กำไร 5,645 ล้านบาท! “CPALL” จบไตรมาสแรกไม่แคร์ COVID-19 ยอมรับรายได้หลักจาก 7-Eleven ลด

  • 370
  •  
  •  
  •  
  •  

CPALL
Credit : Love Solutions / Shutterstock.com

ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เราได้เห็นข่าวปิดกิจการ ธุรกิจขาดทุน นับไม่ถ้วนในแต่ละอุตสาหกรรม แต่ไม่ใช่กับยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL”

เพราะจากข้อมูลผลประกอบการประจำไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่ง CPALL รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า… ไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,645,110,000 ล้านบาท จากรายได้รวมของบริษัทและบริษัทย่อย ทั้งหมด 145,856 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า “จากการขายและบริการของธุรกิจร้าน 7-Eleven สาขาใหม่ที่เปิดในรอบปีที่ผ่านมา และรายได้จาก สยามแม็คโคร ซึ่งขายและให้บริการธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าระบบสมาชิกแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง”

COVID-19 กระทบธุรกิจตั้งแต่ ก.พ.

อย่างไรก็ตาม CPALL เปิดเผยรายละเอียดว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อบริษัทและบริษัทย่อยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเดือนมีนาคมต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันจากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคจากรัฐบาล

7-Eleven 01
Credit : Seika Chujo / Shutterstock.com

“ยังกำไร” แต่ลดลงเล็กน้อย

แม้ว่าไตรมาสแรกของปีนี้ CPALL จะสามารถทำกำไรได้ 5,645 ล้านบาท แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นกำไรที่ลดลงจากเดิมราว 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ด้วยสาเหตุจาก…รายได้จากธุรกิจร้าน 7-Eleven เติบโตในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย รวมถึงดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นจำนวน 308 ล้านบาท

เนื่องจากมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งส่วนของการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารอยู่ที่ 27,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากปีก่อน แบ่งเป็น…ค่าใช้จ่ายกลุ่มต้นทุนในการจัดจำหน่าย 22,879 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 4,428 ล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการขยายสาขา การบริหารจัดการร้านจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจระยะเริ่มต้นของสยามแม็คโครในประเทศจีนและเมียนมา

7-Eleven 02
Credit : O n E studio / Shutterstock.com

รายได้หลักมาจากร้าน 7-Eleven

เมื่อแบ่งรายได้ตามสัดส่วนธุรกิจ จะพบว่า…รายได้จากธุรกิจร้าน 7-Eleven และธุรกิจอื่น คิดเป็น 64% และเป็นรายได้จากธุรกิจค้าส่งแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง 36% ซึ่ง “รายได้จาก 7-Eleven มีสัดส่วนลดลง” เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ภายในไตรมาสที่ 1/2563 มีการเปิดร้าน 7-Eleven สาขาใหม่รวม 271 สาขา ทำให้สิ้นไตรมาสนี้มีจำนวนสาขาทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 11,983 สาขา แบ่งเป็นร้านสาขาบริษัท 5,401 สาขา คิดเป็น 45% (เปิดใหม่ในไตรมาสนี้ 186 สาขา) และร้าน SBP (Store Business Partner) และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 6,582 สาขา คิดเป็น 55% (เปิดใหม่ในไตรมาสนี้ 85 สาขา) โดยร้านสาขาส่วนใหญ่ยังเป็นร้านที่ตั้งเป็นเอกเทศ คิดเป็น 85% ของสาขาทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นร้านในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

โดยในไตรมาส 1/2563 ร้าน 7-Eleven มีรายได้รวม 82,885 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า 2,112 ล้านบาท หรือ 2.6% แม้ยอดขายเฉลี่ยของร้านเดิมจะลดลง 4% เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ส่งผลให้มียอดขายเฉลี่ย 78,872 บาทต่อร้านต่อวัน ยอดซื้อ 70 บาทต่อบิล และจำนวนลูกค้าเฉลี่ย 1,122 คนต่อสาขาต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางและขอให้อยู่แต่ที่พักอาศัย โดยเมื่อคิดเป็นกำไรสุทธิแล้ว จะเท่ากับ 3,845 ล้านบาท ลดลง 4.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ส่วนรายได้จากการขายสินค้านั้น กลุ่มอาหารและสินค้าอุปโภค ไม่รวมบัตรโทรศัพท์ ยังคงเติบโตในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้ากลุ่มอาหารมีอัตราการเติบโตสูงกว่าสินค้าอุปโภค จากอาหารพร้อมทาน อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง และเครื่องดื่ม โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนการขาย 70.8% ขณะที่ สินค้าอุปโภคไม่รวมบัตรโทรศัพท์อยู่ที่ 29.2%


  • 370
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน