เปิดพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในไทย พร้อม 5 สินค้าขายดีที่ลูกค้าต้องซื้อ

  • 331
  •  
  •  
  •  
  •  

เผยผลสำรวจคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย พบใช้จ่ายลดลง เพราะกังวลกับสภาวะทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอก 3 แต่ขณะเดียวกันมีแนวโน้มจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าที่สามารถนำไปต่อยอด หารายได้เข้ากระเป๋าเพิ่มเติม

ผลสำรวจนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่างสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ร่วมกับบริษัท สปา-ฮาคูโฮโด จำกัด ซึ่งมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งเพศชายและเพศหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ประจำเดือนมิถุนายน 2564 พบ 2 ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในไทย ได้แก่

1.สถานการณ์ทำให้ต้องรัดกุม แต่ชีวิตยังต้องเดินหน้าต่อไป

การกลับมาระบาดของโควิด-19 ในระลอก 3 ทำให้ คนไทยลดการใช้จ่าย รัดกุมมากขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในช่วงเดือนเมษายน 2564  ถึงแม้จะมีแนวโน้มการใช้จ่ายโดยรวมลดลง แต่ความต้องการพื้นฐานในอาหาร เครื่องดื่ม และของใช้จำเป็นก็เพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายค่าน้ำมัน เพื่อออกไปทำงานหารายได้ และมีบางส่วนที่ลดการทานอาหารนอกบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด และเน้นประหยัดค่าใช้จ่าย

โดยแนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลง 2 คะแนน มาอยู่ที่ 54 คะแนน จาก 56 คะแนนเต็ม 100 ในผลสำรวจครั้งก่อน ขณะที่คะแนนความสุขในปัจจุบันยังคงที่อยู่ที่ 65 คะแนน เท่ากับผลสำรวจครั้งก่อน แต่แนวโน้มความสุขใน 3 เดือนข้างหน้านั้นคาดว่า ‘ลดลง เหตุจากความกังวลว่าสถานการณ์อาจยังไม่ดีขึ้น’

 

2.ชะลอของชิ้นใหญ่ แต่ยอมจ่ายเพื่อประโยชน์ รวมถึงความสุขเล็กๆ น้อยๆ สินค้าที่มีมูลค่าสูง อย่างเครื่องใช้ภายในบ้าน และโทรศัพท์มือถือ

แม้มีแนวโน้มการใช้จ่ายลดลง แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการเพื่อนำไปช่วยในการประกอบอาชีพ เช่น ไว้ถ่ายรูปขายของ นอกจากนี้การได้ช้อปปิ้งเทศกาลลดราคากลางปี ทำให้ได้ซื้อของราคาถูกและเป็นการผ่อนคลายด้วย รวมถึงการซื้อสินค้าเสริมความงามที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อพยุงความรู้สึกให้รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ไปได้

อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้กลับมาระวังตัวมากขึ้น โดยมุ่งใช้จ่ายในสิ่งที่มีความจำเป็นเท่านั้น โดยสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคซื้อมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

-อาหาร 28%

-ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน 16%

-โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน 8%

-เครื่องใช้ภายในบ้าน 6%

-ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม 5%

เมื่อจำแนกตามภาคพบแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลรวมถึงภาคกลาง และภาคใต้ พบว่า ภาคที่มีความต้องการในการใช้จ่ายลดลงได้แก่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกที่ลดลงต่ำที่สุดถึง 8 คะแนน มาอยู่ที่ 51 คะแนน จากเดิมที่มีแนวโน้มการใช้จ่ายสูงสุดในผลสำรวจครั้งก่อนที่ 59 คะแนน

สาเหตุจากยังมีกักตุนสินค้าคงเหลือเพื่อรองรับฤดูการท่องเที่ยวเมื่อเดือนเมษายน ผนวกกับสถานการณ์โควิดระลอกสามที่ต้องประหยัดและจำกัดการเดินทาง

เมื่อแบ่งตามช่วงอายุ พบว่า แนวโน้มการชะลอการใช้จ่ายอยู่ที่กลุ่มอายุ 30-39 ปี เป็นกลุ่มที่มีภาระด้านครอบครัว และยังไม่มีความมั่นคงด้านการเงินเท่ากลุ่ม 40ปี ขึ้นไป ดังนั้นกลุ่มนี้จึงส่งสัญญาณลบมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะสินค้าประเภทเสื้อผ้า การท่องเที่ยวในประเทศ และทานข้าวนอกบ้าน

นอกจากนี้ยังพบว่า ประเด็นที่คนไทยให้ความสนใจเพิ่มสูงขึ้นคือ ‘โควิดระลอก 3’ สูงถึง 83% เพิ่มขึ้น 59% จากผลสำรวจครั้งก่อน ตามด้วย ‘ข่าวด้านการเมืองในประเทศ’ 4% ตามด้วยการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการอยู่รอดในอนาคต อาทิ ‘วัคซีน’ หรือการมองหาทางเลือกใหม่ในการหารายได้ อย่างกระแส ‘การลงทุนในหุ้น’ หรือ ‘บิทคอยน์’


  • 331
  •  
  •  
  •  
  •