สรุป Landscape ‘อี-คอมเมิร์ซ’ ปี 2020 ในไทย กับมูลค่าตลาดที่มีกว่า 2.2 แสนล้านบาท

  • 821
  •  
  •  
  •  
  •  

ในปีนี้มีการคาดการณ์มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซว่า อาจมีมูลค่าสูงถึง 220,000 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 35% จากปีก่อนเลยดีเทียว เหตุผลก็เนื่องจากความสะดวกสบายในการช้อปปิ้งออนไลน์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ในไทย ที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น

เมื่อตลาดมีการเติบโตน่าสนใจแบบนี้ การแข่งขันทางธุรกิจก็สูงขึ้นไปด้วย ดังนั้น ทาง  ไพรซ์ซ่า (Priceza) จึงได้รวบรวมผู้เล่นหน้าเก่า และผู้เล่นหน้าใหม่ พร้อมกับนำเสนอถึง Thailand E-commerce Landscape ปี 2020 เพื่อให้เห็นภาพรวมและแนวโน้มของธุรกิจนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เริ่มจากแบ่งกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจในตลาดนี้ออกเป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มเครื่องมือการทำการตลาด (Marketing Tools) , กลุ่มอี-คอมเมิร์ซ (E-commerce Channel) , กลุ่มระบบการชำระเงิน (Payment) และ กลุ่มระบบขนส่ง (Logistic)

1.Marketing Tools

การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่น่าจดจำ เกือบทุกแบรนด์จะต้องผ่านการใช้บริการแพลตฟอร์มการทำมาร์เก็ตติ้ง โดยผู้ให้บริการในกลุ่มเครื่องมือ Marketing อาทิ

Search engine โปรแกรมที่ช่วยในการสืบค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตที่เป็นที่นิยมทั่วโลก ได้แก่ Google / Bing / Baidu / yahoo

Shopping Search Engine เว็บไซต์แพลตฟอร์มค้นหา ราคาสินค้า อาทิ Google Shopping , Priceza  ผู้ให้บริการเครื่องมือค้นหาสินค้า และบริการเปรียบเทียบราคาในประเทศไทย

Social Media AD Platform การทำโฆษณาต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์ม Social Media ที่เป็นที่นิยมทั่วโลก เช่น Facebook และ Instagram ที่สามารถจัดการโฆษณาผ่าน Business Manager ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยจัดการโฆษณาออนไลน์และวางแผนการตลาดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถจัดการบัญชีโฆษณา (Ad Account) ได้หลายบัญชี พร้อมทั้งสร้างกลุ่มเป้าหมายเชิงลึกได้ และยังมีแพลตฟอร์มอื่นให้เลือกใช้หลากหลาย อาทิ Tiktok ad / twitter ad manager  /Youtube Ad / LINE Ads Platform ทางเลือกใหม่ในการทำโฆษณาผ่าน LINE ซึ่งจะต้องซื้อผ่าน Agency เท่านั้น และปัจจุบันในไทยมี Agency ให้บริการอยู่หลากหลายเจ้า

Retarketing Platform หลาย ๆ คนอาจเคยมีประสบการณ์เข้าเว็บไซต์หนึ่ง แล้วพอออกไปใช้เว็บไซต์ที่สอง แต่โฆษณาของเว็บไซต์แรกยังตามมาให้เราเห็น นั่นเป็นเพราะว่า คุณได้ถูกเก็บข้อมูลเป็นกลุ่มเป้าหมาย (Lead Generation) แล้วเรียบร้อย สิ่งเหล่านี้เรียกว่าการทำ Retarketing นั่นเอง ซึ่งมีผู้ให้บริการหลากหลายให้เลือกใช้อย่าง Google/ Facebook / criteo / Adroll

AD network ตัวแทนรับลงโฆษณา และดูแลโฆษณาในเว็บไซต์ต่างๆให้ โดยโฆษณาจะปรากฏบนเว็บจากทั่วโลกที่เป็นพันธมิตรกับ Google โดยจะเน้นการโฆษณาที่มีการใช้แบนเนอร์ รูปภาพประกอบ ซึ่งไม่ว่าผู้ใช้จะคลิกไปที่เว็บไซต์ไหนก็จะเห็นโฆษณาของคุณ อาทิ Google Display Ad Network (GDN) / Facebook Audience Network / Taboola / bumq เป็นต้น

Affiliate Marketing ปัจจุบันมีร้านค้าออนไลน์นิยมใช้รูปแบบการตลาดนี้กันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การให้ผู้ใช้แชร์ Link สินค้าต่างๆผ่านโซเชียลมีเดีย การแชร์เปรียบเสมือนการช่วยโฆษณาสินค้าของร้านค้าและผู้แชร์จะได้ผลตอบแทน หากเกิดการซื้อขายผ่าน link ที่แชร์นั่นเองแพลตฟอร์มที่ทำ Affiliate Marketing ที่โดดเด่น เป็นที่รู้จักอย่าง Lazada Affiliate Program / Joy Pay ของ JD Central

Content Marketing เป็นที่นิยมอย่างมากในยุคสมัยที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อของใครหลายคน ทำให้การทำ Content Marketing ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ (Facebook Fanpage) หรือเว็บไซต์ ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

 2.E-commerce Channel

เมื่อแบรนด์ผู้ผลิตได้มีการเลือกใช้เครื่องมือในการทำ Marketing เรียบร้อยแล้ว ก็มาในส่วนของช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้เลย เรียกได้ว่า ช่องทาง E-commerce เป็นหนึ่งในช่องทางที่ผู้ผลิตต่าง ๆ ควรที่จะเข้ามาแข่งขันในช่องทางนี้ได้แล้ว เนื่องจากว่าปัจจุบันเทคโนโลยี และความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ตทำให้ไม่มีช่องวางระหว่างผู้ค้าและผู้ซื้ออีกต่อไป การจับจ่ายใช้สอยสามารถทำได้ง่ายๆที่บ้าน ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที ทำให้การขายผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแบรนด์ผู้ผลิตสามารถขายผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่

E-marketplace การนำสินค้าไปขายบนเว็บไซต์ตลาดสินค้าออนไลน์ ที่รวมร้านค้าหลายแห่งไว้ในที่เดียว ซึ่งเราสามารถไปเปิดร้านในนั้นได้ เช่น Lazada Shopee เป็นต้น

Social Commerce การขายออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, Twitter หรือ Line@ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน Social Media หลายตัวได้เพิ่มฟังก์ชั่นสำหรับการขายสินค้า ทำให้ง่ายต่อการวางขายมากขึ้น และธุรกิจออนไลน์ไทย 95% ขายสินค้าผ่าน Social Commerce ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยมากที่สุดในโลก (Source : Paypal Asia Social commerce report 2018)

E-tailer/Brand.com การทำร้านค้าออนไลน์ของตัวเอง ไม่ต้องผ่าน Marketplace คนกลาง ดังนั้นจึงไม่มีการถูกหักค่าคอมมิชชั่นเมื่อเราขายได้ ซึ่งสามารถเปิดร้านค้าออนไลน์เองผ่าน Webstore Platform ต่างๆ เช่น Tarad, LnwShop หรือเปิดร้านค้าออนไลน์เอง ทำเว็บเอง ขายเอง เช่น com และ Beauticool.com เป็นต้น

3.Payment

เมื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตมากขึ้นในทุก ๆ ปี สิ่งหนึ่งที่จะต้องเติบโตควบคู่กันไปนั่นก็คือ ระบบการชำระเงิน เมื่อเทคโนโลยีมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู้สังคมยุคไร้เงินสด (cashless society) ทำให้การแข่งขันของระบบการชำระเงินมีความดุเดือดมากยิ่งขึ้นทั้งจากผู้เล่นธนาคารและกลุ่มบริษัทเอกชน โดยขอแบ่งผู้ให้บริการในส่วนนี้ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

กลุ่ม Payment Gateway ผู้เล่นอย่าง Omise เป็นระบบรับชำระเงินและจัดการเงิน โดยสามารถควบคุมได้เองทุกอย่าง ดูแลแบบครบวงจรตั้งแต่จบการขายที่หน้าเว็บไซต์ของร้านค้า ไม่มีป็อปอัพกวนใจ หรือการส่งผู้ซื้อไปยังหน้าต่างใหม่ / 2C2P บริการชำระเงินออนไลน์เช่นเดียวกัน เป็นที่นิยมมากเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่ๆที่ต้องมีระบบชำระเงินออนไลน์ส่วนใหญ่จะใช้บริการจากเจ้านี้

กลุ่ม E-Wallet ประกอบด้วย 1.Bank ระบบการชำระเงินจากแอพพลิเคชั่น (Mobile Banking) ตรงจากธนาคาร เช่น SCBeasy/KPlus / Krungthai NEXT / KMA (กรุงศรี) / Thanachart Connect / TMB Touch / UOB Mighty Thailand / Bualuang mBanking

2.Pure Wallet กระเป๋าเงินออนไลน์สะดวกสบาย ไม่ต้องพกเงินสด จ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟค่าบัตรเครดิตอย่าง true money wallet / rabbit line pay ซื้อสติ๊กเกอร์ธีมไลน์ต่างๆและไว้เติมเงินขึ้นขนส่งสาธารณะอย่าง BTS เป็นต้น และ 3. E-commerce wallet กระเป๋าเงินสำหรับแอพพลิเคชั่นของอีคอมเมิร์ซอย่าง LAZADA ที่มี LAZADA Wallet สามารถเติมเงินและชำระเงินสำหรับไว้ใช้ซื้อของในแอพได้

4.Logistics & Fulfilment

การแข่งขันในธุรกิจระบบขนส่งก็ร้อนแรงดุเดือดไม่แพ้กัน ไพรซ์ซ่าได้แบ่งกลุ่มไว้ 6 กลุ่มดังนี้

3PL หรือ Third Party Logistics การให้บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการขนส่งมาทำหน้าที่บางอย่างหรือเกือบทั้งหมด เช่น ระบบขนส่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น อาทิ ไปรษณีย์ไทย / Kerry / Flash express เป็นต้น

3PL Export  ที่เชี่ยวชาญด้านการขนส่งต่างประเทศอย่าง DHL / smeshipping

Fulfillment บริการช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ มีทั้งระบบจัดการสต๊อกสินค้า การแพ็คสินค้า และจัดส่งให้ถึงมือลูกค้า เช่น siam outlet / meowlogis / shipyours เป็นต้น

Shipping Aggregator ตัวกลางบริษัทขนส่งสินค้า ที่ได้รวบรวมบริการขนส่งพัสดุเจ้าต่างๆ เข้ามาอยู่ในระบบ เช่น shippop / easyparcel / Smartship

On Demand แพลตฟอร์มบริการรับส่งสินค้าตามความต้องการ อาทิ Grab / Lineman / Lalamove / เป็นต้น

Parcel Locker ระบบตู้ล็อคเกอร์ทางเลือกใหม่ในการจัดส่งสินค้า เสมือนตู้ไปรษณีย์ที่ผสมผสานเทคโนโลยี สร้างความสะดวกสบายให้ผู้ใช้งานมากขึ้น ผู้ให้บริการได้แก่ Kerry / Lockbox / box24corp

ทั้งหมดนี้เป็นการรวบรวมผู้เล่นในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เพื่อให้เห็นถึงการเติบโตทั้งผู้เล่นหน้าเก่า และผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ที่ได้ผลักให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น คาดว่า จะทำให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจมีการแข่งขันที่ดุเดือดมากกว่าเดิมแน่นอน


  • 821
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE