Microsoft เผยผลวิจัยชี้คนทำงานเกือบครึ่งเจอปัญหา Burnout Syndrome พบภาวะ Productivity Paranoia จากเจ้านายยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

  • 6
  •  
  •  
  •  
  •  

ปรากฏการณ์ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงานนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยล่าสุดผลวิจัยโดยบริษัท Microsoft บริษัทไอทียักษ์ใหญ่พบว่าในเวลานี้มีคนทำงานเกือบ 50% ที่เผชิญกับอาการ Burnout จากการทำงาน และไม่เท่านั้น ผลวิจัยยังพบว่าสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริดจ์ทำให้บรรดาผู้บริหารเกิดภาวะ Productivity Paranoia หรืออาการหวาดกลัวว่าคนทำงานจะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและนั่นส่งผลให้อาการ Burnout ของคนทำงานยิ่งแย่ลงไปอีก

เป็นที่รู้กันดีว่าหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลกระทบกับชีวิตการทำงานที่กระทบความรู้สึกของคนทำงานอย่างมากมาย เกิดเป็นปรากฏการณ์อย่าง The Great Resignation หรือ “การลาออกครั้งใหญ่” รวมถึงปรากฏการณ์ “Quiet Quitting” หรือการที่คนทำงานเลือกที่จะไม่ทำงานอย่างทุ่มเทจนเสียสุขภาพกายและสุขภาพจิตขึ้น

 

คนทำงานเกือบครึ่งกำลัง Burn Out

อย่างไรก็ตามแม้ว่าตลาดงานนั้นจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นมากมาย แต่คนทำงานทั่วโลกนั้นยังคงรู้สึกว่ากำลังทำงานเกินกำลัง และมีภาวะ Burnout ภาวะที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อไม่นานมานี้ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เป็นผลจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ซึ่งล่าสุดผลวิจัยจากบริษัท Microsoft ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่าง 20,000 คนใน 11 ประเทศระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาพบว่ามีพนักงานเกือบ 50% และพนักงานระดับผู้จัดการอีก 53% รายงานว่ามีอาการ Burnout จากการทำงาน

อาการ Burnout Syndrome

สำหรับอาการ Burnout หรือ “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” นับเป็นโรคที่ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ก่อนที่อาการจะรุนแรงและคุกคามการใช้ชีวิต โดยภาวะหมดไฟในการทำงานจะมีลักษณะอาการ เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง สูญเสียพลังใจ มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ รวมไปถึง ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความสัมพันธ์ในที่ทำงานทั้งกับผู้ร่วมงานและลูกค่าแย่ลง

สำหรับการสังเกตตัวเองว่าเกิดภาวะหมดไฟในการทำงานหรือไม่ก็ดูได้จากหลายด้านเช่นด้านอารมณ์ จะเกิดอาการหดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน ไม่พอใจในงานที่ทำ ด้านความคิด อาจเกิดอาการมองคนอื่นในแง่ลบ โทษคนอื่น หนีปัญหา และไม่มั่นใจในศักยภาพของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่ง ขาดความกระตือรือร้น บริหารจัดการเวลาไม่ได้ เป็นต้น และแน่นอนว่าภาวะเหล่านี้อาจส่งผลกระทบกับร่างกายเช่นเกิดอาการเหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย รวมถึงนอนไม่หลับ และอาจนำไปสู่การตัดสินใจลาออกจากงานในที่สุดหากไม่ได้รับการแก้ไข

 

Productivity Paranoia ทำให้สถานการณ์แย่ลง

ผลสำรวจของ Microsoft พบว่า แม้บรรดาคนทำงานเกือบ 90% จะรายงานว่าตนเองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่สัญญาณของประสิทธิภาพในการทำงานอย่าง ชั่วโมงเฉลี่ยในการทำงาน จำนวนการกเข้าประชุมเฉลี่ยในแต่ละสัปดาห์ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่บรรดานายจ้างและบรรดาผู้บริหารสัดส่วนถึง 85% บอกว่าการทำงานแบบไฮบริดจ์นั้นทำให้ยากที่จะมั่นใจได้ว่าคนทำงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลสำรวจเปรียบเทียบความเชื่อมั่นใจตัวพนักงานของผู้บริหารแบบเข้าออฟฟิส และผู้บริหารที่พนักงานทำงานไฮบริดจ์พบว่า ผู้บริหารแบบหลังมีความเชื่อมั่นในตัวพนักงานน้อยกว่ามาก (49% และ 36% ตามลำดับ)

Microsoft ระบุว่าความตึงเครียดดังกล่าวนั้นคือ Productivity Paranoia หรือ ความหวาดระแวงจากบรรดาผู้นำที่คิดว่า พนักงานที่ทำงานระยะไกลหรือแบบไฮบริดจ์จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการทำงานในออฟฟิสแบบเต็มเวลา แม้ว่าคนทำงานจะทำงานมากกว่าที่เคยก็ตาม

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า Productivity Paranoia ที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ภาวะ Burn Out ในหมู่คนทำงานแย่ลงเท่านั้น แต่ยังทำให้การทำงานแบบไฮบริดจ์ในเวลานี้ “ไม่ยั่งยืน” ขณะที่การเปลี่ยนนโยบายให้กลับมาทำงานที่ออฟฟิสก็จะไม่ช่วยแก้ปัญหาเช่นกัน

สร้างความเชื่อมั่นลดปัญหา Burn Out

งานวิจัยของ Microsoft ระบุว่าการแก้ปัญหา Burn Out นั้นเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าการทำงานที่ชัดเจน เนื่องจากพนักงานสัดส่วน 81% มองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่หัวหน้างานจะต้องช่วยจัดลำดับความสำคัญของงานที่มีอยู่ในมือ ซึ่งผลสำรวจของ Microsoft พบว่ามีเพียง 31% เท่านั้นที่พบว่าเจ้านายมีแนวทางที่ชัดเจน

การสื่อสารที่ชัดเจนและเปิดกว้างก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งสำหรับผู้บริหารด้วยเช่นกันโดยเกือบ 75% ของบรรดาผู้จัดการระบุว่าการให้แนวทางและจัดลำดับความสำคัญของงานที่มีอยู่จะช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น และสัดส่วนถึง 80% ระบุว่าตนเองจะได้ประโยชน์จากความชัดเจนที่ได้จากบรรดาผู้นำระดับสูงขึ้นไป

อีกวิธีที่ Microsoft ระบุว่าเป็นหนทางในการแก้ปัญหา Burn Out ในที่ทำงานก็คือการปรับเปลี่ยนวิธีการวัดประสิทธิภาพในการทำงานจากเดิมที่วัดจากงานที่ทำเพียงอย่างเดียวเป็นการดูที่ผลของงานนั้นๆด้วย เช่นการวัดผลด้วย OKR (Objective and Key Results) สำหรับพนักงานทุกคนไม่ว่าจะทำงานจากที่ไหน และสามารถติดตามผลได้จากเครื่องมือออนไลน์เช่น Google Sheet หรือ Microsoft Excel เป็นต้น นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกอย่างก็ตามการสร้างให้มีการวงจร Feedback จากคนทำงานอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการตามข้อแนะนำเหล่านั้นด้วยนั่นเอง

ที่มา: Microsoft / CNBC


  • 6
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE