วัดพลังการตลาด ‘บอลโลก’ ได้หรือเสีย กับการลงทุนค่าลิขสิทธิ์ 1.4 พันล้าน

  • 61
  •  
  •  
  •  
  •  

ฟุตบอล2

ในเดือนหน้าการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2018 ณ ประเทศรัสเซีย กำลังจะระเบิดศึกขึ้นในวันที่ 14 มิ.ย. ไปจนถึงวันที่ 15 ก.ค. 2561 แต่หลายคนอาจสงสัยว่า ค่าลิขสิทธิ์ที่จ่ายไปมูลค่า 1,400 ล้านบาท หากมองในเชิงธุรกิจแล้ว คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปหรือไม่

ฟุตบอล ถือเป็นกีฬาอันดับ  1 ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงคนไทย ยิ่งเป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับโลกที่ 4 ปีถึงจะจัดขึ้นด้วยแล้ว ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีก ทำให้ที่ผ่านมีเอกชนหลายรายต้องสู้กันยิบตา เพื่อประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกมาไว้ในครอบครอง

แต่ไม่ใช่การแข่งขันในปี 2018 จนก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า คนไทยอาจจะอดชมการถ่ายสดมหกรรมกีฬาครั้งนี้ เหตุผลเพราะว่า

  1. ค่าลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้นมาอยู่ในระดับพันล้านบาทสำหรับการได้สิทธิ์เพียงครั้งเดียว ต่างจากอดีตที่การซื้อสิทธิ์จะเป็นการประมูล  2 ครั้งรวดและราคาอยู่ในหลักระดับร้อยล้านบาทเท่านั้น

ฟุตบอลโลก

อย่างในปี 2002 และ ปี 2006 บริษัท ทศภาค ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ได้คว้าลิขสิทธิ์มาในมูลค่ารวมกว่า 700 ล้านบาท ถัดมา ในปี 2010 และ 2014 อาร์เอสเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งแม้จะไม่มีการเปิดเผยถึงเม็ดเงินที่จ่ายไป แต่มีการคาดการณ์ว่า ไม่ถึงหลักพันล้านบาท

2. กฎ Must Have ของ กสทช. ที่ระบุว่า ฟุตบอลโลก เป็น 1 ใน 7 รายการกีฬาที่ต้องเผยแพร่ทางฟรีทีวีเท่านั้น ( อีก 6 รายการกีฬา ได้แก่ ซีเกมส์ , อาเซียนพาราเกมส์ , เอเชียนเกมส์ , เอเชียนพาราเกมส์ , โอลิมปิก และพาราลิมปิก) เท่ากับว่า นอกเหนือจากค่าโฆษณาแล้ว ผู้ได้สิทธิ์จะไม่สามารถหารายได้ด้วยการเก็บค่าลิขสิทธิ์ หากมีการนำไปเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ เช่น ร้านอาหาร , ผับ ฯลฯ ได้เหมือนในอดีต

แม้ฟุตบอลโลกครั้งนี้ ตามเวลาในประเทศไทยจะมีการเตะในช่วงไพร์มไทม์ที่ไม่ดึก โดยคู่แรก เริ่ม 19.00 น. คู่ที่ 2 เวลา 22.00 น. คู่สุดท้าย เวลา 01.00 น.

แต่ก็ไม่มีเอกชนรายใดสนใจเข้าไปประมูลมา เพราะเกรงจะไม่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปนั่นเอง

 ฟุตบอลโลก

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายคนไทยก็ได้ชมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 หลังการจับมือของ 9 องค์กรในการลงขัน 1,400 ล้านบาท เพื่อคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมา โดยมี บริษัท ทรูวิชั่นกรุ๊ป จำกัด เป็นตัวแทนเจรจาฝ่ายไทย ตามข้อกำหนดของฟีฟ่าที่ว่า จะเจรจาและลงนามในสัญญาเฉพาะกับบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจบรอดคาสติ้งเท่านั้น

สำหรับ 9 องค์กร ได้แก่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) , บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) , บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(มหาชน) , บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) , ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) , บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ซึ่งทั้ง 6 องค์กรนี้ให้การสนับสนุนเงินรายละ 200 ล้านบาท

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) ให้การสนับสนุน 100 ล้านบาท อีก 2 รายที่เหลือให้การสนับสนุนเงินรายละ 50 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และ บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด (มหาชน)

มาดูกันว่า 1,400 ล้านบาทที่จ่ายไปสำหรับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครั้งนี้ แบ่งเป็นค่าอะไรบ้าง

 

ฟุตบอลโลก-01

ก่อนหน้านี้ทาง ‘พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา’ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น  จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยว่า งบดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ใน3 ส่วนหลัก ได้แก่

ส่วนแรก  ค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งตามราคาที่บริษัท อินฟรอนท์ สปอร์ต แอนด์ มีเดีย เป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในเอเชียยื่นมา ก็คือ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 960 ล้านบาท และเป็นค่าลิขสิทธิ์สำหรับปี 2018 เพียงปีเดียวเท่านั้น

ส่วนที่ 2 ค่าระบบเทคนิคต่าง ๆ ในการรับส่งสัญญาณ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าดาวเทียม, การทำโปรดักชั่น , ทีมพากย์ ฯลฯ ที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้

โดยบอลโลก 2018 จะถ่ายทอดทางดิจิทัลทีวี 3 ช่อง  ได้แก่ ทรูโฟร์ยู , อมรินทร์ทีวี และช่อง 5 , ทางระบบทีวีบอกรับสมาชิก หรือ PAY TV ทางทรู วิชั่นส์ ที่จะถ่ายทอดในระบบ 4 K และชมออนไลน์ทางแอพพลิเคชั่น ทรูไอดี

ส่วนที่ 3 ค่าการตลาด สำหรับโปรโมทบอลโลก และแคมเปญการตลาด ‘สวัสดีบอลโลก’ ในทุกๆ ช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งงบในส่วนนี้วางไว้ราว 65 ล้านบาท

แล้วผู้สนับสนุนทั้ง 9 องค์กรได้อะไร

ตามที่เปิดเผยกัน ผู้สนับสนุนทั้ง 9 รายนั้น จะได้เวลาโฆษณา 1,344 นาที จากการออกอากาศ 64 แมตช์ โดยสัดส่วนจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเงินที่ให้การสนับสนุน

รวมถึงใช้สิทธิ์ของการเป็นผู้สนับสนุนทำแคมเปญ ‘สวัสดีบอลโลก’ ได้ และเพื่อให้แคมเปญปังยิ่งขึ้น แต่ละรายเองก็ได้เตรียมงบการตลาดเพื่อสนับสนุนแคมเปญทางการตลาดของตนไว้ต่างหากด้วย มีตั้งแต่หลักสิบล้านไปถึงร้อยล้านบาทเลยทีเดียว

สำหรับการคาดหวังผลกับการลงเงินทั้งการเป็นผู้สนับสนุนการถ่ายทอดสด และแคมเปญการตลาดต่าง ๆ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่ได้มองด้านธุรกิจมากนัก เนื่องจากต้องการคืนความสุขให้กับคนไทยได้ชมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกแบบฟรี ๆ มากกว่า

แต่เชื่อว่า ต้องคุ้มค่าแน่นอน เพราะเป็น Sport  marketing ระดับ Big ที่คนสนใจมากที่สุดของโลกก็ว่าได้ ซึ่งสิ่งที่ได้แน่ ๆ ก็คือ Branding

ฟุตบอลโลก

ขณะที่ทาง ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินว่า บอลโลกปี 2018 จะมีการใช้จ่ายทางธุรกิจกว่า 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากบอลโลกปี 2014 ที่มีการจับจ่าย 50,000 ล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นรายการกีฬาที่คนสนใจเป็นอันดับ 1 และจะได้รับกระแสตอบรับที่ดี เนื่องจากช่วงเวลาในการถ่ายทอดสดไม่ดึกเหมือนบอลโลกครั้งผ่านมาที่จัดขึ้น ณ ประเทศบราซิล

หากมองในภาพรวมแล้ว เชื่อว่า ‘บอลโลก’ยังคงเป็นแคมเปญทางการตลาดที่มีมนต์ขลังอยู่ ไม่เช่นนั้นเราคงจะไม่เห็นภาพแบรนด์ต่าง ๆ ทยอยส่งแคมเปญที่เกี่ยวกับมหกรรมฟุตบอลครั้งนี้ออกมาอย่างคึกคัก เพื่อชิงกำลังซื้อผู้บริโภค และสร้างสีสันให้กับธุรกิจ

ส่วนการลงทุนจ่ายค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด 1,400 ล้านบาท จะได้หรือเสีย และคุ้มค่าในเชิงธุรกิจหรือไม่นั้น คงต้องรอวัดผลอีกครั้งหลังจบแคมเปญ

IMG_1429

Copyright© MarketingOops.com


  • 61
  •  
  •  
  •  
  •