อ่านเกม ‘เซ็น กรุ๊ป’ บริหารความเสี่ยงในภาวะวิกฤต ‘ยิ่งขยับเร็ว ยิ่งชนะ’ กับการเลือก Delivery เป็นหมากสำคัญ

  • 230
  •  
  •  
  •  
  •  

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นมรสุมลูกใหญ่ที่เข้ามาถล่มหลายต่อหลายธุรกิจแบบตั้งรับไม่ทัน จนเกิดอาการเสียหลักและหยุดชะงัก ตกอยู่ในภาวะขาดทุน ไปถึงการประกาศปลดพนักงาน และบางธุรกิจต้องปิดกิจการกันเลยทีเดียว

แต่ไม่ใช่สำหรับ ‘บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)’ ที่แม้จะได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ เพราะเป็นธุรกิจร้านอาหารแบบ Dining restaurant นั่งรับประทานในร้าน และสาขาส่วนใหญ่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งต้องถูกสั่งปิดชั่วคราวตามมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสดังกล่าว

ด้วยเหตุผลสำคัญ จากการมีแผนบริหารความเสี่ยงล่วงหน้าที่ได้เรียนรู้จากวิกฤตหลายครั้งก่อนหน้านี้ ทำให้สามารถแก้เกมได้เร็ว และยังมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ก่อนหน้านี้ 1 ปี เราตั้งบอร์ดในการบริหารความเสี่ยงขึ้นมา เพราะเราเคยเจอวิกฤตมาหลายครั้งทั้งช่วงม็อบ หรือน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ที่เราต้องปิดร้าน ทำให้เรียนรู้ว่า อย่ารอให้เกิดวิกฤต ถึงวางแผนบริการความเสี่ยง โดยเฉพาะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็ว การแก้เกมยิ่งเร็วยิ่งชนะ” คุณศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ไทย บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว

ชู 3 กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตธุรกิจครั้งใหญ่

สำหรับแผนการบริหารความเสี่ยงภายใต้ภาวะวิกฤตของเซ็น กรุ๊ป จะดำเนินภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การรุกบริการเดลิเวอรี่ , การขยายสาขาในรูปแบบสแตนอโลน และ Virtual Store การแตกแบรนด์ใหม่ให้อยู่ภายใต้แบรนด์ใหญ่ที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างวาไรตี้แบบไม่ต้องลงทุนเพิ่ม โดยทั้ง 3 กลยุทธ์ถูกกำหนดขึ้นมาให้สอดคล้องกับเทรนด์ที่สร้างอิมแพ็คให้กับธุรกิจ ได้แก่ 1. เทคโนโลยีที่ทำให้คนสะดวกสบายมากขึ้น 2. insight และไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลง เช่น คนเดินห้างน้อยลง , อยู่คอนโดมากขึ้น , พฤติกรรมการไม่ชอบรอ และอยากได้อะไรต้องได้ทันที ฯลฯ

‘การบุกบริการเดลิเวอรี่’ ทาง ศิรุวัฒน์ มองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่เพียงตอบเทรนด์เรื่องเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเท่านั้น ยังได้ประโยชน์ในการเก็บข้อมูลของลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาและต่อยอดโปรดักท์ รวมไปถึงบริการต่าง ๆ ให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย โดยบริการนี้ เซ็น กรุ๊ป ทำผ่าน 2 ช่องทางหลัก นั่นคือ

  • แอปพลิเคชั่นของพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Grab , GET, Line man , Food panda , LALAMOVE เป็นต้น
  • แพลตฟอร์มของตนเอง ประกอบด้วย web ordering ทาง www.1376delivery.com สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความสะดวกสบายในการชำระเงินทั้งเงินสด และบัตรเครดิต ตลอดจนได้รับ benefit จากแต้มสะสม อีกทั้งยังสามารถสั่งได้ทั้งรูปแบบเดลิเวอรี่ และ Takeaway ไปรับเองได้ เพียงระบุเวลาและสาขาที่จะไปรับ ส่วนอีกช่องทาง ได้แก่ Call center ทางเบอร์ 1376 สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ หรือผู้ที่ต้องการพูดคุยและสอบถามข้อมูลจากพนักงานเพิ่มเติม

โดยช่องทางบริการเดลิเวอรี่ของเซ็น กรุ๊ป มี LALAMOVE เป็นพาร์ทเนอร์หลัก ซึ่งในอนาคตเตรียมจะพัฒนาเพิ่มเติมให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายมากขึ้น เช่น ทาง Facebook , Line หรือเรียกว่า Chat Ordering ให้เข้ามาที่ web ordering รองรับการใช้งาน ได้ทั้งบน Mobile , Tablet , Desktop และ Laptop

“จุดเด่นของเดลิเวอรี่ของเรา คือ ความหลากหลายและวาไรตี้ทั้งช่องทางและเมนู เพราะเรามีกว่า 10 แบรนด์ อาทิ ZEN , ตำมั่ว , เขียง , On the Table ฯลฯ เรียกได้ว่ามีตั้งแต่กะเพรา 60 บาท ไปถึงโอมากาเสะ ซึ่งสิ่งที่เรามีจะทำให้ลูกค้าไม่เบื่อ และกลับมาใช้บริการซ้ำ คือ อย่างน้อยใน 7 วัน ต้องคิดถึงเรา 3 วัน”

สแตนอโลน Virtual store สร้างความต่าง เพิ่มรายได้

การขยายสาขาแบบสแตนอโลน และ Virtual Store เป็นอีกสองกลยุทธ์ที่เซ็น กรุ๊ป วางไว้เป็นหมากสำคัญเพื่อใช้ฝ่ามรสุมทางธุรกิจ โดยการขยายสาขาในรูปแบบสแตนอโลน เป็นการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากการเรียนรู้วิกฤตที่ผ่านมา นั่นคือ ม็อบทางการเมืองและน้ำท่วมใหญ่ ที่ทำให้ร้านอาหารของเซ็น กรุ๊ป ซึ่งเป็น Dining restaurant มีสาขาส่วนใหญ่ในห้างไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ บวกกับแนวโน้มค่าเช่าพื้นที่ในห้างแพงขึ้น ขณะที่คนเดินห้างน้อยลง

“เราผ่านมาหลายวิกฤต ทำให้เห็นอะไรหลายอย่าง และพยายามบริหารความเสี่ยงของตนเองล่วงหน้า อย่างสแตนอโลน เรามีแบรนด์เขียง เป็นหัวหอกขยายไปตามแหล่งขุมชน สถานีน้ำมัน ตึกสำนักงาน เปิดมาปีนี้เข้าสู่ปีที่ 2 มี 64 สาขา ถือว่า ได้รับผลตอบรับดีมาก และเราพยายามจะขยายไปแบรนด์อื่นด้วย”

ขณะที่ Virtual Store การแตกแบรนด์ใหม่ให้อยู่ภายใต้แบรนด์ใหญ่ที่มีอยู่เดิม ถือเป็นการสร้างวาไรตี้และโอกาสทางธุรกิจแบบไม่ต้องลงทุนเพิ่ม โดยการแตกแบรนด์ใหม่ จะยืนอยู่บนหลักที่ว่า ตัวตนของแบรนด์เก่งและถนัดอะไร

อย่างเช่น ‘มุฉะ’ ข้าวหน้าล้นต่าง ๆ อยู่ภายใต้แบรนด์ ZEN , ‘ข้าวมันไก่คุณย่า’ ขายข้าวมันไก่สูตรดั้งเดิม น้ำจิ้มรสเด็ด อยู่ภายใต้แบรนด์เขียง , ‘ข้าวราดแกงเขียง’ ขายข้าวผัดพริกแกง แกงเขียวหวาน แกงใต้ อยู่ภายใต้แบรนด์เขียงและ ZEN , ‘เชฟหมี’ อยู่ในแบรนด์ On the Table , ‘ยำมั่ว’ ในแบรนด์ ตำมั่ว , ‘MooMoo’ ปิ้งย่างในแบรนด์ AKA

จุดประสงค์ของกลยุทธ์นี้ ทาง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์ไทย เซ็น กรุ๊ป อธิบายว่า ก็เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับแบรนด์ และโปรดักท์ ไม่ให้ลูกค้ารู้สึกเบื่อ และกลับมาใช้บริการซ้ำ

“เดือนแรก ๆ มีผู้ใช้บริการเดลิเวอรี่เยอะมาก และเชื่อว่า ลูกค้าแทบจะสั่งทุกแบรนด์ แต่ปัญหาที่หลายแบรนด์ต้องเจอ คือ ไม่สามารถทำให้ลูกค้าสั่งซ้ำได้ เราถึงต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้ใน 7 วัน 3 วันต้องคิดถึงเรา โดยต้องหา Hero product ของแต่ละแบรนด์ให้เจอ เพราะเราไม่สามารถเอาอะไรก็ได้มาขายบนแพลตฟอร์ม”

ย้ำแก้เกม ยิ่งเร็วยิ่งชนะ

ศิรุวัฒน์ บอกว่า กลยุทธ์ทั้งหมดทางเซ็น กรุ๊ป ไม่ได้เพิ่งทำเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด-19 เท่านั้น แต่ได้ดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจ และเรียกภาวะแบบนี้ว่า เป็นการซ้อมหนีไฟ

“เราซ้อมหนีไฟบ่อย เพื่อให้รู้ว่า เมื่อเกิดไฟไหม้ ถังดับเพลิงอยู่ที่ไหน ต้องทำอย่างไรถึงจะรอดจากภาวะวิกฤต และจากการเดินตามกลยุทธ์ที่วางไว้ ทำให้ปัจจุบันยังมีเครื่องยนต์ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นคือ ไม่ปลดพนักงาน หรือต้องปิดกิจการ”

ขณะที่สถานการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ต้องประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน แต่เชื่อว่า จากการมีแผนบริหารความเสี่ยงที่วางไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจน และการแก้เกมอย่างรวดเร็ว จะส่งผลให้เซ็น กรุ๊ป อยู่รอดและเดินหน้าต่อได้

ส่วนในอนาคตจะมีกลยุทธ์ใหม่ออกมาตอบโจทย์โลกธุรกิจที่หมุนอย่างรวดเร็วอะไรบ้างนั้น ต้องรอดูก่อนว่า หลังจากนี้ New normal ที่เกิดขึ้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ กลยุทธ์ที่ออกมาต้องยืนยันตัวตนของเซ็น กรุ๊ป

นอกจากนี้ยังมีการแนะนำโปรดักท์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น Chicken ZEN ไก่ทอดสูตรลับ ฉบับเซ็นที่จะเปิดตัวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 โดยทาง ZEN เตรียมแจกไก่ทอดฟรี 500 ที่ สำหรับลูกค้าที่ลงทะเบียนผ่าน Line@: @zengroupdelivery ตั้งแต่วันที่ 15-27 พฤษภาคม 2563 (รับข้อมูลโปรโมชั่นผ่าน Line@ เงื่อนไขเป็นไปตามที่บริษัทฯกำหนด)


  • 230
  •  
  •  
  •  
  •