‘skills’ แบบไหนที่ ‘องค์กร’ ต้องการในปี 2021

  • 1K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอนและมีข่าวการเลิกจ้างมากมาย เราขอชวนมาอัพเดทเรื่อง ‘skills’ แบบไหนที่เป็นที่ต้องการสำหรับองค์กรและตลาดแรงงานในปี 2021 ทั้ง ‘Hard skills’ และ ‘Soft skills’ เพื่อเป็นการพัฒนาตัวเอง , เพิ่มโอกาสในการย้ายงาน หรืออัพตำแหน่งให้เติบโตกว่าเดิม

Hard Skills

1.UX Design

หลายคนน่าจะเคยได้ยินอาชีพ UX/UI Designer กันมาบ้างแล้ว ซึ่งในปีนี้และอนาคตข้างหน้า ทักษะ UX Design ก็ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ โดยจะออกแบบให้ใช้งานง่ายและลื่นไหลที่สุด รวมไปถึงออกแบบการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทั้งเว็บ แอปพลิเคชั่น และโมบาย แอปพลิเคชั่น ให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน ที่สำคัญ ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ด้วยว่า ดีไซน์นี้จะนำไปใช้งานจริงได้ไหม

2.Scientific Computing

ทักษะการคำนวนทางวิทยาศาสตร์ ต้องได้รับการจัดทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์, วิศวกร หรือนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ทักษะนี้มีความจำเป็นเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงสามเท่า หลายบริษัทมีความต้องการมืออาชีพในด้านนี้โดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาเป็นโมเดลแมชชีน เลิร์นนิ่ง, สถิติประยุกต์ และการวิเคราะห์ Big data

3.Analytical Reasoning

การวิเคราะห์เชิงตรรกะ หรือ Analytical Reasoning คือ ทักษะความสามารถในการเชื่อมโยงตัวแปร การแตกและแยกปัญหาใหญ่ออก รวมไปถึงใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดแก้ไขเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด กลายเป็นอีกทักษะที่หลายองค์กรต้องการและขาดไม่ได้ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารมากมาย เพื่อให้องค์กรเข้าถึงและนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ผ่านกระบวนการวิเคราะห์เชิงตรรกะ ซึ่งจะช่วยให้กลายเป็นผู้ที่แข็งแกร่งกว่าผู้แข่งขันรายอื่น ๆ

4.Video production

Video production อีกหนึ่งทักษะด้าน Hard skill ที่บางคนอาจมองว่า เป็นงานอดิเรกเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยปัจจุบันการบริโภคสื่อที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค จากข้อความ รูปภาพ เป็นภาพเคลื่อนไหว หรือเนื้อหาในรูปแบบวีดีโอ ทำให้วีดีโอกลายเป็นสื่อชิ้นสำคัญที่บริษัทกำลังให้ความสนใจ ทำให้ทักษะการตัดต่อวีดีโอ เป็นที่ต้องการมากในตลาดเช่นกัน

5.Artificial Intelligence (AI) / Machine Learning Engineers

Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ เกิดขึ้นมาทำงานเพื่อมนุษย์โดยดำเนินการอัตโนมัติ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความเป็นไปได้ในความผิดพลาด ซึ่งทักษะความรู้เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์เป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในตลาด เพราะปัจจุบัน AI ถูกพัฒนามาใช้ทำงานแทนมนุษย์ในหลายตำแหน่งงาน ในการช่วยลดปัญหาและต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ คนที่สามารถพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI กับงานได้ จึงได้รับความสนใจจากองค์กรต่างๆ เป็นอย่างมาก

Soft Skills

1.ความฉลาดทางอารมณ์

เว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส์ รายงานว่า ทักษะความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในลำดับต้น ๆ ของลิสต์ทักษะสำคัญที่นายจ้างต้องการ หากคุณมีความสามารถในการตระหนักรู้และตอบสนองต่ออารมณ์ตนเอง และเพื่อนร่วมงานได้ดี ก็จะทำให้สามารถปฏิสัมพันธ์สังคมในการทำงานได้ดีขึ้น เพราะคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แสดงออกทางอารมณ์ออกมาได้เหมาะสม มีคนรัก มีทัศนคติที่ดีเวลามีปัญหา ทำให้คนกลุ่มนี้อยากจะพัฒนาตัวเองต่อ และความก้าวหน้าก็จะตามมา

2.ศักยภาพในการแก้ปัญหา

การแก้ไขปัญหา อาจจะดูเป็นทักษะที่ทุกคนต้องมีอยู่แล้ว แต่ทักษะการแก้ปัญหาที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้คือ ‘ต้องเป็นการแก้ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ มีความเข้าใจในปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนได้ดี’ การตอบคำถามของผู้สมัครงานจะพิสูจน์เบื้องต้นได้ว่า ในสภาวะเฉพาะหน้าที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนั้น ผู้สมัครคนนั้นสามารถแก้ไขปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนได้หรือไม่อย่างไร

3.ความคิดสร้างสรรค์ที่มากกว่า

บริษัทจำนวนมากต้องการความคิดสร้างสรรค์ที่นำมาต่อยอดและประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่นและใช้งานได้จริง ซึ่งหลายบริษัทยืนยันว่า ทักษะนี้ยังคงโดดเด่นและเป็นที่ต้องการอยู่

4.การคิดเชิงวิพากษ์

การคิดเชิงวิพากษ์ คือ ต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ปัญหาทุกอย่างไม่มีขาวและดำเสมอไป คนที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ได้จะเข้าใจวิธีวิเคราะห์ และประเมินข้อมูลที่มีก่อนจะตัดสินใจทำอะไร จึงไม่ต้องแปลกใจหากนายจ้างมองหาผู้สมัครที่มีความสามารถระดับสูงในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน

5.การเจรจาต่อรอง

นอกจากการมีผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์แล้ว ทักษะที่ต้องมีอีกอย่างเพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักในวงกว้างได้ก็คือ บริษัทจะต้องมีพนักงานที่มีทักษะเจรจาต่อรองที่ดี เพราะทักษะนี้มีความพิเศษตรงที่เป็นความสามารถเฉพาะตัวของมนุษย์ เครื่องจักรยังไม่สามารถมาทดแทนได้

ฉะนั้น พนักงานควรฝึกเทคนิคการเจรจาต่อรองให้ประสบผลสำเร็จ อย่างการเตรียมฝึกพูด วางแผนกลวิธีโน้มน้าวใจ สร้างความน่าเชื่อถือ แสดงข้อมูลให้มาก และเรียนรู้ที่จะปรับกลยุทธ์การเจรจาเฉพาะหน้าได้ทุกเมื่อด้วย

 

ที่มา : krungthai


  • 1K
  •  
  •  
  •  
  •