‘ธุรกิจร้านอาหาร’ เร่งปรับกลยุทธ์สร้าง Game Change สู้วิกฤตระลอกใหม่

  • 1.9K
  •  
  •  
  •  
  •  

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น หรือที่รัฐเรียกว่า การระบาดระลอกใหม่ ทำให้ภาครัฐได้ออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เช่น สั่งปิดสถานที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราว รวมถึงสั่งห้ามนั่งรับประทานอาหารภายในร้านตั้งแต่ 21.00 น. เป็นต้น ซึ่งยังไม่แน่ว่า หากการติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้น จะมีมาตรการใดที่แรงกว่าเดิมออกมาหรือไม่

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายธุรกิจต้องเร่งปรับตัวอีกครั้ง รวมถึง ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ที่นอกจากเตรียมพร้อมและรับมือทั้งด้านความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคแล้ว ประเด็นสำคัญ คือ ต้องมีการวางและปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อรับมือกับผลกระทบและวิกฤตทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น

“ฟู้ดแพชชั่น” วาง 2 ทีมรับมือ “ทีมอุด + ทีมตีเมือง”

บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหารฟู้ดแพชชั่น หรือ Chief Possible Marketing Officer (CPMO) กล่าวว่า จากโควิด-19 รอบแรก ทำให้เรามีประสบการณ์และมีความพร้อมในการเตรียมตัวอย่างมาก โดยเราแบ่งเป็นทีมปฏิบัติการ 2 ทีม ได้แก่ “ทีมอุด” จะเป็นที่ฝ่ายโอเปอร์เรชั่น ทำหน้าที่ในการอุดรอยรั่วและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค พร้อมวางมาตรการขั้นตอนตามที่รัฐกำหนด อย่างมาตรการดูแลความปลอดภัยที่เราเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ได้แก่ GON Standard ซึ่งประกอบไปด้วย 5 มาตรการใหญ่ 20 ขั้นตอนย่อย ก็จะนำกลับมาใช้ใหม่ ในขณะที่ “ทีมตีเมือง” คือทีมที่รุกที่ทำหน้าที่ในการหาช่องทางสร้ายรายได้ใหม่ๆ เพิ่มเติม อะไรที่เคยวางไว้ว่าจะต้องทำ บางอย่างเราได้มีการโฮลด์บางโปรเจ็คต์ไว้ก่อนเลย เพื่อมาระดมคนระดมสมองมาช่วยกันผ่านวิกฤตตรงนี้ให้ได้ ทั้งธุรกิจ Non-Bar B Q Plaza และเดลิเวอร์รี่ ตรงนี้ได้มีการปรับแผนใหม่ ซึ่งได้มีการประชุมวอร์รูมกันตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา

“รอบนี้เลยแบรนด์ต่างๆ ในฟู้ดแพชชั่นทุกแบรนด์ เราจะ Stay with Customer ซึ่งก็เป็นโจทย์ที่ได้ให้ไดเร็กชั่นกับทีมไปเลย ด้วยรูปแบบของเราเอง ซึ่งได้บอกกับทีมเมเนจเมนต์และทีมมาร์เก็ตติ้งว่า สิ่งที่พวกเราทำอยู่นั้น ไม่ใช่เราทำคนเดียว คนอื่นก็ทำกันหมด ตอนนี้ทุกๆ แบรนด์ทำในสิ่งที่เราทำกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นโอเปอร์เรชั่นในสาขา หรือการขยายด้านเดลิเวอร์รี่ ฯลฯ ทุกคนทำเหมือนกัน แต่จะทำอย่างไรให้ลูกค้านึกถึงเรา และกลับมาหาเรา คิดว่ากลยุทธ์ใหญ่ทุกคนไม่ได้มองต่างกันหรอก แต่ความเก๋าก็คือตรง Implement (วิธีการ) กับ Creative ที่คุณจะทะลุรูแผ่นดินแยกตรงนี้มายังไงมากกว่า”

สำหรับสัดส่วนรายได้ที่หายไปในช่วงที่แม้จะไม่ปิดห้างแต่คนก็เดินห้างน้อยลงเพราะกังวลเรื่องไวรัส บุณย์ญานุช ยอมรับว่ายอดเริ่มหายไป และมีรายได้ลดลง 30%  ซึ่งตอนนี้เราแทบจะต้องมอนิเตอร์กันแบบชั่วโมงต่อชั่วโมง วันต่อวันกันเลยทีเดียวเพื่อประเมินสถานการณ์ต่างๆ แต่ก็เชื่อว่ารอบนี้จะไม่แย่ไปกว่ารอบที่แล้วเพราะเราได้เรียนรู้อะไรไปมากทีเดียว ที่สำคัญคือเราได้วาง  Infrastructure หรือวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เอาไว้พร้อมหมดแล้ว

“ทั้งในตัวแพล็ตฟอร์มเดลิเวอร์รี่ของเราเอง อย่าง Gon Gang Delivery ซึ่งเราพัฒนาอยู่บน LINE นี่คือสิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้ได้จากคราวที่แล้ว คือเราทำ own platform ของเราเอง นอกจากนี้ จากครั้งที่แล้วที่เคยมีการ LIVE ขายของ เราก็มีแพล็ตฟอร์มของเราเองที่มีอยู่ใน Facebook ที่เรียกว่า Gon Gang Shop ซึ่งตรงนี้เราก็มีทีมโดยเฉพาะที่มาดูแล ซึ่งจะเป็นการต่อยอดต่อขาในมุมของ Social Commerce ดังนั้น แม้จะจบจากโควิดไป ก็จะเห็นลีลาของเราว่า เราจะออกมาฟาดแบบไหนที่จะทำให้ เรายัง Stay with Customer ในช่วงวิกฤตนี้”

หมดเวลาทำ Mass Marketing ทำอะไรต้องไปให้สุดทาง

ขณะเดียวกันฝั่งตัว GON Product เราได้แอบทำโปรโตไทป์ไปหลายตัวทีเดียว ซึ่งตอนนี้เตรียมเดินทางเข้าสู่เฟสของการลอนช์แล้ว คิดว่าอาจจะเรียกได้ว่าเป็นเฟสที่ 1.5 ซึ่งเร็วๆ นี้ GON Product ก็เตรียมที่จะเล่นกับชาแนลใหม่ๆ พร้อมความเซอร์ไพรส์ว่าจะมีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ใหม่ที่จะมาช่วยเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับเราอีกด้วย ส่วนจะเป็นรายไหนอยากให้รอจับตาดู ซึ่งจากนี้ไป GON Product ไม่ใช่แค่เกมด้านการตลาดหรือการสร้างแคมเปญแต่เรามองเป็น Business Model แล้ว

ส่วนแบรนด์อื่นๆ ในเครือ เช่น “หมูทอดกอดคอ” เราจะเดินหน้าในในการรีครูทแฟรนไชส์ซี (Franchisee) เพิ่มขึ้น โดยจะมีพาร์ทเนอร์ที่เป็นแลนดลอร์ดรายใหม่มาเสริมทัพ ซึ่งจะขยับเข้ามาใกล้เมืองมากขึ้น “ฌานา” เราอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมเพื่อหาช่องทางการหารายได้ใหม่ๆ “โภชา” อยู่ในเฟสของการรีแบรนด์ ซึ่งเราพบ Persona ใหม่ของแบรนด์นี้ เราเรียกว่า Tribe Marketing ไม่มีอีกแล้วที่เราจะแบ่งกลุ่มเป้าหมายตามเพศอายุแต่เราจะจับกลุ่มคนที่คิดเหมือนกันพูดเหมือนกัน แบบนี้คือคนที่เป็นพวกเดียวกันหรือเผ่าพันธุ์เดียวกัน

“เรามองว่าในการทำ Marketing อะไรที่มัน Mass Marketing มันจบแล้ว เกมมันเปลี่ยนไปแล้ว อะไรที่มันเพลย์เซฟๆ มันไม่มีที่ยืนอีกต่อไปแล้ว ยิ่งวันนี้วันที่คุณเป็นแบรนด์เล็กๆ คุณจะทำอะไรที่เพลย์เซฟคงไม่ได้ มันต้อง Extreme ต้องไปให้สุด เพราะสุดท้ายแล้วโลกนี้ไม่มีค่าเฉลี่ย”

‘ไมเนอร์ ฟู้ด’ ไม่ใช่ wait and see แต่ wait and action

“เราไม่อยากประมาท จึงประเมินไว้ว่า การระบาดระลอกใหม่จะมีผลกระทบมากกว่าที่ผ่านมา ส่วนเรื่องให้นั่งรับประทานในร้านได้ถึง 21.00 น. หลังจากนั้นให้ Take away เท่านั้น กระทบกับธุรกิจไม่มาก เพราะไม่ใช่ช่วงเวลาพีคของร้านอาหารเหมือนกับช่วงเที่ยง กับ 17.00-19.00 น. และตอนนี้บรรยากาศร้านอาหารเองก็เงียบ ๆ อยู่แล้ว เนื่องจากคนไม่อยากออกมาเดิน” ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไมเนอร์ ฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) กล่าว พร้อมเสริมว่า

แม้จะประเมินสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบมากกว่าที่ผ่านมา แต่จากบทเรียนจากครั้งที่แล้ว ทำให้ธุรกิจมีการปรับตัว และเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสำหรับไมเนอร์ ฟู้ด ไม่ใช่ wait and see แต่ wait and action โดยเน้น 2 เรื่องหลัก ๆ  ได้แก่

1.การควบคุมค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ไม่จำเป็น อาทิ ลดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ และลดงบประมาณในการทำการตลาดร้านประเภท Dining ลง เพราะตอนนี้มีคนเข้าร้านน้อยลง , เลื่อนเวลาปิดร้านอาหารที่อยู๋ในห้างให้เร็วขึ้น ฯลฯ 2.อะไรที่เห็นว่า มีโอกาสในการเติบโตและเพิ่มยอดขาย จะรุกทันที เช่น ช่องทางไดร์ฟทรู , เดลิเวอรี่ และ Take away จะมาแรง ก็จะมีการทำโปรโมชั่นและโปรโมทให้มากขึ้น เป็นต้น

 “ถามว่า กระทบกับธุรกิจเราแค่ไหน ตอบได้ยากเพราะแต่ละแบรนด์จะแตกต่างกัน หากเป็นแบรนด์ที่ร้านตั้งในห้างจะกระทบมาก ส่วนร้านที่อยู่นอกห้าง มีบริการเดลิเวอรี่ ไดร์ฟทรู อันนี้จะไม่มาก ซึ่งครั้งนี้จากแผนที่ได้จากบทเรียนครั้งที่ผ่านมา บวกกับการ action ที่เร็ว เชื่อว่า ผลกระทบต่อธุรกิจจะน้อยลง”

ZEN Group วางมาตรการ 6S ต่อเนื่องเพิ่มความมั่นใจแก่ลูกค้า

ด้าน บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN โดย บุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ปจำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  ระลอกใหม่ร้านอาหารในเครือ ZEN Group ทุกสาขาทั่วประเทศ ได้ดำเนินมาตรการปลอดภัย 6S ภายใต้แนวคิด “สะอาด ใส่ใจและความปลอดภัย คือ หัวใจของเรา” อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องมาตลอด เพื่อสร้างความมั่นใจลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการรับประทานอาหารภายในร้านหรือซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน รวมถึงลูกค้าที่ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่

 

สำหรับมาตรการ 6S ของ ZEN Group ประกอบด้วย  1.Supply Chain กระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมีความสะอาดและปลอดภัย โดยบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบและการจัดส่งที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน GMP 2.System ให้ความมั่นใจในทุกขั้นตอนการปรุงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ สะอาด ปลอดภัย โดยพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในครัวและสัมผัสอาหารโดยตรง จะต้องล้างมือตามหลักสุขอนามัยทุกครั้งทั้งก่อนและหลังเตรียมอาหาร 3.Staff พนักงานต้องผ่านการคัดกรองก่อนการเข้างานและสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันระหว่างการทำงาน โดยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและจดบันทึก สวมใส่หน้ากากอนามัยและทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง

4.Social Distancing มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยจัดที่นั่งของลูกค้าให้มีระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อสำหรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ 5.Separate Equipment แยกอุปกรณ์รับประทานอาหารและผ่านการฆ่าเชื้อตามมาตรฐาน และ 6.Safe Delivery  สำหรับเมนูที่ซื้อกลับบ้าน (Take Away)  และบริการจัดส่งอาหาร (Delivery) สามารถตรวจสอบผู้ประกอบการอาหารได้ เพื่อให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัยแก่ลูกค้า

ทั้งนี้ ZEN Group พร้อมให้บริการด้วยมาตรการความปลอดภัย 6S อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจการใช้บริการภายในร้านอาหารที่ปลอดภัย สะอาด และลิ้มลองความอร่อยทุกเมนูอาหารแบรนด์ดังในเครือ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น, On the Table, Tokyo Café ร้านอาหารสไตล์ฟิวชั่นสไตล์คาเฟ่ญี่ปุ่น, AKA ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์สไตล์ปิ้งย่างและชาบู, Din’s ร้านอาหารจีน, ตำมั่ว อาหารไทยอีสานแบบดั้งเดิม, ลาวญวน อาหารอีสานและอาหารเวียดนาม และเขียง อาหารจานด่วนแนวสตรีทฟู้ด และบริษัทฯ ได้จัดเตรียมเมนูร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ ในเครือ เพื่อรองรับการให้บริการที่ 1376 Delivery และแอปพลิเคชั่นสั่งอาหารต่างๆ เช่น Line Man, Food Panda, Gojek, Grab Food เป็นต้น

 


  • 1.9K
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!
CLOSE
CLOSE