‘VG for Love’ ลุยตลาด Plant Based ในฐานะแบรนด์ไทยรายแรกที่ได้ขายผ่าน 7-Eleven กับกลยุทธ์ Ready to Eat เริ่มต้นที่ 39 บาท

  • 15
  •  
  •  
  •  
  •  

VG for Love-01

ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเทรนด์รักสุขภาพหรือรักโลก แต่ดูเหมือนกระแส Plant Based จะได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวัน นั่นยิ่งทำให้แต่ละแบรนด์ต้องเพิ่มสีสันและงัดจุดเด่นออกมาสู้ศึกอย่างเต็มที่ รวมถึง ซีพีแรม (CPRAM) ที่กระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นรายล่าสุดในตลาด Plant Based ประเทศไทย ผ่านแบรนด์ใหม่ ‘VG for Love’

 

วิเคราะห์ความได้เปรียบ CPRAM ในธุรกิจ Plant Based

ในฐานะที่ CPRAM เป็นผู้ผลิตอาหาร Ready to Eat ซึ่งปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ อาหารและเบเกอรี่ การเข้าสู่ธุรกิจ Plant Based จึงให้ความได้เปรียบในแง่ของการผลิต เพราะมีโรงงานพร้อมรองรับอยู่แล้ว รวมถึงการมีช่องทางขายที่ได้เปรียบอย่างร้าน 7-Eleven ช่วยสนับสนุนโอกาสการขายก็ยิ่งทำให้แบรนด์ VG for Love น่าจะทำตลาดได้ง่ายและแจ้งเกิดได้ไวกว่าแบรนด์อื่น

โดย คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เล่าว่า กระบวนการผลิตสินค้าของ VG for Love จะใช้โรงงานที่มีอยู่เดิมกว่า 15 แห่ง เป็นฐานผลิตได้เลย เพียงแยกกระบวนการผลิตอย่างชัดเจนระหว่างสินค้ากลุ่ม Plant Based และอาหารปกติที่มีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ เพื่อให้ได้มาตรฐานของอาหารและความสบายใจของผู้บริโภค โดยในปีนี้ CPRAM ได้ลงทุนราว 2,660 ล้านบาท สร้างโรงงานแห่งที่ 16 เพื่อเป็นโรงงานเบเกอรี่แห่งใหม่ใน จ.ชลบุรี มีกำลังผลิตสูงสุด 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน หรือ 20,000 ตันต่อเดือน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการได้ภายในกลางปี 2565

ดังนั้น การเข้าสู่สนาม Plant Based ของ CPRAM จึงสามารถเดาได้ว่า VG for Love จะเสิร์ฟถึงมือผู้บริโภคในรูปแบบ Ready to Eat เท่านั้น เพราะธุรกิจของ CPRAM ทั้งอาหารและเบเกอรี่ที่มีอยู่ตอนนี้ก็เป็นแบบพร้อมกิน ไม่มีรูปแบบอื่น

VG for Love-02

VG for Love กับการเป็นแบรนด์ ‘4 รัก’

ภาพลักษณ์ของ VG for Love คือ การเป็นแบรนด์ Plant Based ที่มีแนวคิดพัฒนาสู่ความยั่งยืน ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับ CPRAM ดังนั้น คอนเซปต์ของแบรนด์จึงมาในรูปแบบ 4 ความรัก คือ รักสุขภาพ รักชีวิตสัตว์ รักสิ่งแวดล้อม และรักโลก ทั้งยังเชื่อมโยงถึงแพ็กเกจจิ้งที่มาในคอนเซปต์ The Blue Planet กล่องสีฟ้า ฝาปิดสีขาว สื่อถึงโลกซึ่งเป็นดาวเคราะห์สีฟ้าดวงเดียวในสุริยจักรวาลเมื่อมองจากนอกโลก

 

แข่งขันในตลาดต้องใช้ ‘ความหลากหลาย’ สร้างความได้เปรียบ

การทำตลาดของ VG for Love มีกลุ่มเป้าหมาย 2 ประเภท คือ ผู้บริโภคพืชเป็นหลัก (Plant Based Diet) และผู้บริโภคพืชยืดหยุ่นเป็นบางมื้อ (Flexitarian) แต่ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคอาหารประเภทนี้มีความต้องการแตกต่างกันไป ทางแบรนด์จึงเลือกทำอาหารตามความต้องการบริโภคโดยแบ่งเป็น PBD Mark (Plant Based Diet) 5 ประเภท 5 หมายเลข ตามพฤติกรรมการบริโภคพืช คือ

หมายเลข 1 อาหารเจ (Vegan-J)

หมายเลข 2 อาหารวีแกน (Vegan)

หมายเลข 3 อาหารมังสวิรัติกับนม (Lacto Veggie)

หมายเลข 4 อาหารมังสวิรัติกับไข่ (Ovo Veggie)

หมายเลข 5 อาหารมังสวิรัติกับนม และไข่ (Lacto-Ovo Veggie)

พร้อมกับเปิดตลาดด้วย 10 เมนูเปิดตัว คือ ข้าวกะเพราะหมูพีบี, ข้าวกะเพราหมูพีบีไข่ดาว, ข้าวคะน้าหมูกรอบพีบี, ข้าวผัดกะเพราขี้เมาเห็ดออรินจิพีบี, ข้าวผัดแกงเขียวหวานไก่พีบี, ข้าวผัดเห็ดออรินจิพีบี, ข้าวลาบหมูพีบี, บะหมี่แห้งปลาเส้นทอดพีบี, สปาเก็ตตี้ขี้เมาเห็ดออรินจิพีบี, สปาเก็ตตี้พอร์คบอลพีบี

“การเปิดตัว 10 เมนูพร้อมกัน ถือเป็นการสร้างความหลากหลายให้ผู้บริโภค เหมือนเป็นร้านข้าวแกงที่ต้องทำเมนูให้หลากหลาย ดูน่ากิน มีตัวเลือกเยอะไม่ทำให้ลูกค้าเบื่อ และเราต้องการช่วยให้ผู้คนได้อิ่มในราคาคุ้มค่า จึงทำราคาขายที่ 39-45 บาท ไม่ใช่แค่ช่วยลดค่าครองชีพแต่ยังขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้วิกฤตที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจซึ่ง CPRAM ก็ได้รับผลกระทบ แต่เรามั่นใจว่าในไตรมาส 3 ของปีนี้ เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว” กรรมการผู้จัดการ CPRAM กล่าว

คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู
คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด

ขณะนี้ VG for Love เริ่มทำตลาดแล้ว โดยวางขายผ่านแม็คโคร (บางสาขา) และ 7-Eleven ออนไลน์ ส่วนการขายผ่านร้าน 7-Eleven นั้น คาดว่าจะเริ่มขายตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งจะทำให้ VG for Love กลายเป็น Plant Based ในรูปแบบ Ready to Eat แบรนด์ไทยรายแรก ที่ได้วางขายผ่านร้าน 7-Eleven ซึ่งทาง CPRAM คาดการณ์รายได้ไว้ที่ 120 ล้านบาทในปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2566

โดย กรรมการผู้จัดการ CPRAM ยังเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันตลาด Plant Based ในประเทศไทยยังอยู่ในขั้นสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค เพราะตอนนี้ผู้คนบางส่วนยังสับสนว่า Plant Based คืออะไร เหมือนกับอาหารเจหรือไม่ จึงเชื่อว่ายังมีโอกาสให้ตลาดเติบโตได้อีกมาก จากปัจจุบันที่ CPRAM มีสัดส่วนรายได้จากสินค้ากลุ่มอาหาร 67% และกลุ่มเบเกอรี่ 33% แต่เชื่อว่าในอีก 3 ข้างหน้า จะมีสัดส่วนรายได้จากเมนู Plant Based ไม่ต่ำกว่า 20% ของรายได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 CPRAM มีรายได้ต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ โดยอยู่ที่ 19,373 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ที่ 19,922 ล้านบาท แต่จากการเปิดตัวสินค้ากลุ่มใหม่อย่าง Plant Based และแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น จึงคาดว่ารายได้ในปี 2564 ของ CPRAM จะปรับตัวขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% หรืออยู่ที่ 21,310 ล้านบาท


  • 15
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน