Start-up หน้าใหม่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้ทั่วโลก

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

dtac-startup

สำหรับโครงการ dtac Accelerate ที่ผู้ชนะเลิศจะได้เข้าร่วมโปรแกรม Blackbox Connect  ที่ซิลิคอน แวลลี่ย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย 3 ทีมผู้ชนะนั้นต่างก็มีจุดเด่นในเรื่องของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น FastInFlow ที่เอาใจนักการตลาดที่ต้องการทำรีเสิร์ชข้อมูลลูกค้าเพื่อมาใช้ในงานด้านการตลาด Haamor แอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ที่มีอาการป่วยและต้องการคำปรึกษาจากแพทย์ที่น่าเชื่อถือ และ Diet Party แอพพลิเคชั่นที่ช่วยให้หนุ่มสาวสนุกกับการรักษารูปร่างแบบไม่ต้องอด

ปารดา มหาเปารายะ ตัวแทนทีม Diet Party แอพพลิเคชั่นสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของไอเดียในการทำแอพพลิเคชั่นมาจากคนรอบตัวของเราที่ต้องการลดน้ำหนักและจะมีวิธีการลดจำนวนมาก จากการสังเกตพบว่า ผู้หญิงจะเริ่มกังวลเรื่องนี้กันตั้งแต่อายุ 15 ปีและถึงแม้เวลาจะผ่านไป 5 หรือ 10 ปีปัญหาการลดน้ำหนักก็ยังคงเป็นเรื่องที่กังวลกันเสมอทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ชีวิตคนเราจะลดน้ำหนักกันกี่ครั้ง แล้วเครื่องมือที่มีในท้องตลาดเหมาะสมกับการลดน้ำหนักจริงไหม อีกทั้งแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่เกี่ยวกับการลดน้ำหนักก็มีเยอะมากทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแอพไหนจะทำออกมาดีและใช้ได้ผลจริง  ซึ่งการใช้งานแอพพลิเคชั่นเหล่านั้นอาจจะช่วยเรื่องการลดน้ำหนักได้ แต่จะไม่สอนเรื่องการกินอาหารที่ถูกต้องบางทีอาจจะแนะนำเครื่องมือลดน้ำหนักที่ผิดๆ ให้ ซึ่งคนที่ไดเอทจะไม่ได้ใช้แค่สูตรเดียวในการลดน้ำหนัก แต่จะปรับเปลี่ยนสูตรให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์นั่นคือการรับแคลอรี่เข้าร่างกายให้น้อยที่สุดหรือนับเป็นจำนวนแคลอรี่ว่าในแต่ละวันเรากินอะไรบ้าง ผลที่ได้รับคือช่วยให้ผู้ที่ลดน้ำหนักมีสติกับการกินมากขึ้น โดยการจดไดอารี่จะช่วยให้รู้จักวางแผนการกินอาหารได้ง่ายขึ้นและกินได้น้อยลงเองตามธรรมชาติ ไอเดียหลักของไดเอตปาร์ตี้นั้น ไม่ใช่แค่แอพพลิเคชั่นสำหรับการลดน้ำหนัก แต่ช่วยหยุดการลดน้ำหนักแบบหักโหมในวิธีที่ผิดและเข้าใจตัวเองมากขึ้น เพราะการกินอาหารในชีวิตประจำวันไม่ใช่กินให้น้อยที่สุดเพื่อหวังให้น้ำหนักลดลงเพียงชั่วคราว แต่เป็นการกินให้ถูกเวลาในปริมาณที่เหมาะสม

Dietparty

นอกจากจดไดอารี่การกินอาหารแล้วยังมีฟีเจอร์ที่เป็น Stat ช่วยเตือนให้ทราบว่าปริมาณอาหารที่กินในแต่ละวันเหมาะสมหรือไม่ โดยจะเป็นขึ้นเป็นสีแดง เหลืองและเขียว ทั้งนี้ยังมีกราฟลดน้ำหนักที่จะบอกให้รู้ว่า ลดน้ำหนักไปได้แค่ไหนแล้ว กินอาหารครบ 5 หมู่ไหม ซึ่งถ้าเรากินและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมก็จะทำให้น้ำหนักลดลงได้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจกระตุ้นให้คนอื่นอยากใช้วิธีลดน้ำหนักหรือเป็นต้นแบบสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักอีกหลายร้อยคนได้ ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงเดโมคาดว่าจะเปิดใช้งานได้จริงทั้งระบบแอพพลิเคชั่น แฟนเพจและเว็บไซต์ประมาณปลายปี 2556 นี้

Dietparty2

ส่วนแผนการตลาดที่มองไว้เนื่องจากหลังประกาศผลมีนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่ให้ความสนใจค่อนข้างมากซึ่ง  Start Up ก็ไม่ต่างจาก SME จึงต้องเลือกพาร์ทเนอร์ที่มีเป้าหมายตรงกันที่สุด ตอนนี้เริ่มมีการเจรจากับนักลงทุนทั้งจากสิงคโปร์ เกาหลีและฝั่งยุโรป เพราะปัญหาเรื่องน้ำหนักเป็นเรื่องสำคัญของคนทั่วโลก โดยเฉพาะอเมริกาเหนือที่ให้ความสนใจกันเยอะมาก ซึ่งแอพของเราเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว ทำให้ง่ายต่อความเข้าใจจึงขยายไปได้ทั่วโลก แต่อาจจะมีการปรับรูปแบบการใช้งานให้สนุกสนานมากกว่านี้ เพราะจุดเด่นของแอพนี้คือ It’s Work, It’s Fun, It’s Right way หรือการลดน้ำหนักที่ทำได้ดีต้องสนุกสนานและเป็นวิธีการที่ถูกต้องด้วย ถึงจะเป็นการลดแบบระยะยาว เพราะถ้าหักโหมมากเกินไปจะกลายเป็นการทำลายสุขภาพ

วิชานน์ มานะวาณิชเจริญ ตัวแทนทีมพัฒนาแอพพลิเคชั่น Haamor ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยเรื่องการวิเคราะห์อาการป่วยเบื้องต้นจากบริษัท อาร์เทอเร็กซ์ จำกัด กล่าวว่า แอพพลิเคชั่นนี้จะเข้ามาช่วยผู้ที่มีอาการป่วยแต่ไม่สามารถเข้าไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ ไม่จำกัดว่าต้องมีอาการป่วยระดับไหนถึงจะเข้าใช้งาน โดยจะช่วยในเรื่องของการเช็คอาการเบื้องต้น ซึ่งบางอาการเราสามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการได้เอง โดยไม่ต้องเดินทางไปพบแพทย์ ผลการวิจัยจาก WHO ได้สรุปไว้ว่าคุณหมอหนึ่งคนควรจะดูแลรักษาผู้ป่วย 25 คน เพื่อการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพแต่ในประเทศไทยมีสัดส่วนแพทย์ 1 คนต่อผู้ป่วย 80 คน ถึงแม้ว่าแพทย์จะเก่งแค่ไหน แต่จำนวนการรักษาที่เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าแบบนี้มันก็ยากที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นแอพฯ นี้จะเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรักษาอาการของตัวเองได้ หากอาการไม่หนักมากจนถึงกับต้องเข้ารักษาด่วนที่โรงพยาบาล แอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยลดปริมาณคิวที่เข้ารับการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักมากลงและช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการฉุกเฉินได้ทันท่วงทีไม่ต้องรอคิวเป็นเวลานาน

Haamor

Haamor2

โดยคำถามทั้งหมดที่อยู่ในแอพฯ นั้น ผู้ที่มีอาการป่วยจะตอบเพียง ใช่ หรือ ไม่ใช่ ซึ่งเป็นรูปแบบคำถามเดียวกันกับที่คุณหมอใช้ในการสอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยใช้เวลาเพียง 5-10 นาที ผู้ใช้งานก็สามารถรู้อาการป่วยและรักษาเบื้องต้นได้เอง ซึ่งจะไม่เหมือนกับแอพฯ สุขภาพทั่วไปที่ให้ข้อมูลเชิงเนื้อหาจำนวนมากและไม่มีฟีดแบ็กจากผู้ที่เชี่อถือได้ แอพนี้จะเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ haamor.com ที่เปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลา 2 ปี มีผู้เข้าใช้งานกว่า 20,000 คนต่อวันถือว่าเป็นส่วนช่วยในการเก็บข้อมูลคำถามเกี่ยวกับสุขภาพไว้ในเว็บบอร์ดเป็นจำนวนมากและมีคุณหมอมาตอบปัญหาสุขภาพเพื่อช่วยบรรเทาคนป่วยเหล่านั้น ซึ่งการช่วยชีวิตคนเพียงหนึ่งคนก็เป็นสิ่งที่สร้างความภูมิใจให้กับทีมงานอย่างมากแล้ว ดังนั้นในการทำแอพฯ นี้ออกมาถือว่าเป็นการต่อยอดทางการรักษาที่มีรูปแบบชัดเจนมากขึ้น โดยแอพจะมีตารางเพื่อกำหนดรูปแบบทั้งคำถามและคำตอบกว่า 6,000 รูปแบบ เพื่อสรุปคำถามและคำตอบสำหรับวิเคราะห์อาการ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลานานตอบคำถามเดิมซ้ำบ่อยๆ หรือหากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคเหล่านั้นก็สามารถเข้าไปอ่านเนื้อหาและการวิเคราะห์อาการที่มีคุณหมอกว่า 100 ท่าน ได้เข้ามาตอบคำถาม ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ใช้งานจริงในช่วงปลายปีนี้ครับ

Fastinflowเฉลิมยุทธ์ บุญมา สมาชิกในทีมพัฒนาแอพพลิเคชั่น Fast inflow ได้เล่าถึงวัตถุประสงค์ของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ว่า ทางทีมงานได้มาเจอกันจากการเข้าร่วมสัมมนาใน Disrupt University ที่คุณกระทิง พูนผล เป็นคนจัดคอร์สซึ่งจะเกี่ยวกับการทำเริ่มต้นเป็นสตาร์ตอัพโดยมาแชร์ประสบการณ์จากการทำงานที่ซิลิคอนวัลเล่ย์  ในการแชร์ข้อมูลต่างๆ กับทีมงานครั้งนั้น ทำให้ได้เห็นความสามารถ ทักษะและทัศนคติของแต่ละคน ซึ่งผมเรียนและทำงานสายการตลาดจึงพบปัญหาจากการทำงานวิจัยซึ่งเป็นปัญหาหลักที่มีกันมาตลอดนั่นคือการตอบแบบสอบถาม บางครั้งการหาคำตอบจากลูกค้ามันไม่ต้องเป็นรูปแบบคำถามยาวๆ ก็ได้ แค่ตอบสนองความอยากรู้ได้ในทันที สั้นและกระชับ จึงเริ่มหาข้อมูลความต้องการของตลาดส่วนนี้ก็พบว่าบริษัทประเภทแบรนด์ส่วนใหญ่ยังต้องการข้อมูลแนวนี้อยู่ โดยองค์ประกอบหลักในการทำแอพพลิเคชั่นนี้จะมาจากรูปแบบเครื่องมือการทำวิจัยของบริษัทที่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งรูปแบบไม่ได้ยากมากแต่จะเป็นการถามและตอบแบบมีช้อยส์ให้เลือกว่าถูกหรือผิด เพราะสิ่งที่นักการตลาดคิดออกมาเป็นคำถามนั้นจะมีรูปแบบคำตอบที่ต้องการไว้ในใจแล้ว โดยรูปแบบของการสร้างคำถามสำหรับบริษัทหรือแบรนด์จะมีแบบฟอร์มให้พิมพ์คำถามและคำตอบเข้าไปในระบบ จากนั้นก็จะส่งเข้าไปในฐานข้อมูลเพื่อรอคำตอบจากกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม

สำหรับนักการตลาดจะเรียกว่า Panel ซึ่งแต่ละแบรนด์จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของ Demo Graphic ด้วย เช่น บริษัทปลากระป๋อง ต้องการสอบถามลูกค้าที่มีอายุของผู้ตอบแบบสอบถามที่ 25 ปี เพศหญิง อาชีพแม่บ้าน ระบบก็จะคัดกรองไปที่กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามตามที่แบรนด์กำหนดและส่งคำถามไปให้ จากนั้นก็จะแจ้งเตือนไปยังผู้ตอบแบบสอบถามให้เลือกคำตอบและส่งกลับมาที่ระบบ บริษัทหรือแบรนด์นั้น ก็จะได้รับคำตอบจากกลุ่มเป้าหมายหลักที่ตัวเองต้องการจริงๆ  แรงจูงใจในการโหลดแอพของฝ่ายผู้ที่ตอบแบบสอบถามนั้น ได้วางแผนทางการตลาดไว้ว่าผู้ที่ตอบแบบสอบถามจะได้คะแนนสะสมเพื่อเอาไปใช้แลกของรางวัลหรือบริจาคให้กับองค์กรการกุศล แต่อาจจะไม่ดึงดูดในระยะยาวก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดไปให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการตอบคำถามที่สุด ซึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงของการเปิดตลาดการค้าเสรีหรือ AEC จะเป็นส่วนช่วยในการขยายช่องทางการตลาดได้เพิ่มขึ้น  เพราะคำถามในแอพนั้นจะเริ่มต้นทำเป็นภาษาอังกฤษออกมาก่อน เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายและตลาดใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประตูทางโอกาสที่ช่วยให้ระบบการทำงานหลายๆ อย่างง่ายขึ้น ทางทีมกำลังศึกษาข้อดีของการต่อยอดเข้ากับธุรกิจว่าจะนำไปปรับใช้ทางกลยุทธ์อย่างไรได้บ้าง

ส่วนการเปิดให้ใช้งานตอนนี้อยู่ในขั้นตอนรอการอนุมัติจากทาง iOS ก่อน ส่วนระบบแอนดรอยด์ก็จะเป็นลำดับต่อไป คาดว่าภายในปีนี้จะเปิดให้ใช้บนเว็บไซต์ด้วย เพราะเป็นแพลนของปีนี้ที่อยากจะทำของสองระบบนี้ให้เสร็จเพื่อเปิดใช้งานได้ทันทีเพื่อความเชื่อมโยงของข้อมูลและสะดวกในการทำงานของนักการตลาด ทางด้านของพาร์ทเนอร์หรือ VC ตอนนี้ก็ยังอยู่ในช่วงพิจารณาว่าจะไปในทิศทางใด เพราะต้องการให้ระบบการทำงานร่วมกันกับพาร์ทเนอร์ ไม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงจากแผนธุรกิจที่ได้วางไว้ สำหรับรูปแบบการใช้งานของแอพพลิเคชั่นนี้จะแตกต่างจากเว็บไซต์วิจัยข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นระบบ  Auto Mate หรือ Social Ranking ที่เน้นการดึงข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลหลักมาใช้งาน แต่ในแอพจะเป็นการสำรวจจากผู้ตอบแบบสอบถามตัวจริงหรือ Consumer Research เพื่อนำเอาข้อมูลมาใช้งาน ซึ่งจุดเด่นของแอพจะอยู่ที่ความเร็วและความไวในการตอบสนองของแหล่งข้อมูล (Quick and New) ซึ่งเป็นจุดขายที่สามารถสู้กับเอเจนซี่วิจัยรายใหญ่ๆ ได้ เพราะระบบจะไม่เน้นการทำ Analysis แต่จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลย ไม่ซับซ้อน หากลูกค้าต้องการผลวิจัยการติดต่อเข้ามาเพื่อขอผลสรุปได้เลย คำตอบที่ได้มาจะไม่มีนำไปแชร์ให้กับคนภายนอกหรือบริษัทคู่แข่งรายอื่นทราบ เพราะเป็น Policy ว่าทำรีเสิร์ชมาเพื่อลูกค้าที่จ่ายเงินเพื่อซื้อข้อมูลนี้เท่านั้น และไม่มีการนำไปขายต่อหรือทำซ้ำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วย

Fastinflow 2

สนับสนุนโดย นิตยสาร Ecommerce ฉบับ ตุลาคม 2556


  •  
  •  
  •  
  •  
  •