มีทุกวันนี้ได้เพราะ 26,000 บาท จาก ‘ฮอร์โมน’ 11 ปี นาดาว ในวันที่ ‘ว้าวุ่น’

  • 851
  •  
  •  
  •  
  •  

“ถ้าถามว่านาดาวมาถึงวันนี้ได้ยังไง ต้องขอบคุณ ฮอร์โมน
แต่ถ้าถามว่า นาดาว มิวสิค มาถึงวันนี้ได้ยังไงก็ต้องขอบคุณ รักติดไซเรน

ย้ง ทรงยศ สุขมากอนันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นาดาวบางกอก จำกัด

ประโยคนี้สื่ออะไรบ้าง? เราได้มีโอกาสพูดคุยอย่างเปิดใจกับบุคคลมากความสามารถจากผู้กำกับสู่ผู้บริหาร “ย้ง ทรงยศ” โดยเฉพาะผลงานสร้างชื่อชิ้นแรกของค่าย ได้แก่ “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” (ปี 2556) ที่ไม่น่าเชื่อว่า ซีซันแรก ได้กำไรแค่ 26,000 บาทเท่านั้น!! และก็คิดว่าจากโปรเจ็คต์นี้ก็คงไม่ไปต่อ และจะปิดบริษัทไปเลย แต่อะไรที่ทำให้ “ย้ง” และทีมนาดาวตัดสินใจก้าวต่อไป มาฟังกัน

 

“ย้ง” ควงมาพร้อมกับ  “แท้ด” รดีนภิส โกสิยะจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ แผนกการตลาดและสื่อสารองค์กร บริษัท นาดาวบางกอก จำกัด คู่หูในการปลุกปั้นนาดาว จนก้าวมาได้ถึงปีที่ 11 แล้ว

 

ผลกระทบ โควิด-19 บีบให้ต้องเรียนรู้และฝ่าฟัน

ย้ง ยอมรับว่า ช่วงโควิดเป็นช่วงที่ปั่นป่วนพอสมควร แรกๆ เป็นช่วงที่ฝุ่นตลบลูกค้าสปอนเซอร์ขอยกเลิกแพลนเป็นจำนวนมาก จนตั้งตัวไม่ทัน แต่พอตั้งสติได้ก็ค่อยๆ เริ่มแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ

“ตอนแรกเรามีแพลนจะถ่ายเรื่อง “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” แต่พอเกิดโควิด มันทำให้เราไม่สามารถถ่ายทำได้ ต้องเจรจาที่จะเลื่อนไป แต่ไปถึงจุดไหนยังไม่รู้ ทำให้ต้องประเมินสถานการณ์ปรับทุกวีคเลย หลังเราชนฝาที่สุดก็คือเลื่อนแค่สิ้นปี เราไม่สามารถเลื่อนไปเลยสิ้นปีได้เพราะมันเป็นเรื่องของงบประมาณ โควิดทำให้ต้องประชุมรายวีค การเลื่อนก็กระทบกับคิวงานของนักแสดงด้วย บางคนเราเลื่อนไปเรื่อยๆ ปุ๊บก็อาจจะติดงานที่รับไปแล้ว

ส่วนพาร์ทธุรกิจของการดูแลศิลปิน เป็นเรื่องของงานต่างๆ ที่เราเคยรับไว้ ลูกค้าที่หลายเจ้าจะจัดอีเวนต์ แต่เราขอปฏิเสธเองเพราะว่า มันดูสุ่มเสี่ยงเกินไป ช่วงนั้นเลยเป็นช่วงที่ นาดาว เหมือนไม่มีงาน แต่งานหลักคืองานแก้ปัญหา ซึ่งถ้าเป็นงานศิลปินก็คือ ช่วยลูกค้าแก้ปัญหาว่า ลูกค้าซื้อพรีเซ็นเตอร์น้อง เขาปล่อย TVC ไม่ได้ เขาไปอีเวนต์ไม่ได้ น้องเราจะช่วยอะไรกลับได้บ้าง ก็มีการประชุมกันและแก้ปัญหาเรื่องนี้”

แต่พอสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็สามารถกลับมาถ่ายทำงานต่อได้ โดยในส่วนงานการเป็นพรีเซ็นเตอร์ของศิลปินที่ไม่สามารถออนแอร์ได้เนื่องจากเนื้อหามีความสุ่มเสี่ยง กระทบต่อจิตใจผู้คนในช่วงนั้น นาดาว ก็สามารถแก้ปัญหาได้ดี ด้วยการให้ศิลปินถ่ายสินค้าเองจากที่บ้านเลย พร้อมกับพูดประโยคเดียวกับที่ต้องพูดใน TVC เรียกว่าน้องๆ ศิลปินที่ไม่เคยเรียนรู้การถ่ายงานเบื้องหลังก็ต้องลองผิดลองถูกในการทำ โดยส่งฟุตกลับมาให้ทีมเบื้องหลังช่วยตัดต่อแล้วเอาลงออนไลน์หรือช่องทางโซเชียลมีเดียของศิลปินแทน บางคนถึงขนาดให้คุณแม่ตั้งกล้องถ่ายให้ก็มี หรือให้ศิลปินไลฟ์สด ผ่านโซเชียลฯ หรือ marketplace เลยอันนี้ก็มี เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และร่วมกันฝ่าฝันไปด้วยกัน

เป้ารายได้ปีนี้ 200-300 ล้านก็แฮปปี้แล้ว

แน่นอนว่ากระทบกับเป้ารายได้ที่วางไว้ ซึ่งเรื่องนี้ “แท้ด” อธิบายว่า เราอยาก growth ทุกปี ปีที่แล้ว (ปี 2019) เราจบที่ 260-270 ล้านบาท เราก็ตั้งใจว่าปีนี้ น่าจะขึ้น แต่ปีนี้พอมาเจอโควิด เราก็รู้อยู่แล้วว่าคงไม่โต ลุ้นแค่ว่า ไปได้ถึงตรงไหน คิดว่าปิดปีนี้คงปิดที่ 200-230 ล้านบาท แต่เราไม่เคยคุยกันว่าอยากให้โตขึ้นที่ตัวเลขเท่าไหร่ แต่คุยกันว่าขออย่าให้ต่ำกว่าเดิม จะไม่ถูกกดดันว่าต้องโตเท่าไหร่

“ย้ง” กล่าวเสริมว่า หลักๆ เราคือพยายามดูแลกัน ไม่อยากกระทบพนักงาน ไม่เลย์ออฟ ไม่ลดเงินเดือน ถ้าปลายปีพนักงานยังมีโบนัสได้ แสดงว่ามัน โอเค. สำหรับปีนี้แล้ว

 

รายได้ของ “นาดาว” มาจากธุรกิจอะไร

สำหรับรายได้หลักของ “นาดาว บางกอก” มาจาก 2 พาร์ทดังนี้

  1. โปรดักชั่น คือการทำซีรี่ส์ การทำโฆษณา ทำรายได้ให้บริษัท 40%
  2. การดูแลศิลปิน คือการจ้างงานไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ อีเวนต์ งานที่ศิลปินรับต่างๆ ทำรายได้ให้บริษัท 60%

อย่างไรก็ตาม รายได้ที่ได้มาสวนทางกับกำไร ทั้งนี้ กำไรที่สามารถทำให้กับบริษัทได้ กลับเป็นฝั่งของ “โปรดักชั่น” มากกว่า โดยทำกำไรอยู่ที่ประมาณ 20-30% ในขณะที่ ฝ่าย “ธุรกิจการดูแลศิลปิน” ทำกำไรให้เพียง 8-15% เท่านั้น เพราะต้องหักในส่วนค่าตัวศิลปิน ค่าการดูแลศิลปิน ค่ากรูมมิ่งต่างๆ ถึงจะเหลือมาเป็นส่วนที่เข้าบริษัท

ทั้งนี้ ในช่วงโควิด ธุรกิจในส่วนโปรดักชั่นไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่กระทบรายได้ในส่วนของการดูแลศิลปิน ทำรายได้หายไปเกือบ 20% เลยทีเดียว เพราะงานอีเวนต์หายไปหมดเลยตลอด 2 เดือนของโควิด

“นาดาว มิวสิค” อาการไม่ค่อยดี แต่ขอกัดฟันไปต่อ

อีกหนึ่งบิสสิเนสไลน์ของนาดาวที่เพิ่งปั้นได้แค่ 1 ปี แจ้งเกิดได้จากเพลง “รักติดไซเรน” (เพลงประกอบซีรี่ส์เรื่อง “MY AMBULANCE รักฉุดใจนายฉุกเฉิน”) แต่รายได้กลับสวนทางกับกระแส “ย้ง” ยอมรับว่า ยังยากลำกบากในปีแรกอยู่ เพราะยังมีสิ่งที่เราเรียนรู้อีกเยอะมาก ผลประกอบการก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ เพราะต้นทุนทุกอย่างมันสูงมาก “อาการไม่ค่อยดี” โดย”แท้ด” เสริมว่า เพราะด้วยความที่ทุกอย่างเราเริ่มต้นจากศูนย์ดังนั้นก็จะต้องมีค่าเริ่มต้นในการดำเนินการต่างๆ ใหม่มากมาย ดังนั้นคำว่ากำไรจึงยังไม่เห็นในช่วงนี้ แต่ที่ยังตัดสินใจไปต่อเพราะว่าเรามองเห็นศักยภาพในตัวน้องหลายคนในด้านนี้ และยังไม่อยากเลิกล้ม หรือยอมแพ้ ส่วนตั้งเป้าจะให้เกิดในกระแส T-POP ก็คิดว่าอยากจะไปถึงตรงนั้นให้ได้เช่นกัน

 

“ถ้าถามว่านาดาวมาถึงวันนี้ได้ยังไง ต้องขอบคุณ ฮอร์โมน

แต่ถ้าถามว่า นาดาว มิวสิค มาถึงวันนี้ได้ยังไงก็ต้องขอบคุณ รักติดไซเรน”

 

กำไรหลักหมื่น สู่จุดเปลี่ยนให้ไปต่อ

นอกจากนี้ ในการทำงานที่ต้องปรับบทบาทครั้งสำคัญจากการเป็นผู้กำกับ มาเป็นสายบริหาร “ย้ง” เล่าว่า ในช่วงก่อตั้งบริษัท นาดาวฯ ช่วง 2-4 ปีแรก ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงมากเลย เรายังไม่รู้เลยว่าการพัฒนาศิลปิน สร้างศิลปินให้เกิดรายได้มันเป็นยังไง จนกระทั่งปีที่ 4 ที่เราทำฮอร์โมน ซึ่งตอนที่ทำฮอร์โมนเสร็จแล้วแต่ยังไม่ออกอกาศ เราคิดที่จะปิดบริษัทแล้ว เพราะตอนนั้นทำกำไรได้แค่หลักหมื่น คือ 26,000 บาท เท่านั้น มาพร้อมกับ สปอนเซอร์แค่ตัวเดียว

“ตอนนั้นก็แพลนไว้ว่าก็คงต้องปิดแหละ แล้วพอออกฉายปุ๊ปก็มีกระแส มีโน่นมีนี่ แต่ก็ยังไม่เลิกล้มความคิดว่าจะปิด แค่คิดว่าเออเราอย่างน้อยก็ปิดแบบสวยๆ วะ”

ย้ง เล่าต่อว่า ตอนนั้นพนักงานเรามีสิบกว่าคน แล้วนักแสดงตอนนั้นก็มีสิบคนได้แล้ว ดังนั้น พอมีซีรี่ส์เรื่องหนึ่งทุกคนก็เลยลงไปทำทั้งบริษัท ทั้งโปรดักชั่นและช่วงตัดต่อ ในช่วงนั้นเหมือนมองไม่ออกว่าจะทำอะไรต่อกับธุรกิจนี้ดี กับความเป็นนาดาว ตอนนั้นเหมือนกับว่าทำซีรี่ส์เพื่อให้น้องๆ กลุ่มนี้เลย ซึ่งตัวเราเองก็ไม่แน่ใจว่าเป็นวิธีที่ถูกไหม พอเป็นแบบนั้นก็เลยแค่ตั้งใจทำฮอร์โมนออกมาให้มันดีที่สุด ถ้าออกไปเป็นงานที่เราแฮปปี้ก็ดีแล้ว

“ฮอร์โมน” กับกระแสที่ตอบรับดีเกินคาด 

ส่วนหนึ่งที่ทำให้กระแสฮอร์โมนดีเกิดขึ้นที่ออนไลน์เป็นหลัก เพราะเป็นซีรี่ส์ที่ออกอากาศผ่านกล่อง GMM Z เท่านั้น ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีทีวีดิจิทัลเหมือนในปัจจุบัน ย้ง เล่ากระแสที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นว่า ตอนอีพี 1-2 มันก็พอมีกระแสอยู่บ้าง แต่ไม่มาก มาแรงจริงก็คือ EP.3-4 ที่มันพีคสุดจริงๆ จนกระทั่งจบก็ยังคิดว่าน่าจะปิดบริษัทแบบสวยๆ ได้ แต่ปรากฏว่า มีกระแสเรียกร้องให้มีซีซัน 2 แล้วและลูกค้าก็โหมเข้ามาเต็มเลย ดังนั้นก็เลยคิดว่า จะต้องมีต่อแล้วก็เป็นที่มาของ ซีซัน 2 และ ซีซัน 3 ในเวลาต่อมา และทำให้มีนาดาวจนถึงทุกวันนี้

“สิ่งที่เราค้นพบก็คือว่า ถ้าเราทำเรื่อง (ซีรี่ส์หรือละคร) ที่ดี เรามีเรื่องที่ดีส่งเสริมเขาได้ มันก็ส่งเขาไปจุดนั้นได้จริงๆ ซึ่งฮอร์โมนพบแบบนั้น อย่างเช่น กันต์ ชุณหวัตร เราไม่มีวันคิดเลยว่า น้องจะกลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ได้ แต่ฮอร์โมนทำให้เขาไปถึงตรงนั้นได้ มันก็เลยพรูฟในมุมหนึ่งของเราได้ว่า เหมือนเรามีเวย์แล้วว่าเราจะพัฒนาศิลปินให้น้องมีรายได้ทำงานตรงนี้ยังไง หลังจากนั้นเราเลยทำซีรี่ส์เพื่อพัฒนาในสิ่งที่เราอยากทำ แต่ก็ต้องเป็นซีรีส์ที่พัฒนาศิลปินของเราด้วย”

สรุป 11 ปี และก้าวต่อไป

ท้ายที่สุด “ย้ง” ได้สรุป 11 ปีของนาดาว และก้าวต่อไปในอนาคตว่า นาดาว ก็ยังเป็นบริษัทที่โฟกัสการทำงานที่หนัก แต่อาจจะยังไม่แน่ใจในการเพิ่มปริมาณงาน แต่แฟนๆ อาจจะบ่นว่า นาดาว ทำงานน้อย ทำซีรี่ส์น้อย แล้วก็วอลลุมน้อย แต่เราทำไหวแค่นี้จริงๆ แต่ก็พบว่ามันก็มีช่วงเวลาที่เราอยากเพิ่มปริมาณเพิ่มวอลลุมกับมันเพื่อปรับยอดเพื่อสร้างรายได้ แต่เราก็พบว่าในการเพิ่มวอลลุมเราก็ไม่สามารถเพิ่มคุณภาพได้ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราเศร้ากับมัน ดังนั้น เราก็เลยคิดว่าเราจะเดินไปในเส้นทางที่เราจะทำงานที่เราทำมันได้อยู่มือ และคงคุณภาพมันได้ต่อไป.


  • 851
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!
CLOSE
CLOSE