เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญ โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย จึงต้องช่วยบรรเทาปัญหาของลุ่มน้ำไทย

  • 10.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

ทรัพยากรน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศลุ่มน้ำ มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักซึ่งต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันปริมาณน้ำกลับไม่เหมาะสมทั้งในด้านการเกษตร อุปโภคและบริโภค ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการไม่ดูแลรักษาทรัพยากรน้ำที่ถูกต้อง รวมไปถึงการใช้น้ำอย่างไม่รู้คุณค่า ส่งผลให้ในหลายลุ่มน้ำของไทยประสบปัญหาทรัพยากรน้ำ ไม่เพียงแต่เฉพาะแหล่งน้ำที่สามารถเห็นได้ แต่ยังรวมไปถึงแหล่งน้ำที่อยู่ในชั้นใต้ดินก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาทรัพยากรน้ำด้วยเช่นกัน

กลุ่มธุรกิจ TCP ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์กระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ โสมพลัส สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ และซันสแนค เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องทรัพยากรน้ำ จึงได้เกิดโครงการ “TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย” โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยมุ่งหวังให้ชุมชนได้มีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค บริโภค และการเกษตรอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน ทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนขององค์กร ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำ

คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP ชี้ว่า เพราะผลิตภัณฑ์ของเราใช้น้ำเป็นวัตถุดิบสำคัญ การกำหนดนโยบายเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำจึงเป็นการสร้างการเติบโตของธุรกิจไปพร้อม ๆ กับการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ยังเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่เกี่ยวข้องกับน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและปัญหาน้ำแล้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

สำหรับครั้งนี้ โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย นำร่องโครงการด้วยการลงพื้นที่ บ้านแม่ขมิง จ. แพร่ ร่วมกับพันธมิตรผู้มีความเชี่ยวชาญ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.) และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) สสน.พร้อมด้วยเครือข่ายชุมชนบ้านแม่ขมิง จ. แพร่ และจิตอาสาภายในกลุ่มธุรกิจ TCP เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดแพร่ พร้อมทำกิจกรรมปรับปรุงระบบส่งน้ำ อันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้านนา ที่ใช้ผันน้ำจากแหล่งน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเรียกว่า “แตต๊าง” รวมถึงการสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านการเรียนรู้ในเรื่องเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่

พื้นที่ของลุ่มน้ำยมเป็นพื้นที่ลาดชัน เมื่อน้ำไหลลงมาจะมีความเร็วและแรงก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรง ขณะที่ในช่วงหน้าแล้งด้วยปริมาณน้ำที่ไหลออกไปหมด จึงทำให้ลุ่มน้ำยมขาดการกักเก็บน้ำ ทั้งการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้การจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ ทั้งในเรื่องของการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง รวมไปถึงการขุดลอกคูคลองเพื่อใช้กักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้ง และยังเป็นการลดปัญหาน้ำท่วมได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น “แตต๊าง” เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้านนา เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำด้วยการรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำ กระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดจนการใช้น้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ ทั่วถึง และเท่าเทียมกัน แตต๊าง จึงเป็นหนึ่งในวิธีการบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเอง

สำหรับโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยกำหนดเป้าหมายไว้ 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2566 ใน 6 จังหวัด 2 ลุ่มน้ำ ทั้งจังหวัดแพร่ จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิจิตร บนพื้นที่ลุ่มน้ำยม และจังหวัดสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก บนพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรี โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนมีน้ำใช้เพิ่มขึ้น 12 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ และคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยให้ชุมชนในทั้ง 2 ลุ่มน้ำ กว่า 16,000 ครอบครัว ได้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคอย่างเพียงพอและยั่งยืน


  • 10.8K
  •  
  •  
  •  
  •