“พื้นชีพประกวดวงดุริยางค์” คิง เพาเวอร์ ผนึกกำลังวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหิดล จัดงานประกวดวงเครื่องเป่าระดับนานาชาติ ป้อนเยาวชนสู่ตลาดดนตรีสากล

  • 6
  •  
  •  
  •  
  •  

image2

กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ บริษัทธุรกิจสินค้าปลีกปลอดภาษีของไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดการประกวด ‘โครงการประกวดดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย’ ประจำปี 2561 (Thailand International Wind Symphonic Competition 2018-TIWSC)

โครงการประกวดดุริยางค์ฯ เปิดโอกาสให้วงดุริยางค์ประเภทเครื่องเป่า ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก เข้าร่วมแข่งขันซึ่งเวทีนี้ถือเป็นส่วนสำคัญ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางดนตรีและวัฒนธรรมจากนานาชาติ รวมทั้งยังเป็นก้าวสำคัญของเยาวชนไทย ในการพัฒนาตัวเองและฝึกฝนจนกลายเป็นนักดนตรีระดับแนวหน้า ทั้งในประเทศและก้าวไปสู่ระดับสากลในอนาคต

image5

คุณอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ กล่าวว่า การแข่งขันประกวดระดับนานาชาติครั้งนี้ เกิดจากองค์กรมีวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่นในการส่งเสริมช่วยเหลือสังคมภายใต้แนวคิด ‘King Power Thai Power พลังคนไทย’ ส่งเสริมกิจกรรมทางดนตรีซึ่งเป็น 1 ใน 4 โครงการหลักเพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ ทั้ง 1) กีฬา 2) ดนตรี 3) ชุมชน และ 4) ด้านสุขภาพและการศึกษา

การจุดประกายครั้งนี้เกิดจากการเฝ้าสังเกตการณ์วัฒนธรรมทางดนตรีที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน แต่ในเรื่องของการให้การส่งเสริมสร้างเวทีประกวดยังเห็นภาพไม่ชัด จึงอยากผลักดันวงการดนตรีประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น เพราะเชื่อว่าศักยภาพทางดนตรีของไทยไม่แพ้ชาติอื่นอย่างแน่นอน

“ดนตรีเปรียบเสมือนภาษากลางของทั่วโลก แม้ไม่เข้าใจในภาษา แต่เราสามารถใช้ท่วงทำนองในการสื่อสาร ส่งต่อความรู้สึกได้ ซึ่งจุดเด่นตรงนี้เราสามารถเผยแพร่วัฒนธรรมสู่สากลให้รู้จักประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น”

ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ สร้างมาตรฐานงานประกวดวงดุริยางค์ให้แข็งแรง ภายใน 5-10 ปีข้างหน้าหากได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ จะส่งผลต่อประเทศไทยในทิศทางที่ดี นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจรวมทั้งการท่องเที่ยว เป็นต้น

ส่วนภาพรวมของตลาดแรงงานนักดนตรี เราจะพบว่าทั้งไทยและต่างประเทศบางประเทศ เจอภาวะขาดแคลนนักดนตรี เพราะนักดนตรีแต่ละประเภทไม่สามารถสอนข้ามสายกันได้ เช่น คนที่เล่นแซกโซโฟน อาจไม่สามารถสอนคนเป่าทรัมเป็ตได้ ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้จะช่วยสร้างความสนใจ ให้คนที่ชื่นชอบดนตรีหันมาเรียนดนตรีให้เป็นวิชาชีพมากขึ้น

image4

โครงการประกวดดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย จะจัดขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยเริ่มจากประเภทเครื่องเป่า ซึ่งในปีต่อๆ ไป อาจเพิ่มประเภทของเครื่องดนตรีเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยในปีนี้จะมีวงดุริยางค์เข้าร่วมสมัครกันถึง 79 วงทีเดียว ในจำนวนนี้มีวงดนตรีจากต่างชาติเข้าร่วมงาน 5 วงด้วยกัน

ย้อนกลับไปการจัดการประกวดฯ ครั้งที่ 1-14 ที่มีชื่อว่า Thailand International Wind Ensemble Competition – TIWEC แม้จะได้รับความสำเร็จด้านการให้ความสนใจในระดับนานาชาติ แต่ต้องใช้เงินทุนมหาศาลเพื่อให้งานเกิดขึ้นทำให้ขาดช่วงไป การร่วมลงนามครั้งนี้เสมือนเป็นการปลุกชีวิตให้งานประกวดประเภทนี้กลับมาอีกครั้ง

สำหรับงานประกวดดุริยางค์ฯ ครั้งนี้ จะมีขึ้นในวันที่ 19-22 มีนาคม รอบตัดสิน 24 มีนาคม โดยคัดเลือกแต่ละคลาสให้เหลือ 5 วง ที่หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีเงินรางวัลถึง 4,330,000 บาท

ตารางการแข่งขันงานประกวดดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติแห่งประเทศไทย มีดังนี้

  • วันที่ 19 มีนาคม 2561 รุ่น D แข่งทั้งหมด 12 วง เวลา 09.00-17.00 น.
  • วันที่ 20 มีนาคม 2561 รุ่น C แข่งทั้งหมด 21 วง เวลา 09.00-17.00 น.
  • วันที่ 21 มีนาคม 2561 รุ่น B แข่งทั้งหมด 9 วง เวลา 09.00-17.00 น.
  • วันที่ 22 มีนาคม 2561 รุ่น A แข่งทั้งหมด 7 วงเวลา 09.00-17.00 น.

image3


  • 6
  •  
  •  
  •  
  •  
Roboots
Tech Savvy Lv.14