ยังไหวอยู่ไหม? ‘Dean & DeLuca’ ทยอยปิดสาขา พร้อมหนี้ค้างจ่ายยาวเป็นหางว่าว!

  • 2.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ ‘เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น’ ท่ามกลางวิกฤติการเงินที่ยังตึงมือ ธุรกิจในเครืออย่าง Dean & DeLuca ที่ดำเนินกิจการในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มทยอยปิดตัว

ส่วนในประเทศไทย ที่เพิ่งปิดตัวไป คือ สาขาต้นแบบอย่าง Dean & DeLuca สาขามหานครคิวบ์ ที่ให้บริการวันสุดท้ายเมื่อ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยทางร้านให้เหตุผล “เนื่องจากสัญญาเช่าที่สิ้นสุดลง”

สำหรับในสหรัฐอเมริกานั้น นับตั้งแต่ เพซ ดีเวลลอปเมนท์ฯ​ ที่มี สรพจน์ เตชะไกรศรี นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ซื้อกิจการกูร์เมต์ระดับตำนานแห่งนิวยอร์กอย่าง ​Dean & DeLuca มาในราคา 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4,200 ล้านบาท เมื่อปี 2014 หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็เริ่มเห็นสัญญาณไม่ดีเกี่ยวกับปัญหาการเงินและหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นการถอนตัวจากการเป็นสปอนเซอร์ชิปรายการต่างๆ รวมถึงการปิดสาขาที่นอร์ธ แคโรไลน่า แคนซัส และ แมรี่แลนด์ 

โดยล่าสุด ก็เพิ่งจะปิดไปอีก 2 สาขาอย่างเงียบๆ คือ ที่ Napa Valley ในแคลิฟอร์เนีย และที่แมนฮัตตันฝั่งอัพเพอร์อีสต์ไซด์ ทำให้ปัจจุบัน Dean & DeLuca ในสหรัฐอเมริกา เหลือเพียง 7 สาขา 

นอกจากนี้บริษัทฯ ได้คอนเฟิร์มข่าวกับทาง “นิวยอร์กไทม์ส” แล้วว่า เตรียมจะปิดเพิ่มเติมอีกหนึ่งสาขา คือ STAGE ที่แมนฮัตตัน ที่เพิ่งทุ่มทุนสร้างและเปิดให้บริการได้เพียง 3 เดือน โดยนิวยอร์กไทม์ส ได้ประเมินต้นทุนสำหรับสาขานี้ว่าทะลุหลักล้านดอลลาร์ แถมด้วยทำเลที่เป็นย่านใจกลางเมืองที่เชื่อว่า น่าจะต้องจ่ายค่าเช่าอีกราว 250,000 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือกว่า 7,500,000 บาท

สรพจน์ ได้ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทม์ส เกี่ยวกับการปิดตัวในบางสาขาของ Dean & DeLuca ว่า ที่ผ่านมา นอกเหนือจากเงิน 140 ล้านดอลลาร์ที่ใช้ไปเพื่อซื้อกิจการของ Dean&DeLuca แล้ว ทางเพซฯ​ ยังได้ใช้เงินไปกว่า 100 ล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงกิจการของร้านในสหรัฐอเมริกา โดยเขายอมรับว่า เพซฯ ได้ประสบปัญหา “สภาพคล่อง” ตั้งแต่เข้าซื้อกิจการ แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะฝ่าวิกฤติไปให้ได้โดยที่ผ่านมาได้ทำการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มทุนไปแล้ว

เขากล่าวว่า บริษัทมีแผนจะเพิ่มเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อนำเงินมาแก้ปัญหาทางธุรกิจ และพร้อมกันนี้ ก็จะทยอยจ่ายเงินที่ค้างไว้ให้กับคู่ค้าได้ในเดือนสิงหาคม

ทั้งนี้ จากเป้าหมายที่ทางเพซ​ฯ​ได้วางไว้ คือต้องการจะขยายสาขาจำนวนมาก แต่เมื่อมาถึงตรงนี้ เขายอมรับว่า อาจจะต้องมีการลดขนาดธุรกิจลงเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

และในส่วนของสาขา STAGE ที่แมนฮัตตัน ซึ่งเป็นสาขาต้นแบบตามแผนการรีแบรนดิ้งนั้น แม้ความตั้งใจแรกของเขาจะยังคงยืนยันที่จะเปิดให้บริการต่อไป แต่ก็ดูเหมือนว่าจะสุดยื้อ และจะต้องปิดตัวลงเช่นกัน โดยจะทำย้ายคอนเซปต์การตกแต่งอย่างที่ STAGE ไปไว้ที่สาขาแห่งใหม่ในแมนฮัตตัน แต่ยังไม่สามารถระบุเวลาการเปิดที่แน่ชัดได้ 

Dean and DeLuca “Stage” ที่แมนฮัตตัน ซึ่งเตรียมตัวจะถูกปิดเป็นรายต่อไป (รูป : nytimes)

นอกจากการปิดสาขาแล้ว นิวยอร์คไทม์ส ยังรายงานว่า บริษัทฯ ยังมีปัญหาค้างหนี้ที่ต้องจ่ายแก่ซัพพลายเออร์วัตถุดิบที่นำมาทำอาหาร ขนมปังและเบเกอรี่ โดยเมื่อคิดรวมๆ แล้ว ร้าน Dean & DeLuca ค้างจ่ายเงินแก่คู่ค่ารายย่อยหลายในนิวยอร์กรวมกันเป็นเงินกว่าแสนดอลลาร์สหรัฐ 

ไม่ว่าจะเป็นการค้างจ่ายร้านเบเกอรี่ที่ขึ้นชื่อเรื่องครัวซองต์อย่าง Bien Cuit ในบรุกลินเป็นเงิน 56,000 ดอลลาร์ ค้างจ่ายร้านมาการองชื่อดังอย่าง Colson Patisserie อีก 24,000 ดอลลาร์ และยังมีร้านเค้ก Amy’s Bread ที่ยังไม่ได้รับเงินที่ค้างอยู่อีก 51,000 ดอลลาร์

คู่ค้าอีกหนึ่งรายอย่าง Eleni Gianopulos แห่งร้าน Eleni’s Cookies ที่เพิ่งฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการค้างจ่ายของร้าน Dean&Deluca คิดเป็นเงิน 86,000 ดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปิดสาขาว่า มันเป็นเรื่องน่าเจ็บปวด เพราะร้านเค้กและเบเกอรี่หลายๆ ร้านในย่านนี้ ต่างก็โตมาพร้อมกับ Dean & DeLuca เนื่องจากจุดขายของ Dean & DeLuca คือการมีร้านขนมเบเกอรี่ขึ้นชื่อร่วมส่งสินค้ามาวางขายด้วยเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับร้าน แต่ในตอนนี้ เหล่าคู่ค้ากำลังรู้สึกเหมือนถูกทิ้ง

“การได้มีสินค้าของคุณเข้าไปวางขายอยู่ในร้าน มันคือความภาคภูมิใจ เหมือนถูกรางวัล แต่ตอนนี้มันกลับเป็นเหมือนฝันร้าย” เธอกล่าว

ไม่เพียงร้านเบเกอรี่เท่านั้นที่เจอปัญหานี้ เพราะตลาดปลา Fulton Fish Market ก็ยังเป็นเจ้าหนี้ของ Dean & DeLuca อยู่ด้วย โดยทางร้านค้างจ่ายเงินมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คิดเป็นเงินประมาณ 46,588.74 ดอลลาร์

ขณะที่ร้านคู่ค้าบางร้านอย่าง Imperial Dade, the Chefs’ Warehouse, Baldor เริ่มขึ้นบัญชีดำ Dean & DeLuca ไม่ขายของให้กับทางร้านถ้าไม่จ่ายเงินสด 

 

Dean and DeLuca ที่โซโห (รูป : nytimes)

ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารแบรนด์โดย เพซ​ ดีเวลลอปเมนท์ ในปัจจุบัน Dean & DeLuca มีสาขาทั้งสิ้น 82 สาขา เป็นสาขาที่เพซฯ​ เป็นเจ้าของ 100% คือ 6 สาขาในสหรัฐอเมริกา และ 12 สาขาในประเทศไทย

ส่วนสาขาในประเทศอื่นๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา(ฮาวาย) 2 สาขา, ญี่ปุ่น 46 สาขา, เกาหลีใต้ 2 สาขา, สิงคโปร์ 3 สาขา,​ ​คูเวต 2 สาขา, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 สาขา, ฟิลิปปินส์ 3 สาขา, มาเก๊า 1 สาขา, บาร์เรน 1 สาขา,​ ฮ่องกง 2 สาขา และ มาเลเซีย 1 สาขา เป็นสาขาที่เกิดจากการร่วมทุน หรือขายไลเซ่นส์ประกอบกิจการ (ข้อมูล ณ 31 มีนาคม 2562)

Dean & DeLuca สาขามหานครคิวบ์ (ภาพ : เฟซบุ๊ค DEAN & DELUCA Thailand)

จากรายงานชี้แจงผลการดำเนินงานรายได้รวมของ ดีน แอนด์ เดลูก้า ในปี 2561 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 2,434 ล้านบาท โดยลดลงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่ลดลงจากการปิดสาขาของร้านดีน แอนด์ เดลูก้า ในสหรัฐอเมริกา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองเฉพาะกิจการของ บริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจ “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ในประเทศไทยนั้น พบว่า ผลประกอบการเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อ้างอิงจากข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จากรายได้รวมในปี 2559 อยู่ที่ 243,855,929 บาท ขาดทุนสุทธิ 115,262,124 บาท และในปี 2560 มีรายได้รวมที่ 334,890,848 บาท ขาดทุนสุทธิ 130,861,388 บาท

โดยในปี 2561 บริษัทสามารถพลิกกลับมาทำกำไร โดยมีรายได้รวมที่ 503,932,776 บาท มีกำไรสุทธิที่ 15,834,898 บาท 

เกี่ยวกับการบริหารแบรนด์ Dean & DeLuca ที่อยู่ในมือของ เพซฯ​ นั้น เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามที่จะหาพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมขยายกิจการในประเทศต่างๆ ในลักษณะของแฟรนไชส์ ไปจนถึงการร่วมทุน

ไม่ว่าจะเป็นการร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่นตั้ง บริษัท ดีน แอนด์ เดลูก้า คาเฟ่ เจแปน จำกัด การจับมือกับ Kinghill Overseas Holding Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ดำเนินกิจการแฟรนไชส์ของ ดีน แอนด์ เดลูก้า ในสาธารณรัฐประชาชนจีน

ขณะเดียวกันก็ให้สิทธิแฟรนไชส์หลัก ร้าน แฟรนไชส์ ดีน แอนด์ เดลูก้า ในประเทศไทยกับ บริษัท เอ็นพีพีจี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แต่เพียงผู้เดียว

นอกจากนี้ ยังทำสัญญาเพื่อดำเนินกิจการแฟรนไชส์ของ ดีน แอนด์ เดลูก้า กับ Lagardère Travel Retail ในการเปิดและบริหารจัดการร้าน ดีน แอนด์ เดลูก้า ในพื้นที่ค้าปลีกภายในสนามบิน ต่างๆ ทั่วโลกโดยมีเป้าหมายในการขยายสาขา ดีน แอนด์ เดลูก้า 150 สาขา ภายในระยะเวลา 5 ปี

จึงต้องติดตามและรอลุ้นไปด้วยกันว่า ความพยายามที่จะกอบกู้สถานการณ์ในครั้งนี้ จะช่วยคืนชีพให้กูร์เมต์ระดับตำนานกลับมายืนหยัดอย่างมั่นคงได้อีกหรือไม่..

ทั้งนี้ ทางเฟซบุ๊คเพจ DEAN & DELUCA Thailand ได้เข้ามาชี้แจงใน โพสต์ของเฟซบุ๊ค Marketing Oops! ในนามของ ดีน แอนด์ เดลูก้า เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ใจความว่า การดำเนินกิจการของ ดีนแอนด์เดลูก้า ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กับในประเทศไทยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน โดยผลประกอบการของดีน แอนด์ เดลูก้า (ประเทศไทย) ยังคงเป็นไปด้วยดีและมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินกิจการทุกสาขาตามปกติ 

ที่มา : nytimes , pacedev

 


  • 2.4K
  •  
  •  
  •  
  •