เรียนรู้เมืองจีน China 5.0 มหาอำนาจเทคโนโลยีโลกที่จะเขย่าโลกทั้งใบด้วย AI

  • 3.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

China 5.0

“รู้เขารู้เรา รบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง”

หลักพิชัยสงครามซูนหวู่ที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่เมื่อกว่าพันปี จนถึงปัจจุบันในยุคดิจิทัลหลักพิชัยดังกล่าวก็ยังใช้ได้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการวางแผนตลาดในยุค DATA Driven ยิ่งรู้เราและยิ่งรู้เขา (ทั้งคู่แข่งและลูกค้า) ยิ่งสร้างความได้เปรียบได้มากกว่า ยิ่งในยุคที่จีนกลายเป็นมังกรผงาดฟ้าหลังหลับใหลมานาน ที่สำคัญจากปัญหาค่าเงินบาทแข็งและสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จึงยิ่งทำให้จีนต้องสร้างความแข็งแกร่งและจะมีผลกระทบมายังไทยด้วย

นั่นจึงต้องทำให้ศึกษาถึงการพัฒนาของจีน จากประเทศที่ล้าหลังสู่การก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก อะไรที่ทำให้จีนพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและยาวไกล ปัจจัยที่ทำให้จีนกลายเป็น Silicon Valley ของเอเชีย ประเทศไทยกับการเติบโตของจีนจะได้ประโยชน์อย่างไรและต้องเตรียมตัวรับมืออย่างไร ก้าวต่อไปของจีนที่ต้องจับตามอง

China

โดย บริษัทเอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จํากัด (ARV) บริษัทลูกของ ปตท.สผ.ที่เน้นเรื่องการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบ AI ในทุกอุตสาหกรรม ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “SURVIVE CHINA 5.0” และได้รับเกียรติจาก ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณสมชาย จึงสมบูรณานนท์ President, Office of the CEO MQDC และ คุณพันธพงศ์ ตั้งธีระสุนันท์ Vice President-Innovation Chanwanich

 

เติ้งเสี่ยวผิง จุดเริ่มต้นของจีนยุคใหม่

เกมแห่งปรัชญาถูก AI พิชิตได้

โดย ดร.อาร์มเล่าว่า ในประวัติศาสตร์โลกไม่มีที่ไหนพัฒนาได้รวดเร็วเท่าเมืองเสิ่นเจิ้น เนื่องจากในอดีตผู้นำจีนอย่าง “เติ้งเสี่ยวผิง” ต้องการสร้างเมืองตัวอย่าง จึงตั้งให้เมืองเสิ่นเจิ้นบ้านเกิดตัวเองเป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน จุดหลักที่ทำให้จีนพัฒนาตัวเองไปได้อย่างรวดเร็วคือปัจจัย 4 ข้อ ประกอบไปด้วย Insecurity ความรู้สึกที่ไม่มั่นคงถ้าไม่ปรับตัวจะอยู่ไม่รอด, Obsession ความรู้สึกที่ต้องคิดเรื่องเทคโนโลยีแบบทุ่มสุดตัว, Competition การแข่งขันที่รุนแรงทำให้เกิดความรู้สึกฮึดสู้และ Experimentation ความรู้สึกกล้าที่จะทดลอง

Shenzhen Transform
ภาพเมืองเสิ่นเจิ้นในอดีตและปัจจุบัน จากมุมเดียวกันบนฝั่งฮ่องกง

ในอดีตสหรัฐฯ เคยเกิดปรากฎการณ์ “Sputnik Moment” ทำให้สหรัฐฯ ต้องพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศที่เหนือกว่าสหภาพโซเวียตด้วยการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ เทคโนโลยีเหล่านั้นต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น อินเตอร์เน็ต เป็นต้น จีนเองก็ประสบกับเหตุการณ์ “China Sputnik Moment” โดยในเดือนมีนาคม 2016 แชมป์โลกหมากกระดาน (เกมโกะ) อย่าง ลี เซดอล ชาวเกาหลีใต้แพ้ให้กับ AI ที่มีชื่อว่า “AlphaGo” ที่พัฒนาโดย Google ชาวจีนมองว่า AI มีความชาญฉลาดเหนือกว่ามนุษย์ นั่นจึงทำให้จีนเกิดความรู้สึกต้องปรับตัวครั้งใหญ่ (Insecurity)

AlphaGo

จีนจึงต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีแบบทุ่มสุดตัว (Obsession) ซึ่งจีนเชื่อว่า AI จะตอบโจทย์ทุกอย่างของประเทศจีน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจที่จีนจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ที่มี AI จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคน นอกจากนี้ AI ยังช่วยตอบโจทย์เรื่องการเมือง ทำให้รัฐบาลจีนสามารถรับรู้ความต้องการของประชาชนผ่าน Social ของจีน รวมถึงยังเตรียมใช้ Social Credit Scoring ซึ่งเป็นคะแนนทางสังคมและจะมีผลต่อการทำธุรกรรมอื่นๆ จีนยังมองว่า AI ช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงที่จะทำให้จีนก้าวสู่ชาติผู้นำโลก

 

อเมริกาแรงกระตุ้นจีนครั้งใหญ่

ต้นแบบเมือง AI ของสีจิ้นผิง

เพราะจำนวนประชากรของประเทศจีนทำให้คนจีนต้องแข่งขัน (Competition) ตั้งแต่เกิด คนจีนจึงกระตือรือร้นในการแข่งขันตลอดเวลา เห็นได้จากแอปพลิเคชั่นของจีนในยุคแรกจะเป็นการก๊อปปี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ยุคที่สองจีนจึงมีการพัฒนาแอปฯ เพื่อสร้างความแตกต่าง จากนั้นในยุคที่สามก็พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองขึ้นมาโดยไม่ต้องก๊อปปี้ใคร และในยุคที่สี่คือการที่หลายประเทศหันมาก๊อปปี้แอปฯ จากจีน

USA China

นอกจากนี้การที่ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งห้ามบริษัทสัญชาติอมเริกันทำการค้ากับ Huawei ถือเป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดที่ทำให้จีนต้องปรับตัวอีกครั้งก่อให้เกิดทฤษฎี “หมูสามชั้น” เพราะเบื้องหลังสงครามการค้ามีเรื่องของเทคโนโลยี ในเรื่องของเทคโนโลยีมีเรื่องของข้อมูล (DATA) ซึ่งเบื้องหลังของขอมูล (DATA) คือเรื่องของความมั่นคง

ที่สำคัญจีนยังกล้าทดลอง (Experimentation) เพราะตั้งแต่ที่เติ้งเสี่ยวผิงตั้งเมืองเสิ่นเจิ้นเป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ล้มเหลวมาโดยตลอด แต่จีนใช้หลักเรื่องไหนล้มเหลวรีบแก้ เรื่องไหนสำเร็จรีบขยาย ส่งผลให้บริษัทจีนใช้หลักการนี้เช่นกัน ยิ่งเมื่อมี AI เข้ามาเกี่ยวข้องการนำข้อมูล (DATA) มาทดลองให้เร็ว ทำให้ AI มีความฉลาดมากขึ้นและเร็วขึ้น

Xiong An

เมืองสงอัน มณฑลเหอเป่ย กำลังจะกลายเป็นเมืองทดลองแห่งที่สอง หลังจากที่สีจิ้นผิงเจริญรอยตามเติ้งเสี่ยวผิงด้วยการยกเมืองบ้านเกิดตัวเองให้เป็นเมือง AI Smart City ด้วยแนวคิดที่แตกต่างจากฝรั่ง โดยฝรั่งจะสร้างเทคโนโลยีมาตอบโจทย์โครงสร้างของเมือง แต่จีนสร้างโครงสร้างของเมืองเพื่อรองรับเทคโนโลยี เช่น รถยนต์ไร้คนขับฝรั่งจะหาทางทำให้รถวิ่งได้บนถนนในเมือง แต่จีนสร้างถนนใต้ดินเพื่อให้รถวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะแสงอาทิตย์คือปัจจัยที่ทำให้รถยนต์ไร้คนขับเกิดความผิดพลาดในการคำนวน ถนนใต้ดินที่ควบคุมแสงได้จะช่วยให้รถยนต์ไร้คนขับมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยด้านบนเป็นที่อยู่อาศัยและสวนสาธารณะ

 

CP แนะเจาะให้ถูกเมืองโอกาสสำเร็จสูง

แต่ต้องรู้พฤติกรรมความชอบคนจีนด้วย

สำหรับ CP เข้าไปทำธุรกิจในจีนตั้งแต่ปี 1992 ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่จดทะเบียนในจีนและได้รหัส 0001 โดยเมืองแรกที่เข้าไปคือเมืองเสินเจิ้น การนำธุรกิจเข้าไปที่จีนต้องเข้าใจก่อนว่า จีนแบ่งเมืองต่างๆ ออกเป็น 4 Tier โดยเมือง Tier 1 จะสามารถสร้างรายได้ GDP ประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีประชากรราว 15 ล้านคน ประกอบด้วยเมืองทั้งสิ้น 15 เมืองและเป็นเขตปกครองพิเศษ

Beijing Tier1 City

ครั้งหนึ่งที่ CP เคยเปิดห้าง Lotus SuperCenter ที่เมืองเซี่ยงไฮ้โดยมีเป้าหมายในการขยายสาขาออกนอกเมืองเซี่ยงไฮ้ ด้วยประสบการณ์ด้านบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากประเทศไทยว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติหมูสับเป็นรถชาติยอดนิยม จึงได้นำะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสหมูสับแบรนด์ดังๆ ของเซี่ยงไฮ้ออกไปขายที่มณฑลเจียงซูที่อยู่ติดกัน ปรากฎว่าขายไม่ได้เลย แม้จะเป็นบะหมี่ชื่อดังยอดขายอันดับหนึ่งในเซี่ยงไฮ้

นั่นเป็นเพราะคนที่มณฑลเจียงซูนิยมทานรสเผ็ด ส่งผลให้ต้องปิดกิจการในมณฑลเจียงซู เพราะเราไม่เข้าใจผู้บริโภค ถ้าต้องการบุกตลาดจีนต้องเลือกบุกให้ถูกเมือง โดยเมือง Tier 1 การแข่งขันสูง ซึ่งแบรนด์ใหญ่ๆ ตอนนี้เริ่มหนีจากเมือง Tier 1 แล้ว โดยกลุ่มเมือง Tier 3 เป็นกลุ่มเมืองที่น่าสนใจเพราะคนในเมืองกลุ่มนี้เริ่มมีเงิน แต่ยังไม่มีที่ใช้เงิน

 

เจาะตลาดจีนไม่ยากแต่ไม่ง่าย

ต้องรู้จริตคนจีนแต่ละเจเนอเรชั่น

นอกจากนี้คนจีนแบ่งเจเนอเรชั่นตามปีเกิดอย่าง 1950-1960 จะเรียกว่ากลุ่มผมสีเทาหรือกลุ่มผู้สูงอายุ จะมีพฤติกรรมอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ซึ่งหลานเชี่ยวชาญเรื่องดิจิทัลกลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้รับอานิสงส์กลายเป็นผู้สูงอายุที่มีความรู้เรื่องดิจิทัล ขณะที่คนเกิดปี 1970 จะเป็นกลุ่มคนที่เกิดในช่วงเศรษฐกิจจีนเติบโต กลุ่มคนเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มคนสู้ชีวิตใช้เงินน้อยถึงแทบไม่ใช้เลย

ส่วนคนที่เกิดปี 1980-1990 เป็นกลุ่มคนที่เติบโตในยุคโทรศัพท์มือถือเติบโต กลุ่มคนเหล่านี้จึงเป้นกลุ่มคนที่ใช้เงินจำนวนมาก และกลุ่มคนที่เกิดหลังปี 1995 กลุ่มคนเหล่านี้เติบโตมาพร้อมกับความสะดวกสบาย ไม่เคยพบอุปสรรคในการใช้จ่ายและเป็นกลุ่มคนที่มีความอดทนต่ำมาก กลุ่มคนเหล่านี้จะมองหาประสบการณ์ในการใช้จ่ายที่สะดวกสบายไม่มีอุปสรรค โดยไม่สนเรื่องราคาถูกหรือแพง ยิ่งสะดวกยิ่งรวดเร็วคนกลุ่มนี้ยิ่งชอบ

Chinese Family

กลุ่มคนที่เกิดหลังปี 1995 จึงเป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ ที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านี้ยังชอบออกกำลังกาย โดยธุรกิจการออกกำลังกายของจีนมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฮเทคที่ช่วยในการออกกำลังกาย ซึ่งข้อมูลการออกกำลังกายคนจีนกลุ่มนี้จะนิยมแชร์ในโลกโซเชียล นอกจากนี้สังคมจีนยังไม่นิยมการเป็นเจ้าของ แต่นิยมการแชร์มากกว่าอย่างธุรกิจแชร์จักรยาน และยังให้ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า องค์กรใดก็ตามที่ช่วยแก้ปัญหาและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับชาวจีนได้ องค์กรนั้นก็จะสามารถประสบความสำเร็จบนแผ่นดินจีนได้

 

ปรัชญาจีนกับการพัฒนาเทคโนโลยี

แผนต่างๆ สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีจีน

หากกล่าวถึงเทคโนโลยีบนโลกใบนี้ คงต้องยกให้ทางฝั่งตะวันตกโโยเฉพาะทางยุโรปอย่างเยอรมนี เพราะกระบวนการคิดเทคโนดลยีมีการวางแผนมาตั้งแต่ฐานราก หรือที่เราเรียกว่า Deep Tech ซึ่งกว่า 5 ปีที่แล้วเยอรมนีอาจเรียกได้ว่าเป็นประเทศเทคโนโลยีที่ไม่กลัวจีนก๊อปปี้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้จีนสามารถก๊อปปี้เทคโนโลยีได้เพียงผิวเผิน แต่หลังจากนี้อาจจะต้องเริ่มระมัดระวังมากขึ้นเพราะจีนมีกระบวนการพัฒนานวัตกรรมที่ซับซ้อนลงไปถึงฐานรากมากขึ้น

โดยจีนมีการสร้าง Sci Park ขึ้นในหลายๆ เมืองโดยมีหน้าที่ในการทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งนั่นทำให้จีนประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า จีนหมดยุคของการเลียนแบบก๊อปปี้ นอกจากนี้ประธานธิบดีสีจิ้นผิงยังชี้ว่า ข้อมูล (DATA) คือสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาก้าวหน้า จีนจึงมีเป้าหมายในการค้นหาข้อมูลเปรียบเสมือนการขุดหาบ่อน้ำมัน

Sci Park China
Credit Photo: Mirko Kuzmanovic / Shutterstock.com

นอกจากนี้ยังยังมีแผนการพัฒนาที่เรียกว่า Zhongguo โดยในขั้นแรกหรือ Imitation Technology (Zhongguo 1.0) จะเน้นการผลิตในเชิงปริมาณและราคาคุ้มค่า หรือคือการเลียนแบบนั่นเอง ต่อมาในขั้นที่สองหรือ Exponential Technology (Zhongguo 2.0) คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และถือเป็นขั้นที่อยู่ในช่วงเวลาปัจจุบัน

ขั้นที่สามหรือ Radical Technology (Zhongguo 3.0) จะเป็นการนำเทคโนโลยีที่อยู่ในรูปของทฤษฎีมาทดลองให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างรวดเร็ว และจะนำไปสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมสมัยใหม่ คาดว่าจีนจะสามารถเข้าสู่ขั้นนี้ได้ในปี 2030 และขั้นที่สี่หรือ Supremacy Technology (Zhongguo 4.0) คือการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่ทั่วโลกต้องหันมาใช้และจะเป็นเป็นผู้นำด้านนวตกรรมอย่างแท้จริง โดยขั้นนี้ถูกกำหนดไว้ในปี 2050

ShanZhai Model

ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจาก ซานจ้ายโมเดล (ShanZhai Model) โดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้น ขั้นแรกคือขั้นของการอยู่รอด (Information) ขั้นนี้จะเน้นไปที่การเลียนแบบก๊อปปี้ เพื่อทำกำไรอย่างรวดเร็วและเรียนรู้ความต้องการของตลาด ขั้นต่อมาคือขั้นการอยู่ต่อ (Imitation) โดยขั้นนี้จะพัฒนาจากขั้นแรกโดยการผลิตเองหลังจากทำการศึกษาและเรียนรู้สินค้านั้นๆ จากนั้นออกแบบดีไซน์ใหม่ภายใต้แบรนด์ตัวเอง

guanxi

ขั้นที่สามคือขั้นอยู่ยาว (Innovation) โดยขั้นนี้จะเริ่มมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น แก้ Pain Point ของตลาดรวมไปถึงการหาโอกาสในตลาดใหม่ นอกจากนี้จีนยังมีปรัชญาธุรกิจที่เรียกว่า กวนซี (Guanxi) หรือการสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์ และจะได้มาซึ่งความไว้ใจและเชื่อใจ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน

นอกจากนี้รูปแบบความร่วมมือของจีนยังเป็นแบบธุรกิจเป็นใหญ่ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนในการกฎหมายกับบริษัทเอกชน สถาบันการศึกษาจะหาผลสำรวจให้บริษัทเอกชน ขณะที่แล็ปด้านวิทยาศาสตร์จะสนับสนุนผลการทดลองต่างๆ ให้กับบริษัเอกชน เพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถเติบโตและออกไปสู่ตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง

ในอนาคตจีนอาจจะกลายเป็นมหาอำนาจโลกทางด้านเทคโนโลยี อยู่ที่ว่าประเทศไทยเตรียมรับมือกับการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนแล้วหรือยัง เพราะจีนนอกจากจะมีเทคโนดลยีแล้วยังมีเงินทุนมหาศาลที่พร้อมเข้าไปลงทุนแบบทุ่มไม่อั้น…


  • 3.3K
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา
CLOSE
CLOSE