งผลกระทบโดยรวมอยู่ในขอบเขตที่จำกัด และนำไปสู่การเจรจาเงื่อนไขทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้ารายประเทศ โดยไม่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามการค้า
การส่งออกของไทยจะเจออะไร
ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม อาจมีการเร่งส่งออกของไทยไปจีน ก่อนที่มาตรการกีดกันของสหรัฐจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้าจีนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 4.5% แต่จะต้องประเมินว่าภาคการผลิตของไทยจะมีความแข็งแกร่งแค่ไหน อย่างไรก็ตามคาดว่าต้นเดือนเมษายนนี้ จะรู้ว่าประเภทสินค้าใดของจีนบ้างที่ถูกกีดกัน และเมื่อจีนส่งสินค้าไปสหรัฐลำบาก สินค้าจะถูกผ่องถ่ายเข้าไปยัง CLMV ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยจะต้องเจอกับสินค้าจีนไหลเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับสินค้าส่งออกที่มีผลบังคับใช้แล้ว เช่น เหล็ก และอลูมิเนียม เครื่องซักผ้า แผงโซลาร์เซลส์ ผลทางตรงที่ผู้ส่งออกไทยจะได้รับคือ ส่งไปสหรัฐได้แต่ถูกจำกัดลง ส่วนผลทางอ้อมก็คือ จะแข่งขันในตลาดโลกยากขึ้นจากราคาที่ลดลง
ส่วนสินค้าส่งออกที่รอรายละเอียดจากมาตรการของสหรัฐ เช่น Hard Disk Drive แผงวงจรไฟฟ้ารวม เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนฯ ขณะที่เครื่องทำน้ำอุ่น ทีวีและลำโพง ไทยจะยังไม่ได้รับผลทางตรง แต่ผลกระทบทางอ้อมที่จะได้รับคือ ไทยจะส่งออกไปยังจีนลดลงรวมทั้งตลาด CLMV ที่ถูกสินค้าจากจีนแย่งตลาด เช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า
CLMV เป็นตลาดใหญ่สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทย เมื่อจีนถูกจำกัดจากมาตรการสหรัฐ จะหันมาจับตลาดนี้และจะเกิดผลกระทบแน่นอนต่อสินค้าไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2561 ที่ 4.0% โดยมองว่าแรงหนุนยังมาจากการส่งออก ท่องเที่ยว และการลงทุน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางด้านการค้าของโลก ภาพการส่งออกยังคงขยายตัวได้เป็นบวกจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตต่อเนื่อง
ขณะที่ประเมินแรงหนุนของเศรษฐกิจไทย ยังมาจากการท่องเที่ยวและการลงทุนทั้งรัฐและเอกชน แม้ว่าการบังคับใช้ พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะส่งผลให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐล่าช้าไปบ้าง แต่คาดว่าการเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ น่าจะทำให้การลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงหนุนที่สำคัญ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะได้อานิสงส์จากการลงทุนภาครัฐ
Copyright © MarketingOops.com