เพื่อมหานครของชาวไทย! กฟน. ปั้น ‘MetGE’ ปูเทคโนโลยีรับไลฟ์สไตล์คนเมือง

  • 126
  •  
  •  
  •  
  •  

ยิ่งเรามีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาเติมเต็มไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัลมากเท่าไหร่ “พลังงานไฟฟ้า” ก็กลายเป็นสิ่งจำเป็นเท่านั้น…ไม่แพ้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ทุกคนต้องการพกติดตัวตลอดเวลาหรอก! ล่าสุด การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ประกาศยกระดับรูปแบบการให้บริการ สู่องค์กรชั้นนำด้านการควบคุมและจัดการระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแห่งอนาคต ภายใต้แนวคิด “the MetGE” (เดอะเมตช์) เพื่อเอาใจผู้บริโภคในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ

“วิสัยทัศน์ที่ กฟน. ยึดถือมาตั้งแต่อดีตคือการบริหารจัดการพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานในเมืองหลวง แต่ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไป เราจึงมุ่งยกระดับการให้บริการเพื่อสร้าง Smart Metro มหานครแห่งอนาคต ในฐานะผู้ดูแลระบบไฟฟ้าพื้นที่เมืองหลวงจึงถือเป็นความท้าทายของ กฟน. ในการบริหารจัดการพลังงานเพื่อตอบสนองชีวิตที่เร่งรีบด้วยรูปแบบที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อคนเมือง จึงเป็นที่มาของ the MetGE ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์และการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดำเนินชีวิตคนเมืองได้อย่างลงตัว” ชัยยศ พัวพงศกร ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง อธิบายถึงแนวคิดของ the MetGE

สำหรับรายละเอียดของ the MetGE ตามแนวคิดของ กฟน. มาจาก Metro Grid Enabler เป็นการใช้นวัตกรรมล้ำสมัยเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มั่นคง ภายใต้หน้าที่กำกับ ดูแล ให้คำปรึกษา อนุญาตการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ควบคุมระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ พร้อมรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานสู่รูปแบบ Smart Metro มหานครแห่งอนาคต เพื่อสนับสนุนแนวคิดประเทศไทย 4.0 ภายใต้การดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่…

19553551_10203312050399916_1014755389_n

1. Smart Metro

แนวคิดดังกล่าวจะเปลี่ยน กรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งอนาคตด้วยการเข้าถึงสถิติการใช้ไฟฟ้าของอาคารต่างๆ แบบเรียลไทม์ พร้อมเก็บสถิติการใช้ไฟฟ้ามาวิเคราะห์เพื่อสะดวกต่อการบริหารจัดการพลังงาน โดยจะมีการนำร่องภายในพื้นที่ถนนพญาไท ถนนเพชรบุรี ถนนรัชดาภิเษก และถนนพระราม 4 เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และแหล่งธุรกิจท่องเที่ยว จึงเหมาะสมกับการนำร่องด้วยระบบ Smart Metro Grid ซึ่ง กฟน. มั่นใจว่าแตกต่างกับองค์กรด้านพลังงานต่างๆ

2. Smart Metro Solar

จากแนวคิดที่ว่า…เมืองหลวงไม่เหมาะสมกับพลังงานทางเลือกอย่าง Solar Rooftop เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ แต่ กฟน. คิดต่างและมั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้อย่างลงตัว ด้วยการติดตั้งแผง Solar รูปทรงแนวตั้งที่สอดรับกับสถาปัตยกรรมของอาคารในเขตเมือง และจะสามารถออกแบบให้สร้างพลังงานทดแทนได้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานของแต่ละอาคาร

19551204_10203312053519994_208342635_n

3. Smart Super EV Multi Charging Port

เนื่องจากรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV : Electric Vehicles) กำลังได้รับความสนใจ กฟน. จึงมีแนคิดสร้างสถานีขาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงออกแบบการติดตั้งและพัฒนาแบตเตอรี่ โดยชูจุดเด่นสามารถให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าได้ทุกแบรนด์เพื่อลดข้อจำกัดในการใช้บริการจากหัวชาร์จไฟฟ้าที่แตกต่างกัน

4. Smart Super EV Application

เพื่อเป็นการต่อยอดจากบริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า กฟน. ยังมีแนวคิดในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยเน้นฟังก์ชั่นการใช้งานที่เป็นประโยชน์ อาทิ ค้นหาสถานีชาร์จที่ใกล้และมีหัวชาร์จว่างพร้อมให้บริการได้ทันที , ระบบจองหัวชาร์จไฟฟ้าล่วงหน้า เพื่อความสะดวกในการรับบริการ , ชำระค่าธรรมเนียมผ่านระบบรับชำระทางมือถือ , แสดงตำแหน่ง สถานะ และวิเคราะห์พลังงานของรถ หรือระบบควบคุมรถยนต์ไฟฟ้าทางไกล เพื่อบังคับรถยนต์ได้โดยไม่ต้องขับขี่เอง เป็นต้น

นอกจากแนวคิด the MetGE กฟน. ยังคงสานต่อโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน พร้อมตั้งเป้าแล้วเสร็จภายใน 5 ปี ตามแนวคิดของนายกรัฐมนตรี โดยปัจจุบัน กฟน. ดำเนินการแล้วเสร็จในหลายพื้นที่แล้ว อาทิ ถนนสีลม ถนนสุขุมวิท ถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และอื่นๆ ทำให้ถนนดังกล่าวเหลือเพียงสายสื่อสารที่ยังอยู่บนดิน ซึ่งจากนี้ กฟน. ได้เตรียมดำเนินการอย่างต่อเนื่องในถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 3 และถนนศรีอยุธยา อีกด้วย.

 


  • 126
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน