เมื่อพูดถึงเชนธุรกิจ QSR (Quick Service Restaurant) ในไทยมูลค่ากว่า 45,000 ล้านบาท ‘ไก่ทอด’ ก็เรียกได้ว่าเป็นเซกเมนต์ใหญ่ที่สุดในตลาดนี้ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 21,000 ล้านบาท และมี ‘KFC’ ครองบัลลังก์เป็นเบอร์หนึ่งอยู่ด้วยสัดส่วนในเซกเมนต์กว่า 90%
ปัจจุบัน KFC ในไทยเป็นเจ้าของโดย ‘ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย’ (YUM Restaurant International) และให้สิทธิ์แฟรนไชส์กับ 3 พันธมิตรธุรกิจในไทย คือ CRG (Central Restaurant Group), Restaurant Development (RD) และ Food of Asia (FOA) ในเครือไทยเบฟ
สำหรับ KFC สาขาแรกของไทยเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2527 หรือประมาณ 40 ปีแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาของเครือ CRG ที่ปัจจุบันเปิดตัวไปแล้วกว่า 338 สาขา ทั้งในเมืองหลัก และเมืองรอง โดยมียอดขายรวมกว่า 7,050 ล้านบาทเมื่อปี 2023
CRG รุกตลาดเมืองรอง – เล็งเปิดโมเดล ‘KFC Quick & Easy’ รับเทรนด์ ‘Takeaway’
เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ในเชน QSR ที่มีกลยุทธ์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศให้ได้มากที่สุด เช่น การเปิดโมเดลสาขาที่หลากหลาย (Multi Store Format) ไปจนถึงการเปิดช่องทางขายอื่นๆ อย่างเดลิเวอรี (Multiple Channel) เพื่อเข้าไปอยู่ในมื้ออาหารของผู้บริโภคให้ได้มากขึ้น และง่ายขึ้น
สำหรับ KFC เองก็มีกลยุทธ์การเปิดสาขาในหลากหลายโมเดลเพื่อครอบคลุมความต้องการของผู้คนในพื้นที่ และใช้ต้นทุนการเปิดสาขาให้เหมาะสมกับแต่ละโลเคชัน ไม่ว่าจะเป็น โมเดลสาขาในศูนย์การค้า, Shop House, Drive thru หรือแฟลกชิปสโตร์ ไปจนถึงโมเดลสาขาในปั๊มน้ำมันที่มีต้นทุนถูกที่สุด ซึ่งถูกกว่าโมเดลอื่นๆ ถึง 20% โดย movement หลังจากนี้ เราจะได้เห็น KFC ในตลาดเมืองรองมากขึ้น
ล่าสุด KFC ก็เตรียมเปิดโมเดลสโตร์ใหม่ ‘Quick&Easy’ ช่วง Q3-Q4 ปีนี้ ซึ่งจะเป็นโมเดลที่จะมาพร้อมครัวในตัว แต่ไม่มีที่นั่ง ลูกค้าสามารถสั่งอาหารผ่านตู้ Kiosk และรับกลับบ้านได้ทันที บนพื้นที่ของสโตร์เพียง 50 ตารางเมตร จากขนาดมาตรฐานที่ 200-250 ตารางเมตร หรือ 350 ตารางเมตร ในโมเดลแฟลกชิปสโตร์
โมเดลสโตร์ใหม่นี้จะเห็นกันได้บ่อยในต่างประเทศอย่างฮ่องกง หรือสิงคโปร์ ซึ่งด้วยขนาดที่เล็ก ก็จะสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งทาง CRG เล็งไว้เป็น Transportation Hub โซน BTS หรือ MRT ที่คนพลุกพล่านซึ่งจะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่ม Takeaway ได้เป็นอย่างดี
เพราะแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะผ่านไป ผู้คนเริ่มกลับไปนั่งทานอาหารที่ร้านมากขึ้น แต่การศึกษาจาก L.E.K. Consulting บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจในอังกฤษ พบว่าสัดส่วนการ Takeaway & Delivery ของ 4 ใน 6 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงไทยด้วย เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดไปเรียบร้อย
สำหรับสัดส่วนพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า KFC ในเครือ CRG ก็สอดคล้องกัน โดยพบว่าอันดับหนึ่งคือ Takeaway (40%) ตามมาด้วย Dine-in หรือนั่งทานที่ร้าน (35%) และเดลิเวอรี (25%)
จุดแข็งของ KFC ในฐานะเบอร์หนึ่งของเครือ CRG สู่เป้าหมายเติบโต 7-8% ในปีหน้า
- KFC มีความแข็งแกร่งในฐานะที่เป็นแบรนด์เบอร์หนึ่งของเชนธุรกิจ QSR ในไทย ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 45,000 ล้านบาท
- ด้วยสาขากว่า 338 สาขาในเครือ ตามศูนย์การค้าเซ็นทรัล และโรบินสัน ที่ขยายร่วมกันกับบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มเซ็นทรัล เช่น เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) และเซ็นทรัลรีเทล (CRC) ที่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าหลากหลายช่วงอายุ และพื้นที่
- ราคาที่เข้าถึงได้สำหรับคนทุกวัย เมนูของ KFC มีตั้งแต่หลักสิบ ไปจนถึงหลักร้อย ซึ่งตอบโจทย์ทั้งลูกค้าที่ทานคนเดียว และทานเป็นกลุ่ม
ในด้านของความท้าทาย KFC ก็เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงไวของผู้บริโภค ที่เราจะเห็นเทรนด์การบริโภคอาหารมากมายที่เข้ามา และจากไปในช่วงเวลาสั้นๆ ไปจนถึงทางเลือกของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่มีมากขึ้น มีผู้เล่นหน้าใหม่มากมายในสนามการแข่งขัน จึงเป็นโจทย์สำหรับ KFC ว่าจะรักษาที่นั่งในใจลูกค้าอยู่เสมอได้อย่างไร
นอกจากนี้ ‘การหาคนทำงานยาก’ ก็นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ KFC ต้องรับมือ เพราะอัตราการเติบโตของประชากรที่ต่ำ ทาง KFC จึงแก้เกมด้วยนโยบาย Senior Citizen Worker และ Intern ก็พอบรรเทาไปได้บ้าง โดย 40% ของคนทำงานใน KFC เป็นแรงงานรายวัน
โดย CRG ตั้งเป้าการเติบโตของ KFC ในปี 2024 นี้ที่ 7-8%
CRG ฉลอง 40 ปี KFC Thailand รีโนเวทสาขาแรกของประเทศ สู่สไตล์ ‘Retro’ ในธีม ‘Colonial’s Legacy’
ในฐานะที่ CRG เป็นเจ้าของ KFC สาขาแรกในประเทศไทย และเพื่อฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ 40 อย่างเต็มตัว CRG ได้ทุ่มงบกว่า 15 ล้านบาท รีโนเวทปรับโฉม KFC สาขาแรกที่เซ็นทรัลลาดพร้าว ให้กลับไปสู่ยุค 90 ที่ใครหลายคนต่างคิดถึงช่วงเวลาที่ได้ทานไก่ทอดร่วมกับคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือกลุ่มเพื่อน จนเป็นความสุขที่ติดอยู่ในความทรงจำ และชวนคิดถึงอยู่เสมอ
นอกจากสาขาแรกแล้ว CRG ตั้งเป้ารีโนเวทสาขา KFC อื่นๆ ในเครืออีกราว 35 สาขา ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีสไตล์ที่แตกต่างกันไป และจะมีเพียงสาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวเท่านั้นที่จะคงคอนเซปต์สไตล์ Retro ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ของ CRG ในการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าที่เข้ามานั่งทานในร้านไปอีกทางด้วยเช่นกัน