แถลงข่าว Google Zeitgeist 2013: เทรนด์และข้อสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคดิจิตอลปีนี้

  • 5
  •  
  •  
  •  
  •  

httpv://youtu.be/Lv-sY_z8MNs

วีดีโอเปิดตัว Google Zeitgeist 2013

 

เมื่อวันที่ 19 Dec ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ Google เสิร์จเอ็นจิ้นยักษ์ใหญ่ระดับโลกประกาศผลสุดยอดคำค้นหาประจำปี 2556 (Google Zeitgeist 2013) เพื่อนำเสนอมุมมองเฉพาะและบทวิเคราะห์ต่อสถานการณ์และเทรนด์ที่มาแรงในปีนี้ โดยตัวแทนจาก Google Inc ระบุว่า คนไทยปี 2013 ยังคงอารมณ์สนุกสนานให้เห็น เนื่องจากคำค้นดาวรุ่งพุ่งแรงประจำปีนี้ (Top trending) ทั้ง 10 อันดับเกี่ยวข้องกับสื่อด้านบันเทิงเกือบหมด โดย “เดี่ยว 10” ของโน้ต อุดม ชักธงนำขบวนเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยอันดับสองในมือคุณชายหมอ  ละครหลังข่าว “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” ตอน “คุณชายพุฒิภัทร” ส่วนอันดับสามตกเป็นของภาพยนตร์พันล้านมากเสียงหัวเราะ “พี่มาก พระโขนง”

 google2

 

ทั้งนี้ ตัวแทนจาก Google อิงค์ แสดงบทวิเคราะห์พฤติกรรมและเทรนด์ผู้บริโภคในหลายๆ หมวด ดังนั้นผู้เขียนจึงคัดเลือกบทวิเคราะห์ในบางหมวดที่คิดว่าน่าสนใจพร้อมเพิ่มเติมความเห็นในบางประเด็นดังต่อไปนี้ครับ

 

*หมายเหตุ: ข้อมูลที่นำเสนอมาจากเว็บ google.com/zeitgeist ของประเทศไทย ซึ่งทางบริษัท google Inc ใช้การเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 Jan 2013 จนถึงปัจจุบัน รวบรวม 10 อันดับคำค้นหาในหมวดหมู่ต่างๆ จากฐานข้อมูลมากกว่า 1 พันรายการ และการค้นหาผ่าน Google มากกว่า 1.3 ล้านล้านครั้งใน 146 ภาษา ครอบคลุมกว่า 72 ประเทศทั่วโลก

 

ทั้งนี้ Google Inc แบ่งหมวดหมู่ใน Zeitgeist ออกเป็น 2 หมวดคือ “ดาวรุ่งพุ่งแรง (Trending)” และ “ค้นหายอดนิยม (Most searched)” โดยความแตกต่างของ 2 หมวดคือ Trending จะใช้วิธีวัดความนิยมโดยเปรียบเทียบกับผลการค้นหาของปีที่แล้วภายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ตัวอย่างเช่น บอย ปกรณ์ กลายเป็นคำค้นหาดาวรุ่งพุ่งแรงประจำปี 2013 ไม่ได้หมายความว่า บอย ปกรณ์ มียอดการค้นหารวมสูงที่สุด แต่เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว บอย ปรณ์ มียอดการค้นหาเพิ่มขึ้นเยอะที่สุดในหมวดนักแสดงชาย ส่วน Most Searched จะเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ คือวัดเฉพาะจำนวนการเสิร์จ ไม่สนใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

 

คำค้นดาวรุ่งพุ่งแรงประจำปี 2013 (Trending)

trending

 

Google Inc ตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยยังคงแสดงความเป็นชาติที่รักเสียงหัวเราะและความสนุกสนาน โดย 10 อันดับค้นหายังคงเป็นสื่อเกี่ยวกับบันเทิงและภาพยนตร์ ที่สำคัญเกือบทั้ง 10 อันดับข้างต้นเป็นสื่อสัญชาติไทยทั้งสิ้น (ยกเว้น iPhone 5s และโดเรม่อน เท่านั้น) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความนิยมในสื่อบันเทิงไทยเป็นความนิยมระดับชาติ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นจะเห็นว่ามีคำค้นหาติดอันดับของต่างประเทศค่อนข้าง Worldwide เช่น Harem Shake หรือ Gangnam style

 

ในส่วนของผู้เขียนเห็นว่า จุดที่น่าสังเกตคือการบุกชาร์จของมิวสิควีดีโอ “ภูมิแพ้กรุงเทพ” อันดับ 8 ของ ป้าง นครินทร์ (Feat. ตั๊กแตน ชลดา) ยอดวิวบนยูทูปราว 41 ล้านวิว และ “แน่นอก” อันดับ 10 ของ 3.2.1 Kamikaze (Feat. ใบเตย อาร์สยาม) ยอดวิวบนยูทูปกว่า 78 ล้านวิว มีนัยสำคัญบางอย่าง เนื่องจากทั้งสองสื่อมีเนื้อหาที่ (เดาว่า) เน้นจับกลุ่มคนต่างจังหวัดมากกว่าคนกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่ ยิ่งเมื่อเทียบกับผล zeitgeist ของปีที่แล้ว เราจะไม่พบสื่อประเภทนี้อยู่ในชาร์จเลย ดังนั้น จึงน่าจะสะท้อนว่าคนต่างจังหวัดของไทยเริ่มเข้าถึงบริการออนไลน์เหล่านี้ได้ผ่านการพัฒนาระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เร็วขึ้น ราคาถูกลง และครอบคลุมมาก อนาคตเราอาจมีโอกาสเห็นคำค้นหายอดฮิตเป็นเพลงลูกทุ่งบ้างก็เป็นได้

 

“ภูมิแพ้กรุงเทพ” ป้าง นครินทร์ (Feat. ตั๊กแตน ชลดา)

httpv://youtu.be/dr-5SO5HgQY

 

“รักต้องเปิด (แน่นอก)” 3.2.1 Kamikaze (Feat. ใบเตย อาร์สยาม)

httpv://youtu.be/ahkGRFhyxx4

 

ละครจอแก้วประจำปี 2013 (Trending) – TV Drama/Series

drama

 ตัวแทนจาก Google Inc วิเคราะห์ว่า เป็นที่น่าชื่นใจที่สังคมไทยให้ความสำคัญกับละครไทย โดยเมื่อพิจารณาทั้ง list จะพบว่าเป็นละครไทยทั้งหมด เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ผลการค้นหายังมีละครเกาหลีเข้ามาแทรกบ้างเป็นบางอันดับ แสดงให้เห็นว่าวงการบันเทิงไทยพัฒนาก้าวหน้า รวมถึงเขตเมืองขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เขียนเปรียบเทียบ “หมวดละครยอดฮิต” ในปีนี้กับ “หมวดรายการทีวียอดนิยม” ของ Zeitgeist 2012 พบว่า รายการทีวีส่วนใหญ่ยังคงเป็นรายการของคนไทยทั้งหมด จึงน่าจะสรุปได้ว่า ความนิยมในรายการของคนไทยมีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และที่น่าสังเกตคือละคร remake อย่าง ทองเนื้อเก้า ยังคงได้รับความนิยมในลำดับที่ 3 รวมถึง ฟ้าจรดทราย ที่รั้งอันดับ 9 แสดงให้เห็นว่าละคร remake ของไทยก็ยังไม่เป็นที่เบื่อหน่ายของสังคม

 

ในอีกทางหนึ่ง การโผเข้ามาเป็นอันดับสองของซีรี่ย์วัยรุ่น “ฮอร์โมน…วัยว้าวุ่น” ผู้สร้างวลีเด็ด “กินสไปรท์ใส่ถุง” หรือ “ทำปากจู๋” ของ GMM TV ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย โดยถือเป็นรายการบนสื่อกระแสรองเพียงหนึ่งเดียวที่เกาะเข้ามาอยู่ในลิสต์ แถมยังรั้งตำแหน่งอันดับ 2 ได้อีกด้วย ผู้เขียนเห็นว่าปรากฏการณ์นี้สื่อให้เห็นถึงพลังการเสิร์จของวัยรุ่นซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของซีรี่ย์ (แน่นอนว่ารวมถึงผู้ปกครองหรือคนทั่วไปที่เสิร์จคีย์เวิร์ดนี้ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่า “ฮอร์โมน” แรงอย่างไร) แถมกลุ่มนี้ยังเกิดในเจเนอเรชั่นที่พกแป้นคีย์บอร์ดมาเกิด (คือคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก) การโฆษณาบนสื่อกระแสหลักจึงอาจไม่ใช้คำตอบเพียงหนึ่งเดียวสำหรับมาร์เก็ตเตอร์อีกต่อไป

 

1370889975-9801691939-o

 รูปประกอบจาก GMM TV

 

คนค้นแบรนด์ดังประจำปี 2013 (Most Searched) – Brand

brand1

ตัวแทนจาก Google Inc ให้ข้อสังเกตว่า การขึ้นชักธงนำในอันดับหนึ่งของ Air Asia และอันดับ 2 ของนกแอร์ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของแบรนด์ที่พยายามปรับตัวเข้าหาความเป็นดิจิตอลมากขึ้น (เนื่องจาก Air Asia ส่งโปรโมชั่นทางอีเมล์ และยังมีแอพพลิเคชั่นที่สามารถตรวจเช็คเที่ยวบินได้, นกแอร์ก็มีแอพพลิเคชั่นของบริษัทเช่นกัน)

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า การปรับตัวเข้าหาความเป็นดิจิตอลมากขึ้นอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ดันแบรนด์พิชิตทำเนียบคีย์เวิร์ดค้นหาเยอะได้ เนื่องจากเราจะเห็นว่าภายในลิสต์ยังมีหลายแบรนด์ที่มิได้มีกลยุทธ์การตลาดบนโลกดิจิตอลอย่างจริงจังและชัดเจน แต่ก็ยังสามารถติดอันดับของ Google ได้ ฉะนั้น ปัจจัยทั่วไปที่สร้างกระแสในหมู่ Consumers ให้แก่แบรนด์นั้นๆ เช่น การประกาศนโยบายรถคันแรกของรัฐบาลเมื่อปีที่แล้ว หรือ ข่าวแคมเปญการตลาดของธนาคาร อาจส่งอานิสงส์ให้ผู้บริโภคใช้อินเตอร์เน็ตเป็น tools ในการเข้าถึงข้อมูลที่ตนเองต้องการได้

 

เสาะหารถรุ่นถูกใจประจำปี 2013 (Trending) – Automotive

car

 

ตัวแทนจาก Google Inc วิเคราะห์ว่า เทรนด์ที่น่าสนใจคือมีการค้นหายี่ห้อของรถจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น เช่น MSX 125 ในอันดับที่ 6 รวมถึง Zoomer X ที่เข้ามาในอันดับที่ 10 แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ใช้จักรยานยนตร์เริ่มเข้ามา engage กับการค้นหาออนไลน์มากขึ้น

 

ขณะที่ข้อสังเกตอีกจุดหนึ่งคือ ปัจจุบัน ผู้บริโภคจะเสิร์จข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์โดยใช้คีย์เวิร์ดเป็นยี่ห้อที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น Vios 2013 หรือ Accord 2013 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภครู้จักยานยนต์แบรนด์นั้นอยู่แล้วแต่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการตัดสินใจซื้อ อันเป็นขั้นตอนในกระบวนการ purchasing path ของผู้บริโภค ทั้งนี้ Google Inc เผยผลวิจัยว่าผู้ตัดสินใจซื้อรถยนต์กว่า 94% ยอมรับว่าค้นหาข้อมูลออนไลน์ก่อนซื้อ

 

ด้านผู้เขียนเห็นว่า สื่อออนไลน์เริ่มไม่ใช่สื่อหลักในการ introduce ผลิตภัณฑ์หรือบริการให้แก่ผู้บริโภคได้มากเหมือนสมัยก่อน แต่กลายเป็นสื่อ “ขั้นสอง” ที่ให้ผู้บริโภคเข้ามาหาข้อมูลเชิงลึกประกอบการตัดสินใจซื้อกันมากขึ้น ซึ่งทำให้แบรนด์ต่างๆ ต้องปรับตัวโดยการใส่ข้อมูลและรายละเอียดประกอบการตัดสินใจซื้อให้มากขึ้นตามหน้าเว็บไซค์ของบริษัท เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบสินค้าและบริการได้ก่อนการ walk-in เข้ามายัง brick-and-mortal store ของคุณ

 

สำหรับผู้อ่านที่อยากคลิกเข้าไปอ่านการจัดอันดับเต็มๆ เข้าไปได้ที่คลิก 

แล้วคุณล่ะ? คิดอย่างไรกับผลสำรวจนี้บ้าง Comment กันลงในเพจได้เลยครับ


  • 5
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง