เช่าง่ายกว่าซื้อ เมื่อของมันต้องมี แต่ที่ไม่พอจะเก็บ!

  • 254
  •  
  •  
  •  
  •  

ความทรงอิทธิพลของ คนโดะ มาริเอะ (Kondo Marie) ต้นตำรับการจัดบ้านเปลี่ยนชีวิตที่รู้จักกันในชื่อ ‘คมมาริ’ (KonMari) ผู้เขียนหนังสือ “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” ที่นิตยสาร TIME ยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกประจำปี 2015 (100 Most Influential people) แถมเน็ตฟลิกซ์ยังตามติดการเดินทางของเธอไปถ่ายทอดเทคนิคจัดระเบียบสิ่งของให้กับครอบครัวต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาผลิตเป็นซีรีส์ Tidying up with Marie Kondo

ด้วยแก่นคิดที่ซ่อนอยู่ภายใต้การจัดบ้านซึ่งไม่ใช่แค่การทำให้บ้านหายรก แต่ชีวิตที่มีคุณภาพจะกลับคืนมา ส่งผลให้อิทธิพลของหลักการ ‘คมมาริ’ ยังแรงไม่หยุด

คนโดะ มาริเอะ ผู้ทรงอิทธิพลระดับโลกจากการจัดบ้าน

โดยเฉพาะการเน้นย้ำเรื่อง “สิ่งสำคัญ” ซึ่งทำให้ผู้คนต้องทบทวนถึง ‘สมบัติบ้า’ ในครอบครอง ที่ดำเนินไปพร้อมๆ กับเทรนด์การบริโภคอย่างยั่งยืน ไม่เบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นในวงกว้าง จนทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่น เริ่มไม่สวยงามอย่างภาพบนรันเวย์!

เมื่ออุตสาหกรรม ‘แฟชั่น’ อยู่ขั้วตรงข้ามกับ ‘ความยั่งยืน’

รู้ๆ กันอยู่ว่า อุตสาหกรรม ‘ฟาสต์ แฟชั่น’ ถูกเพ่งเล็งอย่างหนัก ทั้งเรื่องกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แถมยังมีรายงานเรื่องการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม

หนำซ้ำด้วยราคาที่ง่ายต่อการเอื้อมถึง แถมยังขยันเปลี่ยนคอลเลคชั่นที่บ่อยเสียจนทำให้ชิ้นเก่ากลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว นำมาสู่การตั้งคำถามถึงผลเสียที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม..

ขณะที่ทางฝั่งนักช้อปเอง เชื่อว่านักช้อปหลายคนคงเคยเจอสถานการณ์ไม่ต่างกัน ที่เหมือนโดนป้ายยา ควักจ่ายไปแบบงงๆ แต่ของที่ซื้อมากลับไม่ได้ใส่ ไหนจะเปลืองเงิน แถมยังรกบ้าน ไม่มีที่จะเก็บ

แต่แฟชั่นก็คือแฟชั่น คนที่รักการแต่งตัว เรื่องสไตล์ก็ยังจำเป็น เพียงแต่มันอาจไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อใหม่ หรือ ครอบครอง เป็นเจ้าของเสียทุกชิ้นไป

การเลือกซื้อสินค้าอย่างชาญฉลาด แต่ยังสามารถสร้างลุคให้ปัง นั่นต่างหากที่ควรค่าแก่การยกย่องในยุคสมัยนี้ จึงเกิดเป็นแนวทางใหม่ ยกระดับการช้อปที่เป็นไปได้ทั้งการช้อป “สินค้ามือสอง” รวมถึงการ “เช่า” เพื่อไม่ต้องครอบครองก็เป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจมากขึ้นจากแฟชั่นนิสต้า

Sharing Economy คือ ทางออก

หากต้องการอยู่รอด และร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืนรับกับเทรนด์โลกไปด้วยได้ ธุรกิจแฟชั่นจึงต้องมองหาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ เช่น ธุรกิจให้เช่าชุดซึ่งเติบโตแรงขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นไปตามเทรนด์เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ที่กลายเป็นกระแสหลักในหลายอุตสาหกรรม โดย Business of Fashion ถึงกับประกาศออกมาว่า ธุรกิจให้เช่า กำลังกลายเป็นบิ๊กเทรนด์อันใหม่ที่กำลังมาแรงสุดๆ ของอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยคาดว่า มีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากจะมีผู้ให้บริการเช่าชุดเกิดขึ้นจำนวนมากแล้ว แม้กระทั่งแบรนด์เองก็ยังเริ่มเห็นช่องทาง หันมาจับตลาดนี้เสียเอง

เมื่อเร็วๆ นี้ อเมริกันแบรนด์อย่าง ‘Urban Outfitters’ (URBN) เพิ่งประกาศตัวว่า จะเปิดไลน์ธุรกิจใหม่ ให้เช่าเสื้อผ้าสตรีของแบรนด์ผ่าน ‘ระบบสมาชิก’ ในชื่อว่า ‘Nuuly’ เตรียมจะเปิดให้บริการในซัมเมอร์ 2019 นี้ โดยเริ่มจากตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก

บริการ Nuuly จะเปิดให้สมาชิกสามารถยืมได้ 6 ชุดต่อเดือน โดยจ่ายค่าสมาชิกเดือนละ 88 ดอลลาร์  หรือราว 2,600 บาท ซึ่งเฉลี่ยคิดเป็น 10% ของราคาเสื้อผ้าที่ขายจริง โดยมีให้เลือกทั้งเสื้อผ้าของกลุ่ม URBN ประกอบด้วย Anthropologie, Free People & Urban Outfitters รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ที่เป็นพันธมิตร เช่น Levi’s, Wrangler, DL1961, Paige, AYR, Citizens of Humanity, One Teaspoon & AGOLDE, Reebok, Fila, Champion

รวมถึงชิ้นพิเศษวินเทจไอเท็ม และดีไซเนอร์แบรนด์ อาทิ Universal Standard, Naadam, LoveShackFancy, Chufy, Gal Meets Glam, Ronny Kobo รวมถึง Anna Sui ซึ่งมีให้เช่าที่ Nuuly ด้วยเช่นกัน

ด้วยความหลากหลายของแบรนด์ ทำให้ Nuuly สามารถสต็อกของให้สมาชิกเลือกได้มากถึง 1,000 สไตล์ โดยจะอัพเดทสไตล์ใหม่ๆ 100 สไตล์ต่อสัปดาห์ และมีไซส์ให้เลือกตั้งแต่ 0 – 26

David Hayne ผู้บริหารฝ่ายดิจิทัลของ Urban Outfitters ชี้แจงไว้ในแถลงการณ์บนเว็บไซต์ เกี่ยวกับการเปิดธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้าว่า ตั้งเป้าจะมีผู้สมัครสมาชิกราว 5 หมื่นราย และสร้างรายได้ 50 ล้านดอลลาร์ในปีแรกของการดำเนินงาน

“ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ผู้บริโภคกลุ่มมิลลิเนียม มักจะมองหาแพลทฟอร์มซึ่งตอบสนองความแปลกใหม่ หลากหลาย และที่สำคัญคือ จะต้องเป็นไปเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนด้วย” เขากล่าว

ทีมงานของ nuuly

ธุรกิจเสื้อผ้า ‘มือสอง’ ก็เติบโตสูง

นอกจากเทรนด์ธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้าที่เติบโตสูงแล้ว จากการรายงานโดย fastcompany ยังระบุอีกด้วยว่า

ด้วยอิทธิพลของ คนโดะ มาริเอะ เธอยังทำให้ตลาดขายเสื้อผ้ามือสองในอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง โดยระบุว่า วันนี้มันใหญ่ยิ่งกว่าอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเสียอีก!

ถ้านับดูเฉพาะมูลค่าการซื้อขายเสื้อผ้าออนไลน์มือสองผ่านเว็บไซต์ thredUP ที่มีมูลค่าสูงถึง 24,000 ล้านดอลลาร์ และตั้งเป้าจะเติบโตไปให้ถึง 51,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2024

การรายงาน 2019 thredUp Resale Report ของ thredUP ร่วมมือกับ GlobalData ระบุว่า ในปี 2018 มีผู้หญิง 56 ล้านคนซื้อสินค้ามือสอง เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากปีก่อนหน้า 12 ล้านคน โดยนักช้อปสินค้ามือสองถึง 51% ที่ติดใจและบอกว่า จะซื้อเพิ่มภายใน 5 ปีถัดจากนี้

James Reinhart ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ thredUP บอกว่า การซื้อสินค้ามือสองสมัยนี้ ไม่ได้อยู่จำกัดเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่มันเป็นตลาดสำหรับทุกๆ คน

โดยเฉพาะกลุ่ม Gen-M และ Gen-Z ที่นิยมซื้อของมือสองมากขึ้น แถมยังซื้อเร็วกว่าค่าเฉลี่ยถึง 2.5 เท่า ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดอย่างชัดเจน เพราะคนกลุ่มนี้ ขี้เบื่อ อยากเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยๆ การซื้อของมือสองที่ราคาย่อมเยากว่า จึงเป็นทางเลือกของคนกลุ่มนี้

นี่เป็นเหตุให้สินค้ามือสอง ร้านค้าให้เช่า รวมถึงการสมัครสมาชิก กลายเป็นท็อปทรีของตลาดรีเทลที่เติบโตสูงที่สุด และเชื่อว่า จะยังคงเติบโตได้อีกอย่างน่าจับตา!

ที่มา : investor.urbn.com , fastcompany

 


  • 254
  •  
  •  
  •  
  •