ในอดีตอาจเป็นเรื่องยาก ที่จะบอกว่า “โรงรับจำนำ” คือที่พึ่งอันเป็นมิตรของผู้คน เพราะภาพอาคารทึบ ดูมิดชิด ปิดลับพรางตาผู้คน นอกจากเรื่องความปลอดภัยของทรัพย์สิน ก็ยังช่วยป้องกันให้ผู้อื่นเห็นว่าใครบ้างที่เข้าไปใช้บริการในสถานที่แห่งนั้น ทำให้ภาพลักษณ์ของโรงรับจำนำ…ถูกตีตราว่าเป็นสถานที่ต้องห้าม! ที่มีแต่คนถังแตกเท่านั้นที่จะเดินเข้าไป!
ไม่ว่าคุณจะเคยเดินเข้าโรงรับจำนำมาก่อนหรือไม่ วันนี้…เราจะพาไปทำความรู้จักกับสถานที่แห่งนี้ ให้มากขึ้น!
– ข้าวของ 5 ประเภทที่ผู้คนนิยมจำนำมากที่สุด ได้แก่ ทองคำ, เพชร, นาฬิกา, สินค้าแบรนด์เนม (กระเป๋า เข็มขัด รองเท้า) และสินค้า IT
– ของแปลกที่เคยถูกจำนำ ได้แก่ ถุงกอล์ฟแบรนด์เนม, เครื่องใช้และเครื่องประดับที่ทำจากทองยุคเก่า (หวีทองคำ กล้องส่องพระทองคำ เป็นต้น) และเงินโบราณ
– สิ่งที่โรงรับจำนำ “ไม่รับ” คือ ปืน และรถยนต์
จากข้อมูลของ Easy Money หนึ่งในโรงรับจำนำเอกชนรายใหญ่ของไทย เปิดเผยสัดส่วนผู้ใช้บริการว่า…
– ในปี 2561 ลูกค้าที่เลือกโรงรับจำนำเป็นที่พึ่ง ส่วนใหญ่คือ “มนุษย์เงินเดือน” ประมาณ 77% และ “เอสเอ็มอี” 23% ส่วนปี 2562 มนุษย์เงินเดือนมีสัดส่วนลดลงอยู่ที่ 75% และเอสเอ็มอีเพิ่มเป็น 25%
– มูลค่าการรับจำนำโดยเฉลี่ยต่อครั้ง มนุษย์เงินเดือน 20,000 บาทต่อคน และเอสเอ็มอี 100,000 บาทต่อราย
– ทรัพย์ที่นำมาจำนำต้องจ่ายดอกเบี้ย หรือที่เรียกว่า “ต่อดอก” ทุก ๆ 5 เดือน (กฎหมายระบุไว้ 4 เดือน และสามารถยืดเวลาได้อีก 30 วัน)
– ช่วงโรงเรียนใกล้เปิดเทอม เป็นช่วงเวลาที่โรงรับจำนำมีผู้ใช้บริการคึกคักเป็นพิเศษ
– ส่วนเวลาที่คนนิยมไถ่ทอนทรัพย์สินออกจากโรงรับจำนำ คือ ช่วงปลายปี และก่อนเทศกาลสงกรานต์ แต่ในอดีตมักจะคึกคักในช่วงตรุษจีน
– ส่งผลให้มูลค่ารวมธุรกิจโรงรับจำนำสูงถึง 100,000 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะเติบโตราว 10%
– ปัจจุบันมีโรงรับจำนำให้บริการทั่วไทยกว่า 800 แห่ง
ทำไม “มนุษย์เงินเดือน” จึงอยากสนิทกับ “โรงรับจำนำ” ?
หากมองจากพฤติกรรมของผู้ใช้บริการโรงรับจำนำดังที่กล่าวข้างต้น จะพบว่าผู้คนหันหน้าเข้าหาโรงรับจำนำเพราะเป็นสถานที่ที่สามารถถือทรัพย์สินมา “แปลงเป็นเงินสด” ได้เร็วที่สุด! ส่วนมนุษย์เงินเดือนซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ประจำ อาจมีช่วงเวลาที่ “ร้อนเงิน” ต้องการใช้เงินก้อนอย่างเร่งด่วน หรือจะเกิดปัญหาฉุกเฉินหมุนเงินไม่พอในแต่ละเดือน จึงเลือกนำทรัพย์สินมา “จำนำ” และนำมาไถ่ทอนในภายหลัง เช่นเดียวกับการที่เอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งเลือกโรงรับจำนำเป็นตัวช่วยทางการเงิน เนื่องจากไม่มีเครดิตกับสถาบันการเงินและไม่ต้องการเสียเวลารอการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารนั่นเอง ส่วนเรื่อง “ทองคำ” เป็นทรัพย์สินที่คนนำมาจำนำสูงสุด ก็มีเหตุผลเพราะเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสูงนั่นเอง
ธุรกิจอยู่มานาน…ต้องปรับตัวทุกแวดวง “โรงรับจำนำ” ก็เช่นกัน!
ประเด็นนี้ คุณสิทธิวิชญ์ ตั้งธนาเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งธนสิน จำกัด ผู้ให้บริการโรงรับจำนำ Easy Money ให้ข้อมูลว่า จุดเด่นของโรงรับจำนำ คือ การเป็นทางเลือกที่สะดวก ง่าย และได้เงินรวดเร็ว ทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญคอยประเมินและให้ราคาแม่นยำตามสภาพทรัพย์ ขณะเดียวกันก็มีการเก็บรักษาทรัพย์อย่างปลอดภัย
แต่ไม่ใช่ว่าธุรกิจโรงรับจำนำจะมีแต่ลูกค้าวิ่งเข้าหา เพราะทั่วประเทศไทยมีถึง 800 แห่ง จึงต้องแข่งขันกันมากขึ้น! ทำให้ Easy Money ซึ่งมีอยู่ 50 แห่งใน 28 จังหวัด ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องโดยปี 2562 ขยายไปแล้ว 10 แห่ง และตั้งเป้าขยายจำนวนเท่ากันในปี 2563 เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการของลูกค้าซึ่งปัจจุบันมีกว่า 100,000 คน พร้อมกับเป้าหมายที่จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ในปีนี้
“ลูกค้าหลักของเรา คือ คนทำงานโดยเฉพาะวัย 35-45 ปี คนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่มีงานและรายได้ประจำ ทั้งยังมีความสามารถในการซื้อทรัพย์สินมีค่าเพื่อเก็บออม มีรสนิยม แต่เมื่อมีความต้องการใช้เงินก็จะนำทรัพย์สินมาเปลี่ยนเป็นเงินกับเรา เพราะเขามั่นใจว่าเราสามารถดูแลทรัพย์ได้เป็นอย่างดี ประเมินราคาสูง จึงวางใจนำทรัพย์สินมาฝากไว้เพื่อรอวันไถ่ทอน”
ปัจจุบัน Easy Money ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานหลากหลาย อาทิ ระบบคอมพิวเตอร์คำนวณดอกเบี้ย, มีเครื่องนับธนบัตร, เครื่องสแกนลายนิ้วมือ, เครื่องอ่านบัตรประชาชน เป็นต้น รวมถึงการจัดเก็บทรัพย์อย่างดีและปลอดภัยในห้องมั่นคง ทำให้บริษัทต้องใช้งบประมาณเฉลี่ย 40-50 ล้านบาทต่อสาขา เพื่อทำให้สาขาทันสมัย ดูเป็นมิตร และดึงดูดผู้บริโภคให้กล้าเข้าใช้บริการ
เปลี่ยนภาพลักษณ์โรงรับจำนำ – ไม่ได้แค่รับ แต่ “ขาย” ด้วย
เพราะธุรกิจโรงรับจำนำต้องติดต่อและให้บริการโดยตรงกับลูกค้า ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและวัตถุประสงค์การใช้เงินโดยตรง โดยพบว่าลูกค้ากลุ่มที่ต้องการนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันนั้น เมื่อมีโบนัสหรือเงินมากพอก็จะกลับมาไถ่ทอนทรัพย์สิน แต่หากเศรษฐกิจไม่ดี ตกงาน หรือไม่มีโบนัส สัดส่วนการไถ่ทอนก็จะน้อยมาก
นอกจากการนำเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกแล้ว Easy Money จึงขยายไปสู่การสร้างรายได้ผ่านร้านขายสินค้ามือสอง ซึ่งปัจจุบันให้บริการอยู่ 2 สาขา คือ เซ็นทรัลพลาซา พระราม 3 และเซ็นทรัลพลาซา โคราช เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มั่นใจการตรวจสอบทรัพย์สินว่าเป็นของแท้และมีสภาพดีจึงคุ้มค่าต่อการซื้อ ทั้งยังมีหมวดหมู่สินค้าให้เลือกมากกว่า 1,000 รายการ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังมีรายได้หลักจากดอกเบี้ย แม้ว่าธุรกิจร้านขายสินค้ามือสองจะได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค แต่ก็มีทั้งที่มาซื้อสินค้าผ่านหน้าร้าน และช่องทางออนไลน์ของบริษัท ทั้งทางเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก ทำให้ Easy Money ให้ความสำคัญกับการให้บริการด้วยความสะดวกและรวดเร็วเป็นหลัก
“เราหวังให้ Easy Money กลายเป็น Top of Mind ในใจผู้บริโภคเมื่อต้องการใช้เงิน ไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งในตัวเลือก นั่นทำให้เราพยายามพัฒนาบริการให้รวดเร็วทำให้ลูกค้าได้รับเงินอย่างรวดเร็ว โดยสถิติตอนนี้ใช้เวลาเพียง 3 นาทีในการรับจำนำทองคำ ส่วนสินค้าแปลกอาจต้องใช้เวลาเฉลี่ย 20-30 นาทีเพื่อตรวจสอบ ซึ่งหากใครเคยใช้บริการจะรู้ว่าง่าย รวดเร็ว และมักจะกลับมาใช้ซ้ำเมื่อต้องการใช้เงิน ทำให้เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อลบภาพลักษณ์เดิม ๆ ของโรงรับจำนำ ที่คนไม่กล้าใช้บริการเพราะกลัวถูกคนอื่นมองว่าถังแตก หรือกลัวทรัพย์สินเสียหายไม่เหมือนเดิม สู่โฉมใหม่ที่เป็นมิตรกับผู้คน”