“คราฟต์” เราได้ยินคำนี้กันบ่อยขึ้นในช่วงหลังมานี้ คราฟต์เป็นเสมือน Adjective หรือคำคุณศัพท์ที่เมื่อนำไปผสมกับอะไรแล้วก็จะทำให้สิ่งนั้นดูมีคุณค่าขึ้นในแง่ของความละเมียดละไม ความเป็นหัตถศิลป์ ชิ้นงานที่ทำด้วยฝีมือและหัวใจของความมานะ ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมางานออกแบบทุกแขนงมีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง ศิลปะหลายแขนงถูกผสมผสานกันจนออกมาเป็นงานแปลกตาหน้าใหม่ที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะงานหัตถศิลป์หรืองานคราฟต์ แล้วคุณเชื่อไหมว่า ประเทศไทยมีช่างฝีมือและมีวัตถุดิบชั้นดีอยู่มากมายในการสร้างงานหัตถศิลป์ พูดถึงตอนนี้เราอยากให้คุณลบภาพงานหัตถศิลป์ที่เป็นลักษณะของดีประจำจังหวัดแบบเดิมๆ ออกจากหัวก่อน แล้วมองแก่นของงานหัตถศิลป์ไทยในมุมมองใหม่ที่อิงกับโลกปัจจุบัน
“งานหัตถศิลป์ไทยไม่ใช่แค่ภาพที่คนต่างชาติมองเห็นเรา แต่ในทุกผลงานประกอบด้วยช่างฝีมือตัวจริง มีการใช้งานที่ตอบโจทย์ มีเรื่องเล่าที่จะบอกต่อไปยังลูกหลาน ช่วยกล่อมเกลาชีวิตของผู้คน….”
หนึ่งในประโยคน่าสนใจจากหนังสือ “SACICT CRAFT TREND 2018” หนังสือที่รวบรวมเทรนด์ศิลปหัตถกรรมไทยตามแนวคิด ‘Social Craft Network’ จัดทำขึ้นโดย SACICT ภายในเล่มมีการพูดถึงความเคลื่อนไหวและทิศทางงานหัตถกรรมในตลาดโลก มีแหล่งข้อมูลที่สามารถเอาไปพัฒนา Product ที่เป็นงานศิลปหัตถกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คนทั้งในปัจจุบันและมองไปถึงอนาคต และยังมีอีกหลายเรื่องในหนังสือเล่มที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาชิ้นงานที่คุณสามารถต่อยอดไปสู่ตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
การสรุปอะไรสักอย่างขึ้นมาแล้วบอกว่ามันคือเทรนด์ไม่ใช่เรื่องง่าย การกำหนดเทรนด์ต้องผ่านกระบวนการคิด กระบวนการทำ ทำซ้ำ รวบรวม วิเคราะห์ต่อเนื่องหลายปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 14 ที่ SACICT ทำงานกับงานหัตถศิลป์ไทย หรืองานคราฟต์ไทยมาต่อเนื่องจนเกิดองค์ความรู้แบบรู้จริง เพราะคลุกคลีอยู่กับกลุ่มดีไซน์เนอร์ ช่างฝีมือ ชุมชน ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ และภูมิปัญญาชาวบ้านมาโดยตลอด SACICT จึงมีองค์ความรู้เกี่ยวกับงานคราฟต์ตั้งแต่งานดั้งเดิมพื้นบ้าน ไปจนถึงงาน Innovative Craft (นวัตศิลป์) จนสามารถกลั่นออกมาเป็นการกำหนดแนวโน้มหรือเทรนด์ของหัตถศิลป์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี ไม่ใช่เทรนด์ที่เกิดขึ้นและจบไปแบบปีต่อปี แต่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วสร้างร่องรอยหรือรากฐานที่จะนำไปสู่ Craft Trend ในปีถัดๆ ไปเป็นลูกโซ่
งานสวยงามที่เห็น เอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงมั้ย?
ประเด็นที่เราอยากโฟกัสคือ “งานสวยๆ ที่เราเห็นตามนิทรรศการเอามาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันมั้ย?” หากคิดแบบผู้บริโภค เรามองว่างานหัตถกรรมที่สวยไม่ควรอยู่แค่ในแกลเลอรี่ มันควรอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ด้วย ประเด็นที่น่าสนใจนี้ถูกเล่าผ่าน “SACICT CONCEPT” ไลฟ์สไตล์ช้อปที่ชูให้เราเห็นถึงสมการที่น่าสนใจ
“Local wisdoms + Design >> Today Life’s Craft” คือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นบวกกับดีไซน์และนำไปสู่ งานคราฟต์ในชีวิตประจำวันของผู้คน ขมวดให้เข้าใจง่ายคือ งานหัตถกรรมไทยสวยๆ ที่ซื้อกลับบ้านไปใช้ได้ แนวคิดนี้คือการมองไปถึงกลุ่มตลาดที่มีโอกาสจะสนใจงานคราฟต์ไทย ซึ่งไม่สามารถแบ่งได้จากสาขาอาชีพหรือว่าอายุ แต่แบ่งได้จากรสนิยมและสไตล์
ยกตัวอย่างง่ายๆ‘โต๊ะดีไซน์สวยที่ตั้งโชว์อยู่ในงานนิทรรศการตัวหนึ่ง เกิดจากการร่วมมือระหว่างช่างฝีมือในชุมชนจักสาน ช่างไม้ท้องถิ่นในอยุธยา และดีไซน์เนอร์ที่ทำงานอยู่แถวทองหล่อ ฟังเรื่องราวคร่าวๆ แล้วคุณอยากจะได้โต๊ะตัวนี้มั้ย’ งานพวกนี้มีเสน่ห์ ไม่ใช่เสน่ห์ในลักษณะที่เล่าความเป็นชาติ แต่เป็นเสน่ห์ที่เล่าความเป็นคน ความเป็น Craft-man ภูมิปัญญาและรสนิยมที่อยู่ในตัวของคนที่รักการทำงานหัตถศิลป์ พวกเขา นำองค์ความรู้และฝีมือมาสร้างผลงานเพื่อสื่อสารและให้ผู้คนได้ใช้งาน
“Social Craft Network”
คำว่า Network หรือเครือข่ายของกลุ่มคนทำงานคราฟต์ ถูกพูดถึงในหนังสือ “SACICT CRAFT TREND 2018” ซึ่งถูกพูดไว้ได้ลึกกว่าประเด็น ‘โลกออนไลน์และออฟไลน์’ เพราะ Social Craft Network ในความหมายของ SACICT คือแนวคิดที่บอกเล่าถึงการรวมกลุ่มในสไตล์นอกกรอบ คือเอาคนที่มีความถนัดต่างกันแต่มีใจรักในงานคราฟต์เหมือนกันมาทำงานและสร้างงานหัตถศิลป์ร่วมกัน มันจึงเกิดเน็ตเวิร์คการทำงานแบบข้ามสายอาชีพ ข้ามความถนัด ข้ามพื้นที่ เพื่อให้ได้ผลงานที่แปลกตาและมีเอกลักษณ์อันเกิดจากการผสมผสานตัวตนของคนหลายแบบ โต๊ะหนึ่งตัว อาจจะเกิดจากการร่วมมือของดีไซน์เนอร์ญี่ปุ่น ช่างไม้อยุธยา ชุมชนผ้ามัดย้อมในเชียงใหม่ SACICT จึงเป็นเสมือนแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงเหล่า Craft-man ในภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันมีคนที่รักในงานหัตถศิลป์สมัครเข้ามาร่วมทำงานกับ SACICT กว่า 1,500 ราย และมี Projects ที่เกิดขึ้นและกำลังรันอยู่กว่า 60 โครงการ ทั้งงานดั้งเดิม งานร่วมสมัย งานองค์ความรู้ งาน Innovative Craft (นวัตศิลป์) รวมถึงงานด้านการตลาด ชุมชนหัตถกรรม 18 ชุมชนทั่วประเทศที่กำลังร่วมกันทำงานกับ SACICT แบบครบวงจร
หากใครยังไม่ทราบ อันที่จริง SACICT นั้นก็คือองค์กร ศ.ศ.ป. หรือศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 ส่วนชื่อ SACICT นั้นมาจากชื่อเต็มภาษาอังกฤษว่า “The Support Arts and Craft International Centre of Thailand” ชื่อย่ออ่านพ้องเสียงกับคำภาษาไทยว่า ‘ศักดิ์สิทธิ์’
ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่ SACICT ได้ขับเคลื่อนโครงการ “SACICT CRAFT TREND” จากประสบการณ์และองค์ความรู้ที่สั่งสมมาตลอด 14 ปี ต้องบอกตามตรงว่าเราดีใจและรู้สึกภาคภูมิที่ได้เห็นองค์การมหาชนไทยแท้ที่พัฒนาตัวเองเพื่อให้ก้าวทันกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่งที่จะส่งเสริมและให้ความรู้แก่แวดวงหัตถกรรมไทย และยังพยายามสร้างเน็ตเวิร์คทเพื่อเชื่อมโยงคนมีความรู้จากหลากหลายถิ่นแต่สนใจในงานหัตถศิลป์ให้มาอยู่ร่วมกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเล็กๆ นี้ให้เติบโต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ดีไซน์เนอร์ นักการตลาด ชุมชนช่างฝีมือและแหล่งวัตถุดิบ อีกทั้งยังมีการใช้พลังจากแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสื่อสารผลงานออกไปสู่สายตาชาวไทยและชาวโลก เป็นการทำงานอย่างชาญฉลาดที่เชื่อมโยงออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ
ความเก๋ที่เราต้องปรบมือให้อีกอย่างหนึ่งคือ แม้จะมีวิสัยทัศน์ที่เปิดรับโลกดิจิทัลอย่างเต็มที่ แต่ SACICT ก็ ไม่ทิ้งแก่นแห่งความเป็น Craft-man ขององค์กร ยังคงเลือกที่จะทำ ‘หนังสือ Craft Trend’ เป็นรูปเล่มออกมาต่อเนื่องทุกปี
(แม้จะทำเป็น E-book อย่างเดียวก็ทำได้ ประหยัดกว่าด้วย) หนังสือ “SACICT CRAFT TREND 2018” จึงไม่ใช่แค่หนังสือ แต่เป็นผลงานหัตถกรรมที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งอนาคตของวงการหัตถกรรมไทยที่คุณไม่ควรพลาดที่จะหามาติดบ้านไว้สักเล่ม
หากคุณสนใจหนังสือ “SACICT CRAFT TREND 2018” เล่มนี้ สามารถโทรติดต่อได้ที่ 1289 หรือ Facebook.com/sacict
ดาวน์โหลด E-book ได้ที่ www.sacict.net/scripts/news_sub.php?id=1439